Tuesday, December 30, 2008

ผ่านปี '51 ผู้บริโภคยังต้องตัดสินใจเรื่องความปลอดภัย "สินค้านาโน"


แม้ว่ากระแส "นาโน" ในบ้านเรา จะคลายความตื่นตัวไปบ้าง แต่ก็ยังคงมีงานวิจัยในความก้าวหน้าของเทคโนโลยีใหม่ ทั้งของไทยและเทศออกมาให้เห็น รวมทั้งประเด็นเรื่อง "ความปลอดภัย" ที่เริ่มกล่าวถึงการมากขึ้น มาตามไปดูกับ "ผู้จัดการวิทยาศาสตร์" ว่าในรอบปี 2551 มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

เรียกว่าเป็นไฮไลท์ของวงการนาโนเทคโนโลยีในเมืองไทยรอบปี 2551 นี้คงต้องยกให้กับการจัดงาน ประชุมวิชาการและนิทรรศการ "นาโนไทยแลนด์ ซิมโพเซียม 2008" (NanoThailand Symposium: NST2008) ที่จัดงานกันในช่วงปลายปี ถือเป็นการย้ำกระแสนาโนเทคโนโลยีอย่างเป็นรูปธรรม

แต่ดูเหมือนว่า "สินค้าเอกชน" อย่าง "ยาปลูกผมนาโน" ที่การันตีคุณภาพโดยที่ปรึกษาของอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะ "ขโมยซีน" ความสำคัญของงานวิชาการและการวิจัยในการประชุมไปเสียหมด หลังจาก "ผู้ชายผมน้อย" ต่างเข้าคิวแย่งชิงตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไปทดลอง จนบรรยากาศของงานวิชาการกลายเป็นงานวัดย่อมๆ

ภายในงานนาโนไทยแลนด์ยังมีนักวิจัยระดับโลกอย่าง ดร.ไมเคิล เกรทเซล (Dr.Michael Graetzel) ผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการโฟโตนิกส์และอินเทอร์เฟส (Laboratory of Photonics and Interfaces) สถาบันโพลีเทคนิคอีโคลแห่งโลซานน์ (Ecole polytechnique Federale de Lausanne) สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นผู้คิดค้นเซลล์แสงอาทิตย์แบบย้อมสีไวแสงหรือดีเอสซี (Dye-sensitized solar cell: DSC) คนแรกของโลก มาร่วมงานเสวนาและบรรยายพิเศษ และเป็นพระเอกตัวจริงของงานที่ได้รับความสนใจจากคนในวงการ

เมื่อพูดถึงงานวิจัยนาโนเทคโนโลยีเด่นๆ ในรอบปีมีอะไรบ้าง เปิดตัวมาให้ตื่นเต้นกันตั้งแต่ต้นปีสำหรับวัตถุดำที่สุดเท่าที่เคยมีมา ซึ่งพัฒนาโดยนักวิจัยมหาวิทยาลัยไรซ์ (Rice University) สหรัฐฯ ด้วยวัตถุจาก "ท่อนาโนคาร์บอน" (Carbon nanotube) จนได้วัตถุที่ดำมากกว่า 30 เท่าของของวัตถุจากคาร์บอนที่หน่วยงานดูแลมาตรฐานสหรัฐฯ ใช้เป็นเกณฑ์อ้างอิงความดำและวัตถุดำที่ผลิตขึ้นนี้ยังดูดกลืนแสงได้มากถึง 99.9% ใกล้เคียงกับวัตถุดำในอุดมคติที่สามารถดูดกลืนแสงได้ทั้งหมดและไม่สะท้อนกลับเลย

ดร.พูลิคเกล อาจายัน (Dr.Pulickel Ajayan) นักวิจัยสหรัฐฯ เชื้อสายอินเดีย เผยถึงการประยุกต์ใช้วัตถุดำดังกล่าว สามารถใช้ในการแปลงพลังงานแสงอาทิตย์ที่สามารถเก็บแสงทั้งหมดที่ตกกระทบได้ หรืออาจใช้ในการตรวจจับรังสีอินฟราเรดเพื่อการศึกษาดาราศาสตร์ได้ และถ้าพัฒนาให้เป็นวัตถุที่ดูดกลืนการแผ่รังสีทุกย่านได้แล้ว ยังประยุกต์ใช้ในการทหารสำหรับประยุกต์ใช้เป็นอุปกรณ์ในการหลบซ่อนตัวและการป้องกันโจมตีได้

อีกผลงานที่น่าตื่นเต้นประจำปีนี้ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ยกให้กับ "อุปกรณ์ขนส่งนาโน" (nanotransporter) หรือ "มอเตอร์นาโน" ซึ่งพัฒนาโดยทีมนักวิจัยสเปนจากมหาวิทยาลัยบาร์เซโลนา (Universitat Autonoma de Barcelona) ที่ออกแบบท่อนาโนคาร์บอนให้มีท่อคาร์บอนเส้นสั้นหุ้มท่อคาร์บอนที่ยาวกว่า โดยที่ท่อนาโนสั้นนั้นเคลื่อนที่เดินหน้า-ถอยหลังไปตามแนวท่อนาโนเส้นยาวได้ตามความแตกต่างของอุณหภูมิ 2 ข้างที่ปลายท่อนาโนเส้นยาว ซึ่งคาดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการออกแบบกลไกอิเล็กทรอนิกส์ระดับนาโนในอนาคต

ด้านความก้าวหน้าของนาโนเทคโนโลยีในเมืองไทยต้องยกให้ "ซิลเวอร์นาโน" (nanosilver) เป็นพระเอกประจำปีนี้ เพราะผลงานที่ต่อยอดสู่การใช้งานล้วนเป็นผลจากการประยุกต์ใช้อนุภาคเงิน ที่มีขนาดเล็กระดับนาโนเมตร อาทิ "รถพยาบาลนาโน" ซึ่งเป็นการประยุกต์การทาสีที่ผสมอนุภาคซิลเวอร์นาโนภายในตัวรถ เพื่อฆ่าเชื้อโรคซึ่งรถพยาบาลมีโอกาสสัมผัสอยู่ตลอดเวลา หรือ "ปากกานำไฟฟ้า" ซึ่งผสมอนุภาคเงินนาโน ทำให้ได้หมึกที่มีสภาพเป็นตัวนำไฟฟ้า และการเปลี่ยนสีมุกด้วยอนุภาคซิลเวอร์นาโนโดยตรึงลงบนผิวมุก ซึ่งเปลี่ยนสีมุกจากขาวนวลเหลืองเป็นมุกสีทอง เหลืองทอง ชมพู เทาและดำ เป็นต้น

ทั้งนี้ เบื้องหลังของซิลเวอร์นาโนที่ประยุกต์ใช้กับผลิตภัณฑ์ต่างๆ นั้น เป็นผลงานจากทีมวิจัยของ รศ.ดร.สนอง เอกสิทธิ์ แห่งหน่วยปฏิบัติการวิจัยอุปกรณ์รับรู้ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคาดว่าในปีหน้าฟ้าใหม่ "อนุภาคเงินนาโน" จะยังคงเป็นพระเอกของวงการนาโนเทคโนโลยีไทยไปอีกหลายงาน

นอกไปจากงานวิจัยด้านการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมทางด้านนาโนเทคโนโลยีแล้ว ยังมีการเปิดเผยงานวิจัยด้านความปลอดภัยของนาโนเทคโนโลยีทยอยออกมาเปิดตัวให้คนทั่วไปได้ตื่นตัวควบคู่ไปกับกระแสความก้าวหน้า อย่างล่าสุดนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเอดินบะระ (University of Edinburgh) สหราชอาณาจักร ได้ทดลองผลของท่อนาโนคาร์บอนที่เกิดขึ้นในหนูทดลอง พบว่าอนุภาคนาโนดังกล่าวทำให้เกิดมะเร็งปอด ได้เช่นเดียวกับมะเร็งปอดที่เกิดจากแร่ใยหิน แต่นักวิจัยยังต้องใช้เวลาอีกระยะกว่าจะระบุได้ว่า ท่อนาโนคาร์บอนแบบใดบ้างที่ก่อให้เกิดมะเร็งได้

ขณะเดียวกัน ทีมวิจัยมหาวิทยาลัยแอริโซนาสเตท (Arizona State University) สหรัฐฯ ได้ทดสอบว่าอนุภาคนาโนที่เคลือบเส้นใยสิ่งทอหรือผสมในสินค้าต่างๆ สามารถหลุดร่อนออกมาได้หรือไม่ ซึ่งพบว่ามีการหลุดร่อนของอนุภาคนาโนจากสินค้า โดยทีมวิจัยได้ให้ความเฆ้นว่าอนุภาคนาโนที่หลุดออกมานั้นอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตตามแหล่งน้ำต่างๆ ได้ หากปล่อยน้ำทิ้งที่มีอนุภาคนาโนปนเปื้อนลงแหล่งน้ำธรรมชาติ

หันกลับมามองที่เมืองไทยอีกครั้ง ว่าเราตื่นตัวต่อความปลอดภัยจากนาโนเทคโนโลยีแค่ไหน สำหรับคนทั่วไปอาจจะยังไม่ตระหนักว่าใน "ประโยชน์" ของนาโนเทคโนโลยีที่สามารถเนรมิตสารพัดคุณสมบัติมหัศจรรย์ให้กับผลิตภัณฑ์ต่างๆ แล้ว ยังมี "โทษ" ที่เราอาจยังไม่รู้ตามมาอีกด้วย แต่หากถามหามาตรฐานของสินค้านาโน ณ วันนี้ยังไม่มีมาตรฐานที่ชัดเจนใดๆ ออกมา แม้แต่มาตรฐาน ISO ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางก็ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการศึกษาเพื่อกำหนดแนวทางของมาตรฐานนาโนเทคโนโลยี

ส่วนมาตรฐานของไทยอย่าง "นาโนมาร์ก" (nanomark) ซึ่งอดีตผู้บริหารศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ออกมาเปิดเผยเมื่อ 2-3 ปีก่อนว่า สามารถสร้างฉลากที่ระบุได้ว่าสินค้าได้ "มี" หรือ "ไม่มี" นาโนเทคโนโลยี แต่เมื่อลงมือปฏิบัติจริงกลับไม่ง่ายอย่างที่กล่าวไว้

เมื่อศูนย์นาโนเทคเองไม่ได้มีอำนาจในกำหนดมาตรฐาน หากแต่มีเพียงเทคโนโลยีที่จะตรวจให้ได้ว่า สินค้าใด "เป็น" หรือ "ไม่เป็น" นาโนเทคโนโลยี อีกทั้งผู้ประกอบการทั้งหลายก็เริ่มไม่มั่นใจว่าการแปะฉลากรับรองว่า สินค้าเป็นผลิตภัณฑ์นาโนนั้นจะส่งผลต่อหรือเสียทางการตลาดในอนาคต เพราะยังไม่มีงานวิจัยที่ชี้ชัดว่านาโนเทคโนโลยี "ปลอดภัย" หรือ "ไม่ปลอดภัย"

ดังนั้นผู้บริโภคในยุคนาโนเทคโนโลยีอย่างเราๆ จึงทำได้เพียง "ศึกษาข้อมูลให้มาก" ก่อนตัดสินใจ

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9510000152720

No comments: