Monday, July 21, 2008

เอไอทีชี้บ่อน้ำมันไม่พลาดอาศัยซูเปอร์คอมพ์ช่วยคำนวณก่อนเจาะ

การค้นหาแหล่งน้ำมัน นอกจากจะเป็นเรื่องยากและใช้ทุนมหาศาลแล้วการขุดเจาะและนำน้ำมันขึ้นมาใช้ ยิ่งยากและซับซ้อนกว่า ทีมวิจัยเอไอทีศึกษาเทคนิคทางคอมพิวเตอร์ ช่วยค้นหาแหล่งน้ำมันจากแรงสั่นสะเทือนที่สะท้อนกลับ ระบุตำแหน่งแม่นยำก่อนลงเข็มเจาะ

ดร.พรามฮุย เจา หัวหน้าโครงการวิจัยศึกษาเทคโนโลยีและการจัดการแท่นขุดเจาะน้ำมันและก๊าซโพ้นทะเล สาขาวิชาวิศวกรรมวิศวกรรมโยธา สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) ร่วมกับบริษัท Schlumberger ซึ่งดำเนินธุรกิจขุดเจาะน้ำมัน ศึกษาเทคนิคทางคอมพิวเตอร์ เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการค้นหาบ่อน้ำมัน โดยเฉพาะการค้นหาแหล่งน้ำมันใต้ทะเลลึก ซึ่งเป็นเรื่องยากอย่างมาก

ในการขุดสำรวจจำเป็นต้องสร้างแบบจำลองของแหล่งน้ำมันเพื่อให้ทราบขนาดของหลุมเจาะ ความดันและศักยภาพในการเก็บน้ำมัน ข้อมูลเหล่านี้ช่วยให้บริษัทน้ำมัน สามารถทำงานได้รวดเร็ว มีประสิทธิภาพและลดต้นทุนอย่างมาก ดร.วรทัศน์ขจิตวิชยานุกูล คณะเทคโนโลยีชั้นสูง เอไอที หนึ่งในทีมงาน กล่าว

ที่ผ่านมาเอไอทีส่งนักศึกษาไปเรียนรู้เทคโนโลยีและการจัดการแท่นขุดเจาะน้ำมันที่ประเทศเยอรมนีและออสเตรเลีย เพื่อเรียนรู้การใช้ซอฟต์แวร์เฉพาะทางที่ใช้ในอุตสาหกรรมน้ำมัน และการใช้งานร่วมกับซูเปอร์คอมพิวเตอร์ กระทั่งปัจจุบันมีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางอยู่พอสมควร

ปัจจุบันการสร้างแบบจำลองเพื่อการสำรวจหาทรัพยากรด้านพลังงาน ประเทศไทยสามารถทำได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศอย่างที่ผ่านมา โดยเอไอทีร่วมกับศูนย์ไทยกริดแห่งชาติ นำการประมวลผลด้วยคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงผ่านเครือข่ายระบบกริด ช่วยให้การสร้างแบบจำลองหลุมขุดเจาะน้ำมันทำได้รวดเร็วขึ้น และสามารถสร้างแบบจำลองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นักวิจัยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีประมวลผลด้วยคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงในการด้านต่างๆมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การวิจัยด้านอุตุนิยมวิทยา การออกแบบยา รวมถึงการออกแบบแอนิเมชั่นสามมิติ และการวิเคราะห์ทางการเงินของธนาคาร ที่จำเป็นต้องอาศัยกำลังการประมวลผลมหาศาล ดร.ภุชงค์อุทโยภาศ ผู้อำนวยการศูนย์ไทยกริดแห่งชาติ กล่าว

ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ระบบกริดเป็นการใช้พลังของหน่วยประมวลผลจากคอมพิวเตอร์ในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งเชื่อมต่อกัน ทำให้ศักยภาพในการคำนวณทำได้รวดเร็ว โดยศูนย์ไทยกริดแห่งชาติพร้อมเปิดให้บริการแก่ผู้ที่สนใจประยุกต์ใช้ประโยชน์จากเครือข่ายดังกล่าวมากขึ้น

ที่มา: http://www.komchadluek.net/
Link: http://www.komchadluek.net/2008/07/21/x_it_h001_211633.php?news_id=211633

No comments: