Sunday, July 20, 2008

กระหึ่มแดนมังกรเด็กไทยคว้า 2แชมป์โลก “RoboCup”


เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2551 ที่เมืองซูโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน ในการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับนานาชาติ 2008 (RoboCup 2008) ประเภทหุ่นยนต์กู้ภัย ในรอบชิงชนะเลิศ หลังจากทีมPlasma RX จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ประกอบด้วย นายกมล จึงเสถียรทรัพย์ (อิ๊ก) นายชนินท์ จันมา (เล่ย) นายยุทธนา สุทธสุภา (อั๋น) นายปณัสม์ วิบุลพลประเสริฐ (นัท) และนางสาวนวรัตน์ เติมธนาสมบัติ (แหวน) ตะลุยเอาชนะคู่แข่งคะแนนนำมาเป็นอันดับ 1 ทุกรอบ จนเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ 4 ทีมสุดท้าย Plasma Rx จากประเทศไทย ยังโชว์ฟอร์มเยี่ยมเช่นเคย เอาชนะทีม Resko & Resquake ซึ่งเป็นทีมผสมระหว่างอิหร่านและเยอรมนี ทีม MRL จากประเทศอิหร่าน และทีม NuTech-R จากประเทศญี่ปุ่น โดยทีมจากประเทศไทยเก็บคะแนนและทิ้งห่างคู่แข่งและคว้าแชมป์โลกได้ 3 สมัยซ้อน หลังทีม Independent จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ครองแชมป์โลกติดต่อกันมา 2 ปีซ้อน ส่วนอันดับสอง คือ ทีม MRL จากประเทศอิหร่าน และอันดับสามคือ ทีมผสมระหว่างประเทศเยอรมนีและอิหร่าน
นอกจากนี้ทีมPlasma RX ยังได้รับรางวัล Best in Class in Mobility หรือรางวัลเทคนิคยอดเยี่ยม เป็นรางวัลพิเศษที่ผู้จัดมอบให้กับหุ่นยนต์กู้ภัยที่มีสมรรถนะสูงในการเคลื่อนที่บนพื้นผิวขรุขระ และเป็นครั้งแรกที่ทีมไทยได้รางวัลนี้

นางสาวนวรัตน์ เติมธนาสมบัติ หรือน้องแหวน ซึ่งเป็นผู้หญิงหนึ่งเดียวในทีม ในฐานะหัวหน้าทีม เปิดเผยถึงชัยชนะในครั้งนี้ว่า “ภูมิใจที่ทำสำเร็จตามที่ต้องการ ตอนแรกค่อนข้างกดดันมาก เนื่องจากประเทศไทยเป็นแชมป์ถึง 2 สมัยซ้อน และเป็นปีแรกของ Plasma Rx ที่เข้าร่วมการแข่งขัน จึงมีเวลาเตรียมตัวน้อย และทุกคนต่างก็คาดหวังเพราะไทยเป็นแชมป์มา 2 ปีซ้อน ชัยชนะครั้งนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือของทีมที่ได้ร่วมกันพัฒนาหุ่นยนต์ให้มีศักยภาพสูงสุด เช่น โปรแกรมการสร้างแผนที่จำลอง และการสร้างหุ่น Autonomous ในอนาคตอยากให้มีการนำหุ่นยนต์กู้ภัยไปใช้ได้จริง และหวังว่าการแข่งขันครั้งนี้จะกระตุ้นให้เด็กไทยได้พัฒนาความสามารถในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่างๆ และก็อยากให้ผู้ใหญ่ช่วยกันสนับสนุนเด็กไทย สำหรับรางวัลที่ได้มาทีม Plasma RX ตั้งใจว่าจะนำทูลเหล้าถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ผศ.ดร. จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย กล่าวว่า การแข่งขันรอบชิงขนะเลิศวันนี้แสดงถึงศักยภาพของไทยว่า เราคือแชมป์ตัวจริง แชมป์สองสมัยที่ผ่านมาแสดงให้เห็นถึงว่าไทยมีความสามารถแล้ว แต่ครั้งนี้เป็นการประกาศศักดาให้นานาชาติให้ยอมรับมากขึ้น จากแต่เดิมที่เวลาเราไปพูดคุยกับใครมักจะไม่ได้รับการตอบสนอง แต่วันนี้หลายประเทศชื่นชมและมาขอเรียนรู้จากเรามากมาย รวมถึงสื่อมวลชนในสาธารณรัฐประชาชนจีนก็มาเผยแพร่ข่าว ที่สำคัญสื่อมวลชนจากเมืองกราซ ประเทศออสเตรีย ซึ่งจะเป็นเจ้าภาพในการแข่งขันหุ่นยนต์นานาชาติ 2009 ได้มาบันทึกภาพและข้อมูลทีมไทยด้วยความสนใจเพื่อนำไปเผยแพร่ด้วย อย่างไรก็ตามสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย และเครือซิเมนต์ไทยที่สนับสนุนการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยทั้งระดับประเทศไทยและนานาชาติมีความภูมิใจในศักยภาพเด็กไทยอย่างมาก เพราะไม่เฉพาะประโยชน์ที่เด็กไทยและวงวิชาการที่จะได้ถ่ายทอดความรู้ความสามารถไปยังรุ่นต่อรุ่นแล้ว แต่ยังผลต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในประเทศที่สามารถนำศักยภาพความรู้ความสามารถของเด็กไทยไปต่อยอดในการพัฒนาประเทศได้อย่างดียิ่ง

นางมัทนา เหลืองนาคทองดี ผู้อำนวยการสำนักงานสื่อสารองค์กร เครือซิเมนต์ไทย (SCG) ผู้สนับสนุนการแข่งขัน Thailand Rescue Robot Championship และส่งเยาวชนไทยเข้าร่วมการแข่งขัน Robocup 2008 กล่าวว่า SCG ยินดีและชื่นชมในความสามารถของเด็กไทยอย่างยิ่ง ความสำเร็จในครั้งนี้ ทำให้ต่างชาติทึ่ง และยอมรับในความสามารถของเยาวชนไทยมากขึ้น

“จากความสำเร็จของเยาวชนไทยที่ผ่านมาและในครั้งนี้ ทำให้ SCG ตั้งใจที่จะจัดเวทีแข่งขัน Thailand Rescue Robot ให้เป็นระดับนานาชาติ โดยจะเชิญประเทศต่างๆที่เข้าร่วมการแข่งขัน RoboCup Rescue 2008 มาร่วมแข่งขันในประเทศไทย และขณะนี้หลายประเทศได้ตอบรับร่วมการแข่งขัน คาดว่าการแข่งขันดังกล่าว ซึ่จะจัดขึ้นในเดือนธันวาคม นี้ จะเน้นแนวคิด Show & Share เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนไทย ได้เรียนรู้และและเปลี่ยนประสบการณ์จากนานาประเทศ” นางมัทนา กล่าว

ด้านการแข่งขันหุ่นยนต์เตะฟุตบอลขนาดเล็กซึ่งทีมเด็กไทยลงแข่งรวมทั้งหมด 3 ทีม คือ ทีมPlasma-Z จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทีมScuba จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และทีมไข่นุ้ย จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยสองทีมแรกสามารถฝ่าฟันคู่แข่งเข้าสู่รอบก่อนชิงชนะเลิศได้

โดยในรอบก่อนชิงชนะเลิศ ทีมเด็กไทยต้องแข่งขันกันเอง และทีม Plasma-Z เอาชนะทีมสกูบ้าไปได้ด้วยคะแนน 10ต่อ 0 เข้าไปชิงกับทีม CMU จากอเมริกาซึ่งเอาชนะทีม ZJU จากประเทศจีน โดยทีมสกูบ้าต้องลงแข่งขันกับทีมจากจีน ผลปรากฎว่าทีมสกูบ้าชนะได้ครองที่ 3

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คู่ชิงชนะเลิศระหว่างไทยกับอเมริกาต่างฝ่ายต่างทำคะแนนสู่สี โดยทีมไทยนำไปก่อนในครึ่งแรก 1 ต่อ 0 ส่วนในครึ่งหลัง อเมริกาตีตื้นขึ้นมาเป็น 1 ต่อ 1 และยิงประตูนำไปเป็น 2 ต่อ 1 ก่อนที่ทีมเด็กไทยจะยิงประตูทำคะแนนไปได้อีก 3 ประตูซ้อน หมดเวลาทำให้ทีม Plasma – Z จากประเทศไทยชนะไปทีม CMU ไปด้วยคะแนน 4 ต่อ 2

นายธีระพล วัฒนเวคิน (เอ) ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าทีม Plasma-z กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่สามารถทำชื่อเสียงให้กับประเทศไทย และก็เห็นว่าเด็กไทยหากเรามีความมุ่งมั่นและพยายามก็สามารถขึ้นมาสู่ระดับโลกได้ ชัยชนะครั้งนี้เป็นเพราะพวกเราสามมัคคีกันและต่างคนต่างรู้หน้าที่ของตัวเองซึ่งถือเป็นหัวใจของการทำงานเป็นทีม สำหรับทีมอเมริกาถือเป็นคู่แข่งเก่าเพราะเมื่อปีที่แล้วเราแพ้ได้รองชนะเลิศและถือว่าเป็นทีมที่มีความแข็งแกร่งมาก ปีนี้เราพยายามปรับปรุงและพัฒนาหุ่นของเราและเราก็ทำให้เห็นแล้วว่าเด็กไทยทำได้

ด้านผศ.ดร. มานพ วงศ์สายสุวรรณ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ที่ปรึกษาทั้งทีมหุ่นยนต์กู้ภัยและหุ่นยนต์เตะฟุตบอล กล่าวว่า รุ้สึกดีใจมากที่เด็กไทยทั้งสองทีมสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ ตอนแรกยอมรับว่ากดดันมาก เพราะทีม Plasma RX ต้องแบกรับภาระในฐานะแชมป์เก่าของหุ่นยนต์กู้ภัย ส่วนทีม Plasma-Z ปีที่แล้วก็ได้ตำแหน่งรองปีนี้เราก็หวังว่าจะได้แชมป์ ตอนนี้เราก็ทำให้นานาประเทศได้รับรู้แล้วว่า เยาวชนไทยมีความเก่ง ความสามารถไม่แพ้ชาติอื่น ๆ และก็หวังว่าความาสำเร็จครั้งนี้จะช่วยกระตุ้นให้เยาวชนไทยอื่นๆ ได้เห็นถึงศักยภาพว่า เราไม่ด้อยไปกว่าต่างชาติ”

ที่มา: http://www.dailynews.co.th/
Link: http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=170809&NewsType=1&Template=1

No comments: