Monday, July 14, 2008

ซิ่งเครื่องบินน้ำเที่ยวเกาะ ผลงาน มก.หวังใช้งานแทนเครื่องบิน

"ปลาบิน" ไม่ใช่สัตว์พันธุ์ใหม่ แต่เป็นชื่อเรียก "เครื่องบินน้ำ" สิ่งประดิษฐ์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ใช้ประโยชน์ด้านการขนส่งและคมนาคมระหว่างเกาะแทนเครื่องบิน รวมทั้งภารกิจสำรวจสัตว์น้ำ ลาดตระเวนชายฝั่งและท่องเที่ยว ทำความเร็วได้สูงสุด 150 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

"ปลาบิน" ตัวนี้เป็นผลงานร่วมของนายรัฐพล สาครสินธุ์ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ศรีราชา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) วิทยาเขตศรีราชา กับนิสิตปริญญาตรี นอกจากจะซิ่งในน้ำได้เหมือนเรือแล้ว ยังสามารถเหินเหนือน้ำได้ด้วย จึงลดแรงปะทะและแรงต้านของน้ำ ทำให้เร่งความเร็วได้ถึง 150 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ช่วยให้เดินทางถึงจุดหมายเร็วขึ้น ขณะที่เรือแล่นในน้ำต้องเผชิญแรงต้านของน้ำจึงเคลื่อนที่ได้ช้ากว่า

เครื่องบินน้ำเหมาะใช้ประโยชน์ด้านการสำรวจชายฝั่ง สำรวจฝูงปลา ลาดตระเวน กู้ภัยทางทะเล ท่องเที่ยวจนถึงการเดินทางระหว่างเกาะ โดยที่ผู้โดยสารไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปสนามบิน

เครื่องบินน้ำกึ่งยานเหินนี้พัฒนาตามหลักวิชาอากาศยาน เป็นผลงานปรับปรุงต่อจากเครื่องบินน้ำรุ่นแรก ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อปี 2549 ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น วัสดุที่ใช้เป็นไฟเบอร์กลาส พีวีซีโฟมและขึ้นโครงด้วยอะลูมิเนียมเกรดที่ใช้ทำเครื่องบิน โดย 80% ของวัสดุหาได้ภายในประเทศ ส่วนเครื่องยนต์ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ รวมต้นทุนการพัฒนาและทดสอบ 6-7 แสนบาทต่อ 1 ลำ (4-6 ที่นั่ง)

"ที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานใดออกแบบเครื่องบินน้ำ รวมทั้งไม่มีการเก็บข้อมูล การทดลองและทดสอบอย่างเป็นระบบ และที่สำคัญการพัฒนาอากาศยานของไทยต้องอาศัยวัสดุนำเข้าเกือบทั้งหมด โครงการวิจัยเครื่องบินน้ำนี้จึงเกิดขึ้น เพื่อสร้างองค์ความรู้ด้านอากาศยานที่จะเป็นพื้นฐานให้งานวิจัยอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งศึกษาความเป็นไปได้ที่จะลดการนำเข้าวัสดุทางอากาศยาน" นายรัฐพลกล่าว

ส่วนการพัฒนาเครื่องบินน้ำรุ่นแรกใช้เวลาร่วม 4 ปี มีนักบินจากภาคเอกชนเป็นผู้ทดสอบการบินเหนือน้ำ 10 เมตร ที่อ่างเก็บน้ำดอกกราย จ.ระยอง เป็นเวลา 2 วัน เพื่อดูประสิทธิภาพของโครงสร้าง การเคลื่อนที่บนผิวน้ำ การทดสอบวงเลี้ยวและความสมดุลขณะเร่งเครื่อง ส่วนข้อบกพร่องต่างๆ ที่พบก็กลายเป็นข้อมูลสำหรับการปรับปรุงในเครื่องรุ่นถัดมา เช่น การออกแบบปีกใหม่เพื่อลดละอองน้ำปะทะปีก และทำมุมไต่ได้สูงขึ้น เป็นต้น

ที่มา: http://www.komchadluek.net/
Link: http://www.komchadluek.net/2008/07/14/x_it_h001_210959.php?news_id=210959

No comments: