Monday, July 21, 2008

ไอทีโซน-ซอฟต์แวร์ผู้ช่วยเกษตรกรวิเคราะห์รู้ทันทีต้องเติมปุ๋ยอะไร

ราคาปุ๋ยที่ขยับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆทำให้ต้นทุนค่าเพาะปลูกของเกษตรกรปรับขึ้นตาม ส่งผลต่อเนื่องให้ผู้บริโภคมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่ม กระทรวงเกษตรฯ

ตระหนักถึงความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น จึงพัฒนาซอฟต์แวร์ช่วยวิเคราะห์ดินและปุ๋ย ทดสอบเบื้องต้นค่าปุ๋ยลดลง 500 บาทต่อไร่ ส่งให้หน่วยงานในสังกัดทั่วประเทศนำไปใช้งาน

ซอฟต์แวร์ดินไทย-ธาตุอาหารพืชและซอฟต์แวร์จัดการดิน-ปุ๋ยผลงานการพัฒนาร่วมของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป้าหมายเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะค่าปุ๋ยที่ปรับราคาเพิ่มบ่อยครั้ง ซอฟต์แวร์ทั้งสองจะช่วยให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรและเกษตรกร ทราบถึงสภาพความสมบูรณ์ของแปลงดิน และปริมาณปุ๋ยที่ต้องใช้ จึงลดการสิ้นเปลืองปุ๋ยส่วนเกินไปได้ส่วนหนึ่ง

"การพัฒนาโปรแกรมทั้งสองใช้เวลาเพียง3 เดือนเท่านั้น โดยประยุกต์ใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูลดินเดิม ที่กรมพัฒนาที่ดินได้สำรวจและแบ่งดินทั่วประเทศออกเป็นชุดดินต่างๆ แล้วนำมาเชื่อมโยงกับคำแนะนำการจัดการดินและการใช้ปุ๋ย" ฉลองเทพวิทักษ์กิจ รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดินกล่าว

ซอฟต์แวร์ดินไทยฯรองรับการสืบค้นข้อมูลดิน ได้ตามขอบเขตการปกครองและตำแหน่งที่ตั้งแปลง ซึ่งเนื้อหาละเอียดถึงระดับหมู่บ้านรวมถึงชื่อวัดในหมู่บ้าน จากนั้นแสดงแผนที่ในรูปของสีที่แตกต่างกัน โดยแต่ละสีหมายถึงชุดดินหมายเลขต่างๆ รวมถึงรายละเอียดอื่นอย่างธาตุอาหาร คุณสมบัติทางเคมีของดินในพื้นที่นั้น

นอกจากนี้ยังแนะนำสูตรปุ๋ยและระยะเวลาใส่ปุ๋ยที่เหมาะสมสำหรับชุดดินต่างๆ โดยคำนึงถึงประเภทของพืชที่ปลูกบนชุดดินนั้นด้วย ไม่ว่าจะเป็น ข้าว อ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง ยางพาราและปาล์มน้ำ

ส่วนซอฟต์แวร์จัดการดินและปุ๋ยจะวิเคราะห์ดินของเกษตรกรเป็นรายแปลง จากการป้อนข้อมูลค่าวิเคราะห์ดินจากแปลงเพาะปลูก ทำให้ได้ข้อมูลเฉพาะของดินที่ละเอียดกว่าซอฟต์แวร์ดินไทยฯ ช่วยให้วิเคราะห์สูตรปุ๋ยที่เหมาะสมกับความต้องการของดินในพื้นที่การเกษตรนั้นๆ

จากการติดตามผลในแปลงทดลองที่เกษตรกรบริหารจัดการใช้ปุ๋ยตามโปรแกรมแนะนำพบว่า สามารถลดต้นทุนค่าปุ๋ยได้ประมาณ 500 บาทต่อไร่ โดยที่ผลผลิตเท่าเดิม ฉลองกล่าว

ทั้งนี้กระทรวงเกษตรฯ ได้แจกจ่ายซอฟต์แวร์ทั้งสอง ไปยังหน่วยงานในสังกัดระดับภูมิภาคแล้ว พร้อมทั้งจัดอบรมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวกับการใช้งานซอฟต์แวร์ คาดว่าในปีงบประมาณ 2552 เกษตรกรทั่วประเทศจะสามารถใช้ประโยชน์จากซอฟต์แวร์ทั้งคู่ หรือสนใจติดต่อขอรับซอฟต์แวร์ดังกล่าว ได้ที่หน่วยงานของกรมพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตรและกรมการข้าว

ที่มา: http://www.komchadluek.net/
Link: http://www.komchadluek.net/2008/07/21/x_it_h001_211634.php?news_id=211634

No comments: