Tuesday, July 8, 2008

เนคเทคทำระบบเน็ตเวิร์กป้องกันนักเรียนแอบดูเว็บโป๊


เนคเทคพัฒนาต่อยอดโปรแกรมตรวจสอบการใช้งานบนเครือข่ายคอมพิวเตอร์ในโรงเรียน ช่วยครูป้องกันเด็กเข้าเว็บโป๊, เล่นเกมในเวลาเรียน มีระบบตรวจสอบพร้อมการใช้งานและรายงานความผิดพลาดย้อนหลังได้ ทั้งยังนำไปใช้ได้กับหน่วยงานต่างๆ และบุคคลทั่วไป ไม่ต้องซื้อโปรแกรมราคาแพงของต่างชาติเตรียมเปิดให้ดาวน์โหลดโปรแกรมแรกได้ฟรี ต.ค.นี้

ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ นักวิจัยจากหน่วยปฎิบัติการวิจัยเทคโนโลยีเครือข่ายเอ็นทีแอล (NTL) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และทีมผู้ช่วยวิจัย ได้ร่วมกันพัฒนาระบบบริหารจัดการเครือข่ายอัจฉริยะ สำหรับตรวจสอบสถานะ และการใช้งานบนเครือข่าย เพื่อป้องการการใช้งานที่ไม่เหมาะสม รวมทั้งรายงานความผิดปกติที่เกิดขึ้นบนเครือข่ายได้ เหมาะอย่างยิ่งที่จะนำไปใช้งานในโรงเรียน สถานศึกษา และหน่วยงานอื่นๆ ที่สนใจ

"จากการสำรวจความพร้อมการใช้งานคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตในโรงเรียนทั่วประเทศจำนวน 105 โรงเรียน พบว่าโรงเรียนส่วนใหญ่มีการเรียนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์ และมีความพร้อมของอุปกรณ์ อินเทอร์เน็ต และบุคลากรที่มีความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ ขณะเดียวกันก็พบว่ามีปัญหาต่างๆ ได้แก่ การติดไวรัส อินเตอร์ช้าและไม่ค่อยเสถียร อุปกรณ์เสียบ่อยครั้ง และแบนด์วิธไม่เพียงพอต่อการใช้งาน" ดร.พนิตา บอกถึงที่มาของการพัฒนาโปรแกรมสำหรับแก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่งโรงเรียนเหล่านี้ต่างมีนโยบายห้ามนักเรียนเล่นเกม, เข้าเว็บไซต์ไม่เหมาะสม และจำกัดการใช้งานโปรแกรมบางประเภท

อย่างไรก็ดี โปรแกรมตรวจสอบสถานะและการใช้งานบนเครือข่ายที่มีอยู่เป็นของต่างประเทศ ซึ่งมีจำหน่ายอยู่ทั่วไป แต่ค่อนข้างราคาค่อนแพง ซึ่งบริษัทเอกชนทั่วไปก็มีการใช้งานระบบเหล่านี้อยู่แล้ว แต่ยากเกินไปสำหรับนำไปใช้งานในโรงเรียน ซึ่งจำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญในการดูแล ทำให้บางโรงเรียนไม่สามารถเข้าถึงโปรแกรมเหล่านั้นได้ ทีมนักวิจัยจึงได้พัฒนาต่อยอดโปรแกรมดังกล่าวให้เหมาะสมและง่ายต่อการใช้งานในโรงเรียน และผู้ดูแลระบบก็ไม่จำเป็นต้องมีความเชียวชาญมากก็สามารถดูแลได้

ดร.พนิตา ให้ข้อมูลว่าระบบบริหารจัดการเครือข่ายอัจฉริยะ ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ ระบบตรวจสอบสถานะของเครือข่ายและบริการ ซึ่งพัฒนาต่อยอดจากโปรแกรมระบบเปิด (open-source software) นากิออส (Nagios), ระบบตรวจวัดและวิเคราะห์การใช้งานบนเครือข่าย ที่พัฒนาต่อยอดมาจากโปรแกรมระบบเปิดเอ็นท็อป (ntop) และสุดท้ายระบบบริหารจัดการแบนด์วิธ (Bandwidth)

นักวิจัยอธิบายว่าได้พัฒนาระบบต่างๆ ให้สามารถเข้าใจง่ายและใช้งานได้ง่ายขึ้นด้วยระบบแนะนำการใช้งานโปรแกรมที่เป็นภาษาไทย ซึ่งสามารถแสดงรูปแบบการเชื่อมต่อเครือข่ายได้แบบอัตโนมัติ รายงานสถานะย้อนหลังตามช่วงเวลาที่ต้องการ โดยแยกตามแต่ละบริการและอุปกรณ์, แสดงผลการใช้งานแยกตามผู้ใช้และประเภทการใช้งาน, สามารถวิเคราะห์ความผิดพลาดและความเสี่ยงต่อการถูกจู่โจมเครือข่าย และมีระบบการแจ้งเตือนผู้ดูแลระบบเมื่อพบความผิดปกติเกิดขึ้นในเครือข่าย

"ระบบบริหารจัดการเครือข่ายอัจฉริยะที่พัฒนาต่อยอดนี้จะสามารถช่วยป้องกันปัญหาการใช้งานเครือข่ายที่ไม่เหมาะสมในโรงเรียนได้ เช่น ป้องกันไม่ให้นักเรียนเล่นเกมหรือเข้าเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมได้ ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซื้อระบบบริหารจัดการเครือข่ายที่มีราคาแพงจากต่างประเทศ และช่วยลดภาระของผู้ดูแลระบบในการจัดการกับปัญหาและข้อผิดพลาดบนเครือข่าย ซึ่งเหมาะสำหรับสถานศึกษาและองค์กรทั่วไปที่ขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญด้านเครือข่าย" ดร.พนิตา กล่าว ซึ่งอินเตอร์เน็ดคาเฟ่และบุคคลทั่วไปที่สนใจก็สามารถใช้ได้เช่นกัน

ทั้งนี้ นักวิจัยได้นำระบบตรวจวัดและวิเคราะห์การใช้งานบนเครือข่าย (ntop) ไปทดสอบการใช้งานจริงแล้วในโรงเรียนที่ร่วมโครงการจำนวน 6 แห่ง เมื่อปีที่แล้ว และเตรียมเปิดให้ดาวน์โหลดและนำไปใช้งานได้เดือน ต.ค. 2551 ส่วนระบบตรวจสอบสถานะของเครือข่ายและบริการ นักวิจัยเตรียมทดสอบภาคสนามในเดือน ต.ค. ที่จะถึงนี้เช่นกัน และทดสอบภาคสนามระบบบริหารจัดการแบนด์วิธในเดือน มี.ค. 2552 และเมื่อสิ้นสุดโครงการวิจัยก็จะเปิดให้ดาวน์โหลดไปใช้งานได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้นทุกระบบ

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9510000079708

No comments: