ไอบีเอ็มประกาศความสำเร็จเปลี่ยนสัญญาณไฟฟ้าให้เป็นแสงกะพริบใช้รับส่งข้อมูลระหว่างซีพียูเข้าใกล้ฝันสร้างคอมพิวเตอร์ประมวลผลล้ำเลิศจากเครื่องเทอะทะมโหฬารให้อยู่ในชิพเพียงตัวเดียว
ไอบีเอ็มกำลังพัฒนาชิพประมวลผลความเร็วสูงที่เปรียบเสมือนมีชิพนับร้อยนับพันตัวอยู่บนชิพตัวเดียวแต่มีขนาดเล็กกว่าเทคโนโลยีชิพปัจจุบันที่กินไฟมโหฬาร แถมใช้งานได้สักพักยังร้อนจี๋ ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญที่ฉุดรั้งการเพิ่มพลังประมวลผลให้แก่ซีพียู
ไอบีเอ็มเป็นผู้ผลิตชิพประมวลผลที่มีความล้ำหน้าทางเทคโนโลยีสูงตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุดคือ หน่วยประมวลผล เซลล์ ที่ใช้กับเครื่องเล่นเพลย์สเตชั่น3 ของโซนี่ ซึ่งมีแกนประมวลผลถึง 9 แกน ขณะที่ผู้ผลิตซีพียูอย่างอินเทล และเอเอ็มดียังแข่งกันพัฒนาชิพที่มีแกนประมวลผล 4 แกน หรือที่เรียกว่า ควอดคอร์
ไอบีเอ็มได้พัฒนาเทคโนโลยีถ่ายทอดข้อมูลระหว่างแกนหรือสมองของซีพียูด้วยรูปแบบของแสงกะพริบแทนรูปแบบเดิมที่ส่งต่อข้อมูลผ่านสายทองแดง ชุดถ่ายทอดสัญญาณแสงสามารถส่งข้อมูลผ่านระหว่างสมองประมวลผลได้เร็วกว่ารับส่งข้อมูลด้วยสายไฟถึง 100 เท่า แต่กินไฟน้อยกว่า 10 เท่า
ยิ่งไปกว่านั้นชุดรับส่งข้อมูลด้วยแสงยังมีขนาดเล็กกว่าตัวที่พัฒนามาก่อนหน้านี้ 100-1,000 เท่า ช่วยให้ราคาถูกลง ใช้กระแสไฟน้อย ความร้อนต่ำ แต่ส่งผ่านข้อมูลได้คราวละมากกว่าเดิม
พูดง่ายๆความสามารถดังกล่าวเปรียบได้กับเครือข่ายใยแก้วนำแสงที่ใช้รับส่งข้อมูลอินเทอร์เน็ตที่มีขนาดใหญ่รองรับผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตได้พร้อมกันทั่วโลกในเวลาเดียวกัน ไอบีเอ็มนำความสามารถที่คล้ายกันนี้มาใส่ไว้ในชิพคอมพิวเตอร์
ผู้บริหารไอบีเอ็มกล่าวอย่างมั่นใจว่า ความสำเร็จครั้งนี้นับเป็นความก้าวหน้าครั้งใหญ่ของการพัฒนาชิพที่ใช้เทคโนโลยีรับส่งข้อมูลด้วยแสง หรือเรียกว่า นาโนโฟโตนิกส์
ที่ผ่านมาระบบประมวลผลที่ก้าวหน้าของไอบีเอ็มถูกนำไปใช้งานหลายด้าน เช่น ด้านควอนตัมฟิสิกส์ ด้านการทำนายสภาพอากาศ และการจำลองแบบระดับโมเลกุล
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment