Saturday, December 8, 2007
ซอฟต์แวร์ช่วยคนไข้ไอซียูสื่อสารคล่อง
เนคเทค-ศิริราชทดสอบต้นแบบอุปกรณ์และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยแพทย์สื่อสารกับผู้ป่วยที่มีปัญหาการสื่อสาร ครอบคลุมตั้งแต่ผู้ป่วยไอซียู พิการด้านการพูดจนถึงพาร์กินสัน
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : นักวิจัยของเนคเทคร่วมกับ แพทย์สาขาอรรถบำบัด ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลร่วมกันออกแบบ และพัฒนาต้นแบบอุปกรณ์พร้อมด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยการสื่อสารสำหรับผู้มีปัญหาด้านภาษาการพูดและการสื่อความหมาย ซึ่งพร้อมจะนำไปทดสอบในอาสาสมัครแล้ว
ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้อำนวยการ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เปิดเผยว่า อุปกรณ์และโปรแกรมดังกล่าวพัฒนาต่อยอดจากการศึกษาพฤติกรรมของนักเรียนโรงเรียนศรีสังวาลที่มีความผิดปกติด้านสมอง และพัฒนาการด้านการพูดล่าช้าจนได้โปรแกรมที่นำไปใช้งานกับผู้ป่วยระยะพักฟื้นขึ้นอยู่กับอาการป่วย
โปรแกรมแรกเป็นคอมพิวเตอร์ประเมินเสียงพูดภาษาไทย สำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางสมอง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง และพาร์กินสัน ซึ่งเป็นแบบฝึกหัดที่เน้นให้ผู้ป่วยหัดเปล่งเสียงออกมาว่าเป็นเสียงอะไรและจดจำไว้แสดงผลในครั้งต่อไป
อีกโปรแกรมหนึ่งเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับผู้ที่บกพร่องทางการสื่อสาร ให้สามารถเปล่งเสียงออกมาได้ไม่ว่าจะเป็นเสียงอะไรก็ตาม แบ่งการแสดงผลเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ รูปภาพ เสียง และตัวอักษร สำหรับอ่านเป็นคำเพื่อให้ผู้ป่วยฝึกที่จะเปล่งเสียงออกมาว่าสิ่งนี้หมายถึงอะไร เพื่อจดจำไว้สื่อสารกับผู้ดูแล เช่น แก้วน้ำ แว่นตา ผ้าห่ม เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์ช่วยสื่อสารในห้องไอซียูและผู้ป่วยที่อยู่ในระยะพักฟื้นหรือมีอาการเรื้อรัง ผู้ใช้ระบบจะกดเพียง 2 ปุ่มเลือกว่าใช่หรือไม่ใช่เพียงเท่านั้น โดยจัดแบ่งหมวดหมู่ให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละกลุ่มอาการ ซึ่งสามารถนำรูปภาพหรือคำเก็บเข้าระบบเพิ่มเติมให้เหมาะสมกับความต้องการได้
ผศ.ดร.ศรีวิมล มโนเชี่ยวพินิจ หัวหน้าสาขาอรรถบำบัด ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า อุปกรณ์และโปรแกรมดังกล่าวช่วยให้การดูแลรักษาและการประเมินผลสำหรับผู้ป่วยเป็นไปได้ง่ายขึ้น
เนื่องจากระบบดังกล่าวช่วยผู้ป่วยสื่อสารกับแพทย์ พยาบาล หรือคนอื่นที่ดูแลได้อย่างเข้าใจ และยังเก็บข้อมูลการทดสอบหรือใช้งานแต่ละครั้งลงในเครื่อง หรือพิมพ์ออกมาเพื่ออ้างอิงถึงพัฒนาการของร่างกายผู้ป่วยกับหน่วยงานหรือโรงเรียนได้อีกด้วย
ทีมวิจัยตั้งเป้าไว้ว่าจะทดสอบในกลุ่มอาสาสมัครจำนวน 30 ราย ภายใน 6 เดือนโดยเน้นผู้ป่วยที่อยู่ในระยะพักฟื้นที่ไม่สามารถสื่อสารได้ เช่น กลุ่มผู้ป่วยสมองพิการ กลุ่มผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง กลุ่มผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุทางสมอง กลุ่มผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ กลุ่มผู้ป่วยที่มีพัฒนาการทางด้านสมองหรือการพูดล่าช้า
“ผลการทดลองที่ได้นำไปปรับปรุงระบบให้ทำงานหลากหลายยิ่งขึ้น ก่อนนำไปฝึกอบรมให้แก่ผู้สนใจ เช่นเจ้าหน้าที่ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วย ครอบครัวผู้ป่วย รวมถึงสถานพยาบาลทั่วประเทศ และในอนาคต ผู้ใช้สามารถดาวน์โหลดโปรแกรมจากอินเทอร์เน็ตไปใช้งานติดตั้งลงในคอมพิวเตอร์ได้เอง" ผศ.ดร.ศรีวิมล กล่าว
กานต์ดา บุญเถื่อน
ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com/
Link: http://www.bangkokbiznews.com/2007/12/08/WW54_5401_news.php?newsid=209791
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment