Monday, December 31, 2007

สินค้านาโนจิ๋วแต่แจ๋ว 'ฮอต' รับปีหนู


ยุคนี้สินค้าที่พะยี่ห้อ"นาโนเทคโนโลยี" ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า และเป็นจุดขายที่ผู้ผลิตสินค้านำมาสร้างจุดต่างให้แก่ผลิตภัณฑ์
ที่เมืองนอกสินค้าที่มีส่วนประกอบระดับอนุภาคมีขายมานานแล้วโดยเฉพาะบริษัทเครื่องสำอางชั้นนำ อย่างลอรีอัล ชิเซโด และโคเซ่ ที่ปรับเนื้อครีมให้ละเอียดระดับนาโนเมตร (1 นาโนเมตร = 1/ พันล้านส่วนเมตร) เพื่อให้เนื้อครีมซึมผ่านชั้นผิวหนัง ไปเพิ่มความชุ่มชื้นให้เนื้อผิวลึกถึงชั้นผิวหนังเบื้องล่าง บ้างใช้ปกป้องผิวหนังจากแสงแดดได้ผลดีกว่าครีมที่ทาแล้วเปื้อนอยู่บนแขนขา

ช่วง1-2 ปีที่ผ่านมา ผู้ผลิตสินค้าในไทยอาศัยคุณสมบัติขนาดจิ๋วของสาร มาใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์เช่นกัน ที่รู้จักกันมากคือเสื้อซิลเวอร์นาโน ที่สวมใส่แล้วปราศจากกลิ่นอับชื้น เนื่องจากอนุภาคเงินที่เคลือบอยู่บนเนื้อผ้า จะไปจับและทำลายเซลล์พวกแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดกลิ่นอับ นอกจากนี้ยังมีนักวิจัยทดลองใช้อนุภาคนาโนเคลือบผ้าไหมกันเปื้อนคราบและน้ำ

งานวิจัยและผลิตภัณฑ์ที่ผ่านมานิยมใช้ซิลเวอร์นาโนหรืออนุภาคเงิน และไททาเนียม ไดออกไซด์ เป็นสารเคลือบพื้นผิวเพื่อทำลายการเติบโตของแบคทีเรีย นอกจากเสื้อผ้าแล้วยังใช้กับเครื่องซักผ้า และเครื่องปรับอากาศที่บางยี่ห้อโฆษณาว่าสามารถกำจัดเชื้อไข้หวัดนกได้ด้วย

"งานวิจัยทางด้านเทคโนโลยีนาโนในปี 2551 คงเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น ศ.กิตติคุณดร.วิวัฒน์ ตัณฑะพานิชกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) กล่าว

ดร.วิวัฒน์เป็นผู้หนึ่งที่คิดค้น "ถ่านกัมมันต์" จากยางรถยนต์เก่าและกากกาแฟ เพื่อใช้เป็นตัวกรองน้ำเสียจากโรงงาน ถ่านกัมมันต์ที่คิดค้นมีขนาดเล็กเพียง 2 นาโนเมตร สามารถจับธาตุโลหะหนักได้ดีกว่าของนำเข้าจากต่างประเทศ

ผู้อำนวยการนาโนเทคมองว่า งานวิจัยด้านนาโนเทคโนโลยีจากนี้ไป จะเกี่ยวข้องกับทางการแพทย์หรือที่เรียกว่า "นาโนเมดิซิน" มากขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนายาเฉพาะบุคคลและระบบนำส่งยา

รูปแบบการรักษาโรคตลอดช่วงที่ผ่านมาเน้นการพัฒนาตัวยาครอบคลุมการรักษาประชากรกลุ่มใหญ่ ไม่จำกัดเพศ วัย ตัวบุคคล เช่น ยาแก้ปวด แก้ไข้ เป็นต้น แต่อนาคต รูปแบบการรักษาให้ความสำคัญกับ "พันธุกรรม" ของแต่ละคนมากขึ้น การตรวจวินิจฉัยของแพทย์จะส่องไปดูถึงระดับยีน เพื่อหาความเสี่ยงต่อโรคในเฉพาะคน ก่อนดำเนินการรักษาด้วยรูปแบบเฉพาะ

ยกตัวอย่างแพทย์จะวินิจฉัยผู้ป่วยด้วยอุปกรณ์ที่เรียกว่านาโนอาร์เรย์ เพื่อตรวจค้นยีนหรือดีเอ็นเอจากตัวอย่างเลือด ซึ่งใช้ในปริมาณน้อยกว่าการตรวจวินิจฉัยในปัจจุบัน แต่ได้ผลเร็วขึ้น

งานวิจัยที่นักวิทยาศาสตร์ไทยและต่างประเทศกำลังค้นคว้ากันอย่างจริงจังอีกประเภทคือระบบนำส่งยา ซึ่งจะเป็นการพัฒนาสำคัญในปีนี้

ระบบนำส่งยาให้ประสิทธิภาพการรักษาได้ดีกว่าการรับประทานยาหรือฉีดยาอย่างที่รักษากันทั่วไป เนื่องจากยากินจะกระจายตัวออกฤทธิ์ระหว่างทางก่อนถึงอวัยวะที่ติดเชื้อโรค เฉพาะอย่างยิ่งยาสำหรับโรคมะเร็ง ที่อาจทำลายเซลล์ดีระหว่างทางที่จะไปทำลายเซลล์เนื้อร้าย ระบบนำส่งยาจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญ โดยมีระบบนำวิถีชี้ตำแหน่งให้ยาเดินทางไปปล่อยสารออกฤทธิ์ที่เซลล์มะเร็งตรงจุด
นอกจากนี้นักวิชาการทั่วโลกเห็นพ้องกันว่า สามารถใช้นาโนเทคโนโลยีแก้ปัญหาวิกฤติพลังงานได้ เช่นงานวิจัยควอนตัมโซลาร์เซลล์ โดยทีมนักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และพลังงานไฮโดรเจน (เซลล์เชื้อเพลิง) ที่นักวิจัยจากหลายสถาบันกำลังดำเนินการค้นคว้า

"เทคโนโลยีนาโนเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพตัวเร่งปฏิกิริยา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการสร้างเชื้อเพลิงที่เป็นพลังงานทางเลือก เช่น หากไฮโดรเจนไม่พอ ก็อาจนำก๊าซธรรมชาติหรือเอทานอล มาผ่านกระบวนการรีฟอร์มมิ่ง โดยใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาคุณภาพสูงเปลี่ยนให้เป็นก๊าซไฮโดรเจน" ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทค อธิบาย

ทีมวิจัยในสังกัดศูนย์นาโนเทคยังศึกษาตัวเร่งปฏิกิริยาอนุภาคนาโนสำหรับใช้กับพลังงานและสิ่งแวดล้อม เช่น โฟโตคาทาลิสต์ ที่ใช้ในการบำบัด เคลือบเสื้อผ้าป้องกันแบคทีเรีย และเคลือบฟิล์มปิดผลไม้ให้สุกช้าลง อีกทั้งอยู่ระหว่างดำเนินการสร้างโรงงานต้นแบบ ที่ใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาชนิดนี้ในการบำบัดน้ำเสีย

ดร.วิวัฒน์เพิ่มเติมว่า เทคโนโลยีนาโนยังประยุกต์ใช้ในเวชสำอางอีกด้วย เช่น เทคโนโลยีนาโนอีมัลชั่น นำมากักเก็บประสิทธิภาพของสารประทินผิว โดยใช้ฟิล์มไคโตซานอนุภาคนาโนเป็นตัวเก็บ ทำให้สารสามารถซึมเข้าสู่ผิวได้ถึงชั้นผิวหนังแท้ และค่อยๆ ปลดปล่อยประสิทธิภาพออก ทั้งนี้ มีแผนจัดตั้งเป็นกลุ่มความร่วมมือวิจัย ดึงมหาวิทยาลัยและหน่วยงานวิจัยต่างๆ ที่สนใจด้านเวชสำอางมาวิจัยร่วมกัน

ที่ผ่านมานาโนเทคก็ยังมีผลงานเด่นๆ เช่น ระบบตรวจวินิจฉัยโดยใช้นาโนเซ็นเซอร์ เพื่อตรวจหาปริมาณน้ำตาลซูโครสในสารละลาย ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้ กำลังจะจดสิทธิบัตรร่วมกับสถาบันวิจัยเอไอเอสทีของญี่ปุ่น, แว่นตานาโนคริสตัลที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พัฒนาขึ้นให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ในการตรวจหาคราบเลือดหรือสารคัดหลั่ง เป็นต้น

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

No comments: