Saturday, December 1, 2007

นักวิทย์จุฬาฯ ชี้ “พายุ -น้ำหลาก -แผ่นดินทรุด” น่ากลัวกว่า “น้ำทะเลท่วมกรุงเทพฯ”


นักวิทย์จุฬาฯ ชี้ปัญหาโลกร้อนเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่มนุษย์เร่งให้เกิดเร็วขึ้น โดยเฉพาะการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล การตัดไม้ทำลายป่า และการโหมใช้พลังงานอย่างฟุ่มเฟือย ย้ำไม่หวั่นปัญหาน้ำทะเลจะเข้าท่วมกรุงเทพฯ เพราะไม่เกิดขึ้นในเร็ววัน แต่มีปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่น่ากลัวกว่า เช่นพายุ น้ำหลาก และแผ่นดินทรุด เสนอต้องให้ความรู้ประชาชนช่วยแก้ปัญหาคนละไม้คนละมือ

เมื่อช่วงสายวันที่ 1 ธ.ค.ในรายการทันโลกวิทยาศาสตร์ ทางสถานีวิทยุจุฬาฯ คลื่นความถี่เอฟเอ็ม 101.5 เมกะเฮิร์ตซ์ ดำเนินรายการโดย ผศ.มานิต รุจิวโรดม ได้มีการสัมภาษณ์พิเศษ ผศ.พงษ์ ทรงพงษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงสภาพการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกที่ส่งผลกระทบถึงประเทศไทย

ผศ.พงษ์ กล่าวว่า ภาวะโลกร้อนหมายถึงภาวะที่อุณหภูมิโดยเฉลี่ยของโลกเพิ่มสูงขึ้นจนมีผลกระทบต่อชีวิตพืชและสัตว์ ซึ่งไม่จำเป็นที่อุณหภูมิทั่วโลกจะสูงขึ้นทุกจุด บางจุดอาจมีอุณหภูมิลดลงก็ได้ แต่เมื่อนำมาหาค่าเฉลี่ยร่วมกันจะพบว่าอุณหภูมิโดยรวมสูงขึ้น ซึ่งทั่วโลกยอมรับว่าเป็นจริงเช่นนั้น โดยการเรียกว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจะทำให้เห็นภาพได้ถูกต้องกว่า เพราะจะให้ความรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในหลายรูปแบบและเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ต่างจากภาวะโลกร้อนที่คนมักคิดกันว่า อากาศโลกจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างเดียว และเป็นไปอย่างรุนแรง

ทั้งนี้ ผศ.พงษ์ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกมีวิวัฒนาการมาเป็นเวลานานแล้ว โดยมีวัฏจักรการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทุกๆ 100,000 ปี สลับกันไปมาระหว่างยุคน้ำแข็งประมาณ 80,000 ปี และยุคที่น้ำแข็งเริ่มละลายซึ่งกินเวลาอีกประมาณ 20,000 ปี ก่อนโลกจะเข้าสู่ยุคน้ำแข็งอีกครั้งหนึ่ง โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกคือ แสงแดดจากดวงอาทิตย์ ซึ่งโลกจะมีวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ไม่คงที่ บ้างโคจรเป็นวงกลม โลกก็จะได้รับพลังงานสม่ำเสมอและเกิดความอบอุ่น ขณะที่บางเวลาก็จะโคจรเป็นวงรี ทำให้โลกได้รับพลังงานน้อยลงและกลับเข้าสู่ยุคน้ำแข็งอีกครั้ง

นอกจากนั้น โลกยังมีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะคล้ายการผงกศีรษะขึ้นลง 1 -2 องศาด้วย ทำให้แกนโลกเอียง 22 1/2 องศาจนถึง 24 1/2 องศา ซึ่งปัจจุบันแกนโลกเอียง 23 1/2 องศา โดยการเปลี่ยนแปลงจะมีคาบทุกๆ 41,000 ปี อีกทั้งแกนโลกยังมีการส่ายไปรอบๆ แกนที่ตั้งฉากกับดวงอาทิตย์ แกนโลกจึงส่ายไปมาคล้ายลูกข่างเป็นคาบๆ ละประมาณ 26,000 ปี ดังนั้นในอีก 13,000 ปี แกนโลกจึงจะเปลี่ยนจากการชี้ไปยังดาวเหนือ (Polaris) ไปเป็นชี้ไปยังดาวเวกา (Vega) และจากนั้นอีก 13,000 ปี แกนโลกจึงกลับมาชี้ไปยังดาวเหนืออีกครั้งหนึ่ง โดยทั้ง 3 วัฏจักรนี้รวมเรียกว่าวัฏจักรของมิลานโควิช (Milankovich cycles) ซึ่งทั้งหมดมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกทั้งหมด

แต่แม้โลกจะมีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว ผศ.พงษ์ กล่าวด้วยว่า มนุษย์ถือเป็นตัวการที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรวดเร็วมากที่สุด โดยเฉพาะการขุดเจาะเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งเป็นตัวเก็บสะสมธาตุคาร์บอนลงสู่พื้นดินตลอดหลายล้านปีมาใช้ในเวลาประมาณ 100 ปี จนปัจจุบันเหลือใช้ได้ไม่ถึง 50 ปีแล้ว และส่งผลให้คาร์บอนใต้ผิวดินกลับขึ้นมาหมุนเวียนสู่ชั้นบรรยากาศจำนวนมาก รวมไปถึงการตัดไม้ทำลายป่าซึ่งเป็นตัวรักษาความชุ่มชื้นของอากาศให้หมดไป ตลอดจนการก่อสร้างตึกอาคาร และการใช้พลังงานอย่างมหาศาล ที่ส่งผลถึงสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่พบแล้ว เช่น ในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา อุณหภูมิโลกสูงขึ้น 1.2 -1.8 องศาเซลเซียส และข้อกังวลว่าธารน้ำแข็งขั้วโลกเหนือจะหดตัวลงมาก จนส่งผลถึงแหล่งต้นน้ำตามธรรมชาติของประเทศซีกโลกเหนือตอนบนที่อาจขาดแคลนแหล่งน้ำอุปโภค –บริโภคได้ในอนาคต อีกทั้งเกรงว่าน้ำแข็งที่ละลายจะไหลลงสู่ทะเลทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นเฉลี่ย 1.8 ม.ม./ปีด้วย

อย่างไรก็ดี ผศ.พงษ์ ชี้ว่า แต่ปัญหาเหล่านี้ก็ไม่ถือว่าเป็นปัญหาที่น่ากังวลสำหรับประเทศไทยมากนัก โดยเฉพาะปัญหาน้ำทะเลท่วมกรุงเทพฯ ที่หลายฝ่ายกังวลกันซึ่งยังต้องใช้เวลาอีกยาวนานมากกว่าจะเกิดปัญหาจริง ขณะที่ปัญหาเรื่องพายุ น้ำทะเลหนุน น้ำหลาก ตลอดจนปัญหาเรื่องแผ่นดินทรุดปีละนับกว่า 10 ซ.ม.ฯลฯ ถือเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมใกล้ตัวที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบมากกว่า

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่อาจเกิดขึ้น ผศ.พงษ์ กล่าวว่า จึงจำเป็นที่ต้องให้ความรู้แก่ประชาชนให้ทราบถึงที่มาที่ไปของปัญหา เพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วมกันลดปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหากันคนละเล็กละน้อย ซึ่งแม้จะไม่ช่วยให้ไม่ให้เกิดปัญหาได้ แต่ก็จะทำให้ปัญหาต่างๆ ทุเลาลง เช่น การลดใช้พลังงานอย่างฟุ่มเฟือยเพื่อบรรเทาวิกฤติ เป็นต้น

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000142723

No comments: