Thursday, April 19, 2007

เนคเทคเปิดตัวเวบไซต์คลื่นข่าว

เนคเทคเปิดตัวเวบไซต์คลื่นข่าว

ถ้าเป็นสองสามปีก่อน นักท่องอินเตอร์เน็ตอาจต้องเปิดหลายเวบไซต์เพื่อติดตามข่าวสาร สาระและบันเทิงจากเวบไซต์ข่าวของสำนักต่างๆ แต่หลังจากเกิดเทคโนโลยีใหม่ที่เรียกว่า “ระบบส่งข่าวอัตโนมัติ” ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสารใหม่ได้ตลอดเวลาทั้งวันทั้งคืน

ระบบส่งข่าวอัตโนมัติ หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า อาร์เอสเอส (RSS) เป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่คนที่สนใจอ่านข่าวสาร และติดตามความก้าวหน้าของข่าวได้อย่างรวดเร็ว ปัจจุบันจะเห็นว่ามีเวบไซต์หลายแห่งแสดงเครื่องหมาย “RSS” ไว้หน้าหัวข้อข่าว เพื่อให้ผู้ใช้นำ “ลิงค์” ไปใส่ไว้ในโปรแกรมอ่านข่าว

การรับข่าวผ่านเทคโนโลยีอาร์เอสเอสสามารถทำได้สองแบบ อย่างแรกเป็นการอ่านผ่านโปรแกรม ซึ่งมีอยู่หลายโปรแกรมด้วยกัน เช่น RSS Feeder และอย่างที่สองซึ่งสะดวกกว่าเป็นการอ่านจากโปรแกรมท่องอินเตอร์เน็ตหรือเวบบราวเซอร์โดยตรง แต่ยังจำกัดเพียงเวบบราวเซอร์ไม่กี่ตัวเท่านั้น เช่น โมซิล่า ไฟร์ฟ็อกซ์ และอินเทอร์เน็ตเอ็กซ์พลอเรอร์ 7 ที่มาพร้อมกับวินว์วิสต้า ระบบปฏิบัติการตัวใหม่ของไมโครซอฟท์เท่านั้น

ดร.กุลวดี ศรีพานิชกุลชัย นักวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวว่า เนคเทคได้พัฒนาเวบไซต์สำหรับอาร์เอสเอสที่รายงานข่าวสารเป็นเสียงพูดให้ประชาชนรับฟังข้อมูลข่าวสารได้เหมือนกับฟังข่าววิทยุด้วย

“ไม่เพียงแต่ผู้พิการทางสายตาเท่านั้นที่ได้ประโยชน์จากเวบไซต์ www.rssthai.com ประชาชนทั่วไปสามารถใช้โทรศัพท์บ้านและโทรศัพท์มือถือต่อสายเข้ามาฟังข่าวสารเช่นกัน เพียงแค่โทรเข้ามาตามหมายเลขที่กำหนด และเลือกว่าจะรับฟังข่าวประเภทใด อาทิ ข่าวการเมือง ข่าวกีฬา ข่าวต่างประเทศ เป็นต้น” ดร.กุลวดี กล่าว

เมื่อผู้ใช้โทรเข้ามา และเลือกประเภทข่าวที่จะรับฟัง ระบบจะเริ่มทำงานโดยดึงข้อมูลจาก www.rssthai.com โดยจะอ่านหัวข้อข่าวและเนื้อข่าวโดยสรุปให้ฟัง

ระบบทำงานบนไอพี พีดีเอ็กซ์ (ITPDX) เป็นเซิร์ฟเวอร์ที่สามารถรับสายโทรศัพท์ โดยทางทีมวิจัยจะมีตัวต่อเชื่อมต่อระบบที่สามารถรับสายโทรศัพท์เข้ามาในระบบและโอนไปยังโปรแกรม ขณะเดียวกันก็ดึงข่าวจากอินเทอร์เน็ตทำการอ่าน ตัดข่าวและเรียบเรียงคำพูดส่งไปยังซอฟแวร์ของเนคเทคที่ชื่อว่า เท็กซ์ ทู สปีช (Text to Speech) เป็นระบบสังเคราะห์เสียงจากประโยคตัวอักษร

จากการทดสอบระบบสามารถใช้งานได้ตามที่ออกแบบไว้ แต่เสียงสังเคราะห์ยังฟังดูไม่เป็นธรรมชาติและยังคงต้องปรับปรุงให้เซิร์ฟเวอร์รองรับคู่ให้มากขึ้น

ในอนาคต ทางผู้วิจัยยังคงต้องพัฒนาให้สามารถใช้งานได้ทั้งระบบฟังข่าวจราจร ตลอดจนเพิ่มชิ่งสัญญาณรองรับคู่สายโทรศัพท์ คาดว่าระบบสามารถเปิดให้บริการเต็มรูปแบบได้ในปลายปี 2550

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

No comments: