จักษุแพทย์ตรวจตาผ่านเน็ตหวังรักษาทั่วถึงหมู่บ้านห่างไกล
เนคเทคอาสาโรงพยาบาลวัดไร่ขิงพัฒนาต้นแบบระบบตรวจวินิจฉัยโรคตาทางไกล ดัดแปลงเครื่องตรวจตาติดกล้องเวบแคมส่องตาผู้ป่วยจากสถานีอนามัยในชนบทส่งสัญญาณภาพผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตมาให้จักษุแพทย์วินิจฉัยเหมือนนั่งอยู่ตรงหน้า
วุฒิกร เชาว์ประมวลกุล ผู้ช่วยนักวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ประสบความสำเร็จในการพัฒนาอุปกรณ์ตรวจตาทางไกลเครื่องต้นแบบ โดยใช้เวลาพัฒนาประมาณ 1 ปี อุปกรณ์ดังกล่าวจะเสริมประสิทธิภาพในการวินิจฉัยโรคตาในพื้นที่ห่างไกลได้ทั่วถึงยิ่งขึ้น
"การขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทห่างไกล ซึ่งมักพบผู้ป่วยโรคต้อกระจกจำนวนมาก ทั้งยังขาดจักษุแพทย์ที่เชี่ยวชาญในการตรวจวินิจฉัย ทำให้การดูแลรักษาโรคตาในพื้นที่ดังกล่าวไม่ทั่วถึง" ผู้ช่วยนักวิจัย กล่าว
เนคเทคได้รับแนวคิดในการพัฒนาเครื่องตรวจวินิจฉัยโรคตาทางไกลมาจากโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ หรือโรงพยาบาลวัดไร่ขิง ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการรักษาโรคตา โดยนักวิจัยได้พัฒนาความสามารถเครื่องตรวจตาวินิจฉัยโรคตาที่ใช้ตามโรงพยาบาลให้สามารถควบคุมการใช้งานระยะไกลผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ช่วยให้จักษุแพทย์ส่วนกลาง ไม่ต้องเดินทางไปตรวจผู้ป่วยในพื้นที่จริง
การออกแบบอุปกรณ์ตรวจตาทางไกล ประกอบด้วย การปรับปรุงโครงสร้างเชิงกลของอุปกรณ์ตรวจตาเดิม โดยติดตั้งมอเตอร์ปรับตำแหน่งสำหรับควบคุมอุปกรณ์ให้อยู่ในทิศทางที่ต้องการ ตลอดจนพัฒนาส่วนเชื่อมต่อกับผู้ใช้งาน ทั้งในส่วนของโปรแกรมในการสื่อสาร และรับคำสั่งการทำงานผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
"ในส่วนของโปรแกรมได้ออกแบบให้ใช้งานง่าย โดยเพิ่มส่วนจัดการข้อมูลภาพจากกล้องวิดีโอ ฟังก์ชันการถ่ายภาพประกอบการวินิจฉัยและวางแผน รวมทั้งติดตามผลการรักษาของจักษุแพทย์" ผู้ช่วยนักวิจัย กล่าว
ทีมวิจัยได้ทดสอบประสิทธิภาพของเครื่องตรวจตาที่พัฒนาขึ้น โดยให้จักษุแพทย์ที่โรงพยาบาลวัดไร่ขิงทดสอบผ่านระบบเครือข่ายภายใน (ระบบแลน) โดยใช้ตรวจรักษาอยู่คนละห้อง เพื่อจำลองสถานการณ์ใช้งานจิงพบว่า ระบบสามารถทำงานได้ตามที่ออกแบบไว้ แต่อาจต้องปรับให้อุปกรณ์สามารถปรับภาพได้ง่ายและรวดเร็วขึ้นและลดระยะเวลาการตรวจให้เร็วขึ้น
"ปัจจุบันทีมงานกำลังพัฒนาอุปกรณ์ตรวจตารุ่นใหม่ คาดว่าจะใช้เวลา 1 ปี จากนั้นจะทดสอบการควบคุมทางไกลในลักษณะเรียลไทม์ เพื่อดูประสิทธิภาพ และความล่าช้าที่มักเกิดขึ้นบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในช่วงที่มีการรับส่งข้อมูลจำนวนมาก " ผู้ช่วยนักวิจัย กล่าว
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment