Wednesday, April 18, 2007

รายงานโลกร้อน


รายงานโลกร้อนชี้ เหลือเวลาแก้ปัญหาอีกไม่มาก

เอเจนซี - แม้การต่อสู้กับปัญหาโลกร้อนจะไม่เสียค่าใช้จ่ายมากนัก แต่รัฐบาลต่างๆ เหลือเวลาอีกเพียงน้อยนิดเท่านั้นที่จะหลบเลี่ยงสภาวะอุณหภูมิเพิ่มสูงอันจะก่อความเสียหายได้

ร่างรายงานขององค์การสหประชาชาติซึ่งมีกำหนดออกเผยแพร่ที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 4 พ.ค. ชี้ว่า ภาวะโลกร้อนกำลังทำให้อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม ซึ่งสหภาพยุโรปเห็นว่าเป็นระดับอุณหภูมิที่จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในธรรมชาติ "อย่างน่าอันตราย"

รายงานนี้ถือเป็นส่วนที่ 3 ของคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ (The Intergovernmental Panel on Climate Change : IPCC) ที่ออกมาในปี 2007 เนื้อหาของรายงานส่วนนี้เน้นหนักไปที่เหตุการณ์จำลอง 2 เหตุการณ์ โดยบอกว่า การจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอาจมีค่าใช้จ่ายเท่ากับ 0.2% หรือ 0.6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)ทั่วโลก ในปี 2030

บางตัวอย่างชี้ให้เห็นว่า มาตรการต่างๆ เป็นต้นว่า การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น น้ำมันและถ่านหิน อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อาจช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโลกได้เล็กน้อยด้วยซ้ำไป

สำหรับสถานการณ์จำลองแบบเข้มงวดที่สุด ซึ่งรัฐบาลต่างๆจะต้องแน่ใจว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกจะเริ่มลดลงภายในเวลา 15 ปี จะต้องเสียค่าใช้จ่าย 3% ของจีดีพีโลกภายในปี 2030

ข้อสรุปของรายงานฉบับนี้สอดคล้องกับรายงานเมื่อปีที่แล้วของนิโคลัส สเติร์น (Nicholas Stern) อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลก ที่ประเมินว่า ค่าใช้จ่ายในการลงมือชะลอภาวะโลกร้อนในตอนนี้ อยู่ที่ประมาณ 1% ของจีดีพีโลก เทียบกับตัวเลขที่สูงถึง 5-20% ในอนาคต ถ้าพวกเรายังไม่รีบลงมือ

วิธีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทำได้ง่าย ตามที่เสนอไว้ในร่างรายงานฉบับนี้ ได้แก่ การใช้พลังงานฟอสซิลให้มีประสิทธิภาพมากกว่านี้, เปลี่ยนมาใช้พลังงานรูปแบบอื่น เช่น พลังงานลม แสงอาทิตย์ หรือพลังงานนิวเคลียร์ ตลอดจน จัดการการปลูกป่าและการทำเกษตรกรรมให้ดีกว่านี้

ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจนอกเหนือจากการประหยัดพลังงานก็คือ สุขภาพจะดีขึ้นเนื่องจากมลพิษน้อยลง, ภาคเกษตรกรรมเสียหายจากฝนกรดน้อยลง และมีความมั่นคงด้านพลังงานเพิ่มมากขึ้น เพราะมีการลดการนำเข้าพลังงาน

เหตุการณ์จำลองในการยอมเสียจีดีพีแค่ 0.2% ในปี 2030 เพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน จะรักษาระดับก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศในปี 2030 ให้อยู่ที่ 650 ส่วนต่อล้านส่วน (ppm) ซึ่งสูงกว่าระดับปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 430 ppm

"การประมาณแบบเจาะจงที่สุด" ชี้ให้เห็นว่า นั่นอาจทำให้อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น 3.2-4.0 องศาเซลเซียส จากระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ยิ่งมีมาตรการที่รัดกุมและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มาก ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

โดยในกรณีที่มีมาตรการเข้มงวดที่สุด ซึ่งจะเสียค่าใช้จ่าย 3% ของจีดีพี จะสามารถจำกัดปริมาณก๊าซเรือนกระจกลงไปอยู่ที่ 445-535 ppm ภายในปี 2030 ซึ่งน่าจะทำให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้น 2-2.4 องศาเซลเซียส

ด้าน บันคีมุน เลขาธิการใหญ่ยูเอ็น กล่าวกับ นสพ.ไฟแนนเชียลไทมส์ว่า ยูเอ็นกำลังพิจารณาให้จัดการประชุมระดับสูงเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศภายในปีนี้ ซึ่งอาจนำไปสู่การประชุมระดับผู้นำสุดยอดได้ในปี 2009

การประชุมระดับสูง ซึ่งน่าจะมีรัฐมนตรีและผู้แทนระดับท็อปเข้าร่วม เป็น "หนทางที่ปฏิบัติได้และเป็นไปได้จริง"มากที่สุด บันกล่าว

การประชุมนี้ ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นใกล้ๆกับการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติที่นิวยอร์กในเดือนกันยายน "อาจได้แนวทางปฏิบัติชัดเจนเพื่อประชุมในเดือนธันวาคมที่บาหลีก็เป็นได้" บันกล่าว ซึ่งการประชุมที่บาหลีนั้นเป็นการประชุมของยูเอ็นเกี่ยวกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

หากการประชุมระดับสูงในเดือน ก.ย.ประสบความสำเร็จ "จะต้องมีการพูดคุยเกี่ยวกับการประชุมระดับผู้นำสุดยอดในภายหลัง" บันกล่าวกับไฟแนนเชียลไทมส์ "อาจเป็นปี 2008 หรือ 2009"

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000044188

No comments: