Wednesday, April 18, 2007

เส้นทาง “เด็กรักดาว”

เส้นทาง “เด็กรักดาว” ผ่านเวที “ดาราศาสตร์โอลิมปิก”

"เหรียญทอง" อาจเป็นเป้าหมายของการแข่งขันในหลายๆ เวที ไม่ว่าจะเป็น "กีฬาโอลิมปิก" และแม้ "โอลิมปิกวิชาการ" ก็น่าจะมีเป้าหมายไม่ต่างกัน แต่สำหรับเด็กๆ กลุ่มหนึ่งกลับมองว่า “ดาราศาสตร์โอลิมปิก” ก็คือเวทีหนึ่งที่สร้างโอกาสให้พวกเขาได้ไปถึง “ดวงดาว” นั่นคือการเป็น “นักดาราศาสตร์”

กนกวรรณ ศักดิ์สกุลไกร หรือ “แพร” นักเรียน ม.5 โรงเรียนศึกษานารี กำลังอยู่ระหว่างลุ้นว่าจะผ่านการคัดเลือกเป็นตัวแทนศูนย์สมาคมดาราศาสตร์ไทย ซึ่งเป็นศูนย์ดาราศาสตร์โอลิมปิกระดับกรุงเทพมหานครของมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) เพื่อไปแข่งดาราศาสตร์โอลิมปิกระดับประเทศที่จะจัดขึ้น ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในเดือน พ.ค.นี้หรือไม่ แต่ถึงไม่ได้ เธอก็ไม่เสียใจเพราะเป้าหมายที่แท้จริงของเธอคือการได้รับความรู้ดาราศาสตร์จากการเข้าค่ายดาราศาสตร์โอลิมปิก

“ความรู้ที่ได้จากการเข้าค่ายเป็นความรู้ในภาพกว้างของดาราศาสตร์” แพรซึ่งตั้งใจจะเป็นนักดาราศาสตร์ในอนาคตเผยถึงสิ่งที่ได้รับจากการเข้าค่าย ทั้งนี้ก่อนเข้าสู่สนามแข่งขันดาราศาสตร์โอลิมปิกเธอได้ผ่านการฝึกฝนความรู้ทางด้านดาราศาสตร์จากการทำวิจัยเรื่อง “ฝนดาวตก” และ “ดาวแปรแสง” (Variable star) ในโครงการเรียนรู้เรื่องวิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (ลีซา) ซึ่งเธอกล่าวว่าการทำวิจัยทำให้มีความเข้าใจลึกซึ้งในเรื่องที่ศึกษา

ด้าน พิสิฏฐ นิธิยานันท์ หรือ “หวาย” เยาวชนผู้คว้าเหรียญทองแดงจากการแข่งขันดาราศาสตร์โอลิมปิกระดับเอเชียแปซิฟิกและยังเป็นผู้ที่คว้าตำแหน่งแฟนพันธุ์แท้ “ดาราศาสตร์” จากการแข่งขันตอบปัญหาในรายการโทรทัศน์ ซึ่งความสำเร็จที่ได้รับมานั้นไม่ได้ทำให้เขาหยุดที่จะสานฝันสู่การเป็นนักดาราศาสตร์ โดยหลังจากเพิ่งจบชั้น ม.ปลาย จากโรงเรียนวัดสุทธิวราราม ในปีการศึกษา 2549 นี้ เขาก็ได้เลือกศึกษาต่อในภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเขาให้เหตุผลว่าจะได้ใกล้ชิดกับสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.)

หวายกล่าวว่าวิชาดาราศาสตร์ยังไม่ถูกบรรจุให้เป็นวิชาหลักเหมือนวิชาอื่นๆ เช่น ฟิสิกส์ เคมี หรือชีววิทยา ครูหรือตำราก็ไม่พร้อม ค่ายดาราศาสตร์โอลิมปิกจึงช่วยเติมเต็มในส่วนนี้ได้ และโดยส่วนตัวเขาเองนั้นก็ผ่านการเข้าค่ายดาราศาสตร์โอลิมปิกตั้งแต่ ม.ต้น-ม.ปลาย ถึง 3 รุ่น ซึ่งก็ทำให้ได้รับความรู้พอสมควร

ส่วน วศิน สุทธิสันธิ์ หรือ “วิน” นักเรียน ม.ปลายที่กำลังจะจบจากโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย ได้ค้นพบว่าตัวเองชื่นชอบดาราศาสตร์และคิดว่าเป็นแนวทางที่จะเลือกเดินต่อไปในอนาคต โดยเขาได้ค้นคว้าข้อมูลดาราศาสตร์ด้วยตัวเองผ่านอินเทอร์เน็ต และมีโอกาสได้เข้าค่ายดาราศาสตร์โอลิมปิกด้วยคะแนนสอบแข่งขันเป็นอันดับ 1 แต่ที่สุดเขาก็ไม่ได้เป็นตัวแทนประเทศไปแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระหว่างประเทศ และนั่นก็ไม่ได้ทำให้ย่อท้อเพราะจุดมุ่งหมายของเขาคือการได้เป็นนักดาราศาสตร์ ดังนั้นช่วงเวลาที่นักเรียนทั้งหลายจะลุ้นผลสอบเข้ามหาวิทยาลัยนั้น เขาก็ลุ้นผลสอบเข้าภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยเขาให้เหตุผลที่เลือกสถาบันดังกล่าวว่าเป็นสถาบันที่มีการสอนดาราศาสตร์อย่างจริงจังและอยู่ใกล้กับสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ด้วย

ขณะที่ ทรงเกียรติ นุตาลัย หรือ “เอ” นักเรียนจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย กำลังจะไปศึกษาต่อทางด้านดาราศาสตร์จนถึงปริญญาเอกที่สหรัฐอเมริกาด้วยทุนกระทรวงวิทยาศาสตร์ ในสาขาฟิสิกส์ดาราศาสตร์ โดยเขาต้องสอบแข่งขันกับนักเรียนทั้งประเทศแม้ว่าเขาจะเป็นตัวแทนประเทศที่สามารถคว้าเหรียญทองแดงจากการแข่งขันดาราศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศเมื่อปี 2548 ซึ่งต่างไปจากตัวแทนโอลิมปิกวิชาการสาขาอื่นๆ ที่จะได้รับ “ทุนโอลิมปิกวิชาการ” ไปศึกต่อต่างประเทศโดยไม่ต้องสอบชิงทุน

เอกล่าวว่าตั้งใจจะไปเรียนที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งแคลิฟอร์เนียหรือคาลเทค (California Institute of Technology: Caltech) เพราะอยู่ใกล้แหล่งวิจัยที่สำคัญ และมีกล้องดูดาวขนาดใหญ่แบบใช้แสงและแบบใช้คลื่นวิทยุ อยู่ใกล้ทะเลทรายซึ่งเหมาะแก่การศึกษาดาราศาสตร์เพราะไม่มีอะไรรบกวน รวมถึงมีผู้เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์ที่มีชื่อเสียง แต่หากไม่ได้เรียนที่คาลเทคก็อาจจะไปเรียนที่มหาวิทยาลัยฮาวาย (University of Hawaii) ซึ่งมีกล้องดูดาวและมีงานวิจัยที่น่าสนใจเช่นกัน

“สนใจทางด้านนี้เพราะได้ศึกษาสิ่งใหม่ๆ ที่เราไม่เคยรู้ เป็นการศึกษาที่กว้างขวาง ไม่สิ้นสุด และเปลี่ยนแปลงได้ตลอด” เอกล่าวถึงความชอบที่มีต่อดาราศาสตร์ พร้อมทั้งเปิดเผยว่าอยากทำงานที่ สดร. เพราะเรียนทางด้านนี้หากได้ทำงานวิจัยร่วมกับสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ก็นับว่าดีแล้ว และการได้แข่งขันดาราศาสตร์โอลิมปิกก็ทำให้ตัวเองได้ค้นพบว่าสนใจและถนัดในด้านนี้ แต่หากไม่ได้เข้าร่วมดาราศาสตร์โอลิมปิกก็อาจจะเบนเข็มอนาคตตัวเองไปที่วิศวกรรมศาสตร์ เพราะสนใจวิทยาศาสตร์ที่ต้องใช้การคำนวณ อีกทั้งก็ยังไม่ทราบด้วยว่าเรียนดาราศาสตร์แล้วจะไปทำอะไร แต่ตอนนี้ทราบแล้ว

“พอทราบว่ามี สดร.ก็ดีใจ เรียนทางด้านนี้หากได้ทำงานที่ สดร.ก็นับว่าดีแล้ว จบมาแล้วอยากเอาความรู้มาพัฒนาวงการดาราศาสตร์ในเมืองไทย เพราะไทยมีนักวิจัยสาขาอื่นพอสมควร แต่ด้านนี้ยังน้อยอยู่ อยากให้ไทยได้เข้าร่วมกับองค์กรดาราศาสตร์ระดับนานาชาติ และพัฒนาบุคลากรให้มีคุณภาพมากพอ” เอกล่าว

...เส้นทางสู่ “ดวงดาว” ของเยาวชนเหล่านี้อาจจะแตกต่างกันไปบ้าง แต่พวกเขาก็มีเป้าหมายรวมกันคือการเป็น นักดาราศาสตร์” ซึ่ง “โอลิมปิกวิชาการ” อาจจะเป็นเวทีช่วยให้พวกเขามองเห็นฝันของตัวเองได้ชัดเจนขึ้น ขณะที่เหรียญรางวัลก็คือผลพลอยได้ระหว่างการเดินทางเท่านั้นเอง...

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000038086

No comments: