Tuesday, July 22, 2008

จุฬาฯประยุกต์ใช้นาโนเทคสร้างชุดตรวจฉี่หนูรู้ผลเร็ว

ศูนย์นาโนเทคจับมือจุฬาฯประยุกต์ใช้เทคโนโลยีจิ๋วทำชุดตรวจโรคฉี่หนู ทดแทนชุดตรวจนำเข้าที่ราคาแพง ทั้งยังออกแบบให้ใช้งานง่าย ไม่ต้องพึ่งพาผู้เชี่ยวชาญหรือเครื่องมือพิเศษ

นพ.ดร.อมรพันธุ์เสรีมาศพันธุ์ ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัจจุบันการตรวจวินิจฉัยโรคฉี่หนูที่รวดเร็วและแม่นยำในผู้ป่วยติดเชื้อระยะแรกของโรคทำได้ยาก เนื่องจากเครื่องมือที่ใช้ตรวจมีราคาแพง ยังไม่แพร่หลายหรือครอบคลุมอาการของโรค ทีมวิจัยจึงพัฒนาชุดตรวจหาเชื้อโรคฉี่หนูในปัสสาวะขึ้นมาใช้งานเอง

ชุดตรวจหาเชื้อโรคฉี่หนูในปัสสาวะที่พัฒนาขึ้นทำมาจากอนุภาคทองคำระดับนาโนเมตร สำหรับตรวจหาโปรตีนที่จำเพาะต่อแบคทีเรียซึ่งเป็นตัวการของโรคฉี่หนู นอกจากนี้การออกแบบชุดตรวจดังกล่าว ยังเน้นให้ใช้งานง่าย ไม่ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญหรือเครื่องมือพิเศษใดๆ อีกทั้งมีต้นทุนการผลิตต่อชุดถูกกว่าชุดตรวจที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เพราะทีมวิจัยนำทองคำมาสังเคราะห์ให้มีขนาดเล็กระดับนาโน จึงใช้วัตถุดิบในปริมาณน้อยนิดเท่านั้น

โรคฉี่หนูถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มโรคของมนุษย์ที่ได้รับเชื้อโรคมาจากสัตว์โดยเชื้อจะออกมากับปัสสาวะสัตว์ แล้วปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อม เข้าสู่ร่างกายโดยการไชเข้าทางผิวหนัง อาจทำให้ผู้ได้รับเชื้อถึงขั้นเสียชีวิตหากรักษาไม่ทันหรือถูกต้องตามวิธี ดังนั้นการตรวจวินิจฉัยที่แน่นอนจึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งและจะสามารถช่วยชีวิตผู้ติดเชื้อนี้ได้

ทั้งนี้ชุดตรวจหาเชื้อโรคฉี่หนูเป็นการพัฒนาร่วมกันระหว่างนักวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช.และผู้ประกอบการในภาคเอกชน หากภาคอุตสาหกรรมจะนำไปพัฒนาและผลิตเชิงพาณิชย์ จะเกิดประโยชน์อย่างมาก เนื่องจากชุดตรวจต้นแบบที่สามารถพัฒนาได้มีความไวต่อการบ่งชี้โรคพอสมควร

ที่มา: http://www.komchadluek.net/
Link: http://www.komchadluek.net/2008/07/22/x_it_h001_212339.php?news_id=212339

Monday, July 21, 2008

เทคโนประดิษฐ์-หุ่นยนต์พ่อครัวทำอาหารจัดโต๊ะได้หมด


เบื่อตื่นเช้ามาทำกับข้าวให้ลูกไปโรงเรียน หรือเปล่า ลองนี่สิ หุ่นยนต์พ่อครัวที่สามารถทอดไข่ดาว ทำแซนด์วิชได้ เผลอๆ อาจทำอาหารเย็นไว้รอ ไม่ต้องไปกินข้าวนอกบ้าน

หุ่นยนต์ตัวใหม่พัฒนาโดยทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคนิคแห่งมิวนิค สามารถจดจำจาน ช้อน ทัพพี กระทะ ตะหลิว หม้อ ถ้วยชามรามไห ได้จากป้ายอิเล็กทรอนิกส์ที่ติดบนภาชนะในห้องครัว ซึ่งออกแบบมาเป็นพิเศษ เพื่อแยกประเภทอุปกรณ์ทำครัวให้หุ่นยนต์รู้จักเครื่องมือเครื่องไม้สำหรับนำมาใช้งานได้ง่ายขึ้น

มิเชล บีตซ์ หัวหน้าทีมวิจัยกล่าวว่า ป้ายอิเล็กทรอนิกส์รับส่งข้อมูลไร้สาย หรือที่เรียกกันว่าอาร์เอฟไอดี ช่วยให้ระบบจดจำของหุ่นยนต์จำสิ่งของแต่ละประเภทได้ดีกว่าจักษุกล ซึ่งเป็นระบบประมวลผลด้วยภาพที่ค่อนข้างซับซ้อน และต้องออกแบบระบบใหญ่โตวุ่นวาย

หลังจากปรับมาใช้ป้ายอิเล็กทรอนิกส์แทนระบบจักษุกลแบบเดิมที่หุ่นยนต์รุ่นก่อนใช้ ผลปรากฏว่าหุ่นยนต์พ่อครัวรู้จักสิ่งของในครัวได้ทุกอย่าง และยังทำภารกิจพื้นๆ ได้โดยสังเกตการเคลื่อนไหวของอุปกรณ์ เช่น จัดโต๊ะอาหาร ซึ่งง่ายมาก แค่จำให้ได้ว่าถ้วย หรือจานใบไหนหายไปจากตู้ และมาปรากฏอยู่บนโต๊ะ หรืองานเก็บกวาดทำความสะอาดโต๊ะ ก็คล้ายกัน คือดูว่าจาน ช้อน ส้อม ถ้วย อันไหนหายไปจากโต๊ะแล้วไปอยู่ในอ่างล้างจาน

ทีมวิจัยกำลังหาทางเชื่อมต่อโปรแกรมเพื่อให้หุ่นยนต์รับคำสั่งผ่านอินเทอร์เน็ต ในรูปแบบเดียวกับการค้นหาด้วยรูปภาพ ยกตัวอย่าง หุ่นยนต์สามารถค้นหาข้อมูลจากเว็บไซต์ประเภทสอนให้ทำนั่นทำนี่ แล้วเปลี่ยนภาษาธรรมชาติให้เป็นคำสั่งที่หุ่นยนต์รู้จักโดยแปลงด้วยภาษาซอฟต์แวร์ชื่อ เวิลด์เน็ต (WorldNet)

หลังจากนั้น หุ่นยนต์จะนำคำสั่งมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม เช่น ถือจาน 4 ใบมาวางบนโต๊ะ แทนที่จะเดินถือจานเที่ยวละใบ 4 เที่ยว หรือตอนที่หุ่นยนต์ออนไลน์หาข้อมูลอยู่ มันยังถ่ายทอดความรู้ที่มันเรียนได้ด้วย นักวิจัยวางแผนติดตั้งระบบจัดเก็บข้อมูลเพื่อให้หุ่นยนต์สามารถแลกเปลี่ยนกิจกรรมบางอย่าง สูตรทำอาหาร และเคล็ดลับการดูแลบ้าน กับหุ่นยนต์ตัวอื่น แต่สิ่งยากที่สุดคือทำให้หุ่นยนต์ตัวแรกมีระบบความรู้เหล่านี้เสียก่อน แล้วถึงค่อยใส่โปรแกรมให้มันถ่ายทอดความรู้

การออกแบบหุ่นยนต์ลักษณะนี้ไม่ใช่แค่นำเซ็นเซอร์ไปติดไว้ตามตัวเท่านั้น แต่ต้องฝังเซ็นเซอร์เข้ากับระบบเรียนรู้สภาพแวดล้อมการทำงานด้วย มันเหมือนช่วยให้หุ่นยนต์มีตามากขึ้น มีเซ็นเซอร์มากขึ้น และทำกิจกรรมที่ชาญฉลาดขึ้นในสภาพแวดล้อมต่างกัน

บีตซ์ และเพื่อร่วมทีมบอกว่า พวกเขาเลือกใช้ซอฟต์แวร์ระบบเปิดที่ชื่อว่า เพลเยอร์ (Player) ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมซอฟต์แวร์มาตรฐานสำหรับควบคุมหุ่นยนต์ และเซ็นเซอร์ และยังบอกด้วยว่าจะพยายามอย่างเต็มความสามารถเพื่อพัฒนาหุ่นยนต์พ่อครัวให้ทำอาหารได้ในเร็ววัน

ที่มา: http://www.komchadluek.net/
Link: http://www.komchadluek.net/2008/07/21/x_it_h001_211636.php?news_id=211636

นศ.ตากอวดฝีมือหุ่นยนต์กู้ระเบิดยกจยย.ได้สบาย

มทร.ล้านนาตาก ทดสอบหุ่นยนต์กู้ระเบิด เคลื่อนที่ด้วยล้อตีนตะขาบเข้าถึงทุกซอกมุม แถมลากและยกจักรยานยนต์ได้สบาย
นักศึกษาชั้นปีที่1 สาขาวิศวกรรมศาสตร์ไฟฟ้า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ตาก (มทร.ล้านนา ตาก) พัฒนาต่อยอดผลงานหุ่นยนต์เก็บกู้ระเบิดของของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น โดยติดตั้งขาหน้าและหลังเพิ่มจากล้อตีนตะขาบ ให้เป็นฐานรากในการยกของหนัก และสามารถทำลายวัตถุต้องสงสัยด้วยกระสุนปืนแรงดันน้ำ

นักศึกษาเจ้าของผลงานคือ นายจักรพันธ์ ชูศักดิ์ นายวัชระ สะหาชาติ นายสถาพร ยอดปานันท์ และ น.ส.จุฑารัตน์ โยชุ่ม คาดหวังว่าหุ่นยนต์ดังกล่าวจะช่วยลดอัตราการบาดเจ็บและเสียชีวิตของตำรวจและทหาร ที่ปฏิบัติงานตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ เก็บกู้ ทำลายวัตถุอันตราย ระเบิดและสิ่งของต้องสงสัยในพื้นที่ได้ตามความคาดหมาย สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยมากที่สุด

น.ส.จุฑารัตน์กล่าวว่าโครงการพัฒนาหุ่นยนต์ข้างต้น ได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีลักษณะคล้ายรถแบ็กโฮ ระบบขับเคลื่อนเป็นแบบตีนตะขาบที่ทำด้วยแผ่นเหล็กอะลูมิเนียมกันความร้อนและโซ่ยนต์ รวมถึงแขนกลที่ติดตั้งอยู่ส่วนบนของตัวหุ่น ซึ่งถูกยึดด้วยปืนแรงดันสูง และกล้องโทรทัศน์วงจรปิด

หุ่นยนต์นี้ควบคุมด้วยรีโมทไร้สายในระยะไกลเกือบ2 กิโลเมตร มีความสามารถค่อนข้างจะอเนกประสงค์ สามารถปีนขึ้นบันได หรือทางเท้า เดินผ่านกองดิน กองทราย และน้ำท่วมขังระดับความสูงประมาณ 20 เซนติเมตร ทั้งยังชักลากรถเก๋งที่ใส่เกียร์ว่าง จักรยานยนต์ที่ล้ม หรือแม้แต่ซากศพออกมาจากสถานที่เกิดเหตุ

หุ่นยังมีมือกลที่จับสิ่งของได้หลายรูปทรงแต่ขนาดความกว้างต้องไม่เกิน 12 นิ้ว แม้แต่ลูกมะพร้าวก็ยังจับต้องได้ และยังสามารถแบกรับน้ำหนัก หรือยกสิ่งของได้มากถึง 80 กิโลกรัม

ส่วนกระสุนปืนที่ใช้ยิงทำลายวัตถุต้องสงสัยได้รับการสนับสนุนจากโรงงานวัตถุระเบิดของกรมสรรพวุธทหาร สามารถยิงเจาะเหล็กหนา 2 นิ้ว ประโยชน์ใช้งานคล้ายกับหุ่นยนต์เก็บกู้ระเบิดของสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีราคาประมาณ 15 ล้านบาท ขณะที่หุ่นยนต์ต้นแบบมีต้นทุน 1.5 แสนบาทต่อตัว ขณะนี้พร้อมแล้วที่จะส่งไปใช้เจ้าหน้าที่ฝึกใช้งาน และลงพื้นที่ปฏิบัติงานจริง

ที่มา: http://www.komchadluek.net/
Link: http://www.komchadluek.net/2008/07/21/x_it_h001_211732.php?news_id=211732

เอไอทีชี้บ่อน้ำมันไม่พลาดอาศัยซูเปอร์คอมพ์ช่วยคำนวณก่อนเจาะ

การค้นหาแหล่งน้ำมัน นอกจากจะเป็นเรื่องยากและใช้ทุนมหาศาลแล้วการขุดเจาะและนำน้ำมันขึ้นมาใช้ ยิ่งยากและซับซ้อนกว่า ทีมวิจัยเอไอทีศึกษาเทคนิคทางคอมพิวเตอร์ ช่วยค้นหาแหล่งน้ำมันจากแรงสั่นสะเทือนที่สะท้อนกลับ ระบุตำแหน่งแม่นยำก่อนลงเข็มเจาะ

ดร.พรามฮุย เจา หัวหน้าโครงการวิจัยศึกษาเทคโนโลยีและการจัดการแท่นขุดเจาะน้ำมันและก๊าซโพ้นทะเล สาขาวิชาวิศวกรรมวิศวกรรมโยธา สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) ร่วมกับบริษัท Schlumberger ซึ่งดำเนินธุรกิจขุดเจาะน้ำมัน ศึกษาเทคนิคทางคอมพิวเตอร์ เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการค้นหาบ่อน้ำมัน โดยเฉพาะการค้นหาแหล่งน้ำมันใต้ทะเลลึก ซึ่งเป็นเรื่องยากอย่างมาก

ในการขุดสำรวจจำเป็นต้องสร้างแบบจำลองของแหล่งน้ำมันเพื่อให้ทราบขนาดของหลุมเจาะ ความดันและศักยภาพในการเก็บน้ำมัน ข้อมูลเหล่านี้ช่วยให้บริษัทน้ำมัน สามารถทำงานได้รวดเร็ว มีประสิทธิภาพและลดต้นทุนอย่างมาก ดร.วรทัศน์ขจิตวิชยานุกูล คณะเทคโนโลยีชั้นสูง เอไอที หนึ่งในทีมงาน กล่าว

ที่ผ่านมาเอไอทีส่งนักศึกษาไปเรียนรู้เทคโนโลยีและการจัดการแท่นขุดเจาะน้ำมันที่ประเทศเยอรมนีและออสเตรเลีย เพื่อเรียนรู้การใช้ซอฟต์แวร์เฉพาะทางที่ใช้ในอุตสาหกรรมน้ำมัน และการใช้งานร่วมกับซูเปอร์คอมพิวเตอร์ กระทั่งปัจจุบันมีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางอยู่พอสมควร

ปัจจุบันการสร้างแบบจำลองเพื่อการสำรวจหาทรัพยากรด้านพลังงาน ประเทศไทยสามารถทำได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศอย่างที่ผ่านมา โดยเอไอทีร่วมกับศูนย์ไทยกริดแห่งชาติ นำการประมวลผลด้วยคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงผ่านเครือข่ายระบบกริด ช่วยให้การสร้างแบบจำลองหลุมขุดเจาะน้ำมันทำได้รวดเร็วขึ้น และสามารถสร้างแบบจำลองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นักวิจัยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีประมวลผลด้วยคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงในการด้านต่างๆมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การวิจัยด้านอุตุนิยมวิทยา การออกแบบยา รวมถึงการออกแบบแอนิเมชั่นสามมิติ และการวิเคราะห์ทางการเงินของธนาคาร ที่จำเป็นต้องอาศัยกำลังการประมวลผลมหาศาล ดร.ภุชงค์อุทโยภาศ ผู้อำนวยการศูนย์ไทยกริดแห่งชาติ กล่าว

ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ระบบกริดเป็นการใช้พลังของหน่วยประมวลผลจากคอมพิวเตอร์ในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งเชื่อมต่อกัน ทำให้ศักยภาพในการคำนวณทำได้รวดเร็ว โดยศูนย์ไทยกริดแห่งชาติพร้อมเปิดให้บริการแก่ผู้ที่สนใจประยุกต์ใช้ประโยชน์จากเครือข่ายดังกล่าวมากขึ้น

ที่มา: http://www.komchadluek.net/
Link: http://www.komchadluek.net/2008/07/21/x_it_h001_211633.php?news_id=211633

ไอทีโซน-ซอฟต์แวร์ผู้ช่วยเกษตรกรวิเคราะห์รู้ทันทีต้องเติมปุ๋ยอะไร

ราคาปุ๋ยที่ขยับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆทำให้ต้นทุนค่าเพาะปลูกของเกษตรกรปรับขึ้นตาม ส่งผลต่อเนื่องให้ผู้บริโภคมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่ม กระทรวงเกษตรฯ

ตระหนักถึงความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น จึงพัฒนาซอฟต์แวร์ช่วยวิเคราะห์ดินและปุ๋ย ทดสอบเบื้องต้นค่าปุ๋ยลดลง 500 บาทต่อไร่ ส่งให้หน่วยงานในสังกัดทั่วประเทศนำไปใช้งาน

ซอฟต์แวร์ดินไทย-ธาตุอาหารพืชและซอฟต์แวร์จัดการดิน-ปุ๋ยผลงานการพัฒนาร่วมของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป้าหมายเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะค่าปุ๋ยที่ปรับราคาเพิ่มบ่อยครั้ง ซอฟต์แวร์ทั้งสองจะช่วยให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรและเกษตรกร ทราบถึงสภาพความสมบูรณ์ของแปลงดิน และปริมาณปุ๋ยที่ต้องใช้ จึงลดการสิ้นเปลืองปุ๋ยส่วนเกินไปได้ส่วนหนึ่ง

"การพัฒนาโปรแกรมทั้งสองใช้เวลาเพียง3 เดือนเท่านั้น โดยประยุกต์ใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูลดินเดิม ที่กรมพัฒนาที่ดินได้สำรวจและแบ่งดินทั่วประเทศออกเป็นชุดดินต่างๆ แล้วนำมาเชื่อมโยงกับคำแนะนำการจัดการดินและการใช้ปุ๋ย" ฉลองเทพวิทักษ์กิจ รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดินกล่าว

ซอฟต์แวร์ดินไทยฯรองรับการสืบค้นข้อมูลดิน ได้ตามขอบเขตการปกครองและตำแหน่งที่ตั้งแปลง ซึ่งเนื้อหาละเอียดถึงระดับหมู่บ้านรวมถึงชื่อวัดในหมู่บ้าน จากนั้นแสดงแผนที่ในรูปของสีที่แตกต่างกัน โดยแต่ละสีหมายถึงชุดดินหมายเลขต่างๆ รวมถึงรายละเอียดอื่นอย่างธาตุอาหาร คุณสมบัติทางเคมีของดินในพื้นที่นั้น

นอกจากนี้ยังแนะนำสูตรปุ๋ยและระยะเวลาใส่ปุ๋ยที่เหมาะสมสำหรับชุดดินต่างๆ โดยคำนึงถึงประเภทของพืชที่ปลูกบนชุดดินนั้นด้วย ไม่ว่าจะเป็น ข้าว อ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง ยางพาราและปาล์มน้ำ

ส่วนซอฟต์แวร์จัดการดินและปุ๋ยจะวิเคราะห์ดินของเกษตรกรเป็นรายแปลง จากการป้อนข้อมูลค่าวิเคราะห์ดินจากแปลงเพาะปลูก ทำให้ได้ข้อมูลเฉพาะของดินที่ละเอียดกว่าซอฟต์แวร์ดินไทยฯ ช่วยให้วิเคราะห์สูตรปุ๋ยที่เหมาะสมกับความต้องการของดินในพื้นที่การเกษตรนั้นๆ

จากการติดตามผลในแปลงทดลองที่เกษตรกรบริหารจัดการใช้ปุ๋ยตามโปรแกรมแนะนำพบว่า สามารถลดต้นทุนค่าปุ๋ยได้ประมาณ 500 บาทต่อไร่ โดยที่ผลผลิตเท่าเดิม ฉลองกล่าว

ทั้งนี้กระทรวงเกษตรฯ ได้แจกจ่ายซอฟต์แวร์ทั้งสอง ไปยังหน่วยงานในสังกัดระดับภูมิภาคแล้ว พร้อมทั้งจัดอบรมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวกับการใช้งานซอฟต์แวร์ คาดว่าในปีงบประมาณ 2552 เกษตรกรทั่วประเทศจะสามารถใช้ประโยชน์จากซอฟต์แวร์ทั้งคู่ หรือสนใจติดต่อขอรับซอฟต์แวร์ดังกล่าว ได้ที่หน่วยงานของกรมพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตรและกรมการข้าว

ที่มา: http://www.komchadluek.net/
Link: http://www.komchadluek.net/2008/07/21/x_it_h001_211634.php?news_id=211634

Sunday, July 20, 2008

กระหึ่มแดนมังกรเด็กไทยคว้า 2แชมป์โลก “RoboCup”


เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2551 ที่เมืองซูโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน ในการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับนานาชาติ 2008 (RoboCup 2008) ประเภทหุ่นยนต์กู้ภัย ในรอบชิงชนะเลิศ หลังจากทีมPlasma RX จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ประกอบด้วย นายกมล จึงเสถียรทรัพย์ (อิ๊ก) นายชนินท์ จันมา (เล่ย) นายยุทธนา สุทธสุภา (อั๋น) นายปณัสม์ วิบุลพลประเสริฐ (นัท) และนางสาวนวรัตน์ เติมธนาสมบัติ (แหวน) ตะลุยเอาชนะคู่แข่งคะแนนนำมาเป็นอันดับ 1 ทุกรอบ จนเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ 4 ทีมสุดท้าย Plasma Rx จากประเทศไทย ยังโชว์ฟอร์มเยี่ยมเช่นเคย เอาชนะทีม Resko & Resquake ซึ่งเป็นทีมผสมระหว่างอิหร่านและเยอรมนี ทีม MRL จากประเทศอิหร่าน และทีม NuTech-R จากประเทศญี่ปุ่น โดยทีมจากประเทศไทยเก็บคะแนนและทิ้งห่างคู่แข่งและคว้าแชมป์โลกได้ 3 สมัยซ้อน หลังทีม Independent จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ครองแชมป์โลกติดต่อกันมา 2 ปีซ้อน ส่วนอันดับสอง คือ ทีม MRL จากประเทศอิหร่าน และอันดับสามคือ ทีมผสมระหว่างประเทศเยอรมนีและอิหร่าน
นอกจากนี้ทีมPlasma RX ยังได้รับรางวัล Best in Class in Mobility หรือรางวัลเทคนิคยอดเยี่ยม เป็นรางวัลพิเศษที่ผู้จัดมอบให้กับหุ่นยนต์กู้ภัยที่มีสมรรถนะสูงในการเคลื่อนที่บนพื้นผิวขรุขระ และเป็นครั้งแรกที่ทีมไทยได้รางวัลนี้

นางสาวนวรัตน์ เติมธนาสมบัติ หรือน้องแหวน ซึ่งเป็นผู้หญิงหนึ่งเดียวในทีม ในฐานะหัวหน้าทีม เปิดเผยถึงชัยชนะในครั้งนี้ว่า “ภูมิใจที่ทำสำเร็จตามที่ต้องการ ตอนแรกค่อนข้างกดดันมาก เนื่องจากประเทศไทยเป็นแชมป์ถึง 2 สมัยซ้อน และเป็นปีแรกของ Plasma Rx ที่เข้าร่วมการแข่งขัน จึงมีเวลาเตรียมตัวน้อย และทุกคนต่างก็คาดหวังเพราะไทยเป็นแชมป์มา 2 ปีซ้อน ชัยชนะครั้งนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือของทีมที่ได้ร่วมกันพัฒนาหุ่นยนต์ให้มีศักยภาพสูงสุด เช่น โปรแกรมการสร้างแผนที่จำลอง และการสร้างหุ่น Autonomous ในอนาคตอยากให้มีการนำหุ่นยนต์กู้ภัยไปใช้ได้จริง และหวังว่าการแข่งขันครั้งนี้จะกระตุ้นให้เด็กไทยได้พัฒนาความสามารถในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่างๆ และก็อยากให้ผู้ใหญ่ช่วยกันสนับสนุนเด็กไทย สำหรับรางวัลที่ได้มาทีม Plasma RX ตั้งใจว่าจะนำทูลเหล้าถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ผศ.ดร. จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย กล่าวว่า การแข่งขันรอบชิงขนะเลิศวันนี้แสดงถึงศักยภาพของไทยว่า เราคือแชมป์ตัวจริง แชมป์สองสมัยที่ผ่านมาแสดงให้เห็นถึงว่าไทยมีความสามารถแล้ว แต่ครั้งนี้เป็นการประกาศศักดาให้นานาชาติให้ยอมรับมากขึ้น จากแต่เดิมที่เวลาเราไปพูดคุยกับใครมักจะไม่ได้รับการตอบสนอง แต่วันนี้หลายประเทศชื่นชมและมาขอเรียนรู้จากเรามากมาย รวมถึงสื่อมวลชนในสาธารณรัฐประชาชนจีนก็มาเผยแพร่ข่าว ที่สำคัญสื่อมวลชนจากเมืองกราซ ประเทศออสเตรีย ซึ่งจะเป็นเจ้าภาพในการแข่งขันหุ่นยนต์นานาชาติ 2009 ได้มาบันทึกภาพและข้อมูลทีมไทยด้วยความสนใจเพื่อนำไปเผยแพร่ด้วย อย่างไรก็ตามสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย และเครือซิเมนต์ไทยที่สนับสนุนการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยทั้งระดับประเทศไทยและนานาชาติมีความภูมิใจในศักยภาพเด็กไทยอย่างมาก เพราะไม่เฉพาะประโยชน์ที่เด็กไทยและวงวิชาการที่จะได้ถ่ายทอดความรู้ความสามารถไปยังรุ่นต่อรุ่นแล้ว แต่ยังผลต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในประเทศที่สามารถนำศักยภาพความรู้ความสามารถของเด็กไทยไปต่อยอดในการพัฒนาประเทศได้อย่างดียิ่ง

นางมัทนา เหลืองนาคทองดี ผู้อำนวยการสำนักงานสื่อสารองค์กร เครือซิเมนต์ไทย (SCG) ผู้สนับสนุนการแข่งขัน Thailand Rescue Robot Championship และส่งเยาวชนไทยเข้าร่วมการแข่งขัน Robocup 2008 กล่าวว่า SCG ยินดีและชื่นชมในความสามารถของเด็กไทยอย่างยิ่ง ความสำเร็จในครั้งนี้ ทำให้ต่างชาติทึ่ง และยอมรับในความสามารถของเยาวชนไทยมากขึ้น

“จากความสำเร็จของเยาวชนไทยที่ผ่านมาและในครั้งนี้ ทำให้ SCG ตั้งใจที่จะจัดเวทีแข่งขัน Thailand Rescue Robot ให้เป็นระดับนานาชาติ โดยจะเชิญประเทศต่างๆที่เข้าร่วมการแข่งขัน RoboCup Rescue 2008 มาร่วมแข่งขันในประเทศไทย และขณะนี้หลายประเทศได้ตอบรับร่วมการแข่งขัน คาดว่าการแข่งขันดังกล่าว ซึ่จะจัดขึ้นในเดือนธันวาคม นี้ จะเน้นแนวคิด Show & Share เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนไทย ได้เรียนรู้และและเปลี่ยนประสบการณ์จากนานาประเทศ” นางมัทนา กล่าว

ด้านการแข่งขันหุ่นยนต์เตะฟุตบอลขนาดเล็กซึ่งทีมเด็กไทยลงแข่งรวมทั้งหมด 3 ทีม คือ ทีมPlasma-Z จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทีมScuba จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และทีมไข่นุ้ย จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยสองทีมแรกสามารถฝ่าฟันคู่แข่งเข้าสู่รอบก่อนชิงชนะเลิศได้

โดยในรอบก่อนชิงชนะเลิศ ทีมเด็กไทยต้องแข่งขันกันเอง และทีม Plasma-Z เอาชนะทีมสกูบ้าไปได้ด้วยคะแนน 10ต่อ 0 เข้าไปชิงกับทีม CMU จากอเมริกาซึ่งเอาชนะทีม ZJU จากประเทศจีน โดยทีมสกูบ้าต้องลงแข่งขันกับทีมจากจีน ผลปรากฎว่าทีมสกูบ้าชนะได้ครองที่ 3

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คู่ชิงชนะเลิศระหว่างไทยกับอเมริกาต่างฝ่ายต่างทำคะแนนสู่สี โดยทีมไทยนำไปก่อนในครึ่งแรก 1 ต่อ 0 ส่วนในครึ่งหลัง อเมริกาตีตื้นขึ้นมาเป็น 1 ต่อ 1 และยิงประตูนำไปเป็น 2 ต่อ 1 ก่อนที่ทีมเด็กไทยจะยิงประตูทำคะแนนไปได้อีก 3 ประตูซ้อน หมดเวลาทำให้ทีม Plasma – Z จากประเทศไทยชนะไปทีม CMU ไปด้วยคะแนน 4 ต่อ 2

นายธีระพล วัฒนเวคิน (เอ) ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าทีม Plasma-z กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่สามารถทำชื่อเสียงให้กับประเทศไทย และก็เห็นว่าเด็กไทยหากเรามีความมุ่งมั่นและพยายามก็สามารถขึ้นมาสู่ระดับโลกได้ ชัยชนะครั้งนี้เป็นเพราะพวกเราสามมัคคีกันและต่างคนต่างรู้หน้าที่ของตัวเองซึ่งถือเป็นหัวใจของการทำงานเป็นทีม สำหรับทีมอเมริกาถือเป็นคู่แข่งเก่าเพราะเมื่อปีที่แล้วเราแพ้ได้รองชนะเลิศและถือว่าเป็นทีมที่มีความแข็งแกร่งมาก ปีนี้เราพยายามปรับปรุงและพัฒนาหุ่นของเราและเราก็ทำให้เห็นแล้วว่าเด็กไทยทำได้

ด้านผศ.ดร. มานพ วงศ์สายสุวรรณ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ที่ปรึกษาทั้งทีมหุ่นยนต์กู้ภัยและหุ่นยนต์เตะฟุตบอล กล่าวว่า รุ้สึกดีใจมากที่เด็กไทยทั้งสองทีมสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ ตอนแรกยอมรับว่ากดดันมาก เพราะทีม Plasma RX ต้องแบกรับภาระในฐานะแชมป์เก่าของหุ่นยนต์กู้ภัย ส่วนทีม Plasma-Z ปีที่แล้วก็ได้ตำแหน่งรองปีนี้เราก็หวังว่าจะได้แชมป์ ตอนนี้เราก็ทำให้นานาประเทศได้รับรู้แล้วว่า เยาวชนไทยมีความเก่ง ความสามารถไม่แพ้ชาติอื่น ๆ และก็หวังว่าความาสำเร็จครั้งนี้จะช่วยกระตุ้นให้เยาวชนไทยอื่นๆ ได้เห็นถึงศักยภาพว่า เราไม่ด้อยไปกว่าต่างชาติ”

ที่มา: http://www.dailynews.co.th/
Link: http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=170809&NewsType=1&Template=1

Saturday, July 19, 2008

"ส้วมอวกาศ" ภารกิจท้าทายสำหรับยานใหม่ของนาซา


ตัวแทนผู้รับเหมาก่อสร้าง "ส้วมอวกาศ" ประกาศรับปัสสาวะจากคนงานในศูนย์อวกาศ เพื่อพัฒนาระบบส้วมสำหรับ "โอไรออน" ยานใหม่ของนาซา โดยต้องการมากถึงวันละ 30 ลิตร ด้านเจ้าหน้าที่นาซาระบุ การสร้างระบบทำความสะอาดส้วม ถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง

ความท้าทายสำหรับการสร้างยานโอไรออน (Orion) ยานอวกาศลำใหม่ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ที่จะมาแทนกระสวยอวกาศแบบเดิม ซึ่งกำลังจะถูกปลดระวางนั้น คือการสร้างส้วมสำหรับนักบินอวกาศภายในยานลำใหม่ ตามรายงานของเอพีที่อ้างบันทึกภายในที่โพสต์ผ่านเว็บไซต์นาซาวอตช์ (Nasawatch.com)

ทั้งนี้แฮมิลตัน ซันด์สแตรนด์ (Hamilton Sundstrand) ผู้รับเหมาโครงการอวกาศของนาซากำลังหาปัสสาวะจากคนงานภายในศูนย์อวกาศจอห์นสัน (Johnson Space Center) ในเมืองฮุสตัน รัฐเท็กซัส สหรัฐฯ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานพัฒนายานโอไรออนที่จะนำนักบินอวกาศขึ้นไปยังดวงจันทร์

มีความต้องการปัสสาวะ เพื่อใช้ทดลองสำหรับการออกแบบห้องส้วมในยานอวกาศมากถึงวันละ 30 ลิตร ซึ่งเป็นความต้องการทุกวันไม่เว้นหยุด โดยผู้ออกแบบยานโอไรออน ที่ต้องจอดในอวกาศนานถึง 6 เดือนระหว่างปฏิบัติภารกิจบนดวงจันทร์ จำเป็นต้องหาวิธีที่จะกำจัดน้ำปัสสาวะที่เก็บสะสมไว้ในส้วม

"ปัสสาวะเป็นสิ่งที่สกปรกมาก เพราะประกอบไปด้วยของแข็ง ซึ่งจะอุดตันช่องระบาย ดังนั้นการทำให้ระบบกำจัดของเสียสะอาดนั้น ถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง" เอพีรายงานคำพูดของจอห์น ลิวอิส (John Lewis) หัวหน้าระบบสนับสนุนการดำรงชีพในยานโอไรออนของนาซา

ลิวอิสยังกล่าวด้วยว่านาซามีประเพณียึดถือมายาวนานแล้วในการนำตัวอย่างจากคนงานของนาซาเองเพื่อช่วยในการออกแบบห้องส้วมอวกาศที่ดีเพราะเราไม่สามารถผลิต "ฉี่ปลอม" ขึ้นมาได้

ทางด้านลีโอ มาโกว์สกี (Leo MaKowski) โฆษกบริษัทวินด์ซอร์ ลอคส์ คอนน์ (Windsor Locks, Conn.) ซึ่งเป็นบริษัทฐานในการผลิตส้วมสำหรับงานโอไรออน กล่าวว่าบริษัทต้องใช้ปัสสาวะปริมาณมาก โดยประมาณว่าวันหนึ่งต้องได้ตัวอย่างจากผู้บริจาคมากถึง 30 คนเพื่อศึกษาเรื่องความเป็นกรด

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9510000084722

Monday, July 14, 2008

ซิ่งเครื่องบินน้ำเที่ยวเกาะ ผลงาน มก.หวังใช้งานแทนเครื่องบิน

"ปลาบิน" ไม่ใช่สัตว์พันธุ์ใหม่ แต่เป็นชื่อเรียก "เครื่องบินน้ำ" สิ่งประดิษฐ์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ใช้ประโยชน์ด้านการขนส่งและคมนาคมระหว่างเกาะแทนเครื่องบิน รวมทั้งภารกิจสำรวจสัตว์น้ำ ลาดตระเวนชายฝั่งและท่องเที่ยว ทำความเร็วได้สูงสุด 150 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

"ปลาบิน" ตัวนี้เป็นผลงานร่วมของนายรัฐพล สาครสินธุ์ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ศรีราชา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) วิทยาเขตศรีราชา กับนิสิตปริญญาตรี นอกจากจะซิ่งในน้ำได้เหมือนเรือแล้ว ยังสามารถเหินเหนือน้ำได้ด้วย จึงลดแรงปะทะและแรงต้านของน้ำ ทำให้เร่งความเร็วได้ถึง 150 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ช่วยให้เดินทางถึงจุดหมายเร็วขึ้น ขณะที่เรือแล่นในน้ำต้องเผชิญแรงต้านของน้ำจึงเคลื่อนที่ได้ช้ากว่า

เครื่องบินน้ำเหมาะใช้ประโยชน์ด้านการสำรวจชายฝั่ง สำรวจฝูงปลา ลาดตระเวน กู้ภัยทางทะเล ท่องเที่ยวจนถึงการเดินทางระหว่างเกาะ โดยที่ผู้โดยสารไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปสนามบิน

เครื่องบินน้ำกึ่งยานเหินนี้พัฒนาตามหลักวิชาอากาศยาน เป็นผลงานปรับปรุงต่อจากเครื่องบินน้ำรุ่นแรก ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อปี 2549 ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น วัสดุที่ใช้เป็นไฟเบอร์กลาส พีวีซีโฟมและขึ้นโครงด้วยอะลูมิเนียมเกรดที่ใช้ทำเครื่องบิน โดย 80% ของวัสดุหาได้ภายในประเทศ ส่วนเครื่องยนต์ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ รวมต้นทุนการพัฒนาและทดสอบ 6-7 แสนบาทต่อ 1 ลำ (4-6 ที่นั่ง)

"ที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานใดออกแบบเครื่องบินน้ำ รวมทั้งไม่มีการเก็บข้อมูล การทดลองและทดสอบอย่างเป็นระบบ และที่สำคัญการพัฒนาอากาศยานของไทยต้องอาศัยวัสดุนำเข้าเกือบทั้งหมด โครงการวิจัยเครื่องบินน้ำนี้จึงเกิดขึ้น เพื่อสร้างองค์ความรู้ด้านอากาศยานที่จะเป็นพื้นฐานให้งานวิจัยอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งศึกษาความเป็นไปได้ที่จะลดการนำเข้าวัสดุทางอากาศยาน" นายรัฐพลกล่าว

ส่วนการพัฒนาเครื่องบินน้ำรุ่นแรกใช้เวลาร่วม 4 ปี มีนักบินจากภาคเอกชนเป็นผู้ทดสอบการบินเหนือน้ำ 10 เมตร ที่อ่างเก็บน้ำดอกกราย จ.ระยอง เป็นเวลา 2 วัน เพื่อดูประสิทธิภาพของโครงสร้าง การเคลื่อนที่บนผิวน้ำ การทดสอบวงเลี้ยวและความสมดุลขณะเร่งเครื่อง ส่วนข้อบกพร่องต่างๆ ที่พบก็กลายเป็นข้อมูลสำหรับการปรับปรุงในเครื่องรุ่นถัดมา เช่น การออกแบบปีกใหม่เพื่อลดละอองน้ำปะทะปีก และทำมุมไต่ได้สูงขึ้น เป็นต้น

ที่มา: http://www.komchadluek.net/
Link: http://www.komchadluek.net/2008/07/14/x_it_h001_210959.php?news_id=210959

วช.โชว์ต้นแบบรถไฮโดรเจน ใช้มอเตอร์ขับเพลาแทนเครื่องยนต์

ไม่ได้มีแค่ผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นที่ผลิตรถไฮโดรเจนออกมาวิ่งจริงบนถนน ทีมวิจัยเอกชนไทยสามารถผลิตรถไฮโดรเจนที่ทำความเร็วตีนปลาย 90 กม./ช.ม. ได้แล้วเหมือนกัน

หลังจากได้รับทุนวิจัยและพัฒนาจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จำนวน 14 ล้านบาท บริษัท คลีนฟูเอล เอ็นเนอร์ยี เอ็นเตอร์ไพร้ส์ จำกัด เปิดตัวพัฒนารถเซลล์เชื้อเพลิงต้นแบบ ขนาด 4 ที่นั่ง ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า เป็นรถปลอดมลพิษวิ่งด้วยความเร็วได้ประมาณ 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มอเตอร์ทำงานเงียบกริบ ไร้มลพิษ มีศักยภาพนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ แก้ปัญหาวิกฤติพลังงาน

"รถต้นแบบเสร็จสมบูรณ์เมื่อเดือนมิถุนายน จากการทดสอบวิ่งเป็นเวลาครึ่งเดือน พบว่าถังเก็บพลังงานเซลล์เชื้อเพลิงขนาด 900 ลิตร วิ่งได้นาน 20 นาที คิดเป็นระยะทาง 40 กิโลเมตร" ร.ท.ภราดรกล่าว

รถต้นแบบติดตั้งมอเตอร์ให้ขับเคลื่อนเพลาล้อแทนเครื่องยนต์ โดยใช้กระแสไฟฟ้าจากเซลล์เชื้อเพลิงชนิดพีอีเอ็มเอฟซี (Proton Exchanged Membrane Fuel Cell) ขนาด 10 กิโลวัตต์ ที่ติดตั้งอยู่ส่วนหน้ารถ กระแสไฟฟ้ายังเหลือใช้กับระบบทำความเย็น และเครื่องเสียงภายในรถอีก สิ่งที่ทีมวิจัยจะต่อยอดหลังจากนี้คือ การพัฒนาถังบรรจุเซลล์เชื้อเพลิงให้สามารถบรรจุเชื้อเพลิงได้มากกว่า 900 ลิตร เพื่อให้วิ่งได้ไกลขึ้น

แม้ระยะทางวิ่งยังได้น้อยมาก แต่สามารถแก้ปัญหาได้โดยเพิ่มถังบรรจุเซลล์เชื้อเพลิง โดยน้ำหนักของถังบรรจุหนึ่งถังจะมีน้ำหนักอยู่ประมาณ 10 กิโลกรัมเท่านั้น เป็นภาระน้อยมากสำหรับรถยนต์ต้นแบบที่ขึ้นรูปจากโครงเหล็ก และตัวถังหุ้มด้วยไฟเบอร์กลาส

รถยนต์ไฮโดรเจนดังกล่าวถือเป็นคันแรกของไทย แต่เมื่อเทียบกับผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อย่างญี่ปุ่นแล้ว ถือว่ายังห่างไกลกันมาก ยกตัวอย่าง ค่ายฮอนด้านำเทคโนโลยีนี้มาใช้งานแล้วตั้งแต่เมื่อ 2 เดือนก่อน โดยผลิตรถที่ใช้พลังงานจากเซลล์เชื้อเพลิงขึ้น 100 คัน ให้ประชาชนเช่าขับ สามารถวิ่งได้ระยะทาง 200 กิโลเมตร ต่อการเติมเชื้อเพลิงหนึ่งครั้ง

นักวิจัยกล่าวว่า แหล่งที่มาของไฮโดรเจนที่ใช้กับเซลล์เชื้อเพลิงในประเทศไทยมี 2 แหล่ง ได้แก่ ผลพลอยได้จากโรงงานผลิตโอเลฟินส์ และโรงงานที่ผลิตโซดาไฟ ซึ่งปล่อยสูญเปล่าวันละ 8 ล้านลิตร สามารถนำมากักเก็บและป้อนไปตามสถานีไฮโดรเจนใช้กับรถได้อย่างน้อยกว่าแสนคัน

ขั้นตอนต่อไป วช.อาจจะนำโครงการเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อประสานงานกับกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพลังงาน เพื่อหาแนวทางต่อยอดระดับอุตสาหกรรมต่อไป

ที่มา: http://www.komchadluek.net/
Link: http://www.komchadluek.net/2008/07/14/x_it_h001_210954.php?news_id=210954

Sunday, July 13, 2008

"เก๋งเซลล์เชื้อเพลิง" คันแรกของไทย รายที่สองของเอเชีย


หลังจากไดัพัฒนา "มินิบัสไฮบริดไฟฟ้า-โซลาร์เซลล์" เมื่อปลายปี 49 และเปิดตัว "รถเซลล์เชื้อเพลิงต้นแบบ" ขนาด 960 วัตต์คันแรกไปเมื่อปลายปี 50 ที่ผ่านมา ล่าสุด เจ้าของผลงานก็เปิดตัวนวัตกรรมใหม่อีกครั้งกับรถเก๋งเซลล์เชื้อเพลิงขนาด 8-10 เมกะวัตต์

สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้พาคณะสื่อมวลชนรวมถึงผู้จัดการวิทยาศาสตร์ร่วมงานเปิดตัวนวัตกรรม "รถเก๋งเซลล์เชื้อเพลิง" คันแรกของไทยขึ้นเมื่อวันที่ 11 ก.ค.51 ณ บริษัท คลีนฟูเอล เอ็นเนอร์ยี เอ็นเตอร์ไพร้ส์ จำกัด จ.ปทุมธานี หลังจากได้รับงบประมาณสนับสนุนการวิจัย 14 ล้านบาทเป็นเวลาหนึ่งปี

พลอากาศโทมรกตเผยว่า รถเก๋งเซลล์เชื้อเพลิงคันนี้เป็นการต่อยอดรถเซลล์เชื้อเพลิงต้นแบบชนิดเมมเบรนแลกเปลี่ยนโปรตอน (PEMFC) ที่ได้พัฒนามาก่อนหน้า โดยเพิ่มกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าจาก 960 วัตต์เป็น 8-10 กิโลวัตต์เป็นผลสำเร็จ ทำให้รถดังกล่าวแล่นได้ด้วยความเร็วสูงสุด 130 กม.ต่อชั่วโมง ด้วยราคาต้นแบบวิจัย 6 ล้านบาท ทว่าหากมีการผลิตจำนวนมากจะทำให้ภายในหนึ่งปี รถเก๋งเซลล์เชื้อเพลิงจะมีราคาคันละ 2 ล้านบาทเศษ

"ไฟฟ้าที่เซลล์เชื้อเพลิงผลิตได้ราว 5-7 กิโลวัตต์จะถูกนำไปใช้กับมอเตอร์ไฟฟ้าเพื่อขับเคลื่อนรถยนต์ ส่วนที่เหลือเรายังนำไปใช้กับระบบเครื่องเสียง หรือแม้แต่ระบบทำความเย็นได้" พลอากาศโทมรกตกล่าว โดยรถดังกล่าวมีข้อดีคือทำงานได้ในอุณหภูมิ 40-80 องศาเซลเซียส ใกล้เคียงกับเครื่องยนต์สันดาปในปัจจุบัน และปรับสมดุลในระบบได้เร็ว มีอายุการขณะใช้งานรวมกันกว่า 1 หมื่นชั่วโมง

ทั้งนี้ รถเก๋งเซลล์เชื้อเพลิงจะทำงานโดยใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจน เพื่อผลิตกระแสไฟขับเคลื่อนมอเตอร์ไฟฟ้า 5.5 แรงม้า ซึ่งทีมวิจัยได้ประกอบตัวถังรถขึ้นเอง และนำเข้าเฉพาะถังเก็บไฮโดรเจนขนาด 900 ลิตรจากประเทศสหรัฐอเมริกาติดตั้งจำนวน 1 ถัง เพียงพอที่จะแล่นได้นาน 20 นาที ได้ระยะทาง 30-40 กม.

ทั้งนี้ รถเก๋งคันดังกล่าวมีอัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงนาทีละ 54 ลิตร โดยสามารถติดตั้งถังไฮโดรเจนเพิ่มเติมอีก 4-5 ถังจะทำให้รถเก๋งเซลล์เชื้อเพลิงแล่นได้ยาวนานขึ้น

"เราได้ทดลองวิ่งระยะทางไม่ไกลนานประมาณครึ่งเดือนพบว่า รถเก๋งเซลล์เชื้อเพลิงใช้งานได้ดี ไม่ต้องใช้น้ำมัน ไม่มีไอเสียที่เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม" นักวิจัยกล่าว

พลอากาศโทมรกตกล่าวอีกว่า รถเก๋งเซลล์เชื้อเพลิงดังกล่าวเรียกได้ว่าเป็นรถเก๋งเซลล์เชื้อเพลิงคันแรกของไทย และเป็นที่ 2 ของเอเชีย นอกเหนือจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเมื่อเดือนที่ผ่านมา ค่ายรถยนต์ฮอนด้าของญี่ปุ่น เพิ่งมีการลองตลาดรถเก๋งเซลล์เชื้อเพลิง 100 คันแรก ขณะที่ค่ายรถยนต์จากเยอรมนี อย่างบีเอ็มดับเบิลยูและเดมเลอร์ไครสเลอร์ได้พัฒนารถเก๋งเซลล์เชื้อเพลิงแล้วเช่นกัน

ด้าน ศ.ดร.อานนท์ บุณยะรัตเวช เลขาธิการสภาวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า หลังการเปิดตัวดังกล่าว วช.จะเร่งทำหนังสือถึงนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีถึงความก้าวหน้าทางการวิจัยดังกล่าว เพื่อให้เกิดการขยายผลกับกระทรวงพลังงานและกระทรวงอุตสาหกรรมต่อไป

สำหรับการวิจัยพัฒนาข้างหน้า ร.ท.ภราดร แสงสุวรรณ ผู้ช่วยนักวิจัย กล่าวว่า จะหาแนวทางความร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) วิจัยพัฒนาถังเก็บไฮโดรเจนที่มีมาตรฐานและความปลอดภัยต่อไป เพื่อให้การผลิตรถเก๋งเซลล์เชื้อเพลิงของคนไทยสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างครบวงจรยิ่งขึ้น.

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9510000081788

Friday, July 11, 2008

นาซาเหลืออีก 10 เที่ยวบิน ก่อนปลดระวาง 3 ยานอวกาศ


เหลือเวลาอีกเพียง 2 ปี เท่านั้น ยานอวกาศ 3 ลำ ของนาซาต้องอำลาภารกิจและหน้าที่ขนส่งนักบินอวกาศแล้ว และปล่อยให้กระสวยลำใหม่ "โอไรออน" มารับหน้าที่ต่อ พร้อมบินเที่ยวสุดท้าย 31 พ.ค.53 ก่อนปลดระวาง

องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) มีแผนที่จะส่งยานอวกาศชุดที่กำลังอยู่ระหว่างการใช้งานในภารกิจต่อเติมสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station: ISS) อีกเพียง 10 เที่ยวบิน ภายในปี 2553 นี้ และหลังจากนั้นจะปลดระวางยานทั้ง 3 ลำ แล้วเปลี่ยนมาใช้กระสวยอวกาศโอไรออน (Orion) แทน

ทั้งนี้ ยานอวกาศทั้ง 3 ลำของนาซา ได้แก่ แอตแลนติส (Atlantis), ดิสคัฟเวอรี (Discovery) และเอนเดฟเวอร์ (Endeavour) ยังต้องทำหน้าที่พานักบินอวกาศเหินฟ้าสู่อวกาศอีกรวมทั้งสิ้น 10 เที่ยวบินด้วยกัน โดย 2 ใน 10 เที่ยวบินที่เหลือ มีกำหนดเดินทางภายในปีนี้ นั่นคือยานแอตแลนติสเที่ยวบินที่เอสทีเอส-125 (STS-125) ที่มีกำหนดออกเดินทางวันที่ 6 ต.ค. เพื่อซ่อมกล้องโทรทัศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope) ส่วนเอนเดฟเวอร์จะออกเดินทางวันที่ 10 พ.ย. ซึ่งเป็นเที่ยวบินที่เอสทีเอส-126 (STS-126)

สเปซด็อตคอมระบุอีกว่าเที่ยวบินสุดท้ายของยานอวกาศชุดนี้ นาซามีกำหนดให้ปล่อยออกจากฐานปล่อยจรวดในวันที่ 31 พ.ค. 2553 และจะเป็นเที่ยวบินครั้งที่ 35 ที่มุ่งหน้าสู่สถานีอวกาศนานาชาติ ส่วนเที่ยวบินแรกของกระสวยโอไรออน คาดว่านะจะออกเดินทางได้ราวปลายปี 2557 ถึงต้นปี 2558 นอกจากนี้นาซายังมีกำหนดจะส่งกระสวยโอไรออนพามนุษย์กลับไปยังดวงจันทร์อีกครั้งในปี 2563

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9510000081288

ไวรัสคอมพ์จัดการไม่ยากเนคเทคทำซอฟต์แวร์ให้โหลดใช้ฟรีต.ค.นี้

ปัญหาไวรัสคอมพิวเตอร์จากการเข้าเว็บไซต์ไม่เหมาะสมรวมทั้งปัญหาดาวน์โหลดไฟล์ขนาดใหญ่จนเครือข่ายล่ม กำลังจะได้รับการแก้ไขด้วยซอฟต์แวร์บริหารระบบเครือข่ายอัจฉริยะ ผลงานจากการพัฒนาของเนคเทค เปิดทดลองใช้งานฟรีตุลาคมนี้

ดร.พนิดาพงษ์ไพบูลย์ นักวิจัยจากหน่วยปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีเครือข่าย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค/สวทช.) กล่าวว่า เนคเทคพัฒนาโปรแกรมช่วยแก้ปัญหาการใช้งานเครือข่ายอินเทอร์เน็ต จากโปรแกรมระบบเปิด หรือโอเพ่นซอร์ส เพิ่มโอกาสการเข้าถึงซอฟต์แวร์ราคาถูก ให้แก่โรงเรียน ร้านอินเทอร์เน็ตและองค์กรขนาดเล็กทั่วไป

หน่วยงานเหล่านี้มีความเสี่ยงสูงต่อไวรัสคอมพิวเตอร์เนื่องจากการเข้าถึงเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม ตลอดจนการดาวน์โหลดไฟล์ขนาดใหญ่ ส่งผลให้ระบบเครือข่ายทำงานล่าช้า แม้ว่าซอฟต์แวร์บริหารระบบเครือข่ายอัจฉริยะจะมีผู้ผลิตและจำหน่ายแล้วก็ตาม แต่ออกแบบมาสำหรับเครือข่ายขนาดใหญ่อย่างผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตหรือไอเอสพี จึงมีราคาสูงอีกทั้งใช้งานยาก

จากสภาพปัญหาดังกล่าวเนคเทคจึงพัฒนากลุ่มซอฟต์แวร์บริการเครือข่ายขึ้น โดยต่อยอดจากโอเพ่นซอร์ส ให้สามารถใช้งานภาษาไทย พร้อมทั้งให้รายละเอียดตามที่ผู้ใช้ต้องการ ส่วนหัวใจสำคัญคือ ต้องอ่านและวิเคราะห์ผลได้ง่าย แม้ผู้ดูแลระบบจะไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญก็ตาม

ปัจจุบันโปรแกรมดังกล่าวอยู่ระหว่างทดสอบการใช้งานภาคสนามในโรงเรียนนำร่อง 5-10 โรง เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลและปรับปรุงการใช้งาน คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนตตุลาคม จากนั้นจะเปิดกว้างให้ผู้ที่สนใจดาวน์โหลดโปรแกรมในรูปแบบฟรีแวร์ไปใช้งานได้ทันที
ระบบบริหารเครือข่ายอัจฉริยะที่ออกแบบขึ้นประกอบด้วย ระบบตรวจสอบสถานะเครือข่ายและบริการ ระบบตรวจวิเคราะห์การใช้งานเครือข่าย และระบบการบริหารจัดการแบนด์วิธ เป็นต้น

ระบบบริหารเครือข่ายมีส่วนช่วยให้การใช้งานอินเทอร์เน็ตปลอดภัยเพิ่มขึ้นผู้ดูแลระบบจะทราบทันทีเมื่อเครื่องลูกข่ายถูกไวรัสจู่โจม หรือเครื่องมีการดาวน์โหลดไฟล์ขนาดใหญ่ ก็สามารถบริหารจัดการได้ทันทีโดยไม่กระทบต่อเครื่องอื่น ซึ่งจะทำงานได้ช้าลง นักวิจัยกล่าว

หากการพัฒนาระบบเครือข่ายอัจฉริยะเสร็จสมบูรณ์ก็จะเปิดให้บริษัทเอกชนที่สนใจร่วมต่อยอดเทคโนโลยีดังกล่าว ในลักษณะของการพัฒนาชุดควมคุมแบนด์วิธ ซึ่งอยู่ในรูปแบบของกล่อง หรือเราเตอร์ สำหรับการจำหน่าย

ที่มา: http://www.komchadluek.net/
Link: http://www.komchadluek.net/2008/07/11/x_it_h001_210782.php?news_id=210782

ล้างทฤษฎีเก่า! พบหลักฐานใหม่ชี้ชัดบนดวงจันทร์มีน้ำซ่อนอยู่


เคยเข้าใจกันมานานนมว่าสภาพแวดล้อมบนดวงจันทร์ไม่เอื้อต่อสิ่งมีชีวิตเพราะปราศจากน้ำ แต่ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์พบหลักฐานใหม่บ่งชี้ว่าบนดวงจันทร์เคยมีน้ำแฝงอยู่ใต้ดินอย่างแน่นอน และตอนนี้ก็น่าจะหลงเหลือบางส่วนที่เป็นน้ำแข็งซ่อนอยู่ใต้พื้นผิวบริเวณขั้วของดวงจันทร์ ลบล้างข้อสรุปเดิมที่เคยฟันธงกันไว้ว่าบนดวงจันทร์ไร้ร่องรอยน้ำ

สำนักข่าวเอเอฟพีและบีบีซีนิวส์รายงานว่าทีมนักวิทยาศาสตร์ของสหรัฐฯ ร่วมกันศึกษาตัวอย่างเศษหินจากดวงจันทร์อีกครั้งด้วยเทคโนโลยีใหม่ที่มีความไวมากกว่าเดิมหลายเท่า ซึ่งทำให้นักวิจัยแต่ละคนถึงกับประหลาดใจอย่างยิ่งที่พบว่ามีองค์ประกอบของน้ำปะปนอยู่ด้วย จากแต่เติมที่เคยศึกษากันแล้วจนลงมติว่าดวงจันทร์ไม่เคยมีน้ำมาก่อนแม้ในอดีต ทั้งนี้ได้รายงานผลการวิจัยในวารสารเนเจอร์ (Nature)

นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อกันว่าดวงจันทร์เกิดจากการที่มีวัตถุขนาดประมาณดาวอังคารพุ่งเข้าชนโลกหลังจากที่โลกถือกำเนิดขึ้นได้ไม่นานเมื่อประมาณ 4.5 พันล้านปีก่อน ทำให้เศษหินเศษดินของโลกบางส่วนหลุดกระจายออกไปในอวกาศ ซึ่งความร้อนที่เกิดจากการปะทะกันครั้งนั้นได้แผดเผาน้ำจนเหือดแห้งไปหมด และต่อมาเศษชิ้นส่วนที่กระจายอยู่ในวงโคจรของโลกก็เกิดการรวมตัวกันกลายเป็นดวงจันทร์ที่โคจรรอบโลกจนถึงปัจจุบันนี้

ทว่าเมื่อทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบราวน์ (Brown University) มลรัฐโรด ไอส์แลนด์, สถาบันวิทยาศาสตร์คาร์เนกี (Carnegie Institution for Science) กรุงวอชิงตัน ดีซี และ มหาวิทยาลัยเคส เวสเทิร์น รีเสิร์ฟ (Case Western Reserve University) มลรัฐโอไฮโอ ได้ศึกษาตัวอย่างเศษหินภูเขาไฟที่มีลักษณะใสคล้ายแก้วอย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งหินดังกล่าวยานอพอลโล (Apollo) นำมาจากดวงจันทร์เมื่อราว 40 ปีก่อน

เดิมทีนักวิทยาศาสตร์เคยตรวจสอบหินจากดวงจันทร์กันมาแล้ว แต่ไม่พบร่องรอยของน้ำแต่อย่างใด จึงให้ข้อสรุปว่าบนดวงจันทร์ปราศจากน้ำ แต่เมื่อนำมาตรวจสอบใหม่อีกครั้ง โดยใช้เทคโนโลยีใหม่ที่เรียกว่า เซคคันเดอรี ไอออน แมสสเปกโตรเมตรี (secondary ion mass spectrometry: SIMS) ซึ่งมีความไวในการตรวจวัดมากกว่าเทคนิคเดิมที่เคยใช้ถึง 10 เท่า สามารถตรวจจับสัญญาณของน้ำได้แม้มีปริมาณน้อยมากๆ

ผลการวิเคราะห์ที่ได้ทำให้นักวิจัยถึงกับทึ่ง เมื่อพบว่าตัวอย่างหินที่นำมาตรวจสอบ มีน้ำเป็นองค์ประกอบปะปนอยู่ประมาณ 46 ส่วนในล้านส่วน (ppm)

ทีมนักวิจัยเชื่อว่าปริมาณที่ตรวจจับได้จะต้องเป็นร่องรอยของน้ำในปริมาณมากมายกว่านี้หลายเท่าที่มีอยู่บนดวงจันทร์อย่างแน่นอน และได้ทดสอบไฮโดรเจนที่เป็นองค์ประกอบในโมเลกุลของน้ำ ให้ผลยืนยันว่าไม่ได้เป็นไฮโดรเจนที่มีอยู่ในลมสุริยะหรือว่าปนเปื้อนไฮโดรเจนมาจากสารระเหยอื่นๆ แต่อย่างใด

"แสดงว่าน้ำเหล่านี้มาจากชั้นแมนเทิล (mantle) ที่อยู่ลึกลงไปใต้พื้นผิวของดวงจันทร์" ผศ.อัลเบอร์โต ซาล (Alberto Saal) นักธรณีวิทยาซึ่งเป็นหนึ่งในทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยบราวน์ ให้ข้อมูลและอธิบายเพิ่มเติมว่า น้ำดังกล่าวน่าจะปะปนอยู่กับแมกมาใต้ดิน ซึ่งน่าจะมีอยู่ประมาณ 750 ส่วนในล้านส่วน และปะทุขึ้นมาบนพื้นผิวดวงจันทร์พร้อมกันจากการที่ภูเขาไฟระเบิดเมื่อราว 3.5 พันล้านปีก่อน

นักวิจัยให้เหตุผลว่า การระเบิดของภูเขาไฟครั้งนั้นน่าจะทำให้น้ำที่ปะปนออกมากับลาวาได้รับความร้อนและระเหยเป็นไอไปกว่า 95% แต่เนื่องจากว่าบนดวงจันทร์ไม่มีชั้นบรรยากาศห่อหุ้ม ประกอบกับแรงดึงดูดของดวงจันทร์มีไม่มากพบที่จะดึงดูดโมเลกุลของไอน้ำเอาไว้ได้ จึงทำให้ไอน้ำหลุดลอยออกไปสู่อวกาศจนหมด ส่วนน้ำที่เหลืออีกราว 5% น่าจะสะสมกลายเป็นน้ำแข็งอยู่ใต้พื้นผิวบริเวณขั้วของดวงจันทร์

ทั้งนี้ องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) เตรียมเดินหน้าสมรวจหาร่องรอยของน้ำบนดวงจันทร์อีกครั้ง โดยเอเอฟพีรายงานเพิ่มเติมว่านาซาเตรียมจะส่งยานลูนาร์ รีคอนเนสซองส์ ออร์บิเตอร์ (Lunar Reconnaissance Orbiter) ไปสำรวจดวงจันทร์ภายในเดือน พ.ย. 2551 และจะส่งลูนาร์ เครเตอร์ ออบเซอร์เวชัน แอนด์ เซนซิง แซทเทลไลต์ (Lunar Crater Observation and Sensing Satellite) ตามขึ้นไปต้นปี 2552

บีบีซีนิวส์รายงานเพิ่มเติมว่า การค้นพบครั้งสำคัญนี้จะช่วยเพิ่มข้อมูลให้นักวิทยาศาสตร์สำหรับศึกษาความเป็นมาของโลกและดวงจันทร์ในอดีต ซึ่งอาจบ่งชี้ได้ว่ามีน้ำเกิดขึ้นบนโลกแล้วก่อนที่จะถูกอุกกาบาตพุ่งชนจนบางส่วนกระเด็นออกไปและก่อตัวเป็นดวงจันทร์ สำหรับดวงจันทร์ก็เพิ่มข้อสันนิษฐานว่ามีน้ำบนดวงจันทร์เคยเป็นส่วนหนึ่งของน้ำบนโลกมาก่อนหรือเปล่า หรือเกิดขึ้นหลังจากนั้นราว 100 ล้านปี

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9510000081435

Thursday, July 10, 2008

หุ่นไทยชิงเวิลด์โรโบคัพพลาสมา-ซีโฉมใหม่แข็งแกร่งขึ้น

สมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทยส่งหุ่นยนต์ 3 ทีมจากจุฬาฯ เกษตรศาสตร์ และสงขลานครินทร์ ฟาดแข้งชิงแชมป์โลกในงานเวิลด์ โรโบคัพ 2008 ที่ประเทศจีน

ทีมหุ่นยนต์ทั้ง3 ทีมที่จะร่วมการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ขนาดเล็ก หรือโรโบคัพ ซอกเกอร์ สมอลล์ ไซส์ ลีก ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งในงานฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์โลก (เวิร์ล โรโบคัพ) ซึ่งกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-20 กรกฎาคมนี้ที่เมืองซูโจว ประเทศจีนคือ ทีมพลาสมา-ซี จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นรองแชมป์โลกปีที่แล้ว ทีมสคูบ้าจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และทีมไข่นุ้ยจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่

การแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์โลก2008 ทีมที่เข้าร่วมการแข่งขันจะต้องประดิษฐ์หุ่นยนต์ขนาดเล็ก ที่ใช้ระบบการมองเห็นทั้งแบบอัตโนมัติหรือควบคุมแบบไร้สายด้วยคอมพิวเตอร์ ทีมละ 5 ตัว เพื่อแข่งขันฟุตบอล ซึ่งมีเวลาทั้งหมด 30 นาที แบ่งเป็นครึ่งแรก 15 นาทีและครึ่งหลัง 15 นาที ทีมที่ทำประตูได้มากกว่าจะเป็นผู้ชนะ

ดร.มานพวงศ์สายสุวรรณ อาจารย์ที่ปรึกษาของทีมพลาสมา-ซี กล่าวว่า ทีมประดิษฐ์หุ่นยนต์เตะฟุตบอลขึ้นมาใหม่ 6 ตัว มีความแข็งแรงและทนทานต่อการกระแทกมากขึ้น รวมทั้งใช้กล้องตัวใหม่เพื่อให้มองเห็นพื้นที่ทั่วทั้งสนามแข่งขัน ซึ่งในปีนี้มีขนาดใหญ่ขึ้น 20% จากขนาดของสนามในปีก่อน นอกจากนี้ทางทีมยังปรับปรุงโปรแกรม ให้หุ่นยนต์สามารถปรับเปลี่ยน ให้ทันกับแผนการเล่นของฝ่ายตรงข้ามได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

ทั้งนี้พลาสมา-ซี ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ จากสนามเวิลด์โรโบคัพ 2007 จากการดวลเตะลูกโทษกับทีมซีเอ็มดรากอนส์ มหาวิทยาลัยคานิกี้เมลอน แชมป์สองสมัยจากสหรัฐอเมริกา
การแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อในปี 2545 จากความร่วมมือระหว่างสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย กับบริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด โดยมีมหาวิทยาลัยต่างๆ ผลัดกันเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน วัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพของนิสิตนักศึกษาไทย ทางด้านปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ประดิษฐ์ พร้อมทั้งคัดเลือกตัวแทนของประเทศไทยไปร่วมชิงแชมป์เวิลด์ โรโบคัพ

ในปีนี้การแข่งขันระดับประเทศจัดขึ้นเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยทีมฟุตบอลหุ่นยนต์พลาสมา-ซี ได้รับรางวัลชนะเลิศ ทีมฟุตบอลหุ่นยนต์สคูบ้าได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 และทีมฟุตบอลหุ่นยนต์ไข่นุ้ย ได้รับรางวัลเทคนิคยอดเยี่ยมชนะเลิศ

ที่มา: http://www.komchadluek.net/
Link: http://www.komchadluek.net/2008/07/10/x_it_h001_210540.php?news_id=210540

Wednesday, July 9, 2008

โอลิมปิกหนนี้นักกีฬาไทยใส่ "เสื้อนาโน" ไปสู้ศึก "ปักกิ่งเกมส์"


"แกรนด์สปอร์ต" แจก "เสื้อนาโน" ให้นักกีฬาไทยร่วม 2,000 ตัวไปสู้ศึกโอลิมปิกที่ปักกิ่ง ด้าน "น้องวิว-สืบศักดิ์" ประสานเสียงเสื้อดีทำให้มีกำลังใจ

บริษัท แกรนด์สปอร์ต กรุ๊ป จำกัด ประกาศผลิตเสื้อนาโนซึ่งได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำหรับนักกีฬาไทยซึ่งจะเดินทางไปแข่งขันโอลิมปิกครั้งที่ 29 ที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยผู้จัดการวิทยาศาสตร์พร้อมด้วยผู้สื่อข่าวหลายสำนักได้เข้าร่วมการแถลงข่าวการมอบเสื้อดังกล่าวซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 9 ก.ค.51 นี้ ณ โรงแรมเรดิสัน

ทั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 2 แล้วที่ทางแกรนด์สปอร์ตได้สนับสนุนชุดกีฬานาโนสำหรับนักกีฬาทีมชาติไทย โดยครั้งแรกเป็นการสนับสนุนนักกีฬาเอเชียนเกมส์ซึ่งเดินทางไปแข่งขันที่เมืองโดฮา ประเทศกาตาร์เมื่อปี 2549

รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ระบุว่าเสื้อกีฬาที่ผลิตให้นักกีฬาไทยซึ่งจะเดินทางไปแข่งขันโอลิมปิกครั้งล่าสุดนี้เกิดจากความร่วมมือระหว่างศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ซึ่งเป็นศูนย์แห่งชาติภายใต้ สวทช.กับทางแกรนด์สปอร์ต

"สำหรับเสื้อที่ผลิตให้นักกีฬานั้นด้านนอกได้เคลือบอนุภาคซิงค์ออกไซด์ (Zinc Oxide) ที่มีขนาดระดับนาโนเมตรเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ช่วยลดการหมักหมมของเชื้อเมื่อเหงื่อออก ส่วนด้านนอกเคลือบสารกันเปื้อนและกันน้ำ" รศ.ดร.ศักรินทร์กล่าว

ทางด้านนางสุชาดา นิมากร ประธานบริษัทแกรนด์สปอร์ต เปิดเผยกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่าได้ผลิตเสื้อสำหรับนักกีฬาตามรายชื่อที่ทางคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ส่งให้เรื่อยๆ โดยคร่าวๆ ผลิตเสื้อแจกจ่ายแก่นักกีฬาโอลิมปิกประมาณ 2,000 ตัว แบ่งเป็นเสื้อโปโล 1,000 ตัว เสื้อแจ็กเกต 500 ตัวและเสื้อนอก 500 ตัว

ภายในงานไม่มีตัวแแทนนักกีฬาที่จะเดินทางไปแข่งขันโอลิมปิกที่กรุงปักกิ่งมาร่วมด้วย แต่ก็มีร้อยตำรวจตรีสืบศักดิ์ ผันสืบ นักกีฬาตะกร้อทีมชาติไทยที่เคยสวมใส่เสื้อนาโนเมื่อครั้งไปแข่งขันเอเชียนเกมส์ที่กาตาร์มาร่วมงานด้วย และได้เผยกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า หากนักกีฬาได้ใส่เสื้อผ้าดีๆ ก็จะรู้สึกดีและมั่นใจ โดยเสื้อที่ได้ใส่นั้นให้ความรู้สึกเบา ระบายเหงื่อได้ดี และกล่าวว่าไม่มีการแข่งขันตะกร้อในกีฬาโอลิมปิกแต่ก็ขอส่งใจให้นักกีฬาคนอื่นๆ ได้เหรียญทองกลับมาเยอะๆ

ส่วน น.ส.เยาวภา บุรพลชัย นักเทควันโดหญิงทีมชาติไทยซึ่งประกาศอำลาวงการแล้วนั้น ให้ความเห็นคล้ายคลึงกับสืบศักดิ์ว่า เสื้อผ้ามีช่วยทางด้านจิตใจ ทำให้รู้สึกดี แต่ก็คงไม่ใช่ว่าใส่เสื้อแล้วจะทำให้ชนะได้ เพียงทำให้รู้สึกภาคภูมิใจมากกว่า

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9510000080896

Tuesday, July 8, 2008

เนคเทคทำระบบเน็ตเวิร์กป้องกันนักเรียนแอบดูเว็บโป๊


เนคเทคพัฒนาต่อยอดโปรแกรมตรวจสอบการใช้งานบนเครือข่ายคอมพิวเตอร์ในโรงเรียน ช่วยครูป้องกันเด็กเข้าเว็บโป๊, เล่นเกมในเวลาเรียน มีระบบตรวจสอบพร้อมการใช้งานและรายงานความผิดพลาดย้อนหลังได้ ทั้งยังนำไปใช้ได้กับหน่วยงานต่างๆ และบุคคลทั่วไป ไม่ต้องซื้อโปรแกรมราคาแพงของต่างชาติเตรียมเปิดให้ดาวน์โหลดโปรแกรมแรกได้ฟรี ต.ค.นี้

ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ นักวิจัยจากหน่วยปฎิบัติการวิจัยเทคโนโลยีเครือข่ายเอ็นทีแอล (NTL) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และทีมผู้ช่วยวิจัย ได้ร่วมกันพัฒนาระบบบริหารจัดการเครือข่ายอัจฉริยะ สำหรับตรวจสอบสถานะ และการใช้งานบนเครือข่าย เพื่อป้องการการใช้งานที่ไม่เหมาะสม รวมทั้งรายงานความผิดปกติที่เกิดขึ้นบนเครือข่ายได้ เหมาะอย่างยิ่งที่จะนำไปใช้งานในโรงเรียน สถานศึกษา และหน่วยงานอื่นๆ ที่สนใจ

"จากการสำรวจความพร้อมการใช้งานคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตในโรงเรียนทั่วประเทศจำนวน 105 โรงเรียน พบว่าโรงเรียนส่วนใหญ่มีการเรียนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์ และมีความพร้อมของอุปกรณ์ อินเทอร์เน็ต และบุคลากรที่มีความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ ขณะเดียวกันก็พบว่ามีปัญหาต่างๆ ได้แก่ การติดไวรัส อินเตอร์ช้าและไม่ค่อยเสถียร อุปกรณ์เสียบ่อยครั้ง และแบนด์วิธไม่เพียงพอต่อการใช้งาน" ดร.พนิตา บอกถึงที่มาของการพัฒนาโปรแกรมสำหรับแก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่งโรงเรียนเหล่านี้ต่างมีนโยบายห้ามนักเรียนเล่นเกม, เข้าเว็บไซต์ไม่เหมาะสม และจำกัดการใช้งานโปรแกรมบางประเภท

อย่างไรก็ดี โปรแกรมตรวจสอบสถานะและการใช้งานบนเครือข่ายที่มีอยู่เป็นของต่างประเทศ ซึ่งมีจำหน่ายอยู่ทั่วไป แต่ค่อนข้างราคาค่อนแพง ซึ่งบริษัทเอกชนทั่วไปก็มีการใช้งานระบบเหล่านี้อยู่แล้ว แต่ยากเกินไปสำหรับนำไปใช้งานในโรงเรียน ซึ่งจำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญในการดูแล ทำให้บางโรงเรียนไม่สามารถเข้าถึงโปรแกรมเหล่านั้นได้ ทีมนักวิจัยจึงได้พัฒนาต่อยอดโปรแกรมดังกล่าวให้เหมาะสมและง่ายต่อการใช้งานในโรงเรียน และผู้ดูแลระบบก็ไม่จำเป็นต้องมีความเชียวชาญมากก็สามารถดูแลได้

ดร.พนิตา ให้ข้อมูลว่าระบบบริหารจัดการเครือข่ายอัจฉริยะ ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ ระบบตรวจสอบสถานะของเครือข่ายและบริการ ซึ่งพัฒนาต่อยอดจากโปรแกรมระบบเปิด (open-source software) นากิออส (Nagios), ระบบตรวจวัดและวิเคราะห์การใช้งานบนเครือข่าย ที่พัฒนาต่อยอดมาจากโปรแกรมระบบเปิดเอ็นท็อป (ntop) และสุดท้ายระบบบริหารจัดการแบนด์วิธ (Bandwidth)

นักวิจัยอธิบายว่าได้พัฒนาระบบต่างๆ ให้สามารถเข้าใจง่ายและใช้งานได้ง่ายขึ้นด้วยระบบแนะนำการใช้งานโปรแกรมที่เป็นภาษาไทย ซึ่งสามารถแสดงรูปแบบการเชื่อมต่อเครือข่ายได้แบบอัตโนมัติ รายงานสถานะย้อนหลังตามช่วงเวลาที่ต้องการ โดยแยกตามแต่ละบริการและอุปกรณ์, แสดงผลการใช้งานแยกตามผู้ใช้และประเภทการใช้งาน, สามารถวิเคราะห์ความผิดพลาดและความเสี่ยงต่อการถูกจู่โจมเครือข่าย และมีระบบการแจ้งเตือนผู้ดูแลระบบเมื่อพบความผิดปกติเกิดขึ้นในเครือข่าย

"ระบบบริหารจัดการเครือข่ายอัจฉริยะที่พัฒนาต่อยอดนี้จะสามารถช่วยป้องกันปัญหาการใช้งานเครือข่ายที่ไม่เหมาะสมในโรงเรียนได้ เช่น ป้องกันไม่ให้นักเรียนเล่นเกมหรือเข้าเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมได้ ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซื้อระบบบริหารจัดการเครือข่ายที่มีราคาแพงจากต่างประเทศ และช่วยลดภาระของผู้ดูแลระบบในการจัดการกับปัญหาและข้อผิดพลาดบนเครือข่าย ซึ่งเหมาะสำหรับสถานศึกษาและองค์กรทั่วไปที่ขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญด้านเครือข่าย" ดร.พนิตา กล่าว ซึ่งอินเตอร์เน็ดคาเฟ่และบุคคลทั่วไปที่สนใจก็สามารถใช้ได้เช่นกัน

ทั้งนี้ นักวิจัยได้นำระบบตรวจวัดและวิเคราะห์การใช้งานบนเครือข่าย (ntop) ไปทดสอบการใช้งานจริงแล้วในโรงเรียนที่ร่วมโครงการจำนวน 6 แห่ง เมื่อปีที่แล้ว และเตรียมเปิดให้ดาวน์โหลดและนำไปใช้งานได้เดือน ต.ค. 2551 ส่วนระบบตรวจสอบสถานะของเครือข่ายและบริการ นักวิจัยเตรียมทดสอบภาคสนามในเดือน ต.ค. ที่จะถึงนี้เช่นกัน และทดสอบภาคสนามระบบบริหารจัดการแบนด์วิธในเดือน มี.ค. 2552 และเมื่อสิ้นสุดโครงการวิจัยก็จะเปิดให้ดาวน์โหลดไปใช้งานได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้นทุกระบบ

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9510000079708

ผิวดาวพุธเรียบเพราะภูเขาไฟ


ยานเมสเซนเจอร์ส่งข้อมูลของดาวพุธหรือดาวเมอร์คิวรี่กลับลงมายังพื้นโลก ทำให้นักวิทยาศาสตร์จากองค์การนาซ่าทราบว่า การระเบิดของภูเขาไฟเมื่อราว 3,000-4,000 ล้านปีก่อน เป็นสาเหตุให้พื้นผิวโดยส่วนใหญ่ของดาวพุธราบเรียบ

เมื่อพ.ศ. 2518 ยานมารีเนอร์ 10 โคจรผ่านดาวพุธ ซึ่งเป็นดาวที่มีขนาดประมาณ 1 ใน 3 ของโลก แต่ใหญ่กว่าดวงจันทร์เล็กน้อย โดยยานถ่ายภาพส่งมาพบว่า พื้นผิวของดาวพุธโดยส่วนใหญ่เป็นผิวเรียบ นักวิทยาศาสตร์จึงตั้งข้อสงสัยว่า ที่เป็นเช่นนี้เพราะเกิดจากภูเขาไฟระเบิด หรือมีสะเก็ดดาวเคราะห์พุ่งชน จนเมื่อวันที่ 14 มกราคมที่ผ่านมา ยานเมสเซนเจอร์โคจรผ่านดาวพุธพร้อมถ่ายภาพ ทำให้นักวิทยาศาสตร์ค่อนข้างแน่ใจว่า ที่ดาวพุธมีพื้นผิวเรียบก็เพราะมีภูเขาไฟระเบิด ไม่ใช่เกิดจากสะเก็ดดาวพุ่งชน และจากข้อมูลสนามแม่เหล็กธพบว่า ดาวพุธที่มีความหนาแน่นมากนี้กำลังจะมีขนาดเล็กลง

ยานมารีเนอร์ 10 โคจรผ่านดาวพุธ 3 ครั้ง ถ่ายภาพพื้นผิวดาวไว้ได้ 45% ส่วนยานเมสเซนเจอร์ ซึ่งย่อมาจาก "Mercury Surface, Space Environment, Geochemistry and Ranging" ถูกปล่อยออกจากฐานเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ถ่ายภาพพื้นผิวดาวพุธมาได้ 20% จะโคจรผ่านอีกในเดือนตุลาคมนี้และเดือนกันยายนปีหน้า และพ.ศ. 2554 จะโคจรรอบดาวพุธเป็นเวลา 1 ปี

ที่มา: http://www.matichon.co.th/khaosod/
Link: http://www.matichon.co.th/khaosod/view_news.php?newsid=TUROMFpXTXdNekE0TURjMU1RPT0=§ionid=TURNeU5nPT0=&day=TWpBd09DMHdOeTB3T0E9PQ==

Wednesday, July 2, 2008

โปรแกรมฝึกจราจรอากาศขึ้นจอยักษ์รอบทิศ


วิทยุการบินโปรแกรมควบคุมการจราจรทางอากาศสามมิติ ฉายขึ้นจอยักษ์เหมือนปฏิบัติการจริง ใช้ฝึกหัดเจ้าหน้าที่ให้คุ้นกับสถานการณ์หลายรูปแบบจนคล่อง

กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ : นายฆนภาส ศิริรัมย์ ผู้จัดการงานวิศวกรรม กองงานวิจัยและพัฒนาวิศวกรรมจราจรทางอากาศ บริษัท วิทยุการบิน จำกัด (บวท.) พัฒนาระบบจำลองการจราจรทางอากาศแบบสามมิติเพื่อใช้แบบฝึกหัดสำหรับผู้คุมการจราจรทางอากาศบริเวณเขตประชิดสนามบิน ติดตั้งจอโปรเจกเตอร์ 11 ตัวฉายภาพ 360 องศารอบทิศเหมือนนั่งอยู่บนหอบังคับการบิน

"แบบฝึกหัดจำลองสภาพอากาศ 5 รูปแบบ ได้แก่ ฝนตก หมอกหนา แสงแดดจ้า หิมะตก และเวลากลางคืน สามารถเปลี่ยนฉากสนามบินที่จะใช้ฝึกได้ เพื่อฝึกเจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางอากาศให้ทดลองสั่งเครื่องบินลงจอด หรือขึ้นสู่ท้องฟ้าตามสภาพแวดล้อมของสนามบินแต่ละแห่ง ได้อย่างเหมาะสม" ผู้จัดการงานวิศวกรรมบริษัท วิทยุการบิน กล่าว

ผู้เข้ารับฝึกอบรมจะต้องใช้เวลาเรียนวันละ 8 ชั่วโมง และต่อเนื่องประมาณ 3 เดือนก่อนออกไปฝึกในหอบังคับการของจริงอีก 2-3 เดือน และต้องผ่านการประเมินจากกรมส่งทางอากาศและสถาบันเวชศาสตร์การบิน ก่อนที่จะออกปฏิบัติหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่จริง

การฝึกควบคุมการจราจรทางอากาศแบบเดิมที่ใช้กันอยู่ใช้โมเดลสนามบิน และแรงงานคนถือเครื่องบินจำลองเคลื่อนที่ทำองศาตามคำพูดของเจ้าหน้าที่ฝึกหัด ทำให้ไม่สามารถเห็นสภาพแวดล้อมของสนามบินได้จริง และหากมีโจทย์ยาก เช่น สถานการณ์ที่ต้องสั่งการเครื่องบินพร้อมกันหลายลำ จะทำได้ลำบาก

นายสันติ วงศ์พิทักษ์ ผู้จัดการงานวิศวกรรม กองธุรกิจต่างประเทศ บริษัท วิทยุการบิน จำกัด กล่าวว่า ระบบจำลองการจราจรทางอากาศแบบสามมิติช่วยให้ ผู้ฝึกสามารถมองเห็นทัศนียภาพโดยรอบของสนามแบบเสมือนจริง รวมทั้งได้เห็นภาพที่เกิดขึ้นหลังการตัดสินใจด้วยตัวเอง

นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังได้ฝึกแก้ปัญหาเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน เช่น เครื่องบินตก เครื่องบินชนกัน หรือเครื่องบินลงหรือขึ้นพร้อมกันครั้งละหลายลำ เป็นต้น เพื่อสามารถรับมือได้เป็นขั้นตอนและเป็นระบบมากกว่าการฝึกจากการใช้แรงงานคน และดูภาพผ่านจอเรดาร์แบบเดิม

ปัจจุบัน ระบบดังกล่าวได้นำไปใช้งานจริงที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานกรุงเทพ โดยฝึกผู้ควบคุมไปได้แล้วจำนวน 2 รุ่น

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com/
Link: http://www.bangkokbiznews.com/2008/07/02/news_272040.php