Tuesday, March 4, 2008

เสื้อนาโนสวมคลายร้อนผู้ผลิตเตรียมวางขายรับสงกรานต์นี้

เจ้าของนวัตกรรมสิ่งทอกันยุงพัฒนาเสื้อคลายร้อน"ซูเปอร์คลู" สวมแล้วให้ความรู้สึกเย็นสดชื่น เผยอาศัยสารให้ความเย็นจากสมุนไพร เช่น การบูร พิมเสน เป็นสารตั้งต้นผสมกับสูตรที่คิดค้นขึ้น บรรจุในแคปซูลจิ๋วเคลือบบนเส้นใย ประเดิมสินค้าชุดแรกออกสู่ตลาดในช่วงเทศกาลสงกรานต์

นายวิศัลย์วนะศักดิ์ศรีสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท คัฟเวอร์แนนท์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายสิ่งทอกันยุง เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทกำลังพัฒนาเสื้อคลายร้อน "ซูเปอร์คูล" สำหรับนักเรียน นักกีฬา และบุคลคลทั่วไป คาดว่าสินค้าชุดแรกประมาณ 5,000 ตัวจะออกสู่ตลาดในช่วงกลางเดือนเมษายน หรือเทศกาลสงกรานต์นี้

การพัฒนาเสื้อซูเปอร์คูลดังกล่าวทีมวิจัยนำสารสกัดเมนทอล หรือสารให้ความเย็นจากสมุนไพร อาทิ การบูร พิมเสน มาผสมเป็นสูตรจำเพาะ และบรรจุไว้ในแคปซูลจิ๋วด้วยเทคโนโลยีนาโน พร้อมทั้งออกแบบให้แคปซูลแตกตัวเฉพาะเวลาที่สัมผัสกับเหงื่อของผู้สวมเท่านั้น

ความคืบหน้าขณะนี้ทีมงานอยู่ระหว่างทดสอบประสิทธิภาพการแตกตัวของแคปซูลนาโน ซึ่งบรรจุสารให้ความเย็นจากพืช โดยศึกษาปฏิกิริยาของแคปซูล เมื่อสัมผัสน้ำเปล่าเปรียบเทียบกับการสัมผัสเหงื่อ ว่าทำงานแตกต่างกันหรือไม่ เพื่อพัฒนาให้แคปซูลทำปฏิกิริยาแตกตัวจำเพาะกับเหงื่อของผู้สวมใส่เท่านั้น

นอกจากดูสมบัติการแตกตัวของแคปซูลแล้วทีมวิจัยยังต้องดูคุณสมบัติที่ช่วยลดอุณหภูมิร่างกายผู้สวมใส่อีกด้วยว่า ขณะที่ร่างกายเกิดเหงื่อขึ้นมานั้น สารที่เคลือบอยู่จะช่วยปรับอุณหภูมิร่างกายให้ลดลงได้กี่องศา

ผลิตภัณฑ์เสื้อคลายแรกชุดแรกที่จะผลิตแบ่งเป็นเสื้อโปโลผู้หญิงให้กลิ่นสตรอเบอร์รี่ 2,500 ตัว เสื้อโปโลผู้ชายให้กลิ่นลาเวนเดอร์ 2,500 ตัว ส่วนเป้าหมายมีทั้งนักเรียน นักกีฬา พนักงานบริษัท และสำหรับเป็นของชำร่วยในงานทั่วไป โดยกำหนดราคาไว้ 580-780 บาท นายวิศัลย์กล่าว

หากผู้บริโภคให้การตอบรับอย่างดีกับผลิตภัณ์สวมคลายร้อนบริษัทก็มีโครงการที่จะต่อยอดผลิตจีวรคลายร้อนสำหรับพระสงฆ์ และเครื่องแบบคลายร้อนสำหรับพนักงานทั่วไป โดยจะวางขายผ่านตัวแทนจำหน่ายเครื่องสังฆภัณฑ์ ที่เคยรับจีวรกันยุงไปจำหน่ายก่อนหน้านี้

ส่วนความคืบหน้าของเทคโนโลยีสิ่งทอกันยุงหลังจากผลิตเป็นจีวรกันยุงแล้ว ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างเจรจากับวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เพื่อขอรับการสนับสนุนในการผลิตและทดสอบเครื่องแบบทหารกันยุง กับทหารอาสาสมัคร 300-500 คน

ที่มา: http://www.komchadluek.net/
Link: http://www.komchadluek.net/2008/03/04/x_it_h001_192325.php?news_id=192325

No comments: