จุฬาฯจับมือญี่ปุ่น ประสบความสำเร็จผ่าตัดทางไกลข้ามประเทศผ่านหุ่นยนต์แขนกล เผยหุ่นยนต์แม่ติดตั้งในไทย เชื่อมสัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงมากควบคุมหุ่นยนต์ลูกที่มหาวิทยาลัยเคียวซู ให้ลงมีดทันทีตามที่แพทย์ไทยสั่งการ ย้ำชัดใช้ประโยชน์ด้านการสอน งดส่งบริการผ่าตัดผู้ป่วย
รศ.นพ.อดิศรภัทราดูลย์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาฯประสบความสำเร็จในการทดสอบผ่าตัดทางไกลผ่านหุ่นยนต์แขนกล โดยทีมแพทย์ควบคุมหุ่นยนต์แม่ในไทย ซึ่งส่งสัญญาณไปยังหุ่นยนต์ลูกที่ติดตั้งในมหาวิทยาลัยเคียวซู ประเทศญี่ปุ่น ให้เคลื่อนไหวตามคำสั่งจากไทย การทดสอบดังกล่าวเป็นการผ่าตัดถุงน้ำดีในสุกร
การผ่าตัดทางไกลโดยใช้หุ่นยนต์เป็นโครงการความร่วมมือกับรัฐบาลญี่ปุ่น โดยใช้หุ่นยนต์แขนกลที่พัฒนาโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยโตเกียว ซึ่งมีมูลค่ากว่า 30 ล้านบาท
โครงการนี้ทำมากว่า3 ปีแล้ว ในช่วงแรกการผ่าตัดทางไกลมีปัญหาสัญญาณสื่อสารล่าช้า 1-2 วินาที แต่หลังจากเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงขนาด 45 เมกะบิต ที่ติดตั้งด้วยค่าใช้จ่ายกว่า 3 แสนบาทต่อเดือน ทำให้สามารถผ่าตัดทางไกลได้เกือบพร้อมกันในเสี้ยววินาที ทั้งภาพและเสียง ส่วนแพทย์ผู้บังคับหุ่นตัวแม่จะสวมแว่นโพลาลอยด์ เพื่อให้เห็นภาพทางไกลเป็นสามมิติ ซึ่งสมจริงมากขึ้น
"งานวิจัยผ่าตัดทางไกลผ่านหุ่นยนต์แขนกลนี้ไม่คาดหวังที่จะนำมาบริการผ่าตัดผู้ป่วย แต่ต้องการใช้สำหรับการเรียนการสอน เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการจัดส่งนักเรียนแพทย์ไปศึกษาต่อที่ญี่ปุ่น ทั้งยังแก้ปัญหาอาจารย์แพทย์ขาดแคลนในบางพื้นที่ด้วย" คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว
ศ.นพ.มาโกโตะฮาชิซูเมะ ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยเคียวซู กล่าวว่า การทดสอบหุ่นยนต์ผ่าตัดทางไกล เป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งในโครงการ เครือข่ายเจจีเอ็น2 หรือเครือข่ายความเร็วสูงมากเพื่อการวิจัยและพัฒนาที่รัฐบาลญี่ปุ่นสนับสนุนและคาดหวังที่จะขยายเครือข่ายให้ครอบคลุมทั่วโลก
นอกจากการเชื่อมโยงเครือข่ายกับไทยแล้วโครงการเจจีเอ็น 2 ยังเชื่อมโยงเครือข่ายไปยังสิงคโปร์ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2548 และอยู่ระหว่างขยายสู่ประเทศอื่นๆ ในอาเซียน รวมถึงจีน เกาหลี และอินเดีย เพื่อให้มีเครือข่ายข้อมูลข่าวสารถึงกัน และสามารถใช้เครือข่ายนี้ร่วมกันในการวิจัยทุกๆ ด้าน รวมทั้งด้านการแพทย์ด้วย
ที่มา: http://www.komchadluek.net/
Link: http://www.komchadluek.net/2008/03/21/x_it_h001_193880.php?news_id=193880
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment