Monday, March 10, 2008

เอ็มเทครีไซเคิลหลอดไฟเทคโนโลยีฝีมือไทยไร้ปรอทก่อมะเร็ง100%

ศูนย์เอ็มเทคชูเทคโนโลยีอย่างง่ายรีไซเคิลซากหลอดฟลูออเรสเซนต์ เลี่ยงสารปรอทปนเปื้อนก่อโรคมะเร็ง วางแผนทดสอบประสิทธิภาพในห้องแล็บและโรงงานต้นแบบ จากนั้นค่อยส่งต่อให้เอกชน พร้อมเดินหน้าวิจัยหลอดแอลอีดีใช้แทนหลอดเรืองแสง
รศ.ดร.วีระศักดิ์อุดมกิจเดชา ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวถึงข้อกังวลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เรื่องอันตรายของสารปรอทจากซากหลอดฟลูออเรสเซนต์ว่า เอ็มเทคมีโครงการพัฒนากระบวนการรีไซเคิลซากหลอดฟลูออเรสเซนต์หรือหลอดเรืองแสง เพื่อนำกลับมาใช้ซ้ำ

กระบวนการรีไซเคิลหลอดไฟอย่างง่ายทำได้โดยแยกสารปรอทจากหลอดไฟ ผ่านกระบวนการใช้ความร้อน เพื่อทำให้ปรอทระเหย และกลั่นตัวเป็นของเหลว ในส่วนของหลอดไฟก็แยกขั้วหลอดไฟออก คัดเลือกขั้วหลอดที่มีประสิทธิภาพ จากนั้นนำซากหลอดแก้วมาบด ล้างด้วยกรดและวิเคราะห์ค่าปรอทปนเปื้อน ก่อนนำมาประกอบใช้ใหม่อีกครั้ง จึงมั่นใจได้ว่าหลอดไฟที่นำมาใช้ใหม่ปลอดภัยจากการปนเปื้อนของสารพิษ

เทคโนโลยีดังกล่าวไม่ซับซ้อนซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพดำเนินการ เบื้องต้นเอ็มเทคจะทดสอบจริงในห้องปฏิบัติการก่อนขยายเป็นโรงงานนำร่อง เพื่อเป็นต้นแบบให้บริษัทผู้ผลิตตระหนัก และหันมาใช้เทคโนโลยีดังกล่าว เพื่อลดปริมาณซากขยะฟลูออเรสเซนต์

"โครงการดังกล่าวจะช่วยผลักดันให้การพัฒนากระบวนการรีไซเคิลฟลูออเรสเซนต์ประสบความสำเร็จและขยายเป็นโรงงานต้นแบบการจัดการซากหลอดฟลูออเรสเซนต์ หรือขยายองค์ความรู้สู่ผู้ผลิตในท้ายที่สุด" ผู้อำนวยการเอ็มเทค กล่าว

นอกจากนี้เอ็มเทคมีโครงการศึกษาหลอดไฟประหยัดพลังงาน ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โดยไม่มีส่วนประกอบของสารปรอท โดยดึงคุณสมบัติของไอโอดเปล่งแสง หรือ แอลอีดี ทำหน้าที่กระจายแสงแทนสารปรอทในหลอดฟลูออเรสเซนต์ ทั้งนี้ แอลอีดีเป็นวัสดุที่ผลิตจากสารเรืองแสงจำพวกโพลิเมอร์ หรืออินทรีย์ เมื่อผ่านกระบวนการทางเคมีก็จะเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าเป็นแสงสว่างได้

แม้ว่าหลอดแอลอีดีจะมีใช้อย่างแพร่หลายเช่น ไฟเบรกในอุตสาหกรรมรถยนต์ โคมไฟใต้น้ำและหลอดไฟประดับ แต่การจะใช้ทดแทนหลอดฟลูออเรสเซนต์ยังต้องผ่านการวิจัยอีกมาก เนื่องจากข้อจำกัดทั้งด้านราคา และการปล่อยแสงแบบแสงตรง ทำให้ไม่สบายตา ปัจจุบันจึงยังไม่สามารถเข้าไปแทนที่หลอดฟลูออเรสเซนต์ ซึ่งราคาถูกและปล่อยแสงแบบกระจาย ไม่เป็นอันตรายต่อดวงตา

ที่มา: http://www.komchadluek.net/
Link: http://www.komchadluek.net/2008/03/10/x_it_h001_193375.php?news_id=193375

No comments: