Wednesday, March 12, 2008

สจล.พบวิธีเพิ่มไบโอดีเซล ใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาใหม่แถมคุณภาพดีขึ้น

ห้องแล็บ สจล.จับมือไบเออร์ไทย ทดสอบตัวเร่งปฏิกิริยานำเข้าสำหรับผลิตไบโอดีเซล พบให้ปริมาณน้ำมันและคุณภาพมากขึ้นกว่าระบบผลิตเดิม แถมฤทธิ์กัดกร่อนเครื่องมือยังลดลง เตรียมขยายสู่การทดลองที่ใหญ่ขึ้น ก่อนส่งต่อให้ภาคอุตสาหกรรม

รศ.ประกอบ กิจไชยา ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ทีมงานได้รับการสนับสนุนจากบริษัท ไบเออร์(ประเทศไทย) จำกัด นำเข้าตัวเร่งปฏิกิริยาทางเคมีจากประเทศเยอรมนี สำหรับทดสอบประสิทธิภาพการผลิตน้ำมันไบโอดีเซล เพื่อสร้างทางเลือกให้ผู้ผลิตไบโอดีเซลในประเทศ

ตัวเร่งปฏิกิริยานำเข้านี้ เป็นสารกลุ่มเดียวกับที่เคยใช้เร่งออกเทนในน้ำมันเบนซิน เป็นเรซินคล้ายเม็ดพลาสติก เมื่อบรรจุเข้าเครื่องปฏิกรณ์พร้อมกับปั๊มเมทานอลและน้ำมันพืชใช้แล้วจากก้นครัว จะได้ผลผลิตไบโอดีเซลที่มีคุณภาพ ปริมาณ และสมบัติการกัดกร่อนอุปกรณ์ "น้อยกว่า" ไบโอดีเซลที่ใช้ในปัจจุบัน

การศึกษาปฏิกิริยาของตัวเร่งปฏิกิริยานำเข้านี้ ทีมงานดำเนินการเมื่อปลายปี 2550 ผลที่ได้พบว่าสามารถเพิ่มปริมาณน้ำมันไบโอดีเซลได้กว่า 10% ซึ่งได้จากการลดกรดไขมันอิสระที่ปนเปื้อนในน้ำมันเหลือใช้จากก้นครัว

นอกจากนี้ หลังการทดลองเดินเครื่องปฏิกรณ์ขนาด 0.50 ลิตร ในระดับห้องปฏิบัติการ พบว่าไบโอดีเซลที่ได้มีคุณภาพมากกว่าการใช้กำมะถันเป็นตัวเร่ง ซึ่งนอกจากจะอันตรายต่อผู้ปฏิบัติหน้าที่กลั่นแล้ว ยังออกฤทธิ์กัดกร่อนเครื่องมือที่ใช้ในกระบวนการ และยังต้องเสียเวลาในการแยกกำมะถันออกจากน้ำมันในกระบวนการสุดท้ายก่อนนำไปใช้อีกด้วย

“ตัวเร่งปฏิกิริยานำเข้านี้ จะเป็นทางเลือกสำหรับกระบวนการผลิตไบโอดีเซลในอนาคต แม้ว่าตัวเร่งฯ จะราคาแพงถึงลิตรละ 700 บาท แต่ผลที่ได้มีความคุ้มในระยะยาว เนื่องจากสามารถนำกลับมาหมุนเวียนใช้ได้หลายครั้ง จนกว่าจะหมดอายุการใช้งาน ซึ่งเบื้องต้นมีข้อมูลว่ามากกว่า 2 ปี” นักวิจัย สจล. กล่าว

ขณะนี้การวิจัยอยู่ระหว่างเจรจากับบริษัทผู้สนับสนุน โดยเสนอนำเข้าตัวเร่งปฏิกิริยาในปริมาณที่มากขึ้น สำหรับทดสอบในเครื่องปฏิกรณ์ที่ทีมวิจัยพัฒนาให้ใหญ่กว่าเดิมเป็น 50 ลิตร เพื่อสร้างมาตรฐานการผลิตให้เป็นเทคโนโลยีที่พร้อมนำไปต่อยอด

“การทดลองระดับ 50 ลิตรนี้ หากวัสดุอุปกรณ์พร้อมทุกอย่างแล้ว คาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 2 เดือน ก่อนที่จะต่อยอดเป็นเครื่องปฏิกรณ์ขนาด 1,000 ลิตร สำหรับใช้ในกระบวนการผลิตระดับอุตสาหกรรมไบโอดีเซลระดับประเทศในอนาคต” นักวิจัย สจล. กล่าว

ที่มา: http://www.komchadluek.net/
Link: http://www.komchadluek.net/2008/03/12/x_it_h001_193639.php?news_id=193639

No comments: