Friday, March 21, 2008

จุฬาฯค้นคว้าเชื้อเพลิงใหม่ชูจุดเด่นไร้ฝุ่นควัน-ใช้แทนน้ำมันดีเซล

จุฬาฯพัฒนาพลังงานทางเลือกใหม่ ชูคุณสมบัติเด่นเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไร้เขม่าควัน ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ เหมาะสำหรับเครื่องยนต์การเกษตร อย่างรถไถเดินตามและเครื่องสูบน้ำ เผยใช้ของเหลือการเกษตร เช่น เศษไม้ ฟางข้าว รวมทั้งถ่านหิน เป็นวัตถุดิบ ตัดปัญหาพืชพลังงานราคาแพง

ผศ.ดร.คณิตวัฒนวิเชียร หัวหน้าห้องปฏิบัติการวิจัยเครื่องยนต์สันดาปภายใน ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทีมงานประสบความสำเร็จในการผลิต ดีเอ็มอี ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่ผลิตได้จากชีวมวลอยู่ในสถานะแก๊สคล้ายก๊าซหุงต้ม ซึ่งมีคุณสมบัติไม่มีสี ไม่มีกลิ่น จุดติดไฟง่าย สามารถเผาไหม้ได้อย่างสมบูรณ์ ไม่เกิดเขม่า ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ จึงไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ดีเอ็มอี หรือ ไดเมทิลอีเทอร์ เป็นเชื้อเพลิงทางเลือกเช่นเดียวกันไบโอดีเซลและก๊าซแอลพีจีลักษณะการใช้งานคล้ายก๊าซแอลพีจี แต่เหมาะกับเครื่องยนต์ดีเซลมากกว่า โดยมีค่าซีเทน ซึ่งเป็นการแสดงส่วนผสมระหว่างซีเทนกับแอลฟาเมทิลแนฟทาลีน ประมาณ 70 ใกล้เคียงกับค่าซีเทนในน้ำมันดีเซลปกติ ซึ่งอยู่ระหว่าง 50-55

"การใช้งานก๊าซดีเอ็มอีก็เติมในถังเหมือนกับก๊าซแอลพีจี จากนั้นก๊าซจะผ่านหม้อความดัน ซึ่งเปลี่ยนก๊าซเป็นของเหลวฉีดเข้าปั๊มหัวฉีดของเครื่องยนต์ ตามลำดับ ทีมงานทดสอบใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลขนาดเล็ก ซึ่งใช้ในการเกษตร เช่น รถอีแต๋น เครื่องสูบน้ำ รถไถเดินตาม พบใช้งานได้ไม่ต่างจากน้ำมันดีเซล ทั้งยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะไม่มีเขม่าควันและปราศจากควันดำ" ผศ.ดร.คณิตกล่าว

ในแง่ของการขยายสู่เชิงพาณิชย์หากเป็นไปตามนโยบายของภาครัฐที่ส่งเสริมไม้โตเร็วทำเป็นเชื้อเพลิงทางเลือก ก็สามารถทำเป็นดีเอ็มอีได้ เพราะใช้ทั้งไม้โตเร็ว ชีวมวลหรือวัสดุของเหลือทางการเกษตรและถ่านหิน มาเป็นวัตถุดิบ จึงได้เปรียบกว่าการผลิตไบโอดีเซล ซึ่งใช้พืชพลังงานเป็นวัตถุดิบ มีปัญหาการแย่งชิงวัตถุดิบกับภาคอุตสาหกรรมอาหาร

นอกจากนี้ทิศทางของโลกยังให้ความสำคัญดีเอ็มอี ในฐานะที่เป็นพลังงานสะอาด โดยในสหรัฐ ยุโรปและญี่ปุ่น ต่างสนใจทำวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่จีนก็ใช้แพร่หลายเพื่อการหุงต้มและการคมนาคมในพื้นที่แถบภูเขา ซึ่งขาดแคลนชีวมวลและน้ำมัน แต่ก็ผลิตดีเอ็มซีจากถ่านหิน

ที่มา: http://www.komchadluek.net/
Link: http://www.komchadluek.net/2008/03/21/x_it_h001_193875.php?news_id=193875

No comments: