Monday, October 30, 2006

ภัยแล้งกระตุ้นรบ.ออสซี่

ภัยแล้งกระตุ้นรบ.ออสซี่ สร้างโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ยักษ์

รัฐบาลจิงโจ้ประกาศแผนสร้างโรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นโครงการแรกภายใต้งบ 500 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือเกือบ 15,000 ล้านบาท สำหรับดำเนินโครงการพลังงานสะอาดเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของโลกร้อน

นายปีเตอร์ คอสเทลโล รัฐมนตรีคลังออสเตรเลีย ให้สัมภาษณ์บรรษัทกระจายเสียงออสเตรเลียว่า รัฐบาลจะออกเงิน 75 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลียสมทบการสร้างโรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์มูลค่า 420 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย ใกล้เมืองมิลดูราในรัฐวิกตอเรีย เป็นโรงไฟฟ้าที่ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกและไฟฟ้าที่ได้สามารถแจกจ่ายไปได้ทั่วประเทศ จะเริ่มโครงการในปี 2551 และผลิตไฟฟ้าได้เต็มศักยภาพภายในปี 2556

ด้านบริษัทโซลาร์ซิสเต็มส์ ในนครเมลเบิร์น ผู้รับผิดชอบโครงการระบุว่า โรงไฟฟ้าดังกล่าวจะมีขนาดเล็กกว่าโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ที่ทะเลทรายโมฮาเว่ในรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐ แต่จะมีประสิทธิภาพมากกว่า เนื่องจากโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ที่สหรัฐใช้เทคโนโลยีความร้อนแสงอาทิตย์ต้มน้ำเดือดกลายเป็นไอไปหมุนกังหันผลิตกระแสไฟฟ้า แต่โรงไฟฟ้าที่ออสเตรเลียจะใช้เซลล์แสงอาทิตย์แปลงเป็นไฟฟ้าโดยตรง

กลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อม "กรีนพีซ" แสดงความยินดีที่ออสเตรเลียประกาศเรื่องนี้พร้อมระบุว่า รัฐบาลออสเตรเลียเริ่มยอมตามกระแสกดดันเรื่องสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงแล้ว

ทั้งนี้ เมื่อเดือนก.ย. รัฐบาลออสเตรเลียเพิ่งบอกปัดไม่ไยดีต่อคำแนะนำในภาพยนตร์สารคดีด้านสิ่งแวดล้อมของนายอัล กอร์ อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐ แต่หลังจากเกิดภาวะแห้งแล้งและอากาศร้อนจัดในออสเตรเลียต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน จึงประกาศว่าจะทุ่มงบประมาณ 500 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย เพื่อดำเนินโครงการพลังงานสะอาด

ที่มา : matichon

อักษรล้านนาใช้ในคอมพิวเตอร์

มช.ไอเดียเจ๋ง ผลิตอักษรล้านนาใช้ในคอมพิวเตอร์

สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มช.สุดเจ๋ง อนุรักษ์อักษรธรรมล้านนาโบราณให้สืบทอดถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน ด้วยการพัฒนาระบบการพิมพ์ “อักษรธรรมล้านนา” ใส่ไว้ในคอมพิวเตอร์เหมือนกับการพิมพ์อักษรไทยปกติได้แล้ว ใช้ได้ทั้งวินโดวส์-โฟโต้ช็อป-อีลาสฯ ช่วยให้ผู้ใช้สะดวกยิ่งขึ้น แค่พิมพ์เป็นภาษาไทย แต่หน้าจอจะขึ้นเป็นภาษาล้านนา แถมคลิกกลับไปกลับ มาระหว่างสองภาษาได้ด้วย นักวิชาการ มช.แนะ ต้องศึกษาระบบการเขียนอักษรธรรมล้านนาให้ถ่องแท้ก่อนนำไปใช้ เพื่อป้องกันการผิดเพี้ยนของรูปแบบภาษา
นักวิชาการ มช.อนุรักษ์อักษรธรรมล้านนาไว้ในคอมพิวเตอร์ได้สำเร็จ เมื่อวันที่ 27 ต.ค. นายเกริก อัครชิโนเรศ นักวิชาการในโครงการสารานุกรมไทย-ภาคเหนือ เปิดเผยความสำเร็จในครั้งนี้ว่า สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ร่วมกับ ศ.ดร.อุดม รุ่งเรืองศรี ได้จัดสร้างชุดอักษรธรรมล้านนา (font lanna-LN) สำหรับคอมพิวเตอร์ ซึ่งใช้ในระบบปฏิบัติการไมโคร ซอฟท์ วินโดวส์ (Microsoft Windows) และได้เปิดบริการดาวน์โหลด (Download) ให้ผู้สนใจทั่วไปนำไปใช้ โดยไม่คิดมูลค่าใด ๆ ทั้งสิ้น เพื่อหวังที่จะพัฒนาอักษรธรรมล้านนาให้คงอยู่ในโลกของคอมพิวเตอร์ยุคใหม่ ไม่ให้เสื่อมหายไป หรือคงเหลือแต่ตัวอักษรที่อยู่บนใบลาน บนสมุด หรือตามหนังสือล้านนาเก่า ๆ เท่านั้น จึงพัฒนาระบบการพิมพ์ด้วยแป้นพิมพ์ของคอมพิวเตอร์ให้สามารถพิมพ์อักษรธรรมล้านนาได้ โดยตั้งแต่เปิดพัฒนาโปรแกรม รวมถึงให้ผู้สนใจเข้าไปดาวน์โหลดโปรแกรมมาใช้ฟรี พบว่ามีกลุ่มผู้สนใจเข้าไปนำมาใช้เป็นจำนวนมาก ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก มั่นใจว่าอักษรธรรมล้านนาจะคงอยู่ตลอดไปแน่นอน

นายเกริก กล่าวต่อไปว่า ครั้งแรกที่คิดค้นและพัฒนา ได้ประสบปัญหา คือ ฟอนต์ล้านนามีระบบการพิมพ์ที่ยุ่งยาก เนื่องจากจำนวนอักษรล้านนามีมากกว่าอักษรภาษาไทย โดยเฉพาะมีตัวสะกดที่อยู่ด้านล่างบรรทัด สระ และอักษรพิเศษบางตัว ทำให้ต้องนำตัวอักษรเหล่านั้นไปแทนที่อักษรในแป้นพิมพ์ภาษาอังกฤษ (English Mode) ดังนั้นการพิมพ์อักษรล้านนาลักษณะนี้ จึงต้องสลับโหมดระหว่างภาษาไทยกับภาษาอังกฤษบ่อยครั้ง การพิมพ์จึงล่าช้า ไม่สะดวก ต่อมาจึงได้จัดทำโครงการ “พัฒนาระบบการพิมพ์อักษรธรรมล้านนา” และโครงการ “พัฒนาแม่แบบชุดอักษร Lanna OTF Template” ขึ้น โดยพัฒนาฟอนต์และระบบการพิมพ์ให้มีผลกระทบกับความเคยชิน ในระบบพิมพ์สัมผัสของผู้ใช้น้อยที่สุด ทั้งนี้ ได้ศึกษาค้นคว้าหาวิธีที่จะทำให้การพิมพ์อักษรล้านนาอยู่ภายในแป้นพิมพ์เดียว ผู้พัฒนาได้ นำฟอนต์ติโลก (Tilok.ttf) ของสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มช. ซึ่งได้พัฒนามาจากฟอนต์ Lannaworld.ttf ของคุณประเสริฐ เกิดไชยวงค์ อีกทีหนึ่ง มาพัฒนาเป็นฟอนต์รูปแบบโอเพน ไทป์ (Open type Font หรือ OTF) โดยได้ตั้งชื่อเป็น LN-TILOK เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติแด่พระเจ้าติโลกราช ปฐมกษัตริย์ของล้านนาในอดีต
นายพิชัย แสงบุญ นักวิชาการคอมพิว เตอร์ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มช.กล่าวถึงโครงการดังกล่าวว่า การพัฒนาระบบการพิมพ์อักษรคอมพิวเตอร์จากเดิมที่การพิมพ์อักษรธรรมล้านนา เป็นเรื่องที่ต้องประสบปัญหาการสลับ แป้นพิมพ์ระหว่างภาษาไทยกับภาษาอังกฤษ มาเป็นพิมพ์ในแป้นภาษาไทยเพียงอย่างเดียว การพัฒนาระบบการพิมพ์ดังกล่าว ทำให้การพิมพ์อักษรธรรมล้านนาสะดวกสบายมากขึ้น ผู้ใช้สามารถพิมพ์อักษรไทยได้ตามปกติ แล้วคอม พิวเตอร์จะแสดงผลออกมาเป็นอักษรธรรมล้านนาโดยอัตโนมัติ วิธีนี้จะช่วยทำให้บุคคลทั่วไปสามารถนำชุดอักษรธรรมล้านนาไปใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวาง อาทิ การเรียน-การสอนอักษร ธรรมล้านนาด้วยตนเอง หรือในโรงเรียนการสอนอักษรธรรมล้านนาผ่านระบบอี-เลิร์นนิ่ง (E-learning) การนำอักษรธรรมล้านนาไปใช้ประโยชน์ในการพิมพ์หนังสือเพื่อเผยแพร่ความรู้ต่าง ๆ ฯลฯ ซึ่งระบบการพิมพ์นี้ได้พัฒนาจนสามารถใช้กับโปรแกรมคอมพิวเตอร์บางโปรแกรม ได้ เช่น อด็อบ โฟโต้ช็อป (Adobe Photo shop CS2) อีลาสเตเตอร์ (Adobe Illustrator CS2) โนทแพด (Notepad) และใช้กับไมโครซอฟท์ ออฟฟิศ (Microsoft office 2003) ได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ผู้พิมพ์อักษรล้านนา ควรจะศึกษาระบบการเขียนอักษรธรรมล้านนา (ตัวเมือง) ให้ถ่องแท้ก่อนนำไปใช้ เพื่อป้องกันการผิดเพี้ยนของรูปแบบภาษา

นายพิชัย กล่าวต่อว่า เราได้พัฒนาระบบการพิมพ์อักษรล้านนาให้ใช้ง่าย สะดวก ไม่ยุ่งยาก โดยจากการเปรียบเทียบตัวอักษรไทยกับอักษรล้านนาแบบเรียงตัว ตามระบบการปริวรรตอักษรแล้วพบว่า สามารถนำมาพัฒนาระบบการพิมพ์อักษรธรรมล้านนาบนแป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์ ภาษาไทยได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ตามพจนานุกรมฉบับแม่ฟ้าหลวงของ ศ.ดร.อุดม รุ่งเรืองศรี ได้ทำให้ปรากฏแล้ว และเป็นที่ยอมรับเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะในวงวิชาการ จึงได้ใช้หลักการดังกล่าวในการกำหนดแป้นตัวอักษร เช่น ท = ท ไม่ใช้ ท = ต และ ช = ช ไม่ใช้ ช = จ เป็นต้น ยกตัวอย่าง คนล้านนาจะอ่านคำว่า “โรงเรียน” เป็น “โฮงเฮียน” การเขียนจึงควรเขียนเป็น “โรงเรียน” ไม่ควรยึดตามสำเนียงการอ่าน เพื่อให้การอ้างอิงรากศัพท์ระหว่างไทยกับล้านนาเป็นไปได้โดยง่าย การใช้หลักการเปรียบเทียบดังกล่าวจึงสามารถสลับรูปแบบกันไปมาระหว่างอักษรไทยกับอักษรล้านนาได้ทันที สำหรับผู้ที่สนใจสามารถศึกษา หรือดาวน์โหลดวิธีการพิมพ์อักษรธรรมล้านนา และดาวน์โหลด Font LN-TILOK Version 1.3 สำหรับคอมพิวเตอร์ ได้ที่ http://art-culture.chiangmai.ac.th โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 0-5394-3627

ที่มา: dailynews

ภาษาอังกฤษเชิงวิทยาศาสตร์ฯ


เรียนออนไลน์ “ภาษาอังกฤษเชิงวิทยาศาสตร์ฯ” ปฐมนิเทศ พ.ย.นี้ ทีเอ็มซีเปิดเรียนออนไลน์อีกหลักสูตร “ภาษาอังกฤษเชิงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” หวังอัพเกรดความสามารถภาษาอังกฤษให้ผู้อยู่ในแวดวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หวังขจัดปัญหาฟัง – อ่าน – เขียน ภาษาอังกฤษไม่ได้ ระบุจะมีปฐมนิเทศ 18 พ.ย.นี้

ถือได้ว่าเป็นหน่วยงานหนึ่งในบ้านเรา ที่มีการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีผ่านสื่อทันสมัยอย่าง “อินเตอร์เน็ต” ไม่ขาดสาย ล่าสุด สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (ทีเอ็มซี) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ก็ได้เปิดตัวอีกหนึ่งหลักสูตรออกไลน์อีกหลักสูตรแล้วในหัวข้อ “ภาษาอังกฤษเชิงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” (English for Science and Technology)

จุดประสงค์ของหลักสูตรดังกล่าว จัดขึ้นเพื่อให้นักวิจัย ครู อาจารย์ นิสิต นักศึกษา และสื่อมวลชนในแวดวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนผู้สนใจทั่วไป สมัครเรียนเพื่อฝึกทักษะภาษาอังกฤษ และเปิดประตูสู่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งผู้เรียนจะสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาและสถานที่

ทั้งนี้ หลักสูตรดังกล่าวจะเน้นเสริมสร้างความสามารถการฟัง อ่าน และเขียนภาษาอังกฤษในระดับกลางในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อาทิ เทคนิคการอ่านสำรวจ อ่านกวาด การเดาความหมายจากบริบท การฟังจับใจความสำคัญ การเขียนบรรยายเหตุการณ์ การแสดงความคิดเห็น ฯลฯ ซึ่งผู้เรียนสามารถใช้ทักษะเหล่านี้ รวมทั้งการใช้คำศัพท์ และโครงสร้างประโยคเพื่อสื่อสารทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระดับทั่วไปได้ ตลอดจนใช้เว็บไซต์ภาษาอังกฤษได้อย่างต่อเนื่อง ไม่มีอุปสรรคด้านภาษา เพื่อการค้นหาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอินเทอร์เน็ตอย่างไม่มีข้อจำกัด

ด้านการเรียนการสอนจะใช้ระยะเวลาเรียน 3 เดือน เริ่มตั้งแต่วันเสาร์ที่ 18 พ.ย. 2549 ซึ่งเป็นวันปฐมนิเทศ โดยผู้เรียนสามารถทำกิจกรรมผ่านทางเว็บไซต์ และใช้เวลาฝึกฝนเพิ่มเติมด้วยตัวเองในแต่ละบทเรียน มีการติดต่อระหว่างผู้เรียนและผู้สอน หรือผู้เรียนกับผู้เรียนเพื่อศึกษาประเด็นปัญหาผ่านกระดานสนทนา ตลอดจนการส่งการบ้านให้ผู้สอนตรวจเป็นครั้งคราว โดยมีคณาจารย์ผู้สอนที่มีคุณวุฒิ และประสบการณ์สูงจาก ม.เชียงใหม่ ม.มหิดล และ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นผู้พัฒนาบทเรียนและผู้สอน

สำหรับผู้ ผู้สนใจสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 0-2564-7000 ต่อ1422-1426 หรืออีเมล LearnOnline@learn.in.th เปิดรับสมัครแล้วตั้งแต่บัดนี้จนเต็มจำนวน โดยจะรับเพียง 80 คน ในอัตราค่าลงทะเบียน 1,800 บาท


ที่มา: http://www.manageronline.co.th/

นักข่าววิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์

นักข่าวรุ่นเยาว์เผยข่าววิทย์ในฝันต้อง "อ่านง่าย โดนใจ ใกล้ตัว"

ค่ายนักข่าววิทย์รุ่นเยาว์ จับนักเรียนพลิกบทเป็นผู้ผลิตสารเองบ้าง สมาชิกนักข่าวน้อยเผยข่าววิทย์ในฝันต้องเข้าถึงวัยรุ่น ใกล้ตัว เน้นภาพและสีสัน เปลี่ยนเรื่องยากๆ ทางวิชาการให้เข้าใจง่ายด้วยภาษาที่เป็นกันเอง ใช้คำวัยรุ่นและนำเกมมาเรียกร้องความสนใจ ติงหนังสือพิมพ์ปัจจุบันยังนำเสนอข่าววิทย์น้อย แถมซ่อนไว้หน้าหลังๆ

ตามแนวทางการพัฒนาหลักของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ที่จะเป็นผู้ผลักดันให้เกิดการสร้างสรรค์ปัจจัยทางปัญญาให้เกิดแก่สังคมไทยอย่างยั่งยืน นโยบายการสร้างความตระหนักทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ได้รับการปฏิบัติกันมาอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นที่ทราบกันดีว่ากิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์ก็เป็นหนึ่งในกิจกรรมการสร้างความตระหนักฯ ได้เช่นกัน

ระหว่างวันที่ 27-29 ต.ค.ที่ผ่านมา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ร่วมกับ บริติช เคานซิล ประเทศไทย และหนังสือพิมพ์ เนชั่น จูเนียร์ ได้จัดกิจกรรมค่าย “นักข่าววิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์” ขึ้น ณ อพวช. อ.คลอง 5 จ.ปทุมธานี มีนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่ผ่านการคัดเลือกแล้วในโครงการจัดทำหนังสือพิมพ์ 2 ภาษา (ไทย-อังกฤษ) เพื่อสร้างความตระหนักเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก จาก 5 โรงเรียน รวม 24 ชีวิตเข้าร่วมกิจกรรม

หลังจากน้องๆ ได้เข้าอบรมวิธีการเขียนข่าว ทักษะการใช้ภาษา และขั้นตอนการจัดทำหนังสือพิมพ์ จากนักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ และนักข่าวมืออาชีพแล้ว เยาวชนค่ายยังได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนมุมมองและความคิดเห็นถึงข่าววิทยาศาสตร์ที่โดนใจวัยรุ่นว่า ต้องเป็นหนังสือพิมพ์ที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายคือวัยรุ่นอย่างแท้จริง

3 หนุ่ม ชั้นม.6 โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน คือ นายเพชร อรรถบุรานนท์ นายณทัต ลิลิตสุวรรณ และนายสรวิช สนธิจิรวงศ์ มองว่า นอกจากประเด็นสำคัญข้างต้นแล้วยังต้องเน้นการนำเสนอข่าววิทยาศาสตร์ที่มีความใกล้ตัว สนุก และน่าสนใจ เหมาะกับผู้มีรสนิยมต่างๆ กันให้มากขึ้น เช่น การนำเสนอเทคโนโลยีที่ช่วยการตัดสินในกีฬาเทนนิสสำหรับคนที่ชอบดูการแข่งขันเทนนิส เป็นต้น

3 หนุ่มจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนยังบอกด้วยว่า การนำเสนอข่าววิทยาศาสตร์ยังควรมีข่าวแปลกๆ ใหม่ๆ เช่นข่าวหลุดโลกที่เรียกร้องความสนใจได้ดี การใช้ภาษาต้องใช้ภาษาที่มีสีสัน เปลี่ยนเรื่องทางวิชาการให้สนุกสนาน ไม่ใช้ภาษาวิชาการ เน้นการพาดหัวข่าวแปลกๆ แรงๆ จากปัจจุบันที่ยังมองว่าการนำเสนอข่าววิทยาศาสตร์ควรต้องทำให้น่าสนใจมากขึ้น ไม่นำเสนอแต่คำพูดเพราะไม่น่าสนใจ และควรนำเสนอข่าววิทยาศาสตร์ให้บ่อยขึ้นเพื่อเน้นย้ำให้เกิดความตระหนักฯ ตลอดจนถึงการไม่นำข่าววิทยาศาสตร์ไปแอบไว้หน้าหลังๆ ของหนังสือพิมพ์ แต่ควรชูขึ้นหน้าหลักบ้าง

ด้าน 4 สาวชั้น ม.5 จากโรงเรียนเซนต์ฟรังค์ ซิสซาเวียคอนแวนต์ จ.นนทบุรu น.ส.อาภา ศรีสุวรรณ, น.ส.พรชีรา จรัสกำจรกูล, น.ส.วราภรณ์ ศรีสุวรรณ, และ น.ส.สิริลักษณ์ คงขันธ์ มองว่า ในการนำเสนอข่าววิทยาศาสตร์สู่วัยรุ่นยังต้องเน้นการใช้สีสันและเน้นภาพให้มากขึ้น เนื้อหาข่าวควรเป็นเนื้อหาที่ค่อนข้างเบา มีความเกี่ยวข้องกับผู้อ่านมากๆ ใช้ภาษาเป็นกันเอง มีการใช้ศัพท์วัยรุ่นใหม่ๆ นำภาพการ์ตูนหรือมีมุกตลก มาสอดแทรก หรือแม้แต่การสื่อสารผ่านเกมก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่น่าสนใจ
น่าสนใจ

ขณะที่ฝ่ายจัดค่ายอย่าง นางกรรณิการ์ เฉิน กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของงานค่ายครั้งนี้ว่า การจัดค่ายครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการดึงเยาวชนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายได้ตระหนักถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ขณะเดียวกันก็เป็นการปล่อยให้เขาได้พลิกบทบาทจากการเป็นผู้เสพข่าววิทยาศาสตร์ กลับมาเป็นผู้ผลิตข่าววิทยาศาสตร์ หรือผู้สื่อสารวิทยาศาสตร์สู่สังคมเองบ้าง เพื่อให้ทราบแนวทางการนำเสนอข่าวที่วัยรุ่นต้องการเสพต่อไป

นอกจากน้องๆ ที่ร่วมค่ายจะได้ฝึกฝนการเสนอข่าวแล้ว ผู้จัดได้ยกหัวข้อเครียดๆ อย่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาเล่น ทว่าเยาวชนค่ายก็สามารถจะหาวิธีการนำเสนอที่น่าสนใจ ใกล้ตัว และเหมาะกับวัยรุ่นมากจนเราคาดไม่ถึง เช่น การเปลี่ยนข้อมูลยากๆ อย่างเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกให้อยู่ในรูปของเกม โดยเชื่ออีกว่าประสบการณ์และทักษะต่างๆ ที่เยาวชนค่ายได้รับไปจากค่ายนี้ก็ยังจะสามารถนำไปในชีวิตประจำวันหรือในการทำงานได้ด้วย

ส่วน นายธนากร พละชัย รอง ผอ.อพวช. พูดถึงการสื่อสารวิทยาศาสตร์แก่สังคมไทยว่า มีอยู่ 2 ส่วนหลักๆ ที่ต้องคำนึงถึง ประการแรกคือ วิทยาศาสตร์ในมุมมองของคนทั่วไปที่ยังมองวิทยาศาสตร์และนักวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องไกลตัวอยู่มาก บ้างก็มองไปในแง่ดี ด้านกลับกันก็มีผู้มองแง่ร้ายไปเลย เช่นประเด็นเรื่องพืชดัดแปลงพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) พลังงาน รังสีและนิวเคลียร์ ฯลฯ ที่อาจมีทั้งแง่ดีและแง่ร้าย เพราะแม้แต่นักศึกษาที่เรียนจบด้านวิทยาศาสตร์มาโดยตรงก็ยังอาจใช้ชีวิตไม่สอดคล้องกับสิ่งที่เรียนมาก็ได้ เนื่องจากเขาได้รับมาเฉพาะตัวความรู้แต่ไม่ได้รับการปลูกฝังกระบวนการคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ด้วย

ส่วนประการต่อมาคือการสื่อสารวิทยาศาสตร์ มีประเด็นหลักคือ เราจะต้องรู้จักกลุ่มเป้าหมายของเราที่เราต้องการสื่อสารด้วยอย่างชัดเจน ยิ่งในอนาคตที่สินค้าต่างๆ จะต้องมีความจำเพาะเป็นรายกลุ่มมากขึ้นแล้ว การนำเสนอข่าวสารด้านวิทยาศาสตร์ก็เช่นเดียวกัน ดังจะเห็นในปัจจุบันที่หนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ ก็จะมีการจัดทำหน้าเฉพาะด้านขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้รับสารแต่ละกลุ่มเป็นการเฉพาะ เช่น หน้าการศึกษา และหน้าเยาวชน

ทั้งนี้ หน้าที่ของผู้สื่อสารวิทยาศาสตร์จะต้องเป็นผู้ที่ส่งสารไปยังผู้อ่านได้ตรงตามที่ตัวเองต้องการ เพราะธรรมชาติของมนุษย์ แม้จะมองเรื่องในเดียวกันก็ยังอาจจะเห็นแตกต่างกับคนอื่นได้ ผู้สื่อสารจึงต้องทำให้เขาได้มองเห็นในสิ่งที่เราต้องการนำเสนอ หรือใจความสำคัญให้ตรงกันเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ ผู้สื่อสารวิทยาศาสตร์จึงต้องทำความเข้าใจกลุ่มเป้าหมายอย่างแจ่มแจ้งทั้งในเรื่องความเชื่อ นิสัย และพฤติกรรม เพื่อนำไปสู่กระบวนทัศน์การสื่อสารที่เหมาะสมกับผู้รับสารแต่ละกลุ่ม โดยเฉพาะการนำเสนอข่าววิทยาศาสตร์ที่ต้องเข้าถึงทั้งเยาวชน ผู้ปกครอง และครูอาจารย์ ซึ่งการสื่อสารถูกระดับจะทำให้เราได้ผลสำเร็จ ไม่สิ้นเปลืองทรัพยากรโดยเปล่าประโยชน์

“การสื่อสารวิทยาศาสตร์จะต้องทำคู่ขนานกันไปทั้ง 2 ด้าน คือด้านการวิจัยพัฒนาจนได้สิทธิบัตรหรือทรัพย์สินทางปัญญาเป็นเรื่องหนึ่ง ส่วนอีกแนวทางคือการทำให้คนในสังคมได้ตระหนักถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์ จะไปเน้นแค่ด้านใดด้านหนึ่งไม่ได้” รองผอ.อพวช.กล่าว

ที่มา : http://www.manageronline.co.th/

มช.พัฒนาหุ่นยนต์นาโน

มช.พัฒนาหุ่นยนต์นาโนตรวจร่างกายใช้เซรามิกพิเศษเป็นมอเตอร์ติดกล้องส่องหาโรค

ทีมวิจัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่พัฒนาเซรามิกชนิดพิเศษสามารถยืดหดตัวและเคลื่อนที่ได้ด้วยแรงกล มีขนาดเล็กจิ๋วกว่าเส้นผมหลายเท่า ปูทางพัฒนาเป็นหุ่นยนต์จิ๋วใช้งานด้านการแพทย์ทำหน้าที่วินิจฉัย และตรวจอวัยวะภายในแบบไร้สายได้อย่างแม่นยำ

นักวิจัยจากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งได้แก่ รศ.ดร.สุพล อนันตาสุพล และ ผศ.ดร.รัตติกร ยิ้มนิรัญ ร่วมกันศึกษาคุณสมบัติพิเศษของเซรามิกขนาดเล็กระดับนาโนเมตร (1/1,000 ล้านเมตร) จากสารเพียร์โซเซรามิก ซึ่งอยู่ในกลุ่มเซรามิกชั้นสูง พบว่าเมื่อวัสดุกดังกล่าวถูกกระตุ้นจะเกิดการตอบสนอง โดยเซรามิกมีการยืดหดตัวได้ หรือเมื่อถูกกระตุ้นด้วยแรงกล เซรามิกจะจดจำแรงกระตุ้นและส่งแรงตอบสนองออกมาให้เห็น นักวิจัยเรียวัสดุดังกล่าวว่าเป็นเซรามิกฉลาด

ภายหลังจากค้นพบเซรามิกชนิดพิเศษดังกล่าวแล้ว ทีมวิจัยซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มั่นใจว่าจะสามารถพัฒนาหุ่นยนต์จิ๋วจากวัสดุดังกล่าวได้ โดยประดิษฐ์เป็นมอเตอร์ควบคุมการขับเคลื่อนของหุ่นยนต์ในระดับนาโน ซึ่งช่วยให้หุ่นยนต์สามารถเคลื่อนที่ได้ด้วยตัวเอง และส่งข้อมูลผ่านสายเคเบิลหรือคลื่นความถี่สูงเพื่อแสดงผลภาพและการรักษามายังจอมอนิเตอร์ภายนอก

ในส่วนของการควบคุมหรือบังคับหุ่นยนต์ให้เคลื่อนที่ไปยังทิศทางที่ต้องการนั้น สามารถทำได้โดยอาศัยกระแสไฟฟ้ากระตุ้น หรือสัญญาณไมโครเวฟจากภายนอก ซึ่งนอกจากหุ่นยนต์จะเคลื่อนที่ไปยังบริเวณตรวจวินิจฉัยอวัยวะที่ผิดปกติภายในร่างกายแล้ว ยังสามารถบอกตำแหน่งเนื้อร้ายที่เกิดขึ้นได้ด้วย

นักวิจัย กล่าวต่อว่า การที่มีหุ่นยนต์จิ๋วเข้ามาช่วยในการผ่าตัดนั้น จะทำให้การวินิจฉัยและรักษาของแพทย์ทำได้อย่างแม่นยำและรวดเร็วขึ้น ตลอดจนผู้เข้ารับการรักษาไม่ต้องเจ็บปวด ขณะรักษาหรือภายหลังการรักษา โดยปัจจุบันเซรามิกชนิดพิเศษได้พัฒนาเพื่อใช้งานจริงบ้างแล้ว อาทิ ส่วนประกอบของเครื่องอัลตราซาวนด์ เครื่องตรวจภายในโดยไม่ต้องผ่าตัด เป็นต้น

ที่มา : komchadluek

Saturday, October 28, 2006

ดาวเทียมบันทึกภาพดวงอาทิตย์ 3 มิติ

นาซาส่งดาวเทียมบันทึกภาพดวงอาทิตย์ 3 มิติ28 Octorber 2006

เอเจนซี/บีบีซีนิวส์ - นาซาส่ง "สเตอริโอ" ดาวเทียมคู่แฝดออกเดินทางบันทึกภาพการปะทุของดวงอาทิตย์เคลื่อนไหวแบบ 3 มิติเป็นครั้งแรก จับตาการระเบิดและทิศทางของลมสุริยะ หวังพยากรณ์สภาพภูมิอวกาศได้อย่างแม่นยำ ลดความเสี่ยงการเดินทางและทำกิจกรรมในอวกาศ

องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) เตรียมการศึกษาดวงอาทิตย์ในลักษณะสามมิติเป็นครั้งแรก ด้วยการส่งดาวเทียมแฝด 2 ดวงขึ้นไปโคจรตรงข้ามกัน เพื่อเฝ้าติดตามดวงอาทิตย์จาก 2 มุมมองนอกวงโคจรของโลก ในชื่อภารกิจหอสังเกตการณ์ความสัมพันธ์ดวงอาทิตย์กับโลก หรือ "สเตอริโอ" (STEREO : Solar Terrestrial Relations Observatory) โดยจะเห็นภาพและอิทธิพลของดวงอาทิตย์ในลักษณะ 3 มิติ จากดาวเทียมแฝดนอกวงโคจรของโลก ภาพจากหอดูดาวบนโลก และภาพจากวงโคจรระดับต่ำ

โครงการ "สเตอริโอ" มูลค่า 550 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นำส่งด้วยจรวดเดลต้าทู (Delta II) ขึ้นจากแหลมคานาเวอรัล ในรัฐฟลอริดาตามเวลาประเทศไทย เมื่อวันที่ 26 ต.ค. เวลา 07.38 น. และมีกำหนดการทำงานอยู่บนอวกาศนาน 2 ปี ซึ่งจะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถพยากรณ์สภาพอวกาศได้แม่นยำยิ่งขึ้น ว่าการเกิดการปะทุของดวงอาทิตย์แต่ละครั้งจะมีผลต่อโลกอย่างไร

การปะทุของดวงอาทิตย์ (solar flares) แต่ละครั้งนั้น ดวงอาทิตย์จะปลดปล่อยมวลจากบรรยากาศชั้นโคโรนา (corona) นับพันๆ ล้านตันกระจายสู่อวกาศด้วยความเร็วประมาณ 400 กิโลเมตรต่อวินาที สังเกตได้จาก "แสงเหนือ" (aurora borealis) ที่เห็นได้บริเวณขั้วโลกเหนือ ซึ่งการปะทุอาจรุนแรงถึงขั้นทำลายดาวเทียมหรือนักบินอวกาศที่ประจำการอยู่ด้านนอกจะได้รับรังสีมากกว่าปกติจนเกิดอันตรายได้ รวมถึงอาจเกิดพายุแม่เหล็กรบกวนการส่งกระแสไฟฟ้าและการสื่อสารในโลก

นาซาระบุว่า ภารกิจสเตอริโอนี้มีเอกลักษณ์โดดเด่นเพราะจะเห็นความสัมพันธ์ทั้งหมดในมุมกว้างของดวงอาทิตย์และโลกที่อยู่ห่างกันถึง 150 ล้านกิโลเมตร และจะเป็นครั้งแรกที่สามารถตรวจสอบภาพที่เห็นผ่านอุปกรณ์อื่นในภารกิจเดียวกัน โดยสามารถบันทึกเป็นภาพเคลื่อนไหว 3 มิติได้ ขณะที่โครงการโซโห (SOHO : The Solar and Holiospheric Observatory) ที่ขึ้นไปเมื่อปี 2538 ไม่สามารถระบุทิศทางของมวลจากดวงอาทิตย์ได้อย่างโครงการสเตอริโอ

ที่มา : manageronline

Friday, October 27, 2006

นาซาศึกษาดวงอาทิตย์แบบ 3 มิติ

นาซาศึกษาดวงอาทิตย์แบบ 3 มิติ ส่งดาวเทียม 2 ดวงโคจรตรงข้ามกัน

องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ ของสหรัฐฯ (นาซา) จะศึกษาดวงอาทิตย์ในลักษณะ 3 มิติเป็นครั้งแรก ด้วยการส่งดาวเทียม 2 ดวงขึ้นไปโคจรตรงข้ามกัน เฝ้าติดตามดวงอาทิตย์จาก 2 มุมมองนอกวงโคจรของโลก

ภารกิจหอสังเกตการณ์ความสัมพันธ์ดวงอาทิตย์กับโลก หรือสเตอริโอ มีกำหนด 2 ปี จะเห็นภาพและอิทธิพลของดวงอาทิตย์ในลักษณะ 3 มิติ ประกอบด้วยภาพจากดาวเทียมแฝดนอกวงโคจรของโลก ภาพจากหอดูดาวบนโลก และภาพจากวงโคจรระดับต่ำ นาซาจะเปิดตัวหอสังเกตการณ์ สเตอริโอด้วยการส่งจรวดโบอิ้งขึ้นจากสถานีกองทัพอากาศแหลมคานาเวอรัล รัฐฟลอริดา นักอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์ว่า สภาพอากาศจะเป็นใจให้แก่การปล่อยจรวดเป็นเวลา 15 นาทีในเวลา 20.38 น. วันพุธตามเวลาสหรัฐฯ ตรงกับเวลา 07.38 น. วันพฤหัสบดีตามเวลาในไทย

องค์การนาซาระบุว่า ภารกิจนี้มีเอกลักษณ์โดดเด่นเพราะจะเห็น ความสัมพันธ์ทั้งหมดในมุมกว้างของดวงอาทิตย์และโลกที่อยู่ ห่างกันถึง 150 ล้านกิโลเมตร และจะเป็นครั้งแรกที่สามารถตรวจสอบภาพที่เห็นผ่านอุปกรณ์อื่นในภารกิจเดียวกัน นาซาหวังว่า ภารกิจนี้จะช่วยให้เห็นกิจกรรมของดวงอาทิตย์ได้ดีขึ้น เช่น ปรากฏการณ์ ปล่อยก้อนมวลในบรรยากาศชั้นโคโรนา ซึ่งเป็นการปะทุครั้งรุนแรงที่สุดในระบบสุริยะ เป็นปรากฏการณ์ที่เป็นอันตรายต่อสภาพแวดล้อม นักบินอวกาศและยานอวกาศอย่างมาก หากได้ข้อมูลมากขึ้นจะช่วยให้พยากรณ์ ช่วงเวลาการเกิดปรากฏการณ์ได้แม่นยำมากขึ้น เป็นประโยชน์ต่อการกำหนดภารกิจอวกาศ การบินข้ามขั้วโลก การสื่อสารผ่านดาวเทียมและการถ่ายโอนภาพวีดิทัศน์ได้ดีขึ้น

ที่มา : thairath

โทษไร้แสงดาวฤกษ์ส่องมาถึง

โทษไร้แสงดาวฤกษ์ส่องมาถึง อุณหภูมิโลกจึงเพิ่มสูงมากขึ้น

ผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ครั้งใหม่ สงสัยว่า เหตุที่อุณหภูมิบนโลกสูงขึ้น เพราะเหตุว่าโลกไร้แสงของดาวฤกษ์ตกถึงพื้น แต่ยังมีนักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ ยังข้องใจอยู่

เมื่อสักสิบปีมานี้ ได้มีนักวิทยาศาสตร์เคยตั้งทฤษฎีไว้ว่า เมื่อดาวฤกษ์ในทางช้างเผือกที่อยู่ห่างไกลเกิดระเบิดขึ้น จะมีรังสีคอสมิก อันเป็นอนุภาคปรมาณูความเร็วสูง ตกทะลุผ่านชั้นบรรยากาศในโลกลงมา กลายเป็นอิเล็กตรอนอิสระ อิเล็กตรอนเหล่านี้จะเป็นตัวกระตุ้นและเร่งให้เกิดกลุ่มอณูของน้ำกับกรดกำมะถัน อันเป็นเชื้อก่อเมฆขึ้น รังสี คอสมิกจึงเท่ากับช่วยให้เกิดเมฆปกคลุมโลกหนาขึ้น ช่วยสะท้อนแสงแดดกลับออกไป เป็นเหตุให้โลกเย็นโดยเปรียบเทียบ

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสนามแม่เหล็ก ซึ่งหุ้มห่อโลกไม่ให้โดนรังสีเหล่านั้น ได้ทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงศตวรรษที่แล้วขึ้นอีกเท่าตัว อาจเป็นผลทำให้ เกิดเมฆน้อยลง เป็นเหตุให้โลกอุ่นขึ้นได้

นักวิทยาศาสตร์ของศูนย์อวกาศแห่งชาติเดนมาร์ก ได้ลองจำลองปฏิกิริยาเคมีที่เกิดในบรรยากาศชั้นต่ำ ในเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูขนาดใหญ่ โดยสร้างก๊าซผสมของก๊าซหลายชนิด และใช้ดวงโคมอัลตรา-ไวโอเลตแทนดวงอาทิตย์ ทำให้เกิดหยดฝอยน้ำเล็กๆ อันเป็นเชื้อของเมฆที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เริ่มลอยขึ้นในอากาศภายในเครื่องปฏิกรณ์ได้

คณะนักวิจัยเชื่อว่า ยังจำเป็นที่จะต้องศึกษาเพิ่มเติมอีก จึงจะสามารถประเมินกลไกในส่วนที่เป็นฝีมือมนุษย์ ที่เป็นเหตุให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นได้

ที่มา : thairath

ความหวังจาก "ไบโอดีเซล"

ความหวังจาก "ไบโอดีเซล" ทางรอดยุควิกฤติพลังงาน

ดูเหมือนว่าความหวังที่จะพึ่งพาพลังงานจากไบโอดีเซลในยุคที่น้ำมันเชื้อเพลิงแพงนั้นเริ่มมีรูปธรรมมากขึ้น และจะกลายเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายสนใจจริงจังมากขึ้นทุกขณะ

จนล่าสุดประเทศไทยได้มีการพัฒนาโรงงานผลิตไบโอดีเซลในเชิงพาณิชย์ได้แล้ว ที่ชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่ ต.คลองยาว อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ ซึ่งถือว่าเป็นโรงงานต้นแบบการผลิตไบโอดีเซลเชิงพาณิชย์ ก็ประสบผลสำเร็จและได้เปิดดำเนินการแล้วเมื่อวันที่ 18 กันยายน ที่ผ่านมา มีกำลังการผลิตวันละ 1 หมื่นลิตร

ตามแผนพลังงาน 15 ปีของรัฐบาล ตั้งเป้าไว้ว่า ประเทศไทยต้องผลิตไบโอดีเซลวันละ 8.5 ล้านลิตร เพื่อทดแทนพลังงานเชื้อเพลิง จากทั้งหมดที่ประเทศไทยใช้น้ำมันเชื้อเพลิงวันละ 85 ล้านลิตร โดยในปี 2551 จะส่งเสริมให้มีโรงงานผลิตไบโอดีเซลอย่างน้อย 8 โรง ให้เพียงพอสำหรับการผลิตไบโอดีเซล 2 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งเป็นไบโอดีเซลที่มาจากน้ำมันปาล์ม ที่มีต้นทุนการผลิตน้อยกว่าพืชน้ำมันอย่างอื่น รวมถึงสบู่ดำด้วย

นี่เป็นเป้าหมายระดับชาติ แต่หากมองระดับจุลภาคแล้ว กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน ที่รับดำเนินโครงการไบโอดีเซลชุมชน เพื่อบรรเทาผลกระทบราคาน้ำมันให้เกษตรกรและประชาชนระดับรากหญ้า ที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2548 ตอนนี้มีชุมชนต้นแบบแล้ว 2 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนพยัคฆาราม จ.สุพรรณบุรี และชุมชนนาหว้า จ.นครพนม

ในปี 2549 พพ.มีเป้าหมายดำเนินโครงการไบโอดีเซลชุมชนเพิ่มอีก 60 ชุมชน โดยจะคัดเลือกชุมชนที่มีศักยภาพด้านวัตถุดิบ บุคลากรมาเข้าโครงการ และจะสนับสนุนระบบผลิตไบอดีเซลขนาด 100 ลิตรต่อวัน โดย พพ.จะเป็นผู้จัดการเครื่องอุปกรณ์ต่างๆ ให้ กรณีที่ชุมชนใช้วัตถุดิบเป็นเมล็ดสบู่ดำ จะจัดหาเครื่องหีบสบู่ดำให้ด้วย

นอกจากสนับสนุนด้านเครื่องมือแล้ว ก็จะจัดอบรมให้ความรู้ทางด้านเทคนิคการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ขณะที่ชุมชนมีหน้าที่จัดหาสถานที่สำหรับติดตั้งระบบผลิตไบโอดีเซล และเตรียมบุคลากรที่จะดำเนินการผลิต ดูแลรักษา และบริหารจัดการโครงการ
ปัจจุบันชุมชนที่ได้รับการติดตั้งระบบผลิตไปแล้ว 5 ชุมชน และมีชุมชนที่ได้รับการอนุมัติและกำลังดำเนินการอยู่ 40 ชุมชน อาทิ ชุมชนศูนย์การพัฒนาการเกษตรเบ็ดเสร็จจังหวัดนครนายก เป็นชุมชนที่อยู่ในบริเวณพื้นที่ของโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ซึ่งดำเนินงานโดยหน่วยทหาร และจะผลิตไบโอดีเซลจากสบู่ดำ

นอกจากนี้ มีชุมชนท่าตะโก จ.นครสวรรค์ เป็นชุมชนปลูกสบู่ดำเช่นกัน โดยจะมีคณะกรรมการและผู้นำชุมชนแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบชัดเจน ชุมชนเขาหินซ้อน จ.ฉะเชิงเทรา ชุมชนนี้เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน เป็นชุมชนที่ใช้สบู่ดำเป็นวัตถุดิบในการผลิต

สำหรับต้นแบบโครงการไบโอดีเซลชุมชนนั้น ที่ผ่านมาศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นราธิวาส ได้ดำเนินการมานานแล้ว ซึ่ง นายสมพล พันธุ์มณี เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) บอกว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริกับคณะทำงานโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มขนาดเล็กอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2531 ให้ดำเนินการสร้างโรงงานสกัดและแปรรูปน้ำมันปาล์มขนาดเล็ก ขึ้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ เพื่อนำผลผลิตปาล์มน้ำมันจากแปลงทดลองของศูนย์ มาสกัดและแปรรูปเป็นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์

ส่วนหนึ่งเพื่อการบริโภคและแปรรูปในเชิงการศึกษาอย่างครบวงจร เพื่อให้เกษตรกรใน จ.นราธิวาส และจังหวัดใกล้เคียง ได้รู้ถึงการใช้ประโยชน์ของน้ำมันปาล์มในการนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยเริ่มจากการสกัดน้ำมันปาล์มในระดับครัวเรือนก่อน ต่อมาในปี 2543 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชดำริให้ทดลองนำน้ำมันปาล์มมาใช้กับเครื่องจักรกลการเกษตร ซึ่งศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ โดยครั้งแรกใช้กับรถแทรกเตอร์ลากพ่วงที่ใช้งานภายในศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ปรากฏว่าได้ผลดี

ปัจจุบันที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ มีเครื่องแยกกลีเซอรีนเหลว ขนาด 140 ลิตร เพื่อแยกเอากลีเซอรีน ออกจากกรดไขมัน และมีการติดตั้งปั๊มและหัวจ่ายน้ำมันไบโอดีเซลที่โรงผลิตเมทิลเอสเตอร์ สามารถเก็บน้ำมันมีความจุ 1,000 ลิตร รวมต้นทุนการผลิตทั้งหมด 18.526 บาทต่อลิตร โดยใช้ผลปาล์มดิบ 100 กิโลกรัม จะได้น้ำมันไบโอดีเซล ประมาณ 20 ลิตร

ในส่วนของการผลิตไบโอดีเซลเชิงพาณิชย์นั้น นายบรรพต หงษ์ทอง ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า จากสถานการณ์น้ำมันที่แพงขึ้น ภาครัฐจำเป็นต้องกำหนดมาตรการประหยัดพลังงานและจัดหาพลังงานทดแทนน้ำมัน เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนของประชาชนและเกษตรกร จึงมีการสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกปาล์มเพิ่มขึ้นเพื่อผลิตไบโอดีเซล ทั้งรูปแบบของเชิงพาณิชย์ ซึ่งขณะนี้ที่ จ.กระบี่ ได้ดำเนินการว่าจ้างมหาวิทยาลัยสงขลา นครินท์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จ.สงขลา โดยใช้งบประมาณผู้ว่าฯ ซีอีโอ 18.5 ล้านบาท

ล่าสุดการพัฒนาโรงงานต้นแบบการผลิตไบโอดีเซลเสร็จเรียบร้อยแล้ว มีกำลังการผลิต 1 หมื่นลิตรต่อวัน และจังหวัดกระบี่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงใช้ตามพระราชอัธยาศัย เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสทรงครองราชย์ครบ 60 ปีด้วย

หากทุกฝ่ายให้ความร่วมมือและหันมาพัฒนาผลิตไบโอดีเซลอย่างจริงจัง เชื่อว่าอนาคตประเทศไทยจะประหยัดเงินได้อย่างมหาศาล

ที่มา : komchadluek

เสื้อกีฬา “แกรนด์นาโน”

เอเชียนเกมส์ครั้งนี้ ทีมชาติไทยสวมเสื้อกีฬา “แกรนด์นาโน” ลงสนาม

จากงานวิจัยในห้องแล็บ “เสื้อกีฬาแกรนด์นาโน” พร้อมสู้ศึกเอเชียนเกมส์พร้อมกับนักกีฬาทีมชาติไทยแล้ว นาโนเทคเผยความสำเร็จสู่การตลาดของเสื้อนาโนทำให้เตรียมดันสมุนไพรนาโนสู่เครื่องสำอางประทินผิว ด้าน “แกรนด์สปอร์ต” เปิดใจกว่าจะเป็นเสื้อนาโนต้องผ่านการทดสอบหลายครั้ง พร้อมวางขายเดือนหน้า

หลังจากผ่านการลงนามความร่วมมือในการนำวิทยาการด้านนาโนเทคโนโลยีมาใช้ปรับปรุงการผลิตเสื้อผ้าชุดกีฬา เมื่อช่วงต้นปี (5 ม.ค.) ระหว่าง บริษัท แกรนด์สปอร์ต กรุ๊ป จำกัด และศูนย์นาโนเทคโนโลยี (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในที่สุดวันนี้ (27 ต.ค.) ก็ได้มีการเปิดตัวชุดกีฬาแกรนด์นาโน (Grand Nano) ซึ่งใช้สารซิงค์ออกไซด์ (ZnO) เป็นสารดับกลิ่นและฆ่าเชื้อโรคให้กับเสื้อผ้าขณะสวมใส่ โดยชุดดังกล่าวได้มอบให้กับนักกีฬาทีมชาติไทยที่จะไปแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 15 ณ นครโดฮา ประเทศกาตาร์ ระหว่างวันที่ 1-15 ธ.ค.นี้

ดร.วิวัฒน์ ตัณฑะพานิชกุล ผู้อำนวยการนาโนเทค กล่าวว่า ชุดกีฬาแกรนด์นาโนเป็นความร่วมมือระหว่างนาโนเทคและแกรนด์สปอร์ตนี้ ได้เคลือบสาร 2 ชั้น โดยชั้นนอกของเสื้อผ้าจะเคลือบสารกันน้ำ ส่วนชั้นในจะเคลือบซิงค์ออกไซด์เพื่อช่วยดับกลิ่นและฆ่าเชื้อโรค และเผยว่าหลังจากนี้จะได้ผลักดันให้มีการใช้นาโนเทคโนโลยีกับอุตสาหกรรมมากขึ้น โดยมีการวิจัยใช้สมุนไพรประทินผิวในเครื่องสำอาง ซึ่งเริ่มมาได้ปีเศษๆ และใกล้สำเร็จแล้ว รอเพียงภาคเอกชนนำไปต่อยอดใช้ประโยชน์

ด้าน ดร.ธีระชัย พรสินศิริรักษ์ รองผู้อำนวยการนาโนเทค กล่าวว่าในขั้นตอนการพัฒนาเสื้อผ้านาโนนั้น ได้มีการทดสอบคุณสมบัติกันน้ำ กันเปื้อนและคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อโรคตามมาตรฐานสากล โดยทดสอบว่าซักกี่ครั้งจะมีคุณสมบัติต่างๆ คงอยู่กี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งผลจากการทดสอบพบว่าซักเสื้อผ้าได้ 30 ครั้ง สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ 90% หรือมีเชื้อโรคคงอยู่ 10% ทั้งนี้ถือว่าไม่น้อยเกินไป เพราะใกล้เคียงกับอายุการใช้งานของเสื้อผ้าที่เปลี่ยนไปตามแฟชั่น อีกทั้งปกติเสื้อแจ็กเก็ตมักจะซักไม่บ่อยอยู่แล้ว

ส่วน นางสาวสุชาดา นิมากร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แกรนด์สปอร์ต กรุ๊ป จำกัด เปิดเผยว่าใช้เวลา 1 ปี 5 เดือนในการพัฒนาให้ได้เสื้อผ้านาโน และใช้เงินลงทุนไป 2-3 ล้านบาท โดยหลังจากลงนามความร่วมมือกับนาโนเทคแล้ว หลังจากนั้น 5 เดือนก็ยังไม่ได้อะไรออกมาเป็นชิ้นเป็นอัน เนื่องจากต้องผ่านการทดสอบหลายครั้งกว่าจะได้เป็นเสื้อนาโน และได้เลื่อนการเปิดตัวมาแล้วครั้ง โดยคาดว่าจะเปิดตัวในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ที่ผ่านมาแต่ก็ไม่ทัน นอกจากนี้ยังกล่าวอีกว่าสามารถนำนาโนเทคโนโลยีไปใช้ได้กับทุกสินค้า แต่ที่ต้องการมากที่สุดในเมืองไทยคือเสื้อผ้า ทั้งนี้พร้อมกับร่วมงานกับนาโนเทคในโอกาสต่อไป

ขณะที่นักกีฬาซึ่งได้รับการสนับสนุนเสื้อแกรนด์นาโนเพื่อใช้ในการแข่งขันเอเชียนเกมส์อย่าง สืบศักดิ์ ผันสืบ นักตะกร้อชื่อดังกล่าวว่า เสื้อนาโนเป็นนวัตกรรมที่ทันสมัย เป็นสิ่งที่ดี อีกทั้งยังเป็นกำลังใจให้กับนักกีฬาด้วย เพราะเมื่ออยู่ท่ามกลางการแข่งขันกับนักกีฬามากๆ ชุดกีฬาที่สวยและมีคุณภาพดีก็เป็นกำลังใจให้นักกีฬาได้ ส่วนเสื้อผ้าธรรมดาที่เคยสวมใส่นั้นเมื่อใส่แล้วมีเหงื่อเยอะ ทำให้เสื้อหนัก และไม่สบายตัวเวลาแข่ง

พร้อมกันนี้ ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่าในด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ นาโนเทคโนโลยีมีความสำคัญต่อการผลิต และการผลิตเสื้อผ้านาโนออกสู่ตลาดครั้งนี้ก็เป็นการพัฒนานาโนเทคโนโลยี คือสามารถนำงานวิจัยมาประยุกต์ใช้กับโลกอุตสาหกรรมตามความเป็นจริงได้ นอกจากนี้นาโนเทคโนโลยียังนำไปใช้กับอุปกรณ์กีฬาอย่างอื่นได้อีก อาทิ ไม้กอล์ฟ ลูกกอล์ฟ นาโนชิปตรวจหาสารต้องห้ามในนักกีฬา เป็นต้น

สำหรับชุดกีฬาแกรนด์นาโนนี้ประกอบไปด้วย เสื้อแจ็กเกต แทร็คสูท เสื้อโปโล หมวก และชุดแข่งขัน ซึ่งคุณสมบัติส่วนใหญ่ยับยั้งแบคทีเรีย ดับกลิ่น และป้องกันแสงยูวี ในส่วนของชุดแข่งขันนั้นตัดเย็บด้วยผ้าไมโครไลต์ ที่รู้จักกันดีในวงการกีฬา มีน้ำหนักเบา นุ่ม เบาสบาย ซึมซับง่าย ระบายเหงื่อเร็ว ทั้งนี้ทางแกรนด์สปอร์ตพร้อมจะผลิตออกวางจำหน่ายในเดือน พ.ย.นี้

ที่มา : manageonline

Thursday, October 12, 2006

"ดิสคัฟเวอรี" บินเที่ยวกลางคืน

"ดิสคัฟเวอรี" บินเที่ยวกลางคืนครั้งแรกในรอบ 4 ปี
เอเจนซี/เอพี - นาซาทดลองปล่อยยานช่วงกลางคืนสำเร็จไปหนึ่งเปราะ นักบินอวกาศทั้งเจ็ดพร้อมกระสวยอวกาศดิสคัฟเวอรีเดินทางสู่ห้วงอวกาศแล้ว โดยมีภารกิจหลักในการปรับปรุงระบบสายสัญญาณและต่อเติมห้องปฏิบัติการบนสถานีอวกาศนานาชาติ

ยานอวกาศดิสคัฟเวอรี (Discovery) ได้ออกเดินทางจากศูนย์อวกาศเคนนาดี (Kennedy Space Center : KSC) แหลมคานาเวอรัล รัฐฟลอริดา สหรัฐฯ แล้ว เมื่อเวลา 20.47 น. ของวันที่ 9 ธ.ค.ตามเวลาท้องถิ่น หรือตรงกับเวลา 08.47 น.ของวันที่ 10 ธ.ค. โดยมีกำหนดการเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศนานาชาติในเวลา 05.05 น.วันที่ 12 ธ.ค.

นับเป็นการปล่อยตัวยานเที่ยวกลางคืนครั้งแรกในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา โดยเที่ยวบินกลางคืนล่าสุดคือการเดินทางของยานเอนโดเวอร์ (Endeavour) ในเดือนพฤศจิกายน 2545 และนับเป็นการปล่อยตัวหลังพระอาทิตย์ตกครั้งที่ 29 ในบรรดาเที่ยวบินทั้งหมด 117 เที่ยวที่เดินทางออกนอกโลกขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา)

ทว่าการปล่อยตัวในช่วงกลางคืนของดิสคัฟเวอรีครั้งนี้จำเป็นต้องเลื่อนจากกำหนดการเดิมเมื่อวันที่ 8 เนื่องจากประสบปัญหาด้านสภาวะอากาศ และเมื่อยานอวกาศรุ่นลายครามของนาซาทะยานออกสู่อวกาศได้สำเร็จ ไมเคิล กริฟฟิน นายใหญ่ นาซา กล่าวทันทีว่า เป็นความสำเร็จและช่างท้าทายอย่างยิ่ง ก็เพราะการปล่อยตัวในช่วงกลางคืนนั้น ผู้ควบคุมที่ภาคพื้นดินไม่สามารถสังเกตข้อผิดพลาดหรือร่องรอยความเสียหายของยานได้ในทันทีทันใด

เมื่อยานทะลุผ่านชั้นบรรยากาศของโลกไปแล้ว มาร์ก โพลานสกี (Mark Polansky) ผู้บังคับการยานรายงานกลับมายังภาคพื้นดินว่า ยังไม่พบร่องรอยความเสียหายของยานระหว่างการเดินทาง นับเป็นสัญญาณที่ดี ทว่าฝ่ายวิศวกรภาคพื้นดินก็ยังคงเฝ้าดูภาพและสัญญาณเรดาร์ที่ใช้ตรวจสอบตัวยานว่ามีความเสียหายจากเศษโฟมที่หลุดออกจากถังเชื้อเพลิงด้านนอกอย่างที่เคยๆ เป็นมาบ้างหรือไม่

สำหรับภารกิจของนักบินดิสคัฟเวอรีตลอดระยะเวลา 12 วัน ประกอบด้วย การวางระบบสายสัญญาของสถานีอวกาศนานาชาติใหม่ ติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติมมูลค่ากว่า 11 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 391 ล้านบาท) แก่ห้องปฏิบัติการทดลองของสถานีอวกาศ รวมทั้งนำนักบินอวกาศชาวเยอรมันขององค์การอวกาศยุโรป (European Space Agency : ESA) กลับสู่โลก และส่งสุนิตา วิลเลียมส์ (Sunita Williams) นักบินอวกาศเชื้อสายอินเดีย-อเมริกันเข้าประจำการแทนอีกเวลา 6 เดือน

อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ของนาซาต่างโล่งใจที่สามารถปล่อยยานขึ้นสู่ห้วงอวกาศทันกำหนดการเดินทางกลับสู่โลกก่อนวันขึ้นปีใหม่ ทั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาทางเทคนิคของคอมพิวเตอร์บนกระสวยอวกาศ เนื่องจากคอมพิวเตอร์ที่ใช้อยู่ขณะนี้ไม่ได้รับการออกแบบให้สามารถปรับวันที่จากวันสิ้นปีเป็นวันขึ้นปีใหม่โดยอัตโนมัติระหว่างกำลังเดินทา

ที่มา manageronline

Wednesday, October 11, 2006

ออสซี่พัฒนาสมองกลสื่อสาร

ออสซี่พัฒนาสมองกลสื่อสารกับมนุษย์คิดอ่านและสนทนาตอบโต้กับคนหลายประเภท

คอมพิวเตอร์โฉมใหม่แปลงโฉมจากหน้าจอสัมผัส เมาส์ คีย์บอร์ดใหม่แบบเดิมๆ มาเป็นหัวตัวการ์ตูนที่สามารถคิดและพูดตอบโต้ได้เหมือนคน ตั้งเป้าอีก 10 ปีข้างหน้าใช้เป็นรูปแบบใหม่ในการสื่อสารระหว่างคนกับคอมพิวเตอร์ เชื่อว่าคุยกันรู้เรื่องขึ้น เหมาะสำหรับใช้จองตั๋วหนัง ถอนเงินจากแบงก์

เดนิส เบิร์นแฮม ผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการวิจัยโสตศึกษา มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น ซิดนีย์ กล่าวว่า ทุกวันนี้คนใช้คีย์บอร์ดและเมาส์สำหรับสื่อสารกับคอมพิวเตอร์ แต่จริงๆ แล้วผู้ใช้คอมพิวเตอร์อยากได้คอมพิวเตอร์ที่สามารถเข้าใจถ่องแท้ว่า พวกเขากำลังทำอะไรอยู่ อยากได้อะไร และสามารถสื่อสารกับผู้ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และดูเป็นธรรมชาติ

ทีมงานของ เบิร์นแฮม ได้รับเงินทุนจากสภาวิจัยออสเตรเลียและสภาวิจัยการแพทย์และสุขภาพแห่งชาติ มูลค่าถึง 100 ล้านบาท สำหรับพัฒนาศีรษะสมองกลที่มีความสามารถในการสนทนาแบบตัวต่อตัว เป็นระบบที่นำเทคโนโลยีจากหลายสาขาสร้างขึ้น เช่น การสร้างภาพการ์ตูนด้วยคอมพิวเตอร์ ระบบจดจำเสียง ระบบสนทนาอัจฉริยะ รวมถึงระบบประสาทที่สามารถคิดและปรับปรุงการสื่อสารให้ดีขึ้นได้เอง

ทีมวิจัยเชื่อว่าศีรษะสมองกล ซึ่งคิดและพูดได้เองอัตโนมัติจะใช้งานได้จริงใน 10 ปีข้างหน้า เมื่อถือวันนั้นการสื่อสารระหว่างมนุษย์กับเครื่องคอมพิวเตอร์จะมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในสองประการ

ประการแรกคือ เมื่อผู้ใช้สามารถเห็นการขยับปากและสีหน้าของศีรษะปัญญาประดิษฐ์จะช่วยให้คนเข้าใจว่าสมองกลอยากจะสื่อสารอะไรกับมนุษย์ ประการที่สอง ศีรษะสมองกลสามารถปรับรูปแบบการสื่อสารกับคนหลายประเภทได้โดยเรียกใช้ฐานข้อมูลที่ต่างกัน เช่น เลือกสำเนียง การออกเสียง การแสดงสีหน้า ศัพท์แสงที่เหมาะสมที่สุดสำหรับพูดคุยกับคู่สนทนา

ศีรษะสมองกลจะติดตั้งกล้องวิดีโอโฟนเพื่อช่วยสืบค้นข้อมูลอัตโนมัติให้เด็กและคนหูหนวกหูตึงได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังสามารถจดจำแต่ละคน และปรับบุคลิกให้เข้ากับคนที่สนทนาด้วย และอาจแสดงอารมณ์ตอบโต้ได้ด้วย เช่น เวลาที่คู่สนทนาด้วยเริ่มหัวเสียเพราะสมองกลไม่เข้าใจสิ่งที่พวกต้องการ มันจะเปลี่ยนใช้ระบบแสดงใบหน้าเห็นอกเห็นใจทันที

นักวิจัยวางแผนพัฒนาสมองกลให้สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมได้จากการพูดคุยกับคนแต่ละประเภท และพัฒนาระบบการสนทนาของตนเองให้ดีขึ้น สำหรับสมองกลต้นแบบนี้จะนำมาใช้กับตู้ให้บริการข้อมูลท่องเที่ยว เช่น ซื้อตั๋ว และให้คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้ภาษา นอกจากนี้ ยังอาจนำมาใช้เป็นเพื่อนคุยส่วนตัวสำหรับคนชรา หรือคนพิการ แต่ในช่วงแรกคงเอามาใช้รับฟังปัญหาร้องเรียนเกี่ยวกับใบเรียกเก็งเงินและสอนภาษา

ที่มา : komchadluek

Monday, October 9, 2006

กระดาษนาโนพันธุ์อึด

กระดาษนาโนพันธุ์อึดทรหดทนไฟ เผา 700 องศาไม่สะเทือน เล็งทำหน้ากากกรองพิษ

นักวิทยาศาสตร์สหรัฐโชว์เทคโนโลยีล้ำหน้าอีกแล้ว พัฒนากระดาษทนไฟถึง 700 องศาเซลเซียส สร้างจากใยนาโน แบคทีเรียไม่กล้าย่างกราย ไม่เปื่อยยุ่ย แม้เวลาผ่านไปนาน เล็งใช้ทำหน้ากากกันพิษที่สามารถทำความสะอาดตัวเองได้

กระดาษชนิดนี้สามารถนำไปสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิด เช่น ใช้เป็นตัวกรองแบคทีเรีย ซึ่งสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ ในการสร้างวอลเปเปอร์ที่มีคุณสมบัติกำจัดมลพิษทางอากาศ หรือเชื้อโรคต่างๆ ได้อัตโนมัติ หรือจะนำไปใช้เป็นป้ายโฆษณาข้างถนนที่ทนความร้อน และสามารถลบ เขียนใหม่ได้

หัวใจสำคัญที่ทำให้กระดาษนาโนมีความสามารถเกินตัว คือ ส่วนประกอบที่ใช้ทำกระดาษ กระดาษส่วนใหญ่ทำจากเส้นใยเซลลูโลส แต่กระดาษวิเศษตัวนี้ ผศ.ดร.ซี ไรอัน เทียน ภาควิชาเคมีและเคมีชีวภาพ จากมหาวิทยาลัยอาร์คันซัส กล่าวว่า ใช้เส้นใยนาโนไทเทเนียม ไดออกไซด์ เป็นสารตั้งต้น สามารถหาได้ง่าย ไม่เป็นพิษ และราคาไม่แพง

การสร้างใยนาโนนั้น นักวิจัยเริ่มจากการผสมผงไทเทเนียม ไดออกไซด์ กับสารละลายที่เป็นด่าง และใส่ลงไปในภาชนะเคลือบเทปล่อน หลังจากนั้นนำไปอบในเตาที่อุณหภูมิ 150-250 องศาเซลเซียส ประมาณ 1-3 วัน หลังจากสารละลายที่เป็นด่างระเหยไปจนหมดแล้วจะเหลือเส้นใยนาโนสีขาวขนาดยาว ต่อมานำใยนาโนนี้ไปล้างด้วยน้ำกลั่น ในขณะที่เส้นใยยังจับตัวเป็นแผ่นเยื่อเปียกอยู่ นำไปหล่อในภาชนะ 3 มิติ อาทิ ท่อทรงกระบอก ชาม และถ้วย ทิ้งไว้ให้แห้ง สามารถนำมาโค้งงอ พับ หรือตัดเล็มด้วยกรรไกรได้

ผลิตภัณฑ์ที่เสร็จสมบูรณ์แล้วจะทนความร้อนได้ถึง 700 องศาเซลเซียส ทำให้กระดาษนี้ไม่ไหม้ไฟ และยังมีความเป็นไปได้ที่จะทำความสะอาดกระดาษเหล่านี้ด้วยไฟฉาย หรือแสงอัลตราไวโอเลต นักวิจัยยังกล่าวเสริมว่า ด้วยคุณสมบัติของกระดาษพันธุ์อึดนี้ อาจจะสร้างผลิตภัณฑ์ในอุดมคติ อาทิ เยื่อกรองหน้ากากป้องกันแก๊สพิษที่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก โดยช่องว่างในเยื่อกระดาษถูกปรับขนาดในกระบวนการหลอม เพื่อให้แน่ใจว่าช่องว่างนั้นใหญ่พอที่ออกซิเจนจะผ่านได้ แต่สามารถกั้นสารพิษไม่ให้รอดผ่าน ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อแสงโปรตอนกระทบใยนาโน จะทำให้เกิดกระบวนการโจมตีและทำลายสารพิษบริเวณพื้นผิว

ขณะนี้ทีมวิจัยได้ดำเนินการจดสิทธิบัตรและกำลังมองหาพันธมิตรในการขออนุญาตและประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยีกระดาษนาโนนี้

ที่มา : komchadluek