Monday, October 30, 2006

อักษรล้านนาใช้ในคอมพิวเตอร์

มช.ไอเดียเจ๋ง ผลิตอักษรล้านนาใช้ในคอมพิวเตอร์

สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มช.สุดเจ๋ง อนุรักษ์อักษรธรรมล้านนาโบราณให้สืบทอดถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน ด้วยการพัฒนาระบบการพิมพ์ “อักษรธรรมล้านนา” ใส่ไว้ในคอมพิวเตอร์เหมือนกับการพิมพ์อักษรไทยปกติได้แล้ว ใช้ได้ทั้งวินโดวส์-โฟโต้ช็อป-อีลาสฯ ช่วยให้ผู้ใช้สะดวกยิ่งขึ้น แค่พิมพ์เป็นภาษาไทย แต่หน้าจอจะขึ้นเป็นภาษาล้านนา แถมคลิกกลับไปกลับ มาระหว่างสองภาษาได้ด้วย นักวิชาการ มช.แนะ ต้องศึกษาระบบการเขียนอักษรธรรมล้านนาให้ถ่องแท้ก่อนนำไปใช้ เพื่อป้องกันการผิดเพี้ยนของรูปแบบภาษา
นักวิชาการ มช.อนุรักษ์อักษรธรรมล้านนาไว้ในคอมพิวเตอร์ได้สำเร็จ เมื่อวันที่ 27 ต.ค. นายเกริก อัครชิโนเรศ นักวิชาการในโครงการสารานุกรมไทย-ภาคเหนือ เปิดเผยความสำเร็จในครั้งนี้ว่า สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ร่วมกับ ศ.ดร.อุดม รุ่งเรืองศรี ได้จัดสร้างชุดอักษรธรรมล้านนา (font lanna-LN) สำหรับคอมพิวเตอร์ ซึ่งใช้ในระบบปฏิบัติการไมโคร ซอฟท์ วินโดวส์ (Microsoft Windows) และได้เปิดบริการดาวน์โหลด (Download) ให้ผู้สนใจทั่วไปนำไปใช้ โดยไม่คิดมูลค่าใด ๆ ทั้งสิ้น เพื่อหวังที่จะพัฒนาอักษรธรรมล้านนาให้คงอยู่ในโลกของคอมพิวเตอร์ยุคใหม่ ไม่ให้เสื่อมหายไป หรือคงเหลือแต่ตัวอักษรที่อยู่บนใบลาน บนสมุด หรือตามหนังสือล้านนาเก่า ๆ เท่านั้น จึงพัฒนาระบบการพิมพ์ด้วยแป้นพิมพ์ของคอมพิวเตอร์ให้สามารถพิมพ์อักษรธรรมล้านนาได้ โดยตั้งแต่เปิดพัฒนาโปรแกรม รวมถึงให้ผู้สนใจเข้าไปดาวน์โหลดโปรแกรมมาใช้ฟรี พบว่ามีกลุ่มผู้สนใจเข้าไปนำมาใช้เป็นจำนวนมาก ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก มั่นใจว่าอักษรธรรมล้านนาจะคงอยู่ตลอดไปแน่นอน

นายเกริก กล่าวต่อไปว่า ครั้งแรกที่คิดค้นและพัฒนา ได้ประสบปัญหา คือ ฟอนต์ล้านนามีระบบการพิมพ์ที่ยุ่งยาก เนื่องจากจำนวนอักษรล้านนามีมากกว่าอักษรภาษาไทย โดยเฉพาะมีตัวสะกดที่อยู่ด้านล่างบรรทัด สระ และอักษรพิเศษบางตัว ทำให้ต้องนำตัวอักษรเหล่านั้นไปแทนที่อักษรในแป้นพิมพ์ภาษาอังกฤษ (English Mode) ดังนั้นการพิมพ์อักษรล้านนาลักษณะนี้ จึงต้องสลับโหมดระหว่างภาษาไทยกับภาษาอังกฤษบ่อยครั้ง การพิมพ์จึงล่าช้า ไม่สะดวก ต่อมาจึงได้จัดทำโครงการ “พัฒนาระบบการพิมพ์อักษรธรรมล้านนา” และโครงการ “พัฒนาแม่แบบชุดอักษร Lanna OTF Template” ขึ้น โดยพัฒนาฟอนต์และระบบการพิมพ์ให้มีผลกระทบกับความเคยชิน ในระบบพิมพ์สัมผัสของผู้ใช้น้อยที่สุด ทั้งนี้ ได้ศึกษาค้นคว้าหาวิธีที่จะทำให้การพิมพ์อักษรล้านนาอยู่ภายในแป้นพิมพ์เดียว ผู้พัฒนาได้ นำฟอนต์ติโลก (Tilok.ttf) ของสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มช. ซึ่งได้พัฒนามาจากฟอนต์ Lannaworld.ttf ของคุณประเสริฐ เกิดไชยวงค์ อีกทีหนึ่ง มาพัฒนาเป็นฟอนต์รูปแบบโอเพน ไทป์ (Open type Font หรือ OTF) โดยได้ตั้งชื่อเป็น LN-TILOK เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติแด่พระเจ้าติโลกราช ปฐมกษัตริย์ของล้านนาในอดีต
นายพิชัย แสงบุญ นักวิชาการคอมพิว เตอร์ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มช.กล่าวถึงโครงการดังกล่าวว่า การพัฒนาระบบการพิมพ์อักษรคอมพิวเตอร์จากเดิมที่การพิมพ์อักษรธรรมล้านนา เป็นเรื่องที่ต้องประสบปัญหาการสลับ แป้นพิมพ์ระหว่างภาษาไทยกับภาษาอังกฤษ มาเป็นพิมพ์ในแป้นภาษาไทยเพียงอย่างเดียว การพัฒนาระบบการพิมพ์ดังกล่าว ทำให้การพิมพ์อักษรธรรมล้านนาสะดวกสบายมากขึ้น ผู้ใช้สามารถพิมพ์อักษรไทยได้ตามปกติ แล้วคอม พิวเตอร์จะแสดงผลออกมาเป็นอักษรธรรมล้านนาโดยอัตโนมัติ วิธีนี้จะช่วยทำให้บุคคลทั่วไปสามารถนำชุดอักษรธรรมล้านนาไปใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวาง อาทิ การเรียน-การสอนอักษร ธรรมล้านนาด้วยตนเอง หรือในโรงเรียนการสอนอักษรธรรมล้านนาผ่านระบบอี-เลิร์นนิ่ง (E-learning) การนำอักษรธรรมล้านนาไปใช้ประโยชน์ในการพิมพ์หนังสือเพื่อเผยแพร่ความรู้ต่าง ๆ ฯลฯ ซึ่งระบบการพิมพ์นี้ได้พัฒนาจนสามารถใช้กับโปรแกรมคอมพิวเตอร์บางโปรแกรม ได้ เช่น อด็อบ โฟโต้ช็อป (Adobe Photo shop CS2) อีลาสเตเตอร์ (Adobe Illustrator CS2) โนทแพด (Notepad) และใช้กับไมโครซอฟท์ ออฟฟิศ (Microsoft office 2003) ได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ผู้พิมพ์อักษรล้านนา ควรจะศึกษาระบบการเขียนอักษรธรรมล้านนา (ตัวเมือง) ให้ถ่องแท้ก่อนนำไปใช้ เพื่อป้องกันการผิดเพี้ยนของรูปแบบภาษา

นายพิชัย กล่าวต่อว่า เราได้พัฒนาระบบการพิมพ์อักษรล้านนาให้ใช้ง่าย สะดวก ไม่ยุ่งยาก โดยจากการเปรียบเทียบตัวอักษรไทยกับอักษรล้านนาแบบเรียงตัว ตามระบบการปริวรรตอักษรแล้วพบว่า สามารถนำมาพัฒนาระบบการพิมพ์อักษรธรรมล้านนาบนแป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์ ภาษาไทยได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ตามพจนานุกรมฉบับแม่ฟ้าหลวงของ ศ.ดร.อุดม รุ่งเรืองศรี ได้ทำให้ปรากฏแล้ว และเป็นที่ยอมรับเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะในวงวิชาการ จึงได้ใช้หลักการดังกล่าวในการกำหนดแป้นตัวอักษร เช่น ท = ท ไม่ใช้ ท = ต และ ช = ช ไม่ใช้ ช = จ เป็นต้น ยกตัวอย่าง คนล้านนาจะอ่านคำว่า “โรงเรียน” เป็น “โฮงเฮียน” การเขียนจึงควรเขียนเป็น “โรงเรียน” ไม่ควรยึดตามสำเนียงการอ่าน เพื่อให้การอ้างอิงรากศัพท์ระหว่างไทยกับล้านนาเป็นไปได้โดยง่าย การใช้หลักการเปรียบเทียบดังกล่าวจึงสามารถสลับรูปแบบกันไปมาระหว่างอักษรไทยกับอักษรล้านนาได้ทันที สำหรับผู้ที่สนใจสามารถศึกษา หรือดาวน์โหลดวิธีการพิมพ์อักษรธรรมล้านนา และดาวน์โหลด Font LN-TILOK Version 1.3 สำหรับคอมพิวเตอร์ ได้ที่ http://art-culture.chiangmai.ac.th โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 0-5394-3627

ที่มา: dailynews

1 comment:

BiJay said...

ขอแก้ข้อความครับ
"พระเจ้าติโลกราช ปฐมกษัตริย์ของล้านนา"
เป็น
"พระเจ้าติโลกราช มหาราชของล้านนา"
เพราะ ปฐมกษัตริย์ของล้านนาในอดีตคือ "พ่อขุนมังราย" หรือ "พระญามังรายมหาราช" ครับ...