กระดาษนาโนพันธุ์อึดทรหดทนไฟ เผา 700 องศาไม่สะเทือน เล็งทำหน้ากากกรองพิษ
นักวิทยาศาสตร์สหรัฐโชว์เทคโนโลยีล้ำหน้าอีกแล้ว พัฒนากระดาษทนไฟถึง 700 องศาเซลเซียส สร้างจากใยนาโน แบคทีเรียไม่กล้าย่างกราย ไม่เปื่อยยุ่ย แม้เวลาผ่านไปนาน เล็งใช้ทำหน้ากากกันพิษที่สามารถทำความสะอาดตัวเองได้
กระดาษชนิดนี้สามารถนำไปสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิด เช่น ใช้เป็นตัวกรองแบคทีเรีย ซึ่งสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ ในการสร้างวอลเปเปอร์ที่มีคุณสมบัติกำจัดมลพิษทางอากาศ หรือเชื้อโรคต่างๆ ได้อัตโนมัติ หรือจะนำไปใช้เป็นป้ายโฆษณาข้างถนนที่ทนความร้อน และสามารถลบ เขียนใหม่ได้
หัวใจสำคัญที่ทำให้กระดาษนาโนมีความสามารถเกินตัว คือ ส่วนประกอบที่ใช้ทำกระดาษ กระดาษส่วนใหญ่ทำจากเส้นใยเซลลูโลส แต่กระดาษวิเศษตัวนี้ ผศ.ดร.ซี ไรอัน เทียน ภาควิชาเคมีและเคมีชีวภาพ จากมหาวิทยาลัยอาร์คันซัส กล่าวว่า ใช้เส้นใยนาโนไทเทเนียม ไดออกไซด์ เป็นสารตั้งต้น สามารถหาได้ง่าย ไม่เป็นพิษ และราคาไม่แพง
การสร้างใยนาโนนั้น นักวิจัยเริ่มจากการผสมผงไทเทเนียม ไดออกไซด์ กับสารละลายที่เป็นด่าง และใส่ลงไปในภาชนะเคลือบเทปล่อน หลังจากนั้นนำไปอบในเตาที่อุณหภูมิ 150-250 องศาเซลเซียส ประมาณ 1-3 วัน หลังจากสารละลายที่เป็นด่างระเหยไปจนหมดแล้วจะเหลือเส้นใยนาโนสีขาวขนาดยาว ต่อมานำใยนาโนนี้ไปล้างด้วยน้ำกลั่น ในขณะที่เส้นใยยังจับตัวเป็นแผ่นเยื่อเปียกอยู่ นำไปหล่อในภาชนะ 3 มิติ อาทิ ท่อทรงกระบอก ชาม และถ้วย ทิ้งไว้ให้แห้ง สามารถนำมาโค้งงอ พับ หรือตัดเล็มด้วยกรรไกรได้
ผลิตภัณฑ์ที่เสร็จสมบูรณ์แล้วจะทนความร้อนได้ถึง 700 องศาเซลเซียส ทำให้กระดาษนี้ไม่ไหม้ไฟ และยังมีความเป็นไปได้ที่จะทำความสะอาดกระดาษเหล่านี้ด้วยไฟฉาย หรือแสงอัลตราไวโอเลต นักวิจัยยังกล่าวเสริมว่า ด้วยคุณสมบัติของกระดาษพันธุ์อึดนี้ อาจจะสร้างผลิตภัณฑ์ในอุดมคติ อาทิ เยื่อกรองหน้ากากป้องกันแก๊สพิษที่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก โดยช่องว่างในเยื่อกระดาษถูกปรับขนาดในกระบวนการหลอม เพื่อให้แน่ใจว่าช่องว่างนั้นใหญ่พอที่ออกซิเจนจะผ่านได้ แต่สามารถกั้นสารพิษไม่ให้รอดผ่าน ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อแสงโปรตอนกระทบใยนาโน จะทำให้เกิดกระบวนการโจมตีและทำลายสารพิษบริเวณพื้นผิว
ขณะนี้ทีมวิจัยได้ดำเนินการจดสิทธิบัตรและกำลังมองหาพันธมิตรในการขออนุญาตและประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยีกระดาษนาโนนี้
ที่มา : komchadluek
Monday, October 9, 2006
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment