Friday, October 27, 2006

ความหวังจาก "ไบโอดีเซล"

ความหวังจาก "ไบโอดีเซล" ทางรอดยุควิกฤติพลังงาน

ดูเหมือนว่าความหวังที่จะพึ่งพาพลังงานจากไบโอดีเซลในยุคที่น้ำมันเชื้อเพลิงแพงนั้นเริ่มมีรูปธรรมมากขึ้น และจะกลายเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายสนใจจริงจังมากขึ้นทุกขณะ

จนล่าสุดประเทศไทยได้มีการพัฒนาโรงงานผลิตไบโอดีเซลในเชิงพาณิชย์ได้แล้ว ที่ชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่ ต.คลองยาว อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ ซึ่งถือว่าเป็นโรงงานต้นแบบการผลิตไบโอดีเซลเชิงพาณิชย์ ก็ประสบผลสำเร็จและได้เปิดดำเนินการแล้วเมื่อวันที่ 18 กันยายน ที่ผ่านมา มีกำลังการผลิตวันละ 1 หมื่นลิตร

ตามแผนพลังงาน 15 ปีของรัฐบาล ตั้งเป้าไว้ว่า ประเทศไทยต้องผลิตไบโอดีเซลวันละ 8.5 ล้านลิตร เพื่อทดแทนพลังงานเชื้อเพลิง จากทั้งหมดที่ประเทศไทยใช้น้ำมันเชื้อเพลิงวันละ 85 ล้านลิตร โดยในปี 2551 จะส่งเสริมให้มีโรงงานผลิตไบโอดีเซลอย่างน้อย 8 โรง ให้เพียงพอสำหรับการผลิตไบโอดีเซล 2 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งเป็นไบโอดีเซลที่มาจากน้ำมันปาล์ม ที่มีต้นทุนการผลิตน้อยกว่าพืชน้ำมันอย่างอื่น รวมถึงสบู่ดำด้วย

นี่เป็นเป้าหมายระดับชาติ แต่หากมองระดับจุลภาคแล้ว กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน ที่รับดำเนินโครงการไบโอดีเซลชุมชน เพื่อบรรเทาผลกระทบราคาน้ำมันให้เกษตรกรและประชาชนระดับรากหญ้า ที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2548 ตอนนี้มีชุมชนต้นแบบแล้ว 2 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนพยัคฆาราม จ.สุพรรณบุรี และชุมชนนาหว้า จ.นครพนม

ในปี 2549 พพ.มีเป้าหมายดำเนินโครงการไบโอดีเซลชุมชนเพิ่มอีก 60 ชุมชน โดยจะคัดเลือกชุมชนที่มีศักยภาพด้านวัตถุดิบ บุคลากรมาเข้าโครงการ และจะสนับสนุนระบบผลิตไบอดีเซลขนาด 100 ลิตรต่อวัน โดย พพ.จะเป็นผู้จัดการเครื่องอุปกรณ์ต่างๆ ให้ กรณีที่ชุมชนใช้วัตถุดิบเป็นเมล็ดสบู่ดำ จะจัดหาเครื่องหีบสบู่ดำให้ด้วย

นอกจากสนับสนุนด้านเครื่องมือแล้ว ก็จะจัดอบรมให้ความรู้ทางด้านเทคนิคการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ขณะที่ชุมชนมีหน้าที่จัดหาสถานที่สำหรับติดตั้งระบบผลิตไบโอดีเซล และเตรียมบุคลากรที่จะดำเนินการผลิต ดูแลรักษา และบริหารจัดการโครงการ
ปัจจุบันชุมชนที่ได้รับการติดตั้งระบบผลิตไปแล้ว 5 ชุมชน และมีชุมชนที่ได้รับการอนุมัติและกำลังดำเนินการอยู่ 40 ชุมชน อาทิ ชุมชนศูนย์การพัฒนาการเกษตรเบ็ดเสร็จจังหวัดนครนายก เป็นชุมชนที่อยู่ในบริเวณพื้นที่ของโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ซึ่งดำเนินงานโดยหน่วยทหาร และจะผลิตไบโอดีเซลจากสบู่ดำ

นอกจากนี้ มีชุมชนท่าตะโก จ.นครสวรรค์ เป็นชุมชนปลูกสบู่ดำเช่นกัน โดยจะมีคณะกรรมการและผู้นำชุมชนแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบชัดเจน ชุมชนเขาหินซ้อน จ.ฉะเชิงเทรา ชุมชนนี้เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน เป็นชุมชนที่ใช้สบู่ดำเป็นวัตถุดิบในการผลิต

สำหรับต้นแบบโครงการไบโอดีเซลชุมชนนั้น ที่ผ่านมาศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นราธิวาส ได้ดำเนินการมานานแล้ว ซึ่ง นายสมพล พันธุ์มณี เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) บอกว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริกับคณะทำงานโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มขนาดเล็กอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2531 ให้ดำเนินการสร้างโรงงานสกัดและแปรรูปน้ำมันปาล์มขนาดเล็ก ขึ้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ เพื่อนำผลผลิตปาล์มน้ำมันจากแปลงทดลองของศูนย์ มาสกัดและแปรรูปเป็นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์

ส่วนหนึ่งเพื่อการบริโภคและแปรรูปในเชิงการศึกษาอย่างครบวงจร เพื่อให้เกษตรกรใน จ.นราธิวาส และจังหวัดใกล้เคียง ได้รู้ถึงการใช้ประโยชน์ของน้ำมันปาล์มในการนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยเริ่มจากการสกัดน้ำมันปาล์มในระดับครัวเรือนก่อน ต่อมาในปี 2543 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชดำริให้ทดลองนำน้ำมันปาล์มมาใช้กับเครื่องจักรกลการเกษตร ซึ่งศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ โดยครั้งแรกใช้กับรถแทรกเตอร์ลากพ่วงที่ใช้งานภายในศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ปรากฏว่าได้ผลดี

ปัจจุบันที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ มีเครื่องแยกกลีเซอรีนเหลว ขนาด 140 ลิตร เพื่อแยกเอากลีเซอรีน ออกจากกรดไขมัน และมีการติดตั้งปั๊มและหัวจ่ายน้ำมันไบโอดีเซลที่โรงผลิตเมทิลเอสเตอร์ สามารถเก็บน้ำมันมีความจุ 1,000 ลิตร รวมต้นทุนการผลิตทั้งหมด 18.526 บาทต่อลิตร โดยใช้ผลปาล์มดิบ 100 กิโลกรัม จะได้น้ำมันไบโอดีเซล ประมาณ 20 ลิตร

ในส่วนของการผลิตไบโอดีเซลเชิงพาณิชย์นั้น นายบรรพต หงษ์ทอง ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า จากสถานการณ์น้ำมันที่แพงขึ้น ภาครัฐจำเป็นต้องกำหนดมาตรการประหยัดพลังงานและจัดหาพลังงานทดแทนน้ำมัน เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนของประชาชนและเกษตรกร จึงมีการสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกปาล์มเพิ่มขึ้นเพื่อผลิตไบโอดีเซล ทั้งรูปแบบของเชิงพาณิชย์ ซึ่งขณะนี้ที่ จ.กระบี่ ได้ดำเนินการว่าจ้างมหาวิทยาลัยสงขลา นครินท์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จ.สงขลา โดยใช้งบประมาณผู้ว่าฯ ซีอีโอ 18.5 ล้านบาท

ล่าสุดการพัฒนาโรงงานต้นแบบการผลิตไบโอดีเซลเสร็จเรียบร้อยแล้ว มีกำลังการผลิต 1 หมื่นลิตรต่อวัน และจังหวัดกระบี่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงใช้ตามพระราชอัธยาศัย เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสทรงครองราชย์ครบ 60 ปีด้วย

หากทุกฝ่ายให้ความร่วมมือและหันมาพัฒนาผลิตไบโอดีเซลอย่างจริงจัง เชื่อว่าอนาคตประเทศไทยจะประหยัดเงินได้อย่างมหาศาล

ที่มา : komchadluek

No comments: