Monday, October 30, 2006

นักข่าววิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์

นักข่าวรุ่นเยาว์เผยข่าววิทย์ในฝันต้อง "อ่านง่าย โดนใจ ใกล้ตัว"

ค่ายนักข่าววิทย์รุ่นเยาว์ จับนักเรียนพลิกบทเป็นผู้ผลิตสารเองบ้าง สมาชิกนักข่าวน้อยเผยข่าววิทย์ในฝันต้องเข้าถึงวัยรุ่น ใกล้ตัว เน้นภาพและสีสัน เปลี่ยนเรื่องยากๆ ทางวิชาการให้เข้าใจง่ายด้วยภาษาที่เป็นกันเอง ใช้คำวัยรุ่นและนำเกมมาเรียกร้องความสนใจ ติงหนังสือพิมพ์ปัจจุบันยังนำเสนอข่าววิทย์น้อย แถมซ่อนไว้หน้าหลังๆ

ตามแนวทางการพัฒนาหลักของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ที่จะเป็นผู้ผลักดันให้เกิดการสร้างสรรค์ปัจจัยทางปัญญาให้เกิดแก่สังคมไทยอย่างยั่งยืน นโยบายการสร้างความตระหนักทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ได้รับการปฏิบัติกันมาอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นที่ทราบกันดีว่ากิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์ก็เป็นหนึ่งในกิจกรรมการสร้างความตระหนักฯ ได้เช่นกัน

ระหว่างวันที่ 27-29 ต.ค.ที่ผ่านมา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ร่วมกับ บริติช เคานซิล ประเทศไทย และหนังสือพิมพ์ เนชั่น จูเนียร์ ได้จัดกิจกรรมค่าย “นักข่าววิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์” ขึ้น ณ อพวช. อ.คลอง 5 จ.ปทุมธานี มีนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่ผ่านการคัดเลือกแล้วในโครงการจัดทำหนังสือพิมพ์ 2 ภาษา (ไทย-อังกฤษ) เพื่อสร้างความตระหนักเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก จาก 5 โรงเรียน รวม 24 ชีวิตเข้าร่วมกิจกรรม

หลังจากน้องๆ ได้เข้าอบรมวิธีการเขียนข่าว ทักษะการใช้ภาษา และขั้นตอนการจัดทำหนังสือพิมพ์ จากนักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ และนักข่าวมืออาชีพแล้ว เยาวชนค่ายยังได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนมุมมองและความคิดเห็นถึงข่าววิทยาศาสตร์ที่โดนใจวัยรุ่นว่า ต้องเป็นหนังสือพิมพ์ที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายคือวัยรุ่นอย่างแท้จริง

3 หนุ่ม ชั้นม.6 โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน คือ นายเพชร อรรถบุรานนท์ นายณทัต ลิลิตสุวรรณ และนายสรวิช สนธิจิรวงศ์ มองว่า นอกจากประเด็นสำคัญข้างต้นแล้วยังต้องเน้นการนำเสนอข่าววิทยาศาสตร์ที่มีความใกล้ตัว สนุก และน่าสนใจ เหมาะกับผู้มีรสนิยมต่างๆ กันให้มากขึ้น เช่น การนำเสนอเทคโนโลยีที่ช่วยการตัดสินในกีฬาเทนนิสสำหรับคนที่ชอบดูการแข่งขันเทนนิส เป็นต้น

3 หนุ่มจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนยังบอกด้วยว่า การนำเสนอข่าววิทยาศาสตร์ยังควรมีข่าวแปลกๆ ใหม่ๆ เช่นข่าวหลุดโลกที่เรียกร้องความสนใจได้ดี การใช้ภาษาต้องใช้ภาษาที่มีสีสัน เปลี่ยนเรื่องทางวิชาการให้สนุกสนาน ไม่ใช้ภาษาวิชาการ เน้นการพาดหัวข่าวแปลกๆ แรงๆ จากปัจจุบันที่ยังมองว่าการนำเสนอข่าววิทยาศาสตร์ควรต้องทำให้น่าสนใจมากขึ้น ไม่นำเสนอแต่คำพูดเพราะไม่น่าสนใจ และควรนำเสนอข่าววิทยาศาสตร์ให้บ่อยขึ้นเพื่อเน้นย้ำให้เกิดความตระหนักฯ ตลอดจนถึงการไม่นำข่าววิทยาศาสตร์ไปแอบไว้หน้าหลังๆ ของหนังสือพิมพ์ แต่ควรชูขึ้นหน้าหลักบ้าง

ด้าน 4 สาวชั้น ม.5 จากโรงเรียนเซนต์ฟรังค์ ซิสซาเวียคอนแวนต์ จ.นนทบุรu น.ส.อาภา ศรีสุวรรณ, น.ส.พรชีรา จรัสกำจรกูล, น.ส.วราภรณ์ ศรีสุวรรณ, และ น.ส.สิริลักษณ์ คงขันธ์ มองว่า ในการนำเสนอข่าววิทยาศาสตร์สู่วัยรุ่นยังต้องเน้นการใช้สีสันและเน้นภาพให้มากขึ้น เนื้อหาข่าวควรเป็นเนื้อหาที่ค่อนข้างเบา มีความเกี่ยวข้องกับผู้อ่านมากๆ ใช้ภาษาเป็นกันเอง มีการใช้ศัพท์วัยรุ่นใหม่ๆ นำภาพการ์ตูนหรือมีมุกตลก มาสอดแทรก หรือแม้แต่การสื่อสารผ่านเกมก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่น่าสนใจ
น่าสนใจ

ขณะที่ฝ่ายจัดค่ายอย่าง นางกรรณิการ์ เฉิน กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของงานค่ายครั้งนี้ว่า การจัดค่ายครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการดึงเยาวชนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายได้ตระหนักถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ขณะเดียวกันก็เป็นการปล่อยให้เขาได้พลิกบทบาทจากการเป็นผู้เสพข่าววิทยาศาสตร์ กลับมาเป็นผู้ผลิตข่าววิทยาศาสตร์ หรือผู้สื่อสารวิทยาศาสตร์สู่สังคมเองบ้าง เพื่อให้ทราบแนวทางการนำเสนอข่าวที่วัยรุ่นต้องการเสพต่อไป

นอกจากน้องๆ ที่ร่วมค่ายจะได้ฝึกฝนการเสนอข่าวแล้ว ผู้จัดได้ยกหัวข้อเครียดๆ อย่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาเล่น ทว่าเยาวชนค่ายก็สามารถจะหาวิธีการนำเสนอที่น่าสนใจ ใกล้ตัว และเหมาะกับวัยรุ่นมากจนเราคาดไม่ถึง เช่น การเปลี่ยนข้อมูลยากๆ อย่างเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกให้อยู่ในรูปของเกม โดยเชื่ออีกว่าประสบการณ์และทักษะต่างๆ ที่เยาวชนค่ายได้รับไปจากค่ายนี้ก็ยังจะสามารถนำไปในชีวิตประจำวันหรือในการทำงานได้ด้วย

ส่วน นายธนากร พละชัย รอง ผอ.อพวช. พูดถึงการสื่อสารวิทยาศาสตร์แก่สังคมไทยว่า มีอยู่ 2 ส่วนหลักๆ ที่ต้องคำนึงถึง ประการแรกคือ วิทยาศาสตร์ในมุมมองของคนทั่วไปที่ยังมองวิทยาศาสตร์และนักวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องไกลตัวอยู่มาก บ้างก็มองไปในแง่ดี ด้านกลับกันก็มีผู้มองแง่ร้ายไปเลย เช่นประเด็นเรื่องพืชดัดแปลงพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) พลังงาน รังสีและนิวเคลียร์ ฯลฯ ที่อาจมีทั้งแง่ดีและแง่ร้าย เพราะแม้แต่นักศึกษาที่เรียนจบด้านวิทยาศาสตร์มาโดยตรงก็ยังอาจใช้ชีวิตไม่สอดคล้องกับสิ่งที่เรียนมาก็ได้ เนื่องจากเขาได้รับมาเฉพาะตัวความรู้แต่ไม่ได้รับการปลูกฝังกระบวนการคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ด้วย

ส่วนประการต่อมาคือการสื่อสารวิทยาศาสตร์ มีประเด็นหลักคือ เราจะต้องรู้จักกลุ่มเป้าหมายของเราที่เราต้องการสื่อสารด้วยอย่างชัดเจน ยิ่งในอนาคตที่สินค้าต่างๆ จะต้องมีความจำเพาะเป็นรายกลุ่มมากขึ้นแล้ว การนำเสนอข่าวสารด้านวิทยาศาสตร์ก็เช่นเดียวกัน ดังจะเห็นในปัจจุบันที่หนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ ก็จะมีการจัดทำหน้าเฉพาะด้านขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้รับสารแต่ละกลุ่มเป็นการเฉพาะ เช่น หน้าการศึกษา และหน้าเยาวชน

ทั้งนี้ หน้าที่ของผู้สื่อสารวิทยาศาสตร์จะต้องเป็นผู้ที่ส่งสารไปยังผู้อ่านได้ตรงตามที่ตัวเองต้องการ เพราะธรรมชาติของมนุษย์ แม้จะมองเรื่องในเดียวกันก็ยังอาจจะเห็นแตกต่างกับคนอื่นได้ ผู้สื่อสารจึงต้องทำให้เขาได้มองเห็นในสิ่งที่เราต้องการนำเสนอ หรือใจความสำคัญให้ตรงกันเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ ผู้สื่อสารวิทยาศาสตร์จึงต้องทำความเข้าใจกลุ่มเป้าหมายอย่างแจ่มแจ้งทั้งในเรื่องความเชื่อ นิสัย และพฤติกรรม เพื่อนำไปสู่กระบวนทัศน์การสื่อสารที่เหมาะสมกับผู้รับสารแต่ละกลุ่ม โดยเฉพาะการนำเสนอข่าววิทยาศาสตร์ที่ต้องเข้าถึงทั้งเยาวชน ผู้ปกครอง และครูอาจารย์ ซึ่งการสื่อสารถูกระดับจะทำให้เราได้ผลสำเร็จ ไม่สิ้นเปลืองทรัพยากรโดยเปล่าประโยชน์

“การสื่อสารวิทยาศาสตร์จะต้องทำคู่ขนานกันไปทั้ง 2 ด้าน คือด้านการวิจัยพัฒนาจนได้สิทธิบัตรหรือทรัพย์สินทางปัญญาเป็นเรื่องหนึ่ง ส่วนอีกแนวทางคือการทำให้คนในสังคมได้ตระหนักถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์ จะไปเน้นแค่ด้านใดด้านหนึ่งไม่ได้” รองผอ.อพวช.กล่าว

ที่มา : http://www.manageronline.co.th/

No comments: