นาซาส่งดาวเทียมบันทึกภาพดวงอาทิตย์ 3 มิติ28 Octorber 2006
เอเจนซี/บีบีซีนิวส์ - นาซาส่ง "สเตอริโอ" ดาวเทียมคู่แฝดออกเดินทางบันทึกภาพการปะทุของดวงอาทิตย์เคลื่อนไหวแบบ 3 มิติเป็นครั้งแรก จับตาการระเบิดและทิศทางของลมสุริยะ หวังพยากรณ์สภาพภูมิอวกาศได้อย่างแม่นยำ ลดความเสี่ยงการเดินทางและทำกิจกรรมในอวกาศ
องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) เตรียมการศึกษาดวงอาทิตย์ในลักษณะสามมิติเป็นครั้งแรก ด้วยการส่งดาวเทียมแฝด 2 ดวงขึ้นไปโคจรตรงข้ามกัน เพื่อเฝ้าติดตามดวงอาทิตย์จาก 2 มุมมองนอกวงโคจรของโลก ในชื่อภารกิจหอสังเกตการณ์ความสัมพันธ์ดวงอาทิตย์กับโลก หรือ "สเตอริโอ" (STEREO : Solar Terrestrial Relations Observatory) โดยจะเห็นภาพและอิทธิพลของดวงอาทิตย์ในลักษณะ 3 มิติ จากดาวเทียมแฝดนอกวงโคจรของโลก ภาพจากหอดูดาวบนโลก และภาพจากวงโคจรระดับต่ำ
โครงการ "สเตอริโอ" มูลค่า 550 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นำส่งด้วยจรวดเดลต้าทู (Delta II) ขึ้นจากแหลมคานาเวอรัล ในรัฐฟลอริดาตามเวลาประเทศไทย เมื่อวันที่ 26 ต.ค. เวลา 07.38 น. และมีกำหนดการทำงานอยู่บนอวกาศนาน 2 ปี ซึ่งจะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถพยากรณ์สภาพอวกาศได้แม่นยำยิ่งขึ้น ว่าการเกิดการปะทุของดวงอาทิตย์แต่ละครั้งจะมีผลต่อโลกอย่างไร
การปะทุของดวงอาทิตย์ (solar flares) แต่ละครั้งนั้น ดวงอาทิตย์จะปลดปล่อยมวลจากบรรยากาศชั้นโคโรนา (corona) นับพันๆ ล้านตันกระจายสู่อวกาศด้วยความเร็วประมาณ 400 กิโลเมตรต่อวินาที สังเกตได้จาก "แสงเหนือ" (aurora borealis) ที่เห็นได้บริเวณขั้วโลกเหนือ ซึ่งการปะทุอาจรุนแรงถึงขั้นทำลายดาวเทียมหรือนักบินอวกาศที่ประจำการอยู่ด้านนอกจะได้รับรังสีมากกว่าปกติจนเกิดอันตรายได้ รวมถึงอาจเกิดพายุแม่เหล็กรบกวนการส่งกระแสไฟฟ้าและการสื่อสารในโลก
นาซาระบุว่า ภารกิจสเตอริโอนี้มีเอกลักษณ์โดดเด่นเพราะจะเห็นความสัมพันธ์ทั้งหมดในมุมกว้างของดวงอาทิตย์และโลกที่อยู่ห่างกันถึง 150 ล้านกิโลเมตร และจะเป็นครั้งแรกที่สามารถตรวจสอบภาพที่เห็นผ่านอุปกรณ์อื่นในภารกิจเดียวกัน โดยสามารถบันทึกเป็นภาพเคลื่อนไหว 3 มิติได้ ขณะที่โครงการโซโห (SOHO : The Solar and Holiospheric Observatory) ที่ขึ้นไปเมื่อปี 2538 ไม่สามารถระบุทิศทางของมวลจากดวงอาทิตย์ได้อย่างโครงการสเตอริโอ
ที่มา : manageronline
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment