มช.พัฒนาหุ่นยนต์นาโนตรวจร่างกายใช้เซรามิกพิเศษเป็นมอเตอร์ติดกล้องส่องหาโรค
ทีมวิจัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่พัฒนาเซรามิกชนิดพิเศษสามารถยืดหดตัวและเคลื่อนที่ได้ด้วยแรงกล มีขนาดเล็กจิ๋วกว่าเส้นผมหลายเท่า ปูทางพัฒนาเป็นหุ่นยนต์จิ๋วใช้งานด้านการแพทย์ทำหน้าที่วินิจฉัย และตรวจอวัยวะภายในแบบไร้สายได้อย่างแม่นยำ
นักวิจัยจากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งได้แก่ รศ.ดร.สุพล อนันตาสุพล และ ผศ.ดร.รัตติกร ยิ้มนิรัญ ร่วมกันศึกษาคุณสมบัติพิเศษของเซรามิกขนาดเล็กระดับนาโนเมตร (1/1,000 ล้านเมตร) จากสารเพียร์โซเซรามิก ซึ่งอยู่ในกลุ่มเซรามิกชั้นสูง พบว่าเมื่อวัสดุกดังกล่าวถูกกระตุ้นจะเกิดการตอบสนอง โดยเซรามิกมีการยืดหดตัวได้ หรือเมื่อถูกกระตุ้นด้วยแรงกล เซรามิกจะจดจำแรงกระตุ้นและส่งแรงตอบสนองออกมาให้เห็น นักวิจัยเรียวัสดุดังกล่าวว่าเป็นเซรามิกฉลาด
ภายหลังจากค้นพบเซรามิกชนิดพิเศษดังกล่าวแล้ว ทีมวิจัยซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มั่นใจว่าจะสามารถพัฒนาหุ่นยนต์จิ๋วจากวัสดุดังกล่าวได้ โดยประดิษฐ์เป็นมอเตอร์ควบคุมการขับเคลื่อนของหุ่นยนต์ในระดับนาโน ซึ่งช่วยให้หุ่นยนต์สามารถเคลื่อนที่ได้ด้วยตัวเอง และส่งข้อมูลผ่านสายเคเบิลหรือคลื่นความถี่สูงเพื่อแสดงผลภาพและการรักษามายังจอมอนิเตอร์ภายนอก
ในส่วนของการควบคุมหรือบังคับหุ่นยนต์ให้เคลื่อนที่ไปยังทิศทางที่ต้องการนั้น สามารถทำได้โดยอาศัยกระแสไฟฟ้ากระตุ้น หรือสัญญาณไมโครเวฟจากภายนอก ซึ่งนอกจากหุ่นยนต์จะเคลื่อนที่ไปยังบริเวณตรวจวินิจฉัยอวัยวะที่ผิดปกติภายในร่างกายแล้ว ยังสามารถบอกตำแหน่งเนื้อร้ายที่เกิดขึ้นได้ด้วย
นักวิจัย กล่าวต่อว่า การที่มีหุ่นยนต์จิ๋วเข้ามาช่วยในการผ่าตัดนั้น จะทำให้การวินิจฉัยและรักษาของแพทย์ทำได้อย่างแม่นยำและรวดเร็วขึ้น ตลอดจนผู้เข้ารับการรักษาไม่ต้องเจ็บปวด ขณะรักษาหรือภายหลังการรักษา โดยปัจจุบันเซรามิกชนิดพิเศษได้พัฒนาเพื่อใช้งานจริงบ้างแล้ว อาทิ ส่วนประกอบของเครื่องอัลตราซาวนด์ เครื่องตรวจภายในโดยไม่ต้องผ่าตัด เป็นต้น
ที่มา : komchadluek
Monday, October 30, 2006
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment