Friday, February 22, 2008

แป้งนาโนทาหยุดกลิ่น งานวิจัยจุฬายกระดับเครื่องสำอาง

ผู้ผลิตเครื่องสำอางจับมือคณะวิทย์จุฬาฯ พัฒนาโรลออนและแป้งทาตัวสูตรยับยั้งแบคทีเรีย อีก 2 เดือนเข็นสู่ตลาด เผยเป็นผลิตภัณฑ์นาโนระงับกลิ่นกายรายแรก ที่ใช้สารนาโนไทย

นางวรพรรณี ชัยพรหมประสิทธิ์ ผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์ บริษัท เอสเอสยูพี 1991 (กรุงเทพ) จำกัด ผู้ผลิตเครื่องสำอางแบรนด์คิวเพรส กล่าวว่า หลังจากส่งนักวิจัยของบริษัทไปศึกษาวิธีการประยุกต์ใช้ "สารซิลเวอร์นาโน" ในผลิตภัณฑ์แป้งและโรลออนระงับกลิ่นกาย จากศูนย์นวัตกรรมนาโนเทคโนโลยี ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คาดว่าไม่เกิน 2 เดือน ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะออกสู่ตลาด

บริษัทถือเป็นรายแรกที่นำสารซิลเวอร์นาโน ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของจุฬาฯ มาเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์แป้งและโรลออน เพื่อเพิ่มคุณสมบัติการยับยั้งแบคทีเรียตามจุดต่างๆ ของร่างกาย จากนั้นทดสอบในอาสาสมัคร 30 คน เพื่อดูการระคายเคือง ความเป็นพิษต่อผิวหนัง และประสิทธิภาพการยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย โดยทาแป้งตามลำตัว และทาโรลออนบริเวณรักแร้

ทีมงานเก็บข้อมูลครั้งแรกที่ครึ่งชั่วโมงแรกหลังทา และเมื่อครบ 4, 8, 12 และ 24 ชั่วโมงตามลำดับ พบว่าสามารถยับยั้งแบคทีเรียได้ 100 เปอร์เซ็นต์ อาสมัครไม่เกิดการแพ้แต่อย่างใด ทั้งยังพึงพอใจต่อตัวผลิตภัณฑ์เนื่องจากช่วยระงับกลิ่นกายได้จริง ทั้งยังมีกลิ่นหอมของดอกไม้ ซึ่งได้จากดอกกุกลาบขาว และกลิ่นคูลเกิร์ลซึ่งสังเคราะห์ขึ้นมาเป็นส่วนผสม

รศ.ดร.สนอง เอกสิทธิ์ หัวหน้าฝ่ายวัสดุนาโน กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายทั้งสองแบบ เป็นการนำงานวิจัยไปต่อยอดส่วนหนึ่งเท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีอุตสาหกรรมยาง อุตสาหกรรมเครื่องประดับ อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมสิ่งทอและอุตสาหกรรมเครื่องกรองน้ำที่ติดต่อมา เพื่อใช้สารนาโนดังกล่าว

“เทคโนโลยีซิลเวอร์นาโนยังประยุกต์ใช้ได้กับอีกหลายอุตสาหกรรม ขึ้นอยู่กับว่าผู้ประกอบการต้องการยกระดับผลิตภัณฑ์ของตนหรือไม่ หากผู้ใดสนใจก็ติดต่อมาที่ภาควิชาเคมี เพื่อขอรับคำแนะนำได้ และการประยุกต์ใช้นี้ไม่จำเป็นต้องทำตามขั้นตอน 1 ถึง 10 แต่สามารถก้าวกระโดดจาก 1 เป็น 10 แล้วย้อนรอยกลับมาศึกษากระบวนการที่ 2-8 ภายหลังก็ได้” หัวหน้าฝ่ายวัสดุนาโน กล่าว

ส่วนผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายทั้งสองนี้ ปัจจุบันนักวิจัยของจุฬาฯ กำลังทดสอบด้านการแพ้ ความเป็นพิษ ตลอดจนความสามารถในการยับยั้งแบคทีเรีย คาดว่าไม่เกิน 3 เดือนจะได้ผลการทดสอบ ที่ถูกต้องและครบถ้วนตามขั้นตอนการวิจัย

ที่มา: http://www.komchadluek.net/
Link: http://www.komchadluek.net/2008/02/22/x_it_h001_190863.php?news_id=190863

No comments: