นักศึกษาเอไอทีจับมือแพทย์ศิริราชทดลองสร้างหุ่นยนต์มีชีวิต เผยติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมสมองหนู สั่งเดินสั่งเลี้ยวได้ตามที่นักวิจัยต้องการ อนาคตวางแผนพัฒนาเป็นสัตว์กู้ภัย สัตว์เก็บกู้ระเบิดและสัตว์สอดแนม
นายอนันตชัยนัยจิตร นักศึกษาปริญญาเอก ภาควิชาเมคาทรอนิกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (เอไอที) กล่าวว่า โครงการเชื่อมต่อสมองกับเครื่องจักรกลสำหรับควบคุมสัตว์หุ่นยนต์ เป็นการวิจัยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบควบคุมกลไกการทำงานของสมองสัตว์ สำหรับประยุกต์ใช้ในงานที่มีความเสี่ยงภัยทดแทนแรงงานหุ่นยนต์ที่ไร้ชีวิต รวมถึงแรงงานคนที่เสี่ยงต่ออันตราย
งานวิจัยแบ่งเป็น2 ส่วน คือ การเจาะกะโหลกหนูเพียงเล็กน้อย เพื่อผ่าตัดเชื่อมต่ออิเล็กโทรด ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมระบบประสาทของหนู และการพัฒนาแผงวงจรและรีโมท สำหรับควบคุมระบบประสาท ที่มีหน้าที่สั่งการเคลื่อนไหวของหนู รวมทั้งระบบสมองที่เกี่ยวกับความพึงพอใจ
ผลการทดลองขณะนี้หนูตอบสนองต่อคำสั่งผ่านเครื่องบังคับวิทยุขนาดเล็ก ซึ่งบังคับได้ 3 คำสั่ง คือ ให้หนูเดินตรงไปข้างหน้า ให้เลี้ยวซ้าย ให้เลี้ยวขวา จากการทดลองซ้ำพบหนูหุ่นยนต์สามารถทำตามคำสั่งได้ถูกต้อง 60-70% สิ่งที่จะต้องวิจัยต่อไป คือ การทดสอบด้านความแม่นยำของระบบว่าสามารถสั่งงานให้หนูปฏิบัติตามความต้องการได้หรือไม่
"หุ่นยนต์สัตว์มีชีวิตต้นแบบนี้ประสิทธิภาพดีกว่าหุ่นยนต์ที่ไม่มีชีวิต เนื่องจากสัตว์เมื่อพบสิ่งกีดขวาง จะตัดสินใจหลบหลีกได้ด้วยตัวเอง ขณะที่หุ่นยนต์จะไม่หลบหลีก แถมยังเดินชนวัตถุจนเกิดความเสียหาย" นายอนันตชัย กล่าว
การวิจัยดังกล่าวใช้หนูถึง12 ตัว ความยากอยู่ที่การเชื่อมติดอุปกรณ์อิเล็กโทรด ให้ยึดติดกับกะโหลกหนูทดลอง ซึ่งเป็นเรื่องเปราะบาง อีกทั้งเมื่อเสียบปลั๊กไฟขนาดเล็กซึ่งเชื่อมต่อจากแผงวงจร ให้เข้ากับอุปกรณ์อิเล็กโทรด หนูจะสะบัดทำให้อุปกรณ์หลุดจากกะโหลก จึงต้องเปลี่ยนใช้หนูทดลองใหม่ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อจากบาดแผล
หากโครงงานวิจัยประสบความสำเร็จจะสามารถประยุกต์ใช้หุ่นยนต์หนูนี้ในภารกิจต่างๆ เช่น เก็บกู้วัตถุระเบิด สอดแนมค้นหา รวมถึงกำจัดศัตรูทางการเกษตรได้อีกด้วย
โครงการวิจัยดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างเอไอทีนำทีมโดย รศ.ดร.มนูกิจ พาณิชกุล อาจารย์จากภาควิชาเมคาทรอนิกส์ และ รศ.นพ.ชัยเลิศ พิชิตพรชัย ภาควิชาสรีระวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ได้รับทุน 1.2 ล้านบาท จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย คาดว่าแล้วเสร็จในปี 2551
ที่มา: http://www.komchadluek.net
Link: http://www.komchadluek.net/2008/02/18/x_it_h001_189906.php?news_id=189906
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment