Wednesday, February 20, 2008

หุ่นยนต์สวมช่วยเดินใกล้เป็นจริง


เอไอทีจุดความหวังผู้พิการขา สามารถเดินเหินโดยไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่น เผยรับทุน 2 ล้านบาทจากเนคเทคพัฒนาหุ่นยนต์ขาเทียมในรูปชุดสวม บังคับเดินหน้าถอยหลังผ่านรีโมต

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : นายกิตติพัฒน์ จีรังค์สรรพสุข นักศึกษาปริญญาโทภาควิชาวิศวกรรมเมคาทรอนิกส์ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (เอไอที) กล่าวว่า ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สนับสนุนทุน 2 ล้านบาทให้สถาบัน ดำเนินโครงการพัฒนาหุ่นยนต์ชุดสวมสำหรับผู้พิการขา รวมทั้งผู้ป่วยที่ขาไม่มีแรง และทหารผ่านศึกที่สูญเสียขา ให้สามารถเดินได้คล่องแคล่วโดยไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่น

ทีมงานซึ่งมี รศ.ดร.มนูกิจ พานิชกุล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเมคาทรอนิกส์ เป็นหัวหน้าคณะวิจัย ออกแบบให้หุ่นยนต์ชุดสวม แบกรับน้ำหนักผู้พิการได้ไม่เกิน 60 กก. และความสูงประมาณ 170 ซม.

โครงการเริ่มตั้งแต่ปีที่ผ่านมา คาดว่าอีกประมาณ 1 ปีจะทดสอบใช้งานกับอาสาสมัครในความดูแลของโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
ความคืบหน้าล่าสุดทีมงานอยู่ระหว่างพัฒนาโครงสร้างหุ่นยนต์ขา ควบคู่กับการเขียนโปรแกรมสร้างท่าทางการเดิน ลักษณะการเคลื่อนไหวของข้อต่อ ซึ่งติดตั้งมอเตอร์ 12 ตัว เพื่อให้การเคลื่อนไหวคล้ายกับข้อต่อและขาคนจริงมากที่สุด

การออกแบบคำนึงถึงความสมดุลในการทรงตัวของหุ่นยนต์ขาเทียม หลังรับน้ำหนักของผู้สวม ทั้งนี้ ทีมงานเขียนโปรแกรมควบคุมให้ข้อต่อเคลื่อนไหวได้กว่า 9 หมื่นล้านท่า ซึ่งอ้างอิงจากท่าทางของมนุษย์ในทุกอิริยาบถ

นอกจากนี้ในอนาคตจะติดเซ็นเซอร์ที่เท้า เพื่อให้หลบหลีกสิ่งกีดขวางในกรณีที่ผู้ใช้ไม่สามารถตัดสินใจได้ทัน หรือมองไม่เห็น สำหรับป้องกันการล้มลงของหุ่นยนต์

ดังนั้น การใช้งานหุ่นยนต์ชุดสวมนี้จะควบคุมด้วยรีโมตในการสั่งเดิน ขณะที่เซ็นเซอร์สมองกลจะก้าวหลบหลีกสิ่งกีดขวางอัตโนมัติ

"คาดว่าอีกประมาณ 1 ปี จะทดสอบการเดินจริงบนพื้นถนนและพื้นที่ต่างระดับ เช่น บันได ทางลาดเอียง ส่วนการทดลองที่ผ่านมาต้องการดูประสิทธิภาพการเคลื่อนไหวบริเวณข้อต่อ ขณะที่หุ่นลอยตัวอยู่เหนือพื้นด้วยโครงเหล็กขนาดใหญ่ สำหรับความสะดวกในการเคลื่อนย้ายตัวหุ่น ซึ่งมีน้ำหนักมากถึง 200 กก." นายกิตติพัฒน์ กล่าว

การใช้งานจริง เมื่อหุ่นยนต์เสร็จสมบูรณ์แล้ว ผู้ป่วยจะนั่งอยู่ข้างในหุ่นยนต์ และบังคับให้เดินหน้าถอยหลังได้ด้วยตัวเองผ่านรีโมต
ส่วนผู้พิการที่ไม่มีขา ทีมวิจัยออกแบบให้สามารถนั่งอยู่ได้โดยไม่หล่นลงมา โดยออกแบบโครงสร้างหุ่นยนต์ให้มีที่ล็อกติดกับขา หรือลำตัวที่เหลืออยู่ เพื่อการก้าวไปอย่างสัมพันธ์กันระหว่างกล้ามเนื้อคนกับข้อต่อหุ่นยนต์

กานต์ดา บุญเถื่อน

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com/
Link: http://www.bangkokbiznews.com/2008/02/20/WW54_5405_news.php?newsid=228650

No comments: