Wednesday, February 20, 2008

จุฬาฯหนุนเอกชนต่อยอดซิลเวอร์นาโน


ผลงานวิจัยซิลเวอร์นาโนจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดโอกาสให้เอกชนนำไปประยุกต์ใช้เคลือบไส้กรองน้ำปลอดแบคทีเรีย เผยวางจำหน่ายในตลาดมากว่า 2 ปีเตรียมลุยระบบประปาหมู่บ้าน

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : นายนที สวาทยานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟิวเตอร์มาร์ค จำกัด เปิดเผยว่าได้ร่วมกับฝ่ายวัสดุนาโน ศูนย์นวัตกรรมนาโนเทคโนโลยี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาซิลเวอร์นาโนขึ้นเองมาเคลือบไส้กรอง เพื่อลดต้นทุนนำเข้าซิลเวอร์นาโนจากสหรัฐ ซึ่งตกกิโลกรัมละ 1 หมื่นบาท

"ไส้กรองเคลือบอนุภาคนาโนของนักวิจัยจุฬาฯ ช่วยลดต้นทุนซิลเวอร์นาโนนำเข้าจากเดิม 1 หมื่นบาทต่อกิโลกรัม เหลือกิโลกรัมละประมาณ 3 พันบาทส่งผลบริษัทมียอดขายภายในและนอกประเทศรวมกันกว่า 30 ล้านบาท" นายนที กล่าว

จากการทดสอบประสิทธิภาพของไส้กรองที่เคลือบสารซิลเวอร์นาโนเปรียบเทียบกับไส้กรองปกติที่ไม่เคลือบสารซิลเวอร์นาโนพบว่าเมื่อนำเชื้อแบคทีเรียมาเพาะในเครื่องกรองน้ำ เครื่องที่มีไส้กรองเคลือบสารสามารถกำจัดแบคทีเรียได้ถึง 99.99%

ส่วนเครื่องกรองน้ำที่มีเพียงถ่านหรือแท่งคาร์บอนซึ่งมีคุณสมบัติพื้นฐานดูดกลิ่น ดูดสีได้ดีสามารถกรองแบคทีเรียได้เพียง 88% โดยผ่านการรับรองมาตรฐาน NSF ของสหรัฐอเมริกาแล้ว

นอกจากฆ่าเชื้อแบคทีเรียแล้ว การนำซิลเวอร์นาโนมาเคลือบไส้กรองยังช่วยลดปริมาณการล้างเครื่องกรองน้ำได้อีกด้วย

จากเดิมที่เครื่องกรองน้ำทั่วไปต้องถอดออกทำความสะอาดประมาณเดือนละครั้งเนื่องจากคราบตะไคร่น้ำที่จับผนังตู้ใส่น้ำ เป็นไม่ต้องล้างเลยตลอดอายุการใช้งาน เนื่องจากซิลเวอร์นาโนจะทำหน้าที่ทำลายการเจริญเติบโตของผนังเซลล์แบคทีเรีย

นอกจากการนำซิลเวอร์นาโนไปประยุกต์ใช้กับเครื่องกรองน้ำที่มีอยู่ตามบ้านแล้ว บริษัทยังร่วมกับทีมนักวิจัยจากอเมริกาและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพัฒนาระบบกรองน้ำประปาหมู่บ้าน หรือเครื่องกรองน้ำระดับอุตสาหกรรมหรือที่เรียกว่าอัลตราฟิวเตชั่น
ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการพัฒนาวิธีการเคลือบสารว่าใช้ขนาดของอนุภาคเท่าไร จึงเหมาะสมคาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมวางจำหน่ายในอีก 2 ปีข้างหน้า โดยกลุ่มเป้าหมายที่ตั้งไว้จะเป็นกลุ่มลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ

รศ.ดร.สนอง เอกสิทธิ์ หัวหน้าฝ่ายวัสดุนาโน ศูนย์นวัตกรรมนาโนเทคโนโลยีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เทคโนโลยีซิลเวอร์นาโนนี้ไม่เพียงนำไปใช้กับอุตสาหกรรมเครื่องกรองน้ำเท่านั้น แต่ยังสามารถประยุกต์ใช้ได้กับทุกอุตสาหกรรม

ไม่ว่าจะเป็น อุตสาหกรรมสิ่งทอโดยการเคลือบในเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มเพื่อเพิ่มคุณสมบัติจำเพาะอุตสาหกรรมยาง เช่น รองเท้า อุตสาหกรรมอาหาร เช่น ภาชนะบรรจุภัณฑ์ อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง เช่น แป้งทาผิว โลชั่น โรลออน อุตสาหกรรมเครื่องประดับ เช่น การเคลือบมุกเพื่อเพิ่มความเงางามและเพิ่มมูลค่า ทางการแพทย์ เช่น การเคลือบ เครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อการปลอดเชื้อ เป็นต้น

ที่ผ่านมามี ผู้ประกอบการเข้ารับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตและนำสารซิลเวอร์นาโนไปประยุกต์ใช้กับผลิตภัณฑ์ของบริษัทเพื่อต่อยอดเชิงพาณิชย์ แล้วจำนวน 5 ราย และยังประยุกต์ได้อีกกว้างขวาง

กานต์ดา บุญเถื่อน

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com/
Link: http://www.bangkokbiznews.com/2008/02/20/WW54_5401_news.php?newsid=230974

No comments: