Friday, February 22, 2008

พบระบบสุริยะมีบริวารคล้ายโลก

นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอริโซน่าส่องกล้องโทรทรรศน์ดูระบบสุริยะในกาแล็กซีทางช้างเผือกพบดาวเคราะห์คล้ายโลกโคจรรอบดาวเหมือนดวงอาทิตย์เป็นไปได้ว่าอาจมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่

ไมเคิลเมเยอร์ นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอริโซน่า เปิดเผยว่า เขาพบดาวฤกษ์ที่มีลักษณะเหมือนดวงอาทิตย์ และมีสภาพเหมาะสมต่อการก่อตัวของดาวเคราะห์หินที่เหมือนกับโลก เมื่อได้ศึกษาวิวัฒนาการของก๊าซและฝุ่นละอองที่โคจรรอบดาวฤกษ์เหล่านั้น จะช่วยให้เข้าใจถึงการก่อตัวและวิวัฒนาการของระบบดาวเคราะห์ได้ยิ่งขึ้น หมายความว่า ถ้าสิ่งมีชีวิตสามารถดำรงอยู่ในระบบสุริยะอื่นได้ ก็แปลว่าดาวเคราะห์อื่นที่คล้ายโลกเอื้อต่อการดำรงชีวิตอยู่ของสิ่งมีชีวิตเหมือนกันหมด

ถึงกระนั้นยังต้องวิจัยเพิ่มเติมเพื่อหาคำตอบให้ได้ว่ามีสิ่งมีชีวิตอื่นในจักรวาลหรือไม่หมายความว่านักวิจัยต้องมีข้อมูลมากกว่านี้ ปฏิบัติการสำรวจอวกาศมากขึ้น เฝ้าสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ เพื่อหาข้อมูลมารองรับทฤษฎีการก่อตัวของดาวเคราะห์ และนำมาใช้เป็นแนวทางค้นหาสิ่งมีชีวิตในจักรวาล

ไมเคิลและทีมนักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษากลุ่มดาวฤกษ์6 กลุ่ม มีลักษณะคล้ายดวงอาทิตย์ และจัดอันดับอายุของดาวเหล่านั้น ดาวฤกษ์ที่มีอายุน้อยสุดอยู่ระหว่าง 10-30 ล้านปี ดวงที่เก่าแก่ที่สุดอายุ 1-3 พันล้านปี เทียบกับดวงอาทิตย์ที่มีโลกและดาวเคราะห์บริวารอื่นโคจรอยู่มีอายุราว 4.57 พันล้านปี

ที่มา: http://www.komchadluek.net/
Link: http://www.komchadluek.net/2008/02/22/x_it_h001_190860.php?news_id=190860

แป้งนาโนทาหยุดกลิ่น งานวิจัยจุฬายกระดับเครื่องสำอาง

ผู้ผลิตเครื่องสำอางจับมือคณะวิทย์จุฬาฯ พัฒนาโรลออนและแป้งทาตัวสูตรยับยั้งแบคทีเรีย อีก 2 เดือนเข็นสู่ตลาด เผยเป็นผลิตภัณฑ์นาโนระงับกลิ่นกายรายแรก ที่ใช้สารนาโนไทย

นางวรพรรณี ชัยพรหมประสิทธิ์ ผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์ บริษัท เอสเอสยูพี 1991 (กรุงเทพ) จำกัด ผู้ผลิตเครื่องสำอางแบรนด์คิวเพรส กล่าวว่า หลังจากส่งนักวิจัยของบริษัทไปศึกษาวิธีการประยุกต์ใช้ "สารซิลเวอร์นาโน" ในผลิตภัณฑ์แป้งและโรลออนระงับกลิ่นกาย จากศูนย์นวัตกรรมนาโนเทคโนโลยี ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คาดว่าไม่เกิน 2 เดือน ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะออกสู่ตลาด

บริษัทถือเป็นรายแรกที่นำสารซิลเวอร์นาโน ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของจุฬาฯ มาเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์แป้งและโรลออน เพื่อเพิ่มคุณสมบัติการยับยั้งแบคทีเรียตามจุดต่างๆ ของร่างกาย จากนั้นทดสอบในอาสาสมัคร 30 คน เพื่อดูการระคายเคือง ความเป็นพิษต่อผิวหนัง และประสิทธิภาพการยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย โดยทาแป้งตามลำตัว และทาโรลออนบริเวณรักแร้

ทีมงานเก็บข้อมูลครั้งแรกที่ครึ่งชั่วโมงแรกหลังทา และเมื่อครบ 4, 8, 12 และ 24 ชั่วโมงตามลำดับ พบว่าสามารถยับยั้งแบคทีเรียได้ 100 เปอร์เซ็นต์ อาสมัครไม่เกิดการแพ้แต่อย่างใด ทั้งยังพึงพอใจต่อตัวผลิตภัณฑ์เนื่องจากช่วยระงับกลิ่นกายได้จริง ทั้งยังมีกลิ่นหอมของดอกไม้ ซึ่งได้จากดอกกุกลาบขาว และกลิ่นคูลเกิร์ลซึ่งสังเคราะห์ขึ้นมาเป็นส่วนผสม

รศ.ดร.สนอง เอกสิทธิ์ หัวหน้าฝ่ายวัสดุนาโน กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายทั้งสองแบบ เป็นการนำงานวิจัยไปต่อยอดส่วนหนึ่งเท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีอุตสาหกรรมยาง อุตสาหกรรมเครื่องประดับ อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมสิ่งทอและอุตสาหกรรมเครื่องกรองน้ำที่ติดต่อมา เพื่อใช้สารนาโนดังกล่าว

“เทคโนโลยีซิลเวอร์นาโนยังประยุกต์ใช้ได้กับอีกหลายอุตสาหกรรม ขึ้นอยู่กับว่าผู้ประกอบการต้องการยกระดับผลิตภัณฑ์ของตนหรือไม่ หากผู้ใดสนใจก็ติดต่อมาที่ภาควิชาเคมี เพื่อขอรับคำแนะนำได้ และการประยุกต์ใช้นี้ไม่จำเป็นต้องทำตามขั้นตอน 1 ถึง 10 แต่สามารถก้าวกระโดดจาก 1 เป็น 10 แล้วย้อนรอยกลับมาศึกษากระบวนการที่ 2-8 ภายหลังก็ได้” หัวหน้าฝ่ายวัสดุนาโน กล่าว

ส่วนผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายทั้งสองนี้ ปัจจุบันนักวิจัยของจุฬาฯ กำลังทดสอบด้านการแพ้ ความเป็นพิษ ตลอดจนความสามารถในการยับยั้งแบคทีเรีย คาดว่าไม่เกิน 3 เดือนจะได้ผลการทดสอบ ที่ถูกต้องและครบถ้วนตามขั้นตอนการวิจัย

ที่มา: http://www.komchadluek.net/
Link: http://www.komchadluek.net/2008/02/22/x_it_h001_190863.php?news_id=190863

Wednesday, February 20, 2008

ฟอลซิลปิศาจ "กบยักษ์โบราณ" กินลูกไดโนเสาร์เป็นอาหาร


บีบีซีนิวส์/เอพี/เอเยนซี - นักวิทยาศาสตร์อังกฤษ-สหรัฐฯ เผยฟอสซิลที่พบในมาดากัสการ์เป็นของกบยักษ์ที่มีชีวิตเมื่อกว่า 70 ล้านปีมาแล้ว ตัวใหญ่เท่าลูกบอล หนักถึง 4 กิโลกรัม สันนิษฐานกินได้แม้กระทั่งลูกไดโนเสาร์เกิดใหม่ ตั้งชื่อให้เป็น "กบนรก"

ฟอสซิลกบที่ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน (University College London: UCL) แห่งอังกฤษและมหาวิทยาลัยสโตนีบรูก (Stony Brook University) แห่งสหรัฐอเมริกาค้นพบในมาดากัสการ์เมื่อปี 2536 นั้น ได้ข้อสรุปแล้วว่าเป็นฟอสซิลของสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่มีชีวิตอยู่เมื่อ 65-70 ล้านปีมาแล้ว โดยมีความยาวลำตัว 40 เซนติเมตร ขนาดพอๆ กับลูกโบว์ลิง และหนักถึง 4 กิโลกรัม นับเป็นกบใหญ่ที่สุดที่เคยพบ

ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้ตั้งชื่อให้กบนี้ว่า "บีลซีบูโฟ" (Beelzebofo) ซึ่งหมายถึง "กบที่มาจากนรก" โดยเป็นการผสมคำระหว่าง "บีลซีบุบ" (Beelzebub) ซึ่งเป็นภาษากรีกที่มีความหมายว่า "ปีศาจ" และคำว่า "บูโฟ" (bufo) ซึ่งหมายถึงสัตว์เลื้อยคลานจำพวกกบ คางคก จิ้งเหลนซึ่งกินแมลงเป็นอาหาร

ทั้งนี้กบดึกดำบรรพ์ดังกล่าวมีความแตกต่างอย่างชัดเจนกับกบปัจจุบันที่อาศัยในบริเวณที่พบฟอลซิล

ตามข้อมูลจากเดวิด เคราส์ (David Krause) นักบรรพชีวินวิทยาจากสหรัฐฯ ที่ร่วมค้นพบฟอสซิลกบชนิดนี้ชี้ให้เห็นว่า โครงสร้างปากของกบโบราณนี้แสดงถึงปากที่กว้างและขากรรไกรที่ทรงพลัง รวมทั้งยังมีฟัน และยังมีลักษณะทางกายภาพที่มีกะโหลกค่อนข้างหนา ดังนั้นสัตว์เลื้อยคลานดึกดำบรรพ์นี้อาจไม่ได้กินอาหารอย่างพร่ำเพรื่อ และสันนิษฐานว่ากบชนิดนี้กินลูกไดโนเสาร์เกิดใหม่เป็นอาหาร

"เป็นไปได้ว่ากบปิศาจนี้จะสามารถฉีกกินกิ้งก่า สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม กบตัวเล็กๆ และด้วยขนาดของมันเป็นไปได้ว่ามันอาจกินได้แม้กระทั่งไดโนเสาร์ที่เพิ่งฟักตัวออกจากไข่" เคราส์กล่าว

ด้านซูซาน อีวานส์ (Susan Evans) นักวิจัยจากภาควิชาเซลล์และชีววิทยาพัฒนาการ มหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน เสริมว่ากบโบราณนี้ค่อนข้างมีพฤติกรรมโหดร้ายและมีความสัมพันธ์กับกบมีเขา (Horned frog) ในปัจจุบันซึ่งมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า "เซราโทไฟร์ส" (Ceratophys) โดยกบยุคไดโนเสาร์นั้นมีขาสั้นและปากใหญ่ ซึ่งหากกบชนิดนี้มีลักษณะร่วมเช่นเดียวกับกบพันธุ์ปัจจุบันคือมีความก้าวร้าวและพฤติกรรมซุ่มโจมตีเหยื่อแล้ว กบนรกนี้ก็นับเป็นนักล่าที่น่าเกรงขามสำหรับสัตว์เล็กๆ

เคราส์เพิ่มเติมว่าความใกล้เคียงกับกบมีเขาในอเมริกาใต้และความเชื่อมโยงในวงศ์ (family) ของกบโบราณกับกบปัจจุบันช่วยให้นักบรรพชีวินวิทยาต่อจิ๊กซอว์ทฤษฎีการแยกกันของแผ่นทวีปซึ่งทำให้มาดากัสการ์แยกออกจากอเมริกาใต้ในช่วงที่กบบีลซีบูโฟมีชีวิตอยู่ ซึ่งการแยกแผ่นดินในครั้งนั้นทำให้กบโบราณไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ท่ามกลางน้ำเค็ม ความเชื่อมโยงนี้ยังบ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ว่ามาดากัสการ์เชื่อมโยงกับแอนตาร์กติการ์ซึ่งน่าจะมีอากาศอบอุ่นมากกว่าทุกวันนี้

กบใหญ่ที่สุดในปัจจุบันพบในแอฟริกาตะวันตกเป็นกบยักษ์ (giliath frog) ซึ่งมีความยาวประมาณ 30 เซนติเมตรและหนัก 3.3 กิโลกรัมแต่กบชนิดนี้ไม่มีความสัมพันธ์กับกบบีลซีบูโฟ

ทั้งนี้มีกบอยู่บนโลกเมื่อ 180 ล้านปีมาแล้วและโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพของสัตว์ชนิดก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก ส่วนกบปีศาจที่ทีมวิจัยพบนี้มีชีวิตอยู่ในยุคครีเตเชียส (Cretaceous) ซึ่งเป็นยุคที่ไดโนเสาร์สูญพันธุ์เมื่ออุกกาบาตขนาดใหญ่พุ่งชนโลกเมื่อ 65ล้านปีที่แล้ว

กบบีลซีบูโฟไม่ได้ใช้ชีวิตยุ่งเกี่ยวกับน้ำหรือกระโดดท่ามกลางพรมหญ้า หากแต่อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่กึ่งแห้งแล้ง ส่วนรูปแบบการล่าเหยื่ออาจคล้ายกับกบในปัจจุบันคืออำพรางตัวแล้วกระโดดเข้าหาเหยื่อ

อย่างไรก็ดีแม้ว่ามันจะเป็นราชาแห่งกบแต่บูลซีบูโฟก็ไม่ได้เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำที่ใหญ่ที่สุด โดย "ไพรโอโนซูชัส" (Prionosuchus) ซึ่งมีลักษณะคล้ายจรเข้และมีความยาวถึง 9 เมตร คือสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำที่ครองตำแหน่งใหญ่สุดและมีชีวิตอยู่ในยุคเพอร์เมียน (Permian Period) ที่สิ้นสุดไปเมื่อ 250 ล้านปีมาแล้ว

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9510000020975

หุ่นยนต์สวมช่วยเดินใกล้เป็นจริง


เอไอทีจุดความหวังผู้พิการขา สามารถเดินเหินโดยไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่น เผยรับทุน 2 ล้านบาทจากเนคเทคพัฒนาหุ่นยนต์ขาเทียมในรูปชุดสวม บังคับเดินหน้าถอยหลังผ่านรีโมต

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : นายกิตติพัฒน์ จีรังค์สรรพสุข นักศึกษาปริญญาโทภาควิชาวิศวกรรมเมคาทรอนิกส์ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (เอไอที) กล่าวว่า ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สนับสนุนทุน 2 ล้านบาทให้สถาบัน ดำเนินโครงการพัฒนาหุ่นยนต์ชุดสวมสำหรับผู้พิการขา รวมทั้งผู้ป่วยที่ขาไม่มีแรง และทหารผ่านศึกที่สูญเสียขา ให้สามารถเดินได้คล่องแคล่วโดยไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่น

ทีมงานซึ่งมี รศ.ดร.มนูกิจ พานิชกุล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเมคาทรอนิกส์ เป็นหัวหน้าคณะวิจัย ออกแบบให้หุ่นยนต์ชุดสวม แบกรับน้ำหนักผู้พิการได้ไม่เกิน 60 กก. และความสูงประมาณ 170 ซม.

โครงการเริ่มตั้งแต่ปีที่ผ่านมา คาดว่าอีกประมาณ 1 ปีจะทดสอบใช้งานกับอาสาสมัครในความดูแลของโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
ความคืบหน้าล่าสุดทีมงานอยู่ระหว่างพัฒนาโครงสร้างหุ่นยนต์ขา ควบคู่กับการเขียนโปรแกรมสร้างท่าทางการเดิน ลักษณะการเคลื่อนไหวของข้อต่อ ซึ่งติดตั้งมอเตอร์ 12 ตัว เพื่อให้การเคลื่อนไหวคล้ายกับข้อต่อและขาคนจริงมากที่สุด

การออกแบบคำนึงถึงความสมดุลในการทรงตัวของหุ่นยนต์ขาเทียม หลังรับน้ำหนักของผู้สวม ทั้งนี้ ทีมงานเขียนโปรแกรมควบคุมให้ข้อต่อเคลื่อนไหวได้กว่า 9 หมื่นล้านท่า ซึ่งอ้างอิงจากท่าทางของมนุษย์ในทุกอิริยาบถ

นอกจากนี้ในอนาคตจะติดเซ็นเซอร์ที่เท้า เพื่อให้หลบหลีกสิ่งกีดขวางในกรณีที่ผู้ใช้ไม่สามารถตัดสินใจได้ทัน หรือมองไม่เห็น สำหรับป้องกันการล้มลงของหุ่นยนต์

ดังนั้น การใช้งานหุ่นยนต์ชุดสวมนี้จะควบคุมด้วยรีโมตในการสั่งเดิน ขณะที่เซ็นเซอร์สมองกลจะก้าวหลบหลีกสิ่งกีดขวางอัตโนมัติ

"คาดว่าอีกประมาณ 1 ปี จะทดสอบการเดินจริงบนพื้นถนนและพื้นที่ต่างระดับ เช่น บันได ทางลาดเอียง ส่วนการทดลองที่ผ่านมาต้องการดูประสิทธิภาพการเคลื่อนไหวบริเวณข้อต่อ ขณะที่หุ่นลอยตัวอยู่เหนือพื้นด้วยโครงเหล็กขนาดใหญ่ สำหรับความสะดวกในการเคลื่อนย้ายตัวหุ่น ซึ่งมีน้ำหนักมากถึง 200 กก." นายกิตติพัฒน์ กล่าว

การใช้งานจริง เมื่อหุ่นยนต์เสร็จสมบูรณ์แล้ว ผู้ป่วยจะนั่งอยู่ข้างในหุ่นยนต์ และบังคับให้เดินหน้าถอยหลังได้ด้วยตัวเองผ่านรีโมต
ส่วนผู้พิการที่ไม่มีขา ทีมวิจัยออกแบบให้สามารถนั่งอยู่ได้โดยไม่หล่นลงมา โดยออกแบบโครงสร้างหุ่นยนต์ให้มีที่ล็อกติดกับขา หรือลำตัวที่เหลืออยู่ เพื่อการก้าวไปอย่างสัมพันธ์กันระหว่างกล้ามเนื้อคนกับข้อต่อหุ่นยนต์

กานต์ดา บุญเถื่อน

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com/
Link: http://www.bangkokbiznews.com/2008/02/20/WW54_5405_news.php?newsid=228650

ชาวตะวันตกได้เห็น "จันทรุปราคาเต็มดวง" ฉลองมาฆบูชาปีนี้


"วันมาฆบูชา" ปีนี้ ชาวตะวันตกจะมีโอกาสชมปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงสีแดงอิฐตั้งแต่ต้นจนจบ นักดาราศาสตร์เมืองแปดริ้วเผยน่าเสียดายคนในเอเชียรวมถึงไทย พร้อมด้วยออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และฮาวาย จะ "อด" ไปตามระเบียบ ชี้หากคนไทยหวังจะชมอาจต้องรอนานถึง 3 ปี

นายวรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิต ครูภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านดาราศาสตร์จากหอดูดาวบัณฑิต จ.ฉะเชิงเทรา เปิดเผยว่า ในช่วงเช้าวันมาฆบูชาซึ่งตรงกับวันที่ 21 ก.พ.51 ที่จะถึงนี้จะเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงขึ้น ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดจากการที่ดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์โคจรมาอยู่ในระนาบเดียวกันทำให้เงามืดและเงามัวของโลกทอดไปบดบังดวงจันทร์ทั้งดวง และทำให้ดูเหมือนดวงจันทร์มีสีแดงอิฐ

อย่างไรก็ดีคนไทยจะพลาดชมปรากฏการณ์ดังกล่าว

เขาเผยว่า จันทรุปราคาเต็มดวงครั้งแรกของปี 51 นี้จะเกิดขึ้นตั้งแต่เวลา 07.35 -13.17 น.ตามเวลาประเทศไทย โดยดวงจันทร์จะโคจรเข้าสู่เงามัวของโลกเวลา 07.35 น. เริ่มเข้าสู่เงามืดเวลา 08.43 น. เกิดจันทรุปราคาเต็มดวงเวลา 10.00 น. เข้าสู่กึ่งกลางคราสเวลา 10.26 น. เริ่มโคจรออกจากเงามืดเวลา 10.51 น. ออกจากเงามืดและสัมผัสกับเงามัวเวลา 12.09 น. และจะสิ้นสุดปรากฏการณ์ในเวลา 13.17 น.

รวมเวลาเกิดปรากฏการณ์ทั้งสิ้น 5 ชั่วโมง 42 นาที โดยดวงจันทร์จะเข้าไปในเงามืดกินเวลานาน 51 นาที

สำหรับพื้นที่ที่ได้ชมปรากฏการณ์ตั้งแต่เริ่มจนสิ้นสุดได้แก่ ประเทศในแถบยุโรปตะวันตก เช่น อังกฤษ ทวีปแอฟริกา ทวีปอเมริกาเหนือ ทวีปอเมริกาใต้ และเขตอาร์กติก โดยผู้ชมในทวีปอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้จะเห็นปรากฏการณ์ในช่วงหัวค่ำวันที่ 20 ก.พ.51 จนถึงเที่ยงคืน ส่วนคนในทวีปยุโรปและแอฟริกาจะเห็นปรากฏการณ์ก่อนดวงจันทร์ตกในเช้ามืดวันที่ 21 ก.พ.51

ขณะที่ประเทศในแถบทวีปเอเชียตะวันออกเช่นไทย รวมถึงประเทศออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และหมู่เกาะฮาวายจะไม่เห็นปรากฏการณ์ดังกล่าวเลย เพราะจะตรงกับช่วงกลางวันที่ดวงจันทร์ได้ตกลับขอบฟ้าไปแล้ว

"น่าเสียดายที่เราไม่มีโอกาสเห็นจันทรุปราคาครั้งนี้ แต่ที่ประเทศอังกฤษจะเห็นได้ชัดทีเดียวซึ่งเขาต่างสนใจดูกันมาก เราก็สามารถติดตามได้จากสำนักข่าวต่างประเทศนำมารายงาน แต่หากเราได้เห็นเองด้วยก็ถือเป็นโอกาสที่พาเยาวชนมาชมปรากฏการณ์ดาราศาสตร์นี้" นายวรวิทย์กล่าว

ครูภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านดาราศาสตร์ จ.ฉะเชิงเทรา ให้ข้อมูลต่อไปว่า ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงครั้งหน้าในประเทศไทยอาจต้องทิ้งช่วงห่างออกไปเพราะจันทรุปราคาเต็มดวงจะเวียนมาเกิดยังประเทศไทยเป็นประจำทุกๆ 2 -3 ปี แต่หากเป็นจันทรุปราคาบางส่วนนั้นจะมีโอกาสเห็นได้มากกว่าเพราะจะเกิดประจำทุกปี ปีละ 2 -3 ครั้ง

ส่วนนายวรเชษฐ์ บุญปลอด กรรมการสมาคมดาราศาสตร์ไทย กล่าวถึงความสำคัญของปรากฏการณ์จันทรุปราคาว่า ในอดีตนักดาราศาสตร์จะศึกษาการเกิดจันทรุปราคาเพื่อศึกษาการเคลื่อนที่ของดวงจันทร์และขนาดของโลกจากปรากฏการณ์นี้ โดยนำระยะเวลาทั้งหมดที่เกิดปรากฏการณ์มาคำนวณ ซึ่งปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ทำให้การคำนวณแม่นยำขึ้นมาทดแทน

"สำหรับประโยชน์อื่นๆ ที่ได้คือทำให้ผู้คนเข้าใจในปรากฏการณ์ธรรมชาตินี้มากขึ้นว่าไม่ใช่ราหูอมดวงจันทร์อย่างคนเชื่อกันเหมือนเมื่อก่อน แต่เราสามารถคำนวณการเกิดล่วงหน้าว่าจะเกิดที่ไหน และเมื่อไร" นายวรเชษฐ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม จันทรุปราคาครั้งแรกของปีนี้ก็ไม่ได้เป็นอุปราคาครั้งแรกในปี 2551 โดยนายวรเชษฐ์ เผยว่า เมื่อวันที่ 7 ก.พ.51 ที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับวันตรุษจีนที่ชาวไทยเชื้อสายจีนเฉลิมฉลองกันก็ได้เกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาวงแหวนเป็นอุปราคาครั้งแรกของปีไปแล้ว แต่มีพื้นที่ที่เห็นสุริยุปราคาวงแหวนเป็นพื้นที่แคบๆ เท่านั้น ได้แก่บางหนึ่งของทวีปแอนตาร์กติกา มหาสมุทรใต้ และตอนใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก เช่น ประเทศออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9510000020881

คิวท์เพรสวางขายแป้งนาโนต้านแบคทีเรีย


ผู้ผลิตเครื่องสำอางจับมือคณะวิทย์จุฬาฯ พัฒนาโรลออนและแป้งทาตัวสูตรยับยั้งแบคทีเรีย อีก 3 เดือนเข็นสู่ตลาด เผยเป็นผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายรายแรกที่ใช้สารนาโนฝีมือคนไทย

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : ผู้ผลิตเครื่องสำอางแบรนด์คิวท์เพรส ส่งนักวิจัยของบริษัทไปศึกษาวิธีการประยุกต์ใช้ "สารซิลเวอร์นาโน" ในผลิตภัณฑ์แป้งและโรลออนระงับกลิ่นกาย จากศูนย์นวัตกรรมนาโนเทคโนโลยี ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คาดว่าไม่เกิน 3 เดือน ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะออกสู่ตลาด

นางวรพรรณี ชัยพรหมประสิทธิ์ ผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์ บริษัท เอสเอสยูพี 1991 (กรุงเทพ) จำกัด กล่าวว่า บริษัทถือเป็นรายแรกที่นำสารซิลเวอร์นาโน ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของจุฬาฯ มาเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์แป้งและโรลออน เพื่อเพิ่มคุณสมบัติการยับยั้งแบคทีเรียตามจุดต่างๆ ของร่างกาย

โดยได้ทดสอบในอาสาสมัคร 30 คน เพื่อดูการระคายเคือง ความเป็นพิษต่อผิวหนัง และประสิทธิภาพการยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย โดยทาแป้งตามลำตัวและทาโรลออนบริเวณรักแร้

ทีมงานเก็บข้อมูลครั้งแรกที่ครึ่งชั่วโมงแรกหลังทา และเมื่อครบ 4, 8, 12 และ 24 ชั่วโมงตามลำดับ พบว่าสามารถยับยั้งแบคทีเรียได้ 100% อาสาสมัครไม่เกิดการแพ้แต่อย่างใด ทั้งยังพึงพอใจต่อตัวผลิตภัณฑ์เนื่องจากช่วยระงับกลิ่นกายได้จริง
นอกจากนี้ยังมีกลิ่นหอมของดอกไม้ ซึ่งได้จากดอกกุหลาบขาว และกลิ่นคูลเกิร์ล ที่สังเคราะห์ขึ้นมาเป็นส่วนผสม

นอกจากการทดสอบในอาสาสมัครแล้ว บริษัทยังอยู่ระหว่างพัฒนากระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ต้านแบคทีเรียทั้งสอง เพื่อให้มีมาตรฐานทุกครั้งที่เดินเครื่อง คาดว่าทุกอย่างจะสมบูรณ์และพร้อมวางตลาดได้ภายใน 3 เดือนนี้

ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์แป้งและโรลออนระงับกลิ่นกายด้วยสารซิลเวอร์นาโน ถือเป็นผลิตภัณฑ์แรกที่ใช้สารซิลเวอร์นาโนฝีมือคนไทย จากที่ผ่านมาอาศัยสารนำเข้าซึ่งราคาหลักหมื่นต่อกิโลกรัม ขณะที่สารนาโนของไทยราคาถูกกว่าประมาณ 3 เท่าตัว

รศ.ดร.สนอง เอกสิทธิ์ หัวหน้าฝ่ายวัสดุนาโน ศูนย์นวัตกรรมนาโนเทคโนโลยี กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายทั้งสองแบบ เป็นการนำงานวิจัยไปต่อยอดส่วนหนึ่งเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมยาง อุตสาหกรรมเครื่องประดับ อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมสิ่งทอและอุตสาหกรรมเครื่องกรองน้ำที่ติดต่อมา เพื่อใช้สารนาโนดังกล่าว

กานต์ดา บุญเถื่อน

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com/
Link: http://www.bangkokbiznews.com/2008/02/20/WW54_5404_news.php?newsid=231305

จุฬาฯหนุนเอกชนต่อยอดซิลเวอร์นาโน


ผลงานวิจัยซิลเวอร์นาโนจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดโอกาสให้เอกชนนำไปประยุกต์ใช้เคลือบไส้กรองน้ำปลอดแบคทีเรีย เผยวางจำหน่ายในตลาดมากว่า 2 ปีเตรียมลุยระบบประปาหมู่บ้าน

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : นายนที สวาทยานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟิวเตอร์มาร์ค จำกัด เปิดเผยว่าได้ร่วมกับฝ่ายวัสดุนาโน ศูนย์นวัตกรรมนาโนเทคโนโลยี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาซิลเวอร์นาโนขึ้นเองมาเคลือบไส้กรอง เพื่อลดต้นทุนนำเข้าซิลเวอร์นาโนจากสหรัฐ ซึ่งตกกิโลกรัมละ 1 หมื่นบาท

"ไส้กรองเคลือบอนุภาคนาโนของนักวิจัยจุฬาฯ ช่วยลดต้นทุนซิลเวอร์นาโนนำเข้าจากเดิม 1 หมื่นบาทต่อกิโลกรัม เหลือกิโลกรัมละประมาณ 3 พันบาทส่งผลบริษัทมียอดขายภายในและนอกประเทศรวมกันกว่า 30 ล้านบาท" นายนที กล่าว

จากการทดสอบประสิทธิภาพของไส้กรองที่เคลือบสารซิลเวอร์นาโนเปรียบเทียบกับไส้กรองปกติที่ไม่เคลือบสารซิลเวอร์นาโนพบว่าเมื่อนำเชื้อแบคทีเรียมาเพาะในเครื่องกรองน้ำ เครื่องที่มีไส้กรองเคลือบสารสามารถกำจัดแบคทีเรียได้ถึง 99.99%

ส่วนเครื่องกรองน้ำที่มีเพียงถ่านหรือแท่งคาร์บอนซึ่งมีคุณสมบัติพื้นฐานดูดกลิ่น ดูดสีได้ดีสามารถกรองแบคทีเรียได้เพียง 88% โดยผ่านการรับรองมาตรฐาน NSF ของสหรัฐอเมริกาแล้ว

นอกจากฆ่าเชื้อแบคทีเรียแล้ว การนำซิลเวอร์นาโนมาเคลือบไส้กรองยังช่วยลดปริมาณการล้างเครื่องกรองน้ำได้อีกด้วย

จากเดิมที่เครื่องกรองน้ำทั่วไปต้องถอดออกทำความสะอาดประมาณเดือนละครั้งเนื่องจากคราบตะไคร่น้ำที่จับผนังตู้ใส่น้ำ เป็นไม่ต้องล้างเลยตลอดอายุการใช้งาน เนื่องจากซิลเวอร์นาโนจะทำหน้าที่ทำลายการเจริญเติบโตของผนังเซลล์แบคทีเรีย

นอกจากการนำซิลเวอร์นาโนไปประยุกต์ใช้กับเครื่องกรองน้ำที่มีอยู่ตามบ้านแล้ว บริษัทยังร่วมกับทีมนักวิจัยจากอเมริกาและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพัฒนาระบบกรองน้ำประปาหมู่บ้าน หรือเครื่องกรองน้ำระดับอุตสาหกรรมหรือที่เรียกว่าอัลตราฟิวเตชั่น
ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการพัฒนาวิธีการเคลือบสารว่าใช้ขนาดของอนุภาคเท่าไร จึงเหมาะสมคาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมวางจำหน่ายในอีก 2 ปีข้างหน้า โดยกลุ่มเป้าหมายที่ตั้งไว้จะเป็นกลุ่มลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ

รศ.ดร.สนอง เอกสิทธิ์ หัวหน้าฝ่ายวัสดุนาโน ศูนย์นวัตกรรมนาโนเทคโนโลยีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เทคโนโลยีซิลเวอร์นาโนนี้ไม่เพียงนำไปใช้กับอุตสาหกรรมเครื่องกรองน้ำเท่านั้น แต่ยังสามารถประยุกต์ใช้ได้กับทุกอุตสาหกรรม

ไม่ว่าจะเป็น อุตสาหกรรมสิ่งทอโดยการเคลือบในเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มเพื่อเพิ่มคุณสมบัติจำเพาะอุตสาหกรรมยาง เช่น รองเท้า อุตสาหกรรมอาหาร เช่น ภาชนะบรรจุภัณฑ์ อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง เช่น แป้งทาผิว โลชั่น โรลออน อุตสาหกรรมเครื่องประดับ เช่น การเคลือบมุกเพื่อเพิ่มความเงางามและเพิ่มมูลค่า ทางการแพทย์ เช่น การเคลือบ เครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อการปลอดเชื้อ เป็นต้น

ที่ผ่านมามี ผู้ประกอบการเข้ารับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตและนำสารซิลเวอร์นาโนไปประยุกต์ใช้กับผลิตภัณฑ์ของบริษัทเพื่อต่อยอดเชิงพาณิชย์ แล้วจำนวน 5 ราย และยังประยุกต์ได้อีกกว้างขวาง

กานต์ดา บุญเถื่อน

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com/
Link: http://www.bangkokbiznews.com/2008/02/20/WW54_5401_news.php?newsid=230974

Tuesday, February 19, 2008

ผ้าขนสัตว์นาโนผึ่งแดดเอี่ยมอ่องไม่เปลืองแรงขยี้

นักวิจัยออสซี่ใช้นาโนเทคโนโลยีพัฒนาผ้าขนสัตว์คุณสมบัติพิเศษ สามารถทำความสะอาดตัวเองได้แค่นำไปผึ่งแดด เตรียมต่อยอดทำผ้าไหมไม่ต้องซัก มั่นใจอนุภาคไม่หลุดล่อนทำลายสุขภาพผู้สวมใส่

หลังประสบความสำเร็จจากการพัฒนาผ้าฝ้ายทำความสะอาดตัวเองดร.วาลิด ดาอู จากมหาวิทยาลัยโมนาช ผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีนาโนในเมลเบิร์นและทีมวิจัยหันไปพัฒนาผ้าขนสัตว์ โดยนำไททาเนียมไดออกไซด์ขนาด 4-5 นาโนเมตรมาเคลือบลงบนเส้นใย เมื่อโดนแดดสามารถทำความสะอาดตัวเองได้ เนื่องจากแสงกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่น ทำให้แบคทีเรียและสิ่งสกปรกสลายไปโดยไม่ทำอันตรายต่อเส้นใย

ดาอูกล่าวว่า การเคลือบไทเทเนียมไดออกไซด์อนุภาคนาโนลงไปในใยของผ้าขนสัตว์ทำได้ยากกว่า เนื่องจากเส้นใยของผ้าขนสัตว์เป็นโปรตีนทำให้เคลือบติดยาก ไม่เท่านั้นการนำสารเคมีไปเคลือบก็อาจทำให้ผ้าขนสัตว์เสียหายได้ง่าย ขณะที่ผ้าฝ้าย ซึ่งเป็นการวิจัยแรกนั้นเป็นเส้นใยธรรมชาติ สามารถเคลือบได้ง่าย ไม่ทำลายคุณสมบัติของผ้า

งานวิจัยครั้งนี้จึงปรับพื้นผิวของเส้นใยผ้าขนสัตว์เพื่อให้อนุภาคของสารไทเทเนียมไดออกไซด์ยึดเกาะเป็นฟิล์มได้เมื่อเคลือบแล้วมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ไม่ทำให้ขนสัตว์เปลี่ยนสี

ผลการทดสอบประสิทธิภาพในตัวอย่างผ้าขนสัตว์แบบผ้าดิบและผ้าย้อมสีพบว่ารอยเปื้อนกาแฟหายไปในเวลา 2 ชั่วโมง รอยเปื้อนหมึกใช้เวลา 17 ชั่วโมง และไวน์แดง 20 ชั่วโมง ในอนาคต ทีมวิจัยมีแผนที่จะประยุกต์ใช้กับเส้นใยโปรตีนอื่นๆ เช่น ผ้าไหม รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพในการทำความสะอาดด้วยแสงไฟภายในบ้าน

อย่างไรก็ดีหลายฝ่ายแสดงความกังวลเกี่ยวกับว่าอนุภาคไทเทเนียมไดออกไซด์ที่ตกค้างอาจส่งผลสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ แต่นักวิจัยยืนยันว่า อนุภาคนาโนจะยึดเกาะอยู่ภายในเส้นใยอย่างถาวร โอกาสที่อนุภาคนาโนจะหลุดล่อนออกมาและผู้ใช้สูดหายใจเข้าไปเกิดขึ้นได้ยาก

ที่มา: http://www.komchadluek.net/
Link: http://www.komchadluek.net/2008/02/19/x_it_h001_190526.php?news_id=190526

Monday, February 18, 2008

เอไอทีสร้างหุ่นยนต์มีชีวิตฝังอุปกรณ์คุมสมองหนูให้รับคำสั่งคน

นักศึกษาเอไอทีจับมือแพทย์ศิริราชทดลองสร้างหุ่นยนต์มีชีวิต เผยติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมสมองหนู สั่งเดินสั่งเลี้ยวได้ตามที่นักวิจัยต้องการ อนาคตวางแผนพัฒนาเป็นสัตว์กู้ภัย สัตว์เก็บกู้ระเบิดและสัตว์สอดแนม

นายอนันตชัยนัยจิตร นักศึกษาปริญญาเอก ภาควิชาเมคาทรอนิกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (เอไอที) กล่าวว่า โครงการเชื่อมต่อสมองกับเครื่องจักรกลสำหรับควบคุมสัตว์หุ่นยนต์ เป็นการวิจัยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบควบคุมกลไกการทำงานของสมองสัตว์ สำหรับประยุกต์ใช้ในงานที่มีความเสี่ยงภัยทดแทนแรงงานหุ่นยนต์ที่ไร้ชีวิต รวมถึงแรงงานคนที่เสี่ยงต่ออันตราย

งานวิจัยแบ่งเป็น2 ส่วน คือ การเจาะกะโหลกหนูเพียงเล็กน้อย เพื่อผ่าตัดเชื่อมต่ออิเล็กโทรด ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมระบบประสาทของหนู และการพัฒนาแผงวงจรและรีโมท สำหรับควบคุมระบบประสาท ที่มีหน้าที่สั่งการเคลื่อนไหวของหนู รวมทั้งระบบสมองที่เกี่ยวกับความพึงพอใจ

ผลการทดลองขณะนี้หนูตอบสนองต่อคำสั่งผ่านเครื่องบังคับวิทยุขนาดเล็ก ซึ่งบังคับได้ 3 คำสั่ง คือ ให้หนูเดินตรงไปข้างหน้า ให้เลี้ยวซ้าย ให้เลี้ยวขวา จากการทดลองซ้ำพบหนูหุ่นยนต์สามารถทำตามคำสั่งได้ถูกต้อง 60-70% สิ่งที่จะต้องวิจัยต่อไป คือ การทดสอบด้านความแม่นยำของระบบว่าสามารถสั่งงานให้หนูปฏิบัติตามความต้องการได้หรือไม่

"หุ่นยนต์สัตว์มีชีวิตต้นแบบนี้ประสิทธิภาพดีกว่าหุ่นยนต์ที่ไม่มีชีวิต เนื่องจากสัตว์เมื่อพบสิ่งกีดขวาง จะตัดสินใจหลบหลีกได้ด้วยตัวเอง ขณะที่หุ่นยนต์จะไม่หลบหลีก แถมยังเดินชนวัตถุจนเกิดความเสียหาย" นายอนันตชัย กล่าว

การวิจัยดังกล่าวใช้หนูถึง12 ตัว ความยากอยู่ที่การเชื่อมติดอุปกรณ์อิเล็กโทรด ให้ยึดติดกับกะโหลกหนูทดลอง ซึ่งเป็นเรื่องเปราะบาง อีกทั้งเมื่อเสียบปลั๊กไฟขนาดเล็กซึ่งเชื่อมต่อจากแผงวงจร ให้เข้ากับอุปกรณ์อิเล็กโทรด หนูจะสะบัดทำให้อุปกรณ์หลุดจากกะโหลก จึงต้องเปลี่ยนใช้หนูทดลองใหม่ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อจากบาดแผล

หากโครงงานวิจัยประสบความสำเร็จจะสามารถประยุกต์ใช้หุ่นยนต์หนูนี้ในภารกิจต่างๆ เช่น เก็บกู้วัตถุระเบิด สอดแนมค้นหา รวมถึงกำจัดศัตรูทางการเกษตรได้อีกด้วย

โครงการวิจัยดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างเอไอทีนำทีมโดย รศ.ดร.มนูกิจ พาณิชกุล อาจารย์จากภาควิชาเมคาทรอนิกส์ และ รศ.นพ.ชัยเลิศ พิชิตพรชัย ภาควิชาสรีระวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ได้รับทุน 1.2 ล้านบาท จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย คาดว่าแล้วเสร็จในปี 2551

ที่มา: http://www.komchadluek.net
Link: http://www.komchadluek.net/2008/02/18/x_it_h001_189906.php?news_id=189906

Saturday, February 16, 2008

หยิบงานวิจัยใส่อัญมณี จุฬาฯ เปลี่ยนสี “มุก” ด้วยอนุภาคซิลเวอร์นาโน


น่าจะเป็นที่ถูกอกถูกใจบรรดาสาวเล็กสาวใหญ่ที่นิยมชมชอบ "มุก" อัญมณีแห่งชีวิตใต้ทะเล เมื่อนักวิจัยจุฬาฯ พัฒนา "มุกนาโน" สำเร็จ สามารถเปลี่ยนมุกสีขาวนวลหรือสีเงินยวงให้มีสีสันหลากหลายได้ด้วย "อนุภาคซิลเวอร์นาโน" เอาใจสาวๆ และเพิ่มมูลค่าให้ตลาดอัญมณีไทย ทั้งยังใช้ประโยชน์อนุภาคดังกล่าวในอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้อีกมากมาย

ทำ "เสื้อนาโน" จนฮิตติดลมบนไปพักใหญ่แล้ว คราวนี้เปลี่ยนมาเป็นวิจัย "มุกนาโน" เอาใจตลาดอัญมณีกันบ้าง โดยการเปลี่ยนสีมุกด้วยอนุภาคนาโนซิลเวอร์จากฝีมือของหน่วยปฏิบัติการวิจัยอุปกรณ์รับรู้ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้ รศ.ดร.สนอง เอกสิทธิ์ ตัวแทนจากทีมวิจัยมาเล่ารายละเอียดถึงเรื่อง "วัตถุดิบอนุภาคซิลเวอร์นาโนเพื่อการประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรมของไทย" ให้ฟังเมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2551 ผ่านรายการ "ทันโลกวิทยาศาสตร์" ที่ออกอากาศทางสถานีวิทยุจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เอฟเอ็ม 101.5 เมกะเฮิร์ซ เป็นประจำทุกวันเสาร์เวลา 10.00 น. โดยมี ผศ.มานิต รุจิวโรดม เป็นผู้ดำเนินรายการ

รศ.ดร.สนอง เปิดเผยว่า สินค้าหลายชนิดมีราคาแพงทั้งที่ต้นทุนต่ำ เนื่องจากผู้ผลิตได้ใส่เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ๆ เข้าไป ทำให้ผลิตภัณฑ์มีมูลค่ามากขึ้น และอุตสาหกรรมในประเทศไทยส่วนใหญ่ก็ยังต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ เป็นผลให้ต้นทุนการผลิตสูง ได้สินค้าราคาแพง และอาจไม่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ ทางหน่วยวิจัยจึงคิดหาวิธีพัฒนาวัตถุดิบที่มีคุณภาพสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมภายในประเทศ จนเกิดเป็นงานวิจัยพัฒนาอนุภาคซิลเวอร์นาโน เพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ และสร้างความเป็นอิสระให้กับอุตสาหกรรมไทยให้พึ่งพาต่างประเทศน้อยที่สุด

ทั้งนี้ ทีมวิจัยก็ประสบความสำเร็จในการพัฒนาอนุภาคซิลเวอร์นาโนสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ แล้ว เช่น อนุภาคขนาด 5-40 นาโนเมตรใช้ในการกำจัดแบคทีเรีย หรืออนุภาคที่เล็กกว่า 5 นาโนเมตร สำหรับใช้กับอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ เป็นต้น

"อนุภาคนาโนเป็นอนุภาคที่มีขนาดเล็กมาก และมีอิทธิพลต่อชีวิตเรามากเช่นกัน ซึ่งความท้ายทายอยู่ที่การนำเอาวัสดุเล็กระดับนาโนเมตรที่มีคุณสมบัติพิเศษต่างๆ ทั้งความแข็งแรงทนทาน การนำไฟฟ้า คุณสมบัติเชิงแสง คุณสมบัติเชิงเสียง เป็นต้น มาใช้ให้เกิดประโยชน์และเพิ่มคุณค่าทางเศรษฐกิจได้ อาจจะเป็นทองนาโน หรือเงินนาโน ซึ่งก็คือทองหรือเงินธรรมดา แต่มีขนาดเล็กระดับนาโนเมตร และมีคุณสมบัติพิเศษมากขึ้น" รศ.ดร.สนอง ยกตัวอย่าง

รศ.ดร.สนอง เผยว่า อนุภาคนาโนก่อให้เกิดนาโนเทคโนโลยีที่นักวิทยาศาสตร์นำมาใช้ประโยชน์มากมาย เช่น ใช้อนุภาคซิลเวอร์นาโนในการกำจัดแบคทีเรีย เนื่องจากอนุภาคเหล่านี้จะเกิดปฏิกิริยาหรือปลดปล่อยประจุไฟฟ้าที่จะไปจับกับดีเอ็นเอหรือโปรตีนของแบคทีเรีย ทำให้แบคทีเรียไม่สามารถทำงานได้ และตายในที่สุด ซึ่งมีการนำไปใช้คลือบเส้นใยผ้าเป็นเสื้อนาโน ป้องกันแบคทีเรียและการเกิดกลิ่นอับชื้นได้ ดีกว่าการใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อร่างกายและทำลายสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ดี รศ.ดร.สนอง บอกว่า อนุภาคนาโนเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ซึ่งหากจะใช้ก็ต้องศึกษาให้ดี และเลือกให้ให้ถูกต้อง เพราะอาจไม่ได้มีประโยชน์ไปเสียทุกอย่าง บางอย่างก็อาจเป็นโทษได้ และเมื่อนำไปใช้กับเสื้อผ้าจะไม่ได้ติดอยู่กับเส้นใยตลอดไป เมื่อผ่านการซัก 20 - 30 ครั้ง ก็อาจหลุดออกหมดได้

ผลงานโบแดงของทีมวิจัยคือสามารถพัฒนาเทคโนโลยีให้ผลิตผงอนุภาคซิลเวอร์นาโนสำหรับใช้กับตัวทำละลายต่างๆ สำหรับอุตสาหกรรมพลาสติก และพอลิเมอร์ และอนุภาคซิลเวอร์นาโนแขวนลอยอยู่ในน้ำ (คอลลอยด์) โดยไม่ตกตะกอนสำหรับใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ต้องการป้องกันแบคทีเรียได้ ทั้งอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง, สิ่งทอ, รองเท้า หรือบรรจุภัณฑ์ชนิดต่างๆ

อนุภาคที่ผลิตได้นี้มีความเสถียรสูง มีความเข้มข้นสูงถึง 10,000 ppm (ส่วนในล้านส่วนโดยน้ำหนัก) ซึ่งเทียบได้กับมีอนุภาคนาโนของเงิน 10 % ในน้ำ จากปกติซึ่งจะมีอยู่เพียง 1% เท่านั้น ที่ต้องผลิตให้ได้ความเสถียรสูงเพื่อให้เก็บรักษาได้นานและความเข้มข้นสูงเพื่อให้คุ้มค่าในการขนส่ง แต่สามารถนำไปเจือจางให้ได้ความเข้มข้นที่เหมาะสมได้ ที่สำคัญยังมีราคาถูกกว่าของต่างประเทศถึง 1 ใน 3 และกำลังการผลิตของหน่วยวิจัยสามารถผลิตซิลเวอร์นาโนความเข้มข้น 10,000 ppm ปริมาณ 3 ลิตร ต่อนาที ซึ่งรองรับอุตสาหกรรมในประเทศได้

รศ.ดร.สนอง อธิบายวิธีการผลิตอนุภาคซิลเวอร์นาโนด้วยเทคโนโยลีทางเคมี ซึ่งผลิตได้สูงและต้นทุนต่ำ โดยเริ่มจากวัตถุดิบตั้งต้นคือโลหะเงินบริสุทธิ์ 99.99% จากนั้นทำให้กลายเป็นเกลือของเงินได้เป็นซิลเวอร์ไนเตรต แล้วละลายน้ำเพื่อให้ได้ไอออนของเงินแขวนลอยอยู่ในน้ำ สุดท้ายนำไปผ่านกระบวนการรีดิวซ์ (reduce) เพื่อให้ได้เป็นโลหะเงินดังเดิม แต่มีขนาดเล็กระดับนาโนเมตร ซึ่ง 1 อนุภาคซิลเวอร์นาโนมีอะตอมของโลหะเงินไม่ต่ำกว่า 1 แสนอะตอม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของอนุภาค โดยขนาดและรูปร่างที่ต่างกันเป็นผลให้อนุภาคมีคุณสมบัติพิเศษต่างกันไป

"ถ้าอนุภาคซิลเวอร์นาโนขนาดเล็ก 1-5 นาโนเมตร ที่ใช้ทำเหล็กนำไฟฟ้าจากอนุภาคนาโนของเงิน จะมีสีดำและนำไฟฟ้าได้ดี สามารถนำมาเคลือบลงบนพื้นกระดาษ, พลาสติก, กระจก หรือแก้ว แล้วปล่อยให้แห้ง อนุภาคที่เคลือบอยู่จะนำไฟฟ้าได้ ส่วนอนุภาคขนาด 5- 40 นาโนเมตร หากมีรูปร่างทรงกลม จะเห็นเป็นสีเหลืองเมื่อแขวนลอยอยู่ในน้ำ ถ้าเป็นรูปสามเหลี่ยม จะได้คอลลอยด์สีฟ้า แต่หากมีทั้งรูปทรงกลมและสามเหลี่ยมอยู่ด้วยกัน จะไม้คอลลอยด์สีเขียว เป็นต้น ซึ่งเป็นคุณสมบัติเชิงแสงของอะตอมของเงินนาโน" รศ.ดร.สนอง อธิบาย โดยคุณสมบัติการแสดงสีต่างๆ นี้สามารถนำไปใช้เป็นไบโอเซนเซอร์ทดสอบทางการแพทย์ได้ ซึ่งในประเทศไทยก็กำลังวิจัยกันอยู่ แต่ในต่างประเทศสำเร็จกันไปบ้างแล้ว

ล่าสุดทีมวิจัยประยุกต์ใช้อนุภาคซิลเวอร์นาโนในการเปลี่ยนสีมุกธรรมชาติได้ โดยการตรึงอนุภาคซิลเวอร์ลงบนผิวมุก จากมุกสีขาวนวลเหลืองได้เป็นมุกสีทอง เหลืองทอง ชมพู เทา และดำ และในอนาคตทีมวิจัยวางแผนปลูกอนุภาคซิลเวอร์นาโนลงในมุกและเลี้ยงในธรรมชาติให้ได้มุกสีต่างๆ ซึ่ง รศ.ดร.สนอง อธิบายว่า การปลูกอนุภาคนาโนเป็นการฝังอนุภาคลงไปในองค์ประกอบของมุกเลย ทำให้ได้มุกหลากสีสันและคงความแวววาวตามธรรมชาติ ต่างจากการทาสีมุก ซึ่งจะทำให้สูญเสียความแวววาวไป ซึ่งวิธีนี้เพิ่มมูลค่าให้กับอัญมณีได้

นอกจากนี้ ทางหน่วยวิจัยมีการผลิตอนุภาคซิลเวอร์นาโนสำหรับเป็นวัตถุดิบให้อุตสาหกรรมต่างๆ หรือหากภาคเอกชนสนใจจะผลิตเองก็สามารถติดต่อเพื่อขอรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีได้เช่นกัน ซึ่ง รศ.ดร.สนอง เผยว่าเทคโนโลยีดังกล่าวไม่ยุ่งยากซับซ้อนอะไรมากมาย และทำได้ไม่ยาก และไม่เพียงเท่านี้ ทีมวิจัย ยังได้ศึกษาการทำอนุภาคคาร์บอนนาโนสำหรับใช้ประโยชน์ในการผลิตไบโอดีเซลหรือกำจัดของเสียในภาคอุตสาหกรรมอีกด้วย

ทั้งนี้ ในวันจันทร์ที่ 18 ก.พ. 2551 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะจัดงานแถลงข่าวเรื่อง "วัตถุดิบอนุภาคซิลเวอร์นาโนเพื่อการประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรมของไทย" เวลา 14.00 - 16.00 น. ณ ห้อง 203 อาคารจามจุรี 4 สำนักงานมหาวิทยาลัย และจะมีการจัดแสดงผลงานตัวอย่างจากการประยุกต์ใช้อนุภาคซิลเวอร์นาโนด้วย

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9510000019662

สวทช.คลอดโรงงานนาโน ผลิตเส้นใยคุณสมบัติพิเศษป้อนนักวิจัย

ศูนย์นาโนเทคทุ่ม 500 ล้านบาท สร้างต้นแบบโรงงานผลิตเส้นใยคุณสมบัติพิเศษ มุ่งค้นคว้าและพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับส่งต่อให้ภาคอุตสาหกรรม เผยผลผลิตเส้นใยที่ได้ส่งให้ “ราชมงคลธัญบุรี” ทดสอบผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สิ่งทอนาโน

ศ.ดร.วิวัฒน์ ตัณฑะพาณิชกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวว่า ศูนย์นาโนมีโครงการที่จะลงทุนด้านโรงงานเส้นใย ซึ่งจะผลิตเส้นใยที่มีลักษณะพิเศษด้วยเทคโนโลยีนาโน สำหรับใช้ประโยชน์ด้านการวิจัย โดยเส้นใยที่ได้จะส่งต่อให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีไปประยุกต์ขึ้นรูปเป็นผืนผ้า พิมพ์ลายรวมถึงพัฒนาเป็นสินค้านาโน

เป้าหมายของโรงงานนี้คือ การพัฒนาเทคนิคและกระบวนการผลิตเส้นใยผสม ระหว่างเส้นใยโพลิเอสเตอร์กับเส้นใยไนลอน หรือเส้นใยโพลิเอสเตอร์ กับเส้นใยโพลิเมอร์ชนิดอื่น จากนั้นเคลือบด้วยสารอนุภาคนาโนทำให้เส้นใยมีคุณสมบัติโดดเด่น ในด้านความแข็งแรงทนทาน เพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่มีคุณสมบัติตามต้องการ เช่น ทนร้อนทนการเผาไหม้ ต้านแบคทีเรียหรือเหนียวเทียบเท่าลวดสลิง เป็นต้น

โครงการโรงงานเส้นใยต้นแบบนี้ ได้รับอนุมัติจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดพร้อมทั้งอนุมติงบประมาณ 500 ล้านบาทในระยะ 5 ปี และจากการหารือในเบื้องต้นอาจจะซื้อโรงงานสิ่งทอสำเร็จรูปมาประยุกต์ใช้เป็นโรงงานใหม่

“ค่าก่อสร้างที่ประหยัดได้ จะนำไปใช้ลงทุนด้านเทคโนโลยีซึ่งราคาค่อนข้างสูงหรือประมาณ 60 ล้านบาท ขณะที่งานวิจัยที่จะส่งต่อให้ภาคอุตสาหกรรม จำเป็นต้องทดลองผลิตในปริมาณที่มากพอ จึงกำหนดให้โรงงานต้นแบบนี้มีกำลังการผลิตเส้นใยที่ 10-20 กิโลกรัมต่อชั่วโมง คาดว่าจะเริ่มผลิตในสายการผลิตแรกได้ราวปี 2552

ผู้อำนวยการศูนย์นาโนกล่าวอีกว่า ในวันที่ 26 มกราคมนี้ ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกียวโตในญี่ปุ่นจัดการประชุมเชิงวิชาการเผยแพร่วิทยาการใหม่ที่มีผลกระทบต่อสังคม เช่น เทคโนโลยีนาโน พลังงานทดแทนและพลังงานอนาคต โดยมีนักวิจัยจากประเทศต่างๆ ในอาเซียนร่วมนำเสนอผลงาน

“ประโยชน์ที่นักวิจัยไทยจะได้จากเวทีประชุม นอกจากการแกลเปลี่ยนประสบการณ์กับนักวิจัยต่างชาติ ที่สนใจศึกษาในเรื่องเดียวกันแล้ว ยังได้เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ที่สามารถพัฒนาต่อยอดงานวิจัยที่ทำอยู่ในปัจจุบันได้” ศ.ดร.วิวัฒน์ กล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

Thursday, February 14, 2008

จีนพบอีกไดโนเสาร์บินได้รุ่นจิ๋ว


นักวิทยาศาสตร์พบฟอสซิลไดโนเสาร์พันธุ์จิ๋วชนิดใหม่ขนาดเท่านกแก้ว อาศัยอยู่ตามคบไม้ กินแมลงเป็นอาหาร พลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์ศึกษาไดโนเสาร์บินได้

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : ไดโนเสาร์พันธุ์เล็กที่รู้จักกันดีมีชื่อว่า เทอโรซอร์ (Pterosaur) เป็นไดโนเสาร์บินได้ที่เคยดำรงชีวิตอยู่ในยุคไทรแอสสิกจนถึงปลายยุคครีเทเชียส (228-65 ล้านปีก่อน)

เทอโรซอร์เป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังชนิดแรกที่บินได้ ปีกมีลักษณะเป็นพังผืดยึดหนัง กล้ามเนื้อ และเนื้อเยื่อต่างๆ แผ่จากช่วงออกไปจนถึงนิ้วที่สี่ ยุคแรกมีขากรรไกรยาวฟันครบถ้วนและหางสั้น

วิวัฒนาการช่วงต่อมาหางเริ่มสั้นลงและไม่มีฟัน ฟอสซิลของเทอโรซอร์ที่พบมีขนาดตั้งแต่ตัวเล็กเหมือนนกไปจนถึงตัวใหญ่กางปีกถึง 10 เมตร

ล่าสุด นักวิจัยจากสถาบันวิทยาศาสตร์จีนพบไดโนเสาร์อีกชนิดหนึ่งที่มลฑลเหลียวหนิง มีขนาดตัวเท่านกแก้ว มีเท้างุ้ม แสดงว่า มันใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ตามต้นไม้

ทีมนักวิจัยที่พบตั้งชื่อว่า เนมิโคลอพเทรัส คริพติคัส (Nemicolopterus crypticus) มีชีวิตอยู่เมื่อ 120 ล้านปีก่อน สมัยนั้นบริเวณแห่งนี้มีสภาพเป็นป่า การค้นพบครั้งนี้ช่วยเพิ่มเติมความรู้เกี่ยวกับไดโนเสาร์เทโรซอร์ที่อาศัยอยู่ในผืนดินตอนในมากขึ้น เนื่องจากฟอสซิลไดโนเสาร์มีปีกส่วนใหญ่พบอยู่ตามชายฝั่ง

นักวิจัย ฟันธงว่า เนมิโคลอพเทรัส คริพติคัส เป็นไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่ และเปิดโฉมหน้าใหม่ให้กับการศึกษาวิวัฒนาการของไดโนเสาร์บินได้ ด้วยเหตุที่เนมิโคลอพเทรัส คริพติคัส เป็นไดโนเสาร์บินได้ และมีขนาดเล็กที่สุดในสกุลเทอโนซอร์

ตอนแรกที่พบนักวิจัยยังคิดว่าเป็นลูกนกไดโนเสาร์ด้วยซ้ำ โอกาสพบฟอสซิลชนิดนี้เป็นไปได้ยากมาก ดังนั้น การค้นพบครั้งนี้จึงเป็นพื้นฐานสำคัญที่ช่วยให้เข้าใจวิวัฒนาการของสัตว์มีกระดูกสันหลังมีปีกทั้งหลาย

เมื่อพิจารณารูปแบบหัวกะโหลก เห็นว่า ชิ้นส่วนกะโหลกยังเชื่อมต่อกันไม่สนิท หมายความว่า มันยังโตไม่เต็มที่ แต่ส่วนปลายของกระดูกพัฒนาหมดแล้ว มันจึงไม่ได้เป็นตัวอ่อนที่ถูกกกอยู่เช่นกัน นักวิจัยยังไม่แน่ใจว่ามันจะมีขนาดโตเต็มที่แค่ไหน และถึงแม้โตเป็นสองเท่าของขนาดที่พบมันก็ยังเป็นไดโนเสาร์ขนาดเล็กในกลุ่มเดียวกันอยู่ดี

ขาและเท้าของ เนมิโคลอพเทรัส คริพติคัส มีกล้ามเนื้อยึดเกาะอยู่ด้วยแสดงว่า มันสามารถใช้ขาเกาะตามกิ่งไม้ได้ แต่เนื่องจากมันไม่มีฟัน จึงเป็นไปได้ว่ามันกินแมลงเป็นอาหารเท่านั้น

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com/
Link: http://www.bangkokbiznews.com/2008/02/14/WW54_5409_news.php?newsid=229749

Wednesday, February 13, 2008

เทคโนประดิษฐ์-หุ่นยนต์ปั่นจักรยานฝีมือเอไอทีช่วยเด็กหัดปั่น

ประเทศญี่ปุ่นมีหุ่นยนต์ปั่นจักรยานชื่อ"มูราตะบอย" ซึ่งได้รับการยกย่องเป็นสุดยอดหุ่นยนต์ และมาแสดงความสามารถให้คนไทยได้ชื่นชมทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดเมื่อปีที่ผ่านมา มูราตะบอยมีความสูงเพียง 50 เซนติเมตร สามารถปั่นจักรยานได้โดยไม่ล้ม แม้กระทั่งเวลารถหยุดก็ยังทรงตัวอยู่ได้

ขณะที่บ้านเราก็มี"ไบซิโรโบ" หุ่นยนต์นักปั่น ฝีมือการพัฒนาจากรั้วเอไอที ที่ตั้งเป้าทำเป็นรถหัดขี่สำหรับเด็กทดแทนจักรยานสี่ล้อ และผู้ใหญ่ที่ขี่จักรยานไม่เป็น

รศ.ดร.มนูกิจพานิชกุล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเมคาทรอนิกส์ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) กล่าวว่า ไบซิโรโบหรือจักรยานหุ่นยนต์เป็นผลงานวิจัยของนายบุยจุง ทัน นักศึกษาปริญญาเอกจากภาควิชาวิศวกรรมเมคาทรอนิกส์ ที่ใช้เวลาพัฒนามาแล้ว2 ปี แต่ยังไม่สมบูรณ์ ไบซิโรโบจะเป็นตัวช่วยให้ผู้ที่ขี่จักรยานไม่เป็น สามารถใช้งานพาหนะดังกล่าวได้เช่นเดียวกับสิงห์นักปั่น

ทีมวิจัยตั้งเป้าที่จะพัฒนาจักรยานหุ่นยนต์ให้วิ่งไปข้างหน้าและถอยหลัง โดยรักษาสมดุลไม่ให้เอียงหรือล้มลงด้วยตัวเอง แม้ว่าจะบรรทุกผู้โดยสารด้วยก็ตาม เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้ที่ขี่จักรยานไม่เป็น สามารถใช้เป็นพาหนะสำหรับการเดินทางระยะใกล้ รวมทั้งเด็กเล็กสามารถหัดขี่ได้ง่ายขึ้น รศ.ดร.มนูกิจ ในฐานะที่ปรึกษาโครงการวิจัย กล่าว

จักรยานหุ่นยนต์จะทำงานก็ต่อเมื่อเปิดสวิตช์ให้โฟร์วีลส์หรือลูกข่างที่มีลักษณะคล้ายฝากกระป๋องสีขนาดใหญ่หมุนทำงาน และอาศัยเซ็นเซอร์สำหรับทำหน้าที่ประมวลผลว่า ตอนนี้รถเอียงไปทางซ้ายหรือขวา และเอียงไปกี่องศาแล้ว สำหรับส่งข้อมูลไปยังสมองกล ซึ่งจะสั่งให้โฟร์วีลส์ปรับอยู่ในทิศทางที่สมดุล ทำให้จักรยานตั้งอยู่ได้โดยไม่ล้ม

ที่ปรึกษาโครงการวิจัยกล่าวอีกว่า การทดลองใช้เทคโนโลยีจักรยานหุ่นยนต์กับรถคันเล็กสำหรับเด็ก มีความง่ายกว่าคันใหญ่ เพราะโฟร์วีลส์ที่ขนาดเล็กพัฒนาได้ง่ายกว่าและไม่ซับซ้อน ส่วนจักรยานคันใหญ่ต้องพัฒนาโฟร์วีลส์ให้มีขนาดที่สมดุลกับตัวรถ ซึ่งต้องลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้ขนาดที่สามารถรักษาสมดุล หรือตั้งตรงอยู่ได้ทั้งที่บรรทุกคนอยู่ด้วย

ไบซิโรโบเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับใช้เป็นต้นแบบการเรียนการสอนเกี่ยวกับระบบควบคุมสมดุลในหุ่นยนต์ หรืองานอะไรก็ได้ให้สามารถรักษาสมดุลได้ในตัวเอง อาจารย์ประจำภาควิชาเมคาทรอนิกส์กล่าว

นายบุยจุง ทัน กล่าวว่า ขณะนี้ไบซิโรโบวิ่งไปข้างหน้าและถอยหลังได้แล้วอาศัยพลังงานจากแบตเตอรี่ 12 โวลต์ 3 ลูก แต่ยังไม่สามารถรับน้ำหนักบรรทุกเกินกว่า 5 กิโลกรัม จึงต้องพัฒนาโฟร์วีลส์ให้มีขนาดใหญ่ขึ้นและรอบการหมุนให้เร็วยิ่งขึ้น สำหรับรองรับน้ำหนักของผู้โดยสารที่มากกว่า 50 กิโลกรัมให้ได้ต่อไป

ที่มา: http://www.komchadluek.net/
Link: http://www.komchadluek.net/2008/02/13/x_it_h001_189735.php?news_id=189735

Tuesday, February 12, 2008

สวทช.ขึ้นเหนือนำโซลาร์เซลล์ส่งชาวไทยภูเขา

สวทช.ส่งผลงานวิจัยช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวไทยภูเขาเผยเตรียมติดตั้งเทคโนโลยีโซลาร์เซลล์ให้ศูนย์การศึกษาชนบทในสามจังหวัดภาคเหนือ ด้านอาชีวศึกษาร่วมวงถ่ายทอดทักษะบำรุงรักษาแผงพลังงานให้ชาวบ้าน

รศ.ดร.ศักรินทร์ภูมิรัตน ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช.สนับสนุนให้สถานศึกษาและศูนย์การเรียนชุมชนไทยภูเขา 36 แห่งใน จ.เชียงใหม่ ตาก และแม่ฮ่องสอน ซึ่งยังไม่มีไฟฟ้าใช้ มีโอกาสผลิตไฟฟ้าใช้เอง เพื่อประโยชน์ด้านการเรียนการสอน ด้วยเทคโนโลยีโซลาร์เซลล์

สวทช.สนับสนุนงบประมาณโครงการไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ทั้งสิ้น3.5 ล้านบาท เฉลี่ยโรงเรียนละ 1 แสนบาท โดยติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ 12 แผง กำลังไฟฟ้า 480 วัตต์ เพียงพอสำหรับหลอดไฟ 11 วัตต์ 6 หลอด เปิดนาน 12 ชั่วโมง รวมทั้งโทรทัศน์ เครื่องเล่นวีซีดี เครื่องขยายเสียงวิทยุสื่อสาร อย่างละ 1 เครื่อง เปิดต่อเนื่อง 2 ชั่วโมง

แผงโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งในโครงการดังกล่าวเป็นเทคโนโลยีที่ทีมวิจัย สวทช.พัฒนาขึ้น ในโครงการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาชนบทและผู้ด้อยโอกาส มีต้นทุนอยู่ที่ 8,000 บาทต่อแผง ขณะที่แผงโซลาร์เซลล์นำเข้ามีราคาประมาณ 1.2 หมื่นบาทต่อแผง

"การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในพื้นที่ชนบท เป็นงานที่ท้าทาย เพราะต้องพัฒนาความสามารถในการดูแลรักษา เพื่อให้สามารถใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ได้อย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นจุดอ่อนที่ทำให้การใช้งานโซลาร์เซลล์ในชนบทที่ผ่านมาล้มเหลว" รศ.ดร.ศักรินทร์ กล่าว

นายพันธ์ศักดิ์โรจนากาศ ผู้อำนวยการสำนักความร่วมมือ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า สำนักงานพร้อมที่จะส่งนักศึกษาอาชีวะร่วมถ่ายทอดความรู้ในการบริหารจัดการระบบ ตั้งแต่การใช้งาน การดูแลรักษา และการซ่อมบำรุงเบื้องต้น โครงการดังกล่าวนอกจากจะเปิดโอกาสให้นักเรียนชาวไทยภูเขาได้เรียนรู้ผ่านสื่อโทรทัศน์และเครื่องเล่นวีซีดีแล้ว ยังช่วยส่งเสริมความรู้ในเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานทดแทนให้นักเรียนด้วย

ที่มา: http://www.komchadluek.net/2
Link: http://www.komchadluek.net/2008/02/13/x_it_h001_189595.php?news_id=189595

Thursday, February 7, 2008

พบฟอสซิลจระเข้รุ่นเก๋ามีแขนขายาว

นักบรรพชีวินชาวบราซิล พบฟอสซิลกระดูกส่วนหัวของสัตว์ดึกดำบรรพ์ชนิดใหม่ เชื่อว่าเป็นจระเข้โบราณที่เกี่ยวข้องกับจระเข้ยุคปัจจุบัน

พวกเขาขนานนามฟอสซิลจระเข้ยุคโบราณนี้ว่า "มอนเตอัลโตซูชุส อาร์รูดาคัมโบซี" เป็นสัตว์กินเนื้อจำพวกสัตว์เลื้อยคลานขนาดกลาง น่าจะมีความยาววัดจากหัวถึงหางได้ราว 5 ฟุตครึ่ง (ประมาณ 1.7 เมตร) มีชีวิตอยู่เมื่อประมาณ 80 ล้านปีก่อน หรือช่วงปลายยุคครีเทเชียส (ประมาณ 145 ล้านปี-65 ล้านปีที่แล้ว)

ครีเทเชียเป็นยุคสุดท้ายของมหายุคเมโสโซอิก ซึ่งแบ่งช่วงเวลาออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ไทรแอสสิก จูราสสิก และ ครีเทเชียส ก่อนที่โลกจะพัฒนาเข้าสู่ช่วงพาลีโอซีน ซึ่งเป็นยุคหลังไดโนเสาร์สูญพันธุ์

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยริโอ เดอจาเนโร ประเทศบราซิล กล่าวว่า การค้นพบครั้งนี้มีความหมายต่อวงการวิทยาศาสตร์อย่างยิ่ง เพราะถือเป็นตัวอย่างฟอสซิลโบราณกาลที่อยู่ระหว่างจระเข้ที่เคยมีชีวิตอยู่ร่วมกับยุคไดโนเสาร์เมื่อ 80-85 ล้านปีกับจระเข้สายพันธุ์ปัจจุบัน

มอนเตอัลโตซูชุส อาร์รูดาคัมโบซี เป็นสัตว์กินเนื้อตระกูลเพียโรซอร์ริเด มีพฤติกรรมแตกต่างจากจระเข้ในปัจจุบัน มีรูปร่างและโครงสร้างคล้ายคลึงกัน แต่มีแขนขายาวกว่า

ฟอสซิลดังกล่าวพบในเมืองอาร์รูดาคัมปอส ใกล้กับภูเขาอัลโตในเซาเปาโล จึงตั้งชื่อตามสถานที่พบ ขุดค้นโดยนักวิทยาศาสตร์บราซิลสองคนเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว และนับเป็นฟอสซิลสำคัญที่นักบรรพชีวินบราซิลค้นพบในรอบสองสามปีที่ผ่านมา

ที่มา: http://www.komchadluek.net/
Link: http://www.komchadluek.net/2008/02/07/x_it_h001_188564.php?news_id=188564

กฟผ.พึ่งพลังน้ำลดโลกร้อนพัฒนากังหันน้ำผลิตไฟฟ้าใช้งานได้จริง

กฟผ.ร่วมกับบัณฑิตวิทยาลัยพลังงานต่อยอดต้นแบบกังหันผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ สู่เครื่องจริงที่มีกำลังผลิต 160 กิโลวัตต์ รับรางวัลชมเชยวันนักประดิษฐ์ ปี 2551 ระบุสามารถขยายสู่โรงไฟฟ้าพลังน้ำทั่วประเทศ ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนและลดโลกร้อน

นายประโมทย์ฉมามหัทนา ผู้ช่วยผู้ว่าการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ.ร่วมกับบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม พัฒนากังหันผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ เพื่อสร้างองค์ความรู้ของไทย และขยายพื้นที่การผลิตไฟฟ้าพลังน้ำไปยังแหล่งน้ำที่มีศักยภาพทั่วประเทศ

ที่ผ่านมาทีมวิจัยสามารถสร้างเครื่องผลิตไฟฟ้าพลังน้ำต้นแบบและพัฒนาเครื่องให้สามารถใช้งานได้จริง โดยติดตั้งและทดสอบใช้งานที่เขื่อนแม่จาง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง มาแล้วกว่า 1 ปี ผลงานเครื่องผลิตไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กเขื่อนแม่จางนี้ ได้รับรางวัลชมเชย สาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย จากสำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ ในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2551

หัวใจของการพัฒนากังหันผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำอยู่ที่การออกแบบรูปร่างของกังหัน เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดที่ความสูงหัวน้ำแตกต่างกัน (ความต่างระดับน้ำที่หน้าเขื่อนและท้ายเขื่อน) โดยออกแบบให้สามารถเดินเครื่องได้ที่ความสูงหัวน้ำต่ำกว่าหรือสูงกว่า 13 เมตร ไม่เกิน 10% และมีกำลังผลิตไฟฟ้าได้สูงสุด 160 กิโลวัตต์ นายประโมทย์กล่าว

องค์ความรู้จากการวิจัยเช่น รูปร่างกังหันและชิ้นส่วนต่างๆ จะช่วยลดค่าใช้จ่ายการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กได้มากกว่าครึ่ง เนื่องจากค่าใช้จ่ายชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่ผลิตในประเทศ และค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงจะราคาถูกกว่าการนำเข้า โดยราคาติดตั้งอยู่ที่ประมาณ 3 หมื่นบาทต่อ 1 กิโลวัตต์ จากเดิมที่ใช้เทคโนโลยีต่างประเทศ 6-7 หมื่นบาทต่อ 1 กิโลวัตต์ ทำให้การขยายพื้นที่โรงไฟฟ้าพลังน้ำเป็นไปได้ง่ายขึ้น

ข้อดีของโรงไฟฟ้าพลังน้ำอยู่ที่ความสามารถรับโหลดไฟฟ้าที่มีการเปลี่ยนแปลงมากได้เช่น หากมีความต้องการไฟฟ้าจำนวนมากในเวลากะทันหัน โรงไฟฟ้าพลังน้ำสามารถผลิตไฟฟ้าให้ได้ทันทีในเวลาไม่เกิน 5 นาที ขณะที่โรงไฟฟ้าประเภทอื่นทำไม่ได้ ดังนั้น การส่งเสริมให้ติดตั้งเครื่องผลิตไฟฟ้าพลังน้ำมากขึ้น จึงตอบสนองนโยบายรัฐบาล ในการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน ลดโลกร้อนและลดการนำเข้าไฟฟ้า

ที่มา: http://www.komchadluek.net/
Link: http://www.komchadluek.net/2008/02/07/x_it_h001_188908.php?news_id=188908