เอไอทีพัฒนาเครือข่ายขี่ช้างท่องเน็ตระบบสื่อสารฉุกเฉินช่วยทีมกู้ภัยประสานงานช่วยเหลือ
โบราณว่าขี่ช้างจับตั๊กแตน แต่นักวิจัยของสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) กลับถือสุภาษิต "ขี่ช้างเล่นอินเทอร์เน็ต" เพียงแต่พวกเขาไม่ได้ทำเล่นโก้ๆ ตรงกันข้ามในยามฉุกเฉินเมื่อระบบสื่อสารโทรคมนาคมล่ม "เครือข่ายช้างไร้สาย" สามารถช่วยเจ้าหน้าที่ปฏิบัติภารกิจกู้ภัยสื่อสารระหว่างกันได้อย่างรวดเร็ว โดยเสียเวลาติดตั้งระบบเพียงไม่กี่ชั่วโมง
ดร.กาญจนา กาญจนสุต ผู้อำนวยการศูนย์อินเตอร์แลป สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) กล่าวว่า ทีมนักวิจัยของเอไอที ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น ได้ร่วมกันพัฒนาเครือข่ายไร้สายที่เรียกว่า "ดัมโบ้" (Digital Ubiquitous Mobile Broadband OLSR) ซึ่งสามารถติดตั้งและนำไปใช้งานได้อย่างรวดเร็วเพื่อให้หน่วยปฏิบัติงานกู้ภัยประสานงานระหว่างหน่วยงาน
“เครือข่ายดัมโบ้ช่วยให้ทีมเจ้าหน้าที่ภาคสนามสามารถสื่อสารกันได้ เพียงแค่ทุกคนมีคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค หรือพีดีเอ ที่มีไวไฟ (WiFi) ก็สามารถใช้สื่อสารกันเป็นกลุ่มได้ทันที” ผู้อำนวยการศูนย์อินเตอร์แลป เอไอที กล่าว
ปกติแล้ว คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค และพีดีเอ ที่มีเทคโนโลยีสื่อสารไร้สายไวไฟ อยู่ในตัวเครื่องสามารถสร้างเครือข่ายเฉพาะกิจได้อยู่แล้วทุกเครื่อง แต่จำกัดอยู่แค่สื่อสารกันเพียง 2 เครื่องเท่านั้น หากต้องการให้เครื่องพิวเตอร์จำนวนหลายเครื่องสามารถสื่อสารระหว่างกันในเวลาเดียวกันจำเป็นต้องใช้มาตรฐานเครือข่ายพิเศษมาช่วย
คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค หรือพีดีเอ ที่ติดตั้งซอฟต์แวร์ที่เรียกว่า "โอแอลเอสอาร์" สามารถใช้สื่อสารประชุมไร้สาย หรือวิดีโอคอนเฟอเรนซ์แบบเครือข่ายภายในได้ทันที และถ้าต้องการเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต ก็สามารถติดตั้งจานดาวเทียม เพื่อรับสัญญาจากดาวเทียมสื่อสารอย่างเช่น ไอพีสตาร์ เป็นต้น
ปัจจุบัน เครือข่ายดัมโบ้อยู่ระหว่างทดสอบการใช้งานอยู่ที่ภูเก็ต จังหวัดที่เคยประสบปัญหาสึนามิ และเกิดปัญหาขัดข้องทางการสื่อสาร ทีมวิจัยได้ทดสอบโมเดลการสื่อสารแบบใหม่ โดยตั้งแคมป์จำนวนสองแคมป์ แต่ละแคมป์มีช้างเป็นพาหนะ ซึ่งสามารถเดินทางเข้าไปในพื้นที่ทุรกันดาร หรือยากแก่การคมนาคมเข้าถึงด้วยยานพาหนะ
“ทีมงานฝรั่งเศสและญี่ปุ่นของเราตอนนี้อยู่ที่ภูเก็ต เมื่อเกิดภัยธรรมชาติ เรามีแคมป์ช้างห่างกัน 10 กิโลเมตร แต่ละแคมป์มีช้าง 8 ตัว และมีคอมพิวเตอร์ที่ทำงานด้วยเครือข่ายดับโบ้ ซึ่งเชื่อมต่อสัญญาณดาวเทียมสำหรับติดต่อกับหน่วยงานในกรุงเทพฯได้” นักวิชาการสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย กล่าว
ที่มา komchadluek
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment