แผ่นดินไหว ‘ไต้หวัน’ สะเทือน ‘เน็ต’ ทั่วเอเชีย
เหตุการณ์ธรณีพิโรธ 6.7 ริกเตอร์ บริเวณชายฝั่งตอนใต้ของไต้หวันเมื่อวันอังคารที่ 26 ธ.ค. ที่ผ่านมา กำลังเป็นประเด็นร้อนที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นใจด้าน “เสถียรภาพ” ของระบบสื่อสารใน “เอเชีย” เมื่อเครือข่ายสื่อสารของแทบทุกประเทศในแถบนี้เป็น “อัมพาต” โดยเฉพาะในเส้นทางที่เชื่อมไปยังภูมิภาคอเมริกาเหนือ
หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล เอเชีย รายงานวานนี้ (28 ธ.ค. ) ว่า แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นได้สร้างความเสียหายแก่สายเคเบิลใยแก้วใต้ทะเลหลายสายที่ใช้ในการส่งผ่านข้อมูลเชื่อมต่อจากฮ่องกงและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปยังญี่ปุ่นและภูมิภาคอเมริกาเหนือ ทั้งยังสะท้อนถึงความเปราะบางของระบบโทรคมนาคมโลก ที่ยังพึ่งพาสายเคเบิลซึ่งเสียงต่อการเกิดความเสียหายได้ง่าย
ความเสียหายที่เกิดขึ้นส่งผลให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศใช้การไม่ได้หรือถูกจำกัดในบางส่วนการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตก็เชื่องช้าในหลายพื้นที่ของจีน ขณะที่การซื้อขายหุ้นก็ได้รับผลกระทบเพราะเทรดเดอร์ไม่สามารถติดต่อกับศูนย์ข้อมูลของแบล็คเบอร์รีส์ และบลูมเบิร์ก ซึ่งป้อนข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนในตลาดหุ้นได้ แต่ปรากฏว่า การซื้อขายในตลาดหุ้นโตเกียวและฮ่องกงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก
“เอเชีย” พื้นที่อ่อนไหวมากที่สุด
ทั้งนี้การโอนถ่ายข้อมูลเกือบทั้งหมดระหว่างภูมิภาคทั่วโลก จะส่งผ่านสายเคเบิลใยแก้วซึ่งบริษัทหลายแห่งได้วางท่อเหล่านี้ข้ามมหาสมุทรเป็นระยะทางหลายพันกิโลเมตร โดยวางไว้ใต้ทะเลหรือลอยน้ำไว้เหนือน้ำ
รายงานข่าวระบุว่า ระบบสื่อสารในเอเชียยังมีความเสี่ยงมาก เพราะเป็นจุดที่เกิดแผ่นดินไหวบ่อยสุด นอกจากนี้ปัญหาดังกล่าวยังมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการลงทุนด้านโทรคมนาคมที่ชะลอตัวในช่วงไม่กี่ปีนี้เนื่องจากบริษัทหลายแห่งมีผลประกอบการไม่ตรงตามที่ตั้งไว้ หลังลงทุนด้านเคเบิลใยแก้วอย่างมหาศาลในช่วงที่ธุรกิจโทรคมนาคมเฟื่องฟูช่วงทศวรรษ 90
กสท ช็อกระบบสำรองล่มด้วย
นายพิศาล จอโภชาอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. กสท โทรคมนาคม กล่าวว่า โครงข่ายเคเบิลใยแก้วใต้น้ำทั้งโครงข่ายหลักและสำรองของ กสท ได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหว ทำให้โทรศัพท์ระหว่างประเทศและการใช้งานอินเตอร์เน็ตมีปัญหาขัดข้อง
โดยโครงข่ายเคเบิลใยแก้วใต้น้ำของ กสท ได้รับความเสียหายรวม 4 เส้นทาง คือ
1. เอพีซีเอ็น (Asia pacific Cable Network) เชื่อมระหว่างประเทศไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์
อินโดนีเซีย ไต้หวัน ฮ่องกง เกาหลี และญี่ปุ่น
2. ซีทูซี (C2C) เชื่อมระหว่างประเทศสิงโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา
3. แฟล็ก (FLAG : Fibre Optic Link Around the Globe) เชื่อมโยงระหว่างประเทศอังกฤษ สเปน อิตาลี อียิปต์ สหรัฐ อาหรับเอมิเรตส์ อินเดีย มาเลเซีย ไทย ฮ่องกง เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น
4. SEA-ME-WE-3 เชื่อมโยงระหว่างมากกว่า 32 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตะวันออกกลาง และยุโรปตะวันตก
“เหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้ถือว่ารุนแรงเพราะทำให้เครือข่ายเคเบิลใยแก้วใต้น้ำทั้งระบบหลักและสำรองขัดข้องพร้อมๆ กัน ทำให้ระบบการติดต่อสื่อสารทั้งภูมิภาคเอเชียมีปัญหา” นายพิศาลกล่าว
ทั้งนี้ กสท มีโครงข่ายเคเบิลใยแก้วใต้น้ำ 9 เส้นทาง ได้รับความเสียหาย 6 เส้นทาง ซึ่งได้แก้ไขปัญหาให้ใช้งานได้ตามปกติแล้ว 2 เส้นทาง และคาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 1-2 สัปดาห์ ระบบการสื่อสารจะกลับคืนสู่ภาวะปกติ
จี้ กทช. ทบทวนไลเซ่น
นายตฤณ ตัณฑเศรษฐี กรรมการผู้จัดการ บมจ. อินเทอร์เน็ต ประเทศไทย กล่าวว่า เหตุแผ่นดินไหวในไต้หวัน ถือว่าสร้างความเสียหายการต่อเชื่อมอินเทอร์เน็ตเป็นอย่างมาก เนื่องจากไต้หวันเป็นจุดต่อเชื่อมใหญ่ในเอเชียเหนือ ซึ่งวงจรไฟเบอร์ออปติกที่มาจากตะวันออกกลาง อินเดีย และสิงคโปร์ จะผ่านไปที่ฮ่องกง จีน และเกาหลี
เหตุการณ์ลักษณะเช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อ 7 ปีก่อน ที่ต้องใช้เวลาซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดขึ้นถึง 1 เดือน เนื่องจากเป็นสายที่อยู่ใต้น้ำต้องให้เรือเดินทางมาซ่อมและเรือที่จะซ่อมได้อาจไม่ได้อยู่ในบริเวณที่เกิดความเสียหาย
กระนั้น เหตุลักษณะเดียวกันไม่ควรเกิดซ้ำ หากไทยมีการกระจายความเสี่ยงในการเชื่อมต่อเชื่อม ที่จะออกไปยังออสเตรเลียหรือฟิลิปปินส์แต่ด้วยสถานการณ์ที่ลำบากในปัจจุบัน ซึ่งต้นทุนยังสูงอยู่
ขณะที่ราคาขายต่ำ ก็ยากที่จะผลักดันให้เกิดการลงทุนใหม่ และทาง กสท ก็เป็นเพียงรายเดียวที่รับผิดชอบการต่อเชื่อมไปต่างประเทศ
อีกทั้งคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) จำเป็ที่ต้องทบทวนการออกไลเซ่นการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ตที่มีอยู่ ซึ่งส่วนใหญ่กำหนดให้ต้องขอรับใบอนุญาตแบบที่ 2 และ 3 ที่ต้องเป็นบริษัทขนาดใหญ่และมีโครงข่าย ทั้งที่น่าจะเป็นแบบที่ 1 เพื่อกระตุ้นให้เกิดผู้ให้บริการรายใหม่และดูสภาพความเป็นจริงของธุรกิจมากกว่าการมองในเชิงเศรษฐศาสตร์
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment