ยุโรปจ่อทดสอบจำลองกำเนิดจักรวาล
ยุโรปจ่อทดสอบจำลองกำเนิดจักรวาลจับสสารชนกันด้วยความเร็วสูงค้นหาสสารปฐมกาล
นักวิทยาศาสตร์กว่า 2,000 คนทั่วโลกเตรียมพร้อมทดสอบวิทยาศาสตร์ครั้งสำคัญโดยมีเป้าหมายที่จะค้นหาอนุภาคใหม่เพื่อตามหาหลุมดำขนาดเล็ก และไขความลับอันยิ่งใหญ่ของจักรวาลให้กระจ่างขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มวลมาจากไหน จักรวาลมีกี่มิติ และสสารมืดประกอบด้วยธาตุอะไรบ้าง
โครงการดังกล่าวมีชื่อว่า "คอมแพค มิวออน โซลีนอยด์" หรือ ซีเอ็มเอส ซึ่งนำทีมโดย ศ.เทจิน เดอร์ เวอร์ดี จากคณะฟิสิกส์ อิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน มีเป้าหมายเพื่อค้นหาอนุภาคใหม่โดยใช้เครื่องเร่งอนุภาคยิงอะตอมสองตัวชน โดยคาดว่าจะได้อนุภาคใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน อนุภาคเหล่านี้เป็นมูลฐานของสสารมีขนาดเล็กกว่าอะตอม
นักวิทยาศาสตร์หวังว่า ผลจากการทดลองอาจช่วยให้พวกเขาสามารถอุดช่องว่างของทฤษฎีสนามรวม (unified theory) เพื่อนำไปอธิบายปรากฏการณ์ทางฟิสิกส์ได้ครบทุกเรื่อง ปัจจุบัน ทฤษฎีดังกล่าวยังไม่เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปในหมู่นักวิทยาศาสตร์
ที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์และวิศวกรเข้าร่วมโครงการทดลองซีเอ็มเอสนับพันคนโดยใช้เวลาออกแบบและก่อสร้างเครื่องตรวจับอนุภาคนานถึง 15 ปี เครื่องตรวจจับอนุภาคดังกล่าวถูกติดตั้งอยู่ใต้ดิน 100 เมตรใต้เมืองเชสซีของฝรั่งเศสใกล้กับพรมแดนของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โครงการซีเอ็มเอสเป็นเพียงหนึ่งในหกเครื่องตรวจจับอนุภาคซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลขององค์การทดลองนิวเคลียร์แห่งยุโรป หรือ เซิร์น (CERN)
"เมื่ออนุภาควิ่งมาชนกันในเครื่องตรวจจับซีเอ็มเอสทำให้เกิดสภาวะที่สร้างพลังงานมหาศาล คล้ายๆ กับเมื่อครั้งที่จักรวาลเริ่มก่อกำเนิดหลังบิกแบง การชนกันของอนุภาคจะส่งผลให้เกิดอนุภาคใหม่ที่เคยมีอยู่ในสมัยแรกที่เกิดจักรวาล อนุภาคใหม่นี้จะลอยไปทั่วทุกทิศทาง จากนั้นเครื่องตรวจจับอนุภาคที่แบ่งหลายชั้นจะวัดคุณสมบัติของอนุภาคเหล่านี้ และคอยติดตามเส้นทางและวัดพลังงานของอนุภาคใหม่" หัวหน้าโครงการอธิบายและเสริมว่า แม่เหล็กกำลังสูงที่อยู่ในเครื่องตรวจจับอนุภาคจะเบี่ยงเส้นทางของอนุภาคที่มีประจุไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาสามารถระบุชนิดต่างๆ ของอนุภาคที่เกิดจากการชนกันได้
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment