Sunday, April 27, 2008

จับภาพหลักฐานแรก "หลุมดำ" เร่งอนุภาคเร็วใกล้แสงได้ไง


บีบีซีนิวส์/เอเยนซี - นักดาราศาสตร์สหรัฐฯ เผยใช้กล้องโทรทรรศน์วิทยุจับภาพ "หลุมดำ" ขณะปล่อยลำอนุภาคที่มีประจุสูงได้ ชี้เป็นหลักฐานสู่การไขปริศนาหลุมดำเร่งอนุภาคให้มีความเร็วเข้าใกล้แสงได้อย่างไร

นักดาราศาสตร์เชื่อมานานแล้วว่าหลุมดำยักษ์ที่เกิดจากใจกลางของกาแลกซีหรือดาราจักรหลายๆ แห่งยุบตัวนั้น เป็นต้นเหตุของการปลดปล่อยลำอนุภาคที่มีความเร็วเข้าใกล้ความเร็วแสง แต่ว่าหลุมดำทำให้เกิดลำอนุภาคดังกล่าวขึ้นได้อย่างไรนั้นยังคงเป็นปริศนา

ล่าสุดทีมนักวิจัยที่นำโดย ศ.อลัน มาร์สเชอร์ (Prof.Alan Marscher) จากมหาวิทยาลัยบอสตัน (Boston University) สหรัฐอเมริกา ก็จับสัญญาณแรกจากกราฟที่จะไขปริศนาข้างต้นได้ โดยอาศัยความพร้อมของระบบกล้องโทรทรรศน์วิทยุ 10 ตัว จากหอดูดาววิทยุดาราศาสตร์แห่งสหรัฐฯ (National Radio Astronomy Observatory)

ทั้งนี้เป็นการสำรวจไปยังกาแลกซีบีแอล แลเซอร์ตา (BL Lacertae) ซึ่งเป็นหลุมดำยักษ์ชนิดที่เรียกว่า "บลาซาร์" (Blazar) และได้รับการตั้งข้อสงสัยว่าบลาซาร์ดังกล่าวนั้นได้พ่นลำของพลาสมาที่ทรงพลังออกมาเป็นคู่ โดยอยู่ห่างจากโลกไป 950 ปีแสง

ทีมวิจัยเผยว่าลำอนุภาคที่มีพลังงานสูงนั้นมีต้นกำเนิดจากสนามแม่เหล็กที่อยู่ใกล้กับขอบของหลุมดำ ซึ่งภายในบริเวณดังกล่าวนั่นเองที่อนุภาคถูกเร่งและรวมเป็นลำอนุภาคเดียวกัน

"เราได้เข้าใจรูปร่างอันชัดเจนที่สุดซึ่งอยู่ในสุดของลำอนุภาค และเป็นที่ซึ่งอนุภาคทั้งหลายถูกเร่งจริงๆ" มาร์สเชอร์กล่าว

ทางด้าน ศ.ฮิวจ์ อัลเลอร์ (Hugh Aller) จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (University of Michigan) ซึ่งร่วมในการศึกษาครั้งนี้กล่าวว่า กระบวนการเร่งวัตถุให้มีความเร็วเข้าใกล้ความเร็วแสงนั้นมีความคล้ายคลึงกับสิ่งที่เครื่องเกิดขึ้นในเครื่องยนต์ของเครื่องบินเจ็ท

"มันช่วยให้เราเข้าใจว่าวัตถุบนท้องฟ้านี้เร่งอนุภาคให้มีความเร็วเข้าใกล้แสงได้อย่างไร เมื่อวัตถุตกลงไปในหลุมดำก็มีบางสิ่งที่ถูกพ่นออกมาด้วยความเร็วที่สูงมาก" ศ.อัลเลอร์กล่าว

อย่างไรก็ดี เนล โบลด์เลอร์ (Neil Bowdler) ผู้สื่อข่าววิทยาศาสตร์ของสำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า นักวิทยาศาสตร์ยังไม่เข้าใกล้การค้นพบว่ามีอะไรที่อยู่ในหลุมดำในบริเวณที่เรียกว่า "ขอบฟ้าเหตุการณ์" (event horizon) และในความเป็นจริงเราก็ยังไม่สามารถมองเข้าไปยังภายในของธรรมชาติอันแปลกประหลาดนี้ได้.

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9510000048757

Thursday, April 24, 2008

มจธ.พัฒนาซอฟต์แวร์ฝึกบินสามมิติพร้อมแบบจำลองเครื่องบินหลบสิ่งกีดขวางสมจริง

หลังจากคลุกคลีอยู่กับการเล่นเกมคอมพิวเตอร์จนชำนาญนักศึกษาพระจอมเกล้าธนบุรีดึงทักษะประสบการณ์ดังกล่าว มาพัฒนาแบบจำลองเครื่องบินสามมิติ ช่วยนักบินฝึกทักษะควบคุมเครื่อง พร้อมต่อยอดนำไปสวมใช้กับเครื่องบินไร้คนขับสอดแนมทางการทหาร

นายเรืองวิทย์บันลือหาญ นักศึกษาชั้นปี 4 สาขาระบบควบคุมและเครื่องมือวัด คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ร่วมกับกลุ่มเพื่อน พัฒนาเกมฝึกบินในรูปแบบสามมิติ เพื่อช่วยนักบินพัฒนาทักษะในหลายด้าน เช่น การมองเห็น การวางแผนหลบหลีกสิ่งกีดขวาง สมาธิในการควบคุมอุปกรณ์ โดยการบังคับระบบผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือห้องนักบินจำลอง

ทีมนักศึกษาพัฒนาเกมฝึกบินโดยปรับปรุงมาจากเกมหลบหลีกเครื่องบิน ซึ่งเป็นเกมคอมพิวเตอร์ยอดนิยมในกลุ่มวัยรุ่น แต่หันมาเน้นรูปแบบการใช้เป็นแบบฝึกหัด พัฒนาทักษะนักบินโดยเฉพาะ หากพัฒนาเสร็จสมบูรณ์คาดว่าจะมีราคาถูกกว่าโปรแกรมฝึกบินจากต่างประเทศ

แบบจำลองบินช่วยเพิ่มทักษะการบินเหนือกว่าการเล่นเกมธรรมดาทั่วไปเช่น การมองเห็น การคิดวางแผนการเล่น เนื่องจากผู้เล่นสามารถเล่นกับชุดจำลองเครื่องบิน โดยมีสิ่งกีดขวางสมจริง มีกำหนดเวลาเล่นเพื่อสะสมคะแนน สามารถเลือกระดับความยากง่ายได้ไม่ต่างจากเกมที่เล่นผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ ผู้พัฒนาโปรแกรมกล่าว

นายศิวะพลอาจอนุรักษ์ และนายณัฐพล ผิวพรรณ เพื่อนร่วมทีม ช่วยกันอธิบายหลักการทำงานของซอฟต์แวร์ว่า ระบบจำลองบินมีโหมดการทำงานหลัก 3 โหมด ได้แก่ โหมดโปรแกรมสำหรับตั้งค่าเกม โหมดเริ่มเล่นและหยุดเกม และโหมดสำหรับเลือกว่าให้เครื่องบินเดินทางด้วยระบบอัตโนมัติ หรือว่าเราเป็นคนควบคุมด้วยตนเอง

ผู้เล่นนำซอฟต์แวร์ไปติดตั้งในเครื่องคอมพิวเตอร์แล้วต่อสายสัญญาณควบคุมเข้ากับชุดเครื่องบินจำลอง ซึ่งสามารถเคลื่อนที่ขึ้นลง เลี้ยวซ้ายขวาหลบหลีกสิ่งกีดขวางสอดคล้องกับภาพที่ปรากฏบนจอคอมพิวเตอร์

อนาคตนอกจากซอฟต์แวร์จำลองบินจะสามารถใช้เป็นเกมให้เด็กเล่นเพื่อความเพลิดเพลินแล้วยังสามารถต่อยอดด้วยการนำไปใช้กับเครื่องบินไร้คนขับได้ด้วย โดยเลือกโหมดอัตโนมัติ เพื่อประโยชน์ในการใช้งานด้านการสอดแนม หรือตรวจสอบพื้นที่เสี่ยงภัยของประเทศในอนาคต นักวิจัยกล่าว

ทีมงานยังมีแผนพัฒนาให้ซอฟต์แวร์เล่นได้พร้อมกันครั้งละหลายคนจากเดิมที่สามารถเล่นได้เพียงคนเดียว โดยการปรับแต่งอุปกรณ์บางอย่างเพิ่มเข้าไป เช่น รีโมทบังคับ และเขียนซอฟต์แวร์เพิ่มสำหรับระบบการแข่งขัน

ที่มา: http://www.komchadluek.net/
Link: http://www.komchadluek.net/2008/04/24/x_it_h001_198262.php?news_id=198262

ไอทีโซน-ซอฟต์แวร์จัดคิวจราจรอากาศ

องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศยกนิ้วให้ซอฟต์แวร์จัดการสภาพคล่องจราจรทางอากาศ ผลงานวิศวกรวิทยุการบินไทย สามารถจัดคิวเครื่องบินที่ผ่านน่านฟ้าอัฟกานิสถานเหนืออ่าวเบงกอล ช่วยลดน้ำมันและระยะทางการบินได้จริง

นายทินกรชูวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารการจราจรทางอากาศ บริษัท วิทยุการบิน แห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ระบบบริหารสภาพคล่องจราจรทางอากาศผ่านอ่าวเบงกอล หรือซอฟต์แวร์บ็อบแคต (BOBCAT) เป็นระบบที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือไอเคโอ อนุญาตให้นำไปใช้จัดคิวสายการบิน ที่ทำการบินระหว่างทวีปเอเชียและยุโรป โดยผ่านเขตข่าวสารการบินของประเทศอัฟกานิสถานให้เป็นระบบ

ซอฟต์แวร์บ็อบแคตหลังนำไปทดลองใช้ 1 ปีบริเวณเหนือน่านฟ้าประเทศอัฟกานิสถาน พบว่าสามารถประหยัดน้ำมันได้ 1.1 หมื่นบาทต่อเที่ยวบิน หรือ 16.5 ล้านบาทต่อเดือน โดยจัดช่วงเวลา ความสูง และเส้นทางบินที่เหมาะสมให้แต่ละเที่ยวบินได้อย่างปลอดภัยและคล่องตัว ไม่ต้องบินวนรอคิวให้เปลืองน้ำมัน นักวิจัยกล่าว

สายการบินที่จะใช้บริการจัดคิวบินด้วยซอฟต์แวร์บ็อบแคตเพียงส่งแผนการบินแจ้งจุดหมายและปลายทางให้เจ้าหน้าที่วิทยุการบินก่อนทำการบินอย่างน้อย 2 ชั่วโมงผ่านระบบอินเทอร์เน็ต จากนั้นระบบจะคำนวณเวลาขึ้นของเครื่องบินจากจุดเริ่มต้น เวลาผ่านอ่าวเบงกอล ระดับเพดานบินที่เหมาะสม พร้อมเส้นทางบินที่ปลอดภัยและคุ้มค่า แล้วส่งผลให้สายการบินดังกล่าว

บ็อบแคตสามารถจัดคิวให้สายการบินได้สูงสุดถึง150 เที่ยวบินภายใน 4 ชั่วโมง ขณะนี้มีสายการบินที่ใช้บริการแล้วกว่า 60 เที่ยวต่อวัน ผ่านสำนักงานใหญ่ที่สำนักงานวิทยุการบิน กรุงเทพฯ แต่ข้อมูลสามารถส่งไปยังสายการบินที่ขอใช้บริการ หน่วยควบคุมการบินประเทศปากีสถาน และสนามบินที่สายการบินนั้นจะบินผ่านได้ทั่วโลก

วิทยุการบินไม่เก็บค่าใช้บริการแต่อย่างใดถือเป็นสาธารณประโยชน์ที่ใช้ร่วมกันภายใต้ข้อตกลงของไอเคโอ นักวิจัยกล่าว
อนาคตบ็อบแคตยังสามารถจัดคิวได้ด้วยตัวมันเองกรณีสายการบินยกเลิกเที่ยวบินกะทันหัน ระบบจะจัดคิวให้สายการบินอื่นมาใช้ประโยชน์จากช่วงคิวที่เว้นว่างได้ทันที

ขณะเดียวกันวิทยุการบินได้ลงนามความร่วมมือทางวิชาการกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เป็นเวลา 3 ปี เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีควบคุมจราจรทางอากาศ เทคโนโลยีด้านระบบสื่อสาร ระบบนำร่องการบิน และระบบติดตามอากาศยาน สำหรับผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการควบคุมจราจรทางอากาศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ที่มา: http://www.komchadluek.net/
Link: http://www.komchadluek.net/2008/04/24/x_it_h001_198991.php?news_id=198991

โลกวิทยาศาสตร์-ไบโอดีเซลคุ้มค่า เขม่าควันน้อยกว่าดีเซล

นักศึกษามทร.ธัญบุรี ทดสอบรถกระบะพลังไบโอดีเซล 6 คันของ กฟผ.เขื่อนภูมิพล หวังสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ขับขี่ พบรถใช้ไบโอดีเซลสูตรบี 15 ไส้กรอกเชื้อเพลิงสะอาดสุด มีไขจับน้อยกว่าบี 30 และ 50 แต่ทั้งสามสูตรปล่อยเขม่าควันต่ำกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซล

สูตรไบโอดีเซลที่ใช้กันแพร่หลายคือ บี 15 บี 30 และบี 50 ตามชนิดของเครื่องยนต์ โดยบี 15 มีน้ำมันพืชใช้แล้ว ซึ่งผ่านกระบวนการผลิตเป็นไบโอดีเซล เป็นส่วนผสม 15% และน้ำมันดีเซลมากถึง85% จึงมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับน้ำมันดีเซลมากกว่าบี 50 ซึ่งมีน้ำมันดีเซลเป็นส่วนผสมเพียง 50%

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เขื่อนภูมิพล ผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชใช้แล้ว และใช้กับรถบรรทุกขนาดเล็กมานานแล้ว แต่ยังไม่มีการศึกษาถึงผลกระทบต่อเครื่องยนต์และสิ่งแวดล้อม จึงร่วมกับเพื่อนนักศึกษาวิเคราะห์ผลการใช้ไบโอดีเซลดังกล่าว เพื่อประโยชน์และเป็นแนวทางสำหรับผู้ที่สนใจจะใช้ต่อไป" นายภุญชัย รสเครือ นักศึกษาคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) กล่าว

กฟผ.เขื่อนภูมิพลผลิตไบโอดีเซล3 สูตร คือ บี 15 บี 30 และบี 50 ใช้กับรถยนต์ดีเซล 6 คัน (โตโยต้า ไฮลักซ์ รุ่นแอลเอ็น 85) ทีมวิจัยจึงศึกษาทั้งสามสูตร โดยเก็บข้อมูลจากรถยนต์ ซึ่งขับขี่ตามสภาพการใช้งานจริง ในระยะทางทุกๆ 500 1,000 1,500 2,000 และ 2,500 กิโลเมตร

พบว่ารถยนต์ที่ใช้บี 15 ในระยะยาวมีการจับเป็นไขบริเวณไส้กรองเชื้อเพลิงน้อยกว่าบี 30 และบี 50 เมื่อตรวจสอบคุณสมบัติน้ำมันหล่อลื่น ก็ "ไม่" พบการปนเปื้อนของน้ำมันเชื้อเพลิง น้ำและปริมาณเขม่า ในอัตราสูงเกินเกณฑ์การเตือนภัยขั้นจุดวิกฤติ

ไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชใช้แล้วยังก่อมลภาวะ"ต่ำ" กว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิง โดยบี 50 เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากสุด แต่พบอัตราการสิ้นเปลือง "สูง" กว่าการใช้น้ำมันดีเซล

นายภุญชัยซึ่งเป็นอดีตเจ้าหน้าที่ กฟผ.เขื่อนภูมิพล เพิ่มเติมว่า โครงการวิจัยดังกล่าวได้รับความร่วมมือจากสาขาวิชาเทคโนโลยีเครื่องกล ที่ให้คำปรึกษาและแนะแนวทางการทำวิจัยตลอดโครงการ ส่วนผู้สนใจการผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชใช้แล้ว ติดต่อที่โทร.0-5555-9093 ต่อ 2246

ที่มา: http://www.komchadluek.net/
Link: http://www.komchadluek.net/2008/04/24/x_it_h001_199160.php?news_id=199160

Wednesday, April 23, 2008

สดร.ชวนนักดูดาวร่วมประกวด “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”


สดร.-สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ชวนนักดูดาวทุกรุ่นส่งผลงานเข้าประกวด "ภาพถ่ายดาราศาสตร์เหนือฟากฟ้าเมืองไทย" ชิงโล่เกียรติยศ ปิดกล่องรับผลงาน 30 มิ.ย.

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เปิดตัวโครงการประกวดภาพถ่ายทางดาราศาสตร์ประจำปี 2551 ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย” ขึ้นเมื่อวันที่ 21 เม.ย.51 ณ ห้องโถงอาคารพระจอมเกล้า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

รศ.ดร.บุญรักษา สุนทรธรรม ผอ.สดร.กล่าวในงานแถลงข่าวว่า การประกวดดังกล่าวได้แบ่งประเภทของภาพที่ส่งเข้าประกวดไว้ 4 ประเภทด้วยกันคือ 1.ภาพถ่ายเอกภพที่อยู่ไกลออกไปจากระบบสุริยะของเรา (Deep Sky Objects) อาทิ กระจุกดาว เนบิวลา และกาแลกซี 2.ภาพถ่ายปรากฏการณ์การทางดาราศาสตร์ เช่น ดาวหาง สุริยุปราคา จันทรุปราคา และฝนดาวตก 3.ภาพถ่ายวัตถุในระบบสุริยะ เช่น ดวงจันทร์ ดาวอังคาร และดาวเสาร์ และ 4.ภาพถ่ายทิวทัศน์กับวัตถุท้องฟ้า (Celestial Object)

สำหรับเงื่อนไขของการส่งภาพถ่ายเข้าประกวด ผู้สนใจสามารถส่งภาพที่บันทึกโดยตัวเองเข้าประกวดได้คนละ 1 ประเภทๆ ละไม่เกิน 2 ภาพ สามารถส่งภาพถ่ายที่ถ่ายเก็บไว้ในอดีตได้ไม่จำกัดระยะเวลา โดยต้องเป็นภาพที่ไม่เคยได้รับรางวัลจากการประกวดใดๆ มาก่อน และภาพถ่ายทุกภาพต้องอธิบายวิธีและเทคนิคการถ่ายภาพ รวมถึงเทคนิคที่ใช้ประมวลผลภาพถ่าย (Image processing) โดยละเอียด ผู้รับรางวัลชนะเลิศในแต่ละประเภทจะได้รับโล่เกียรติยศจากนายวุฒิพงศ์ ฉายแสง รมว.วิทยาศาสตร์ฯ พร้อมเงินรางวัล

"ระยะถือเป็นโอกาสที่ดีซึ่งเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้จะมีปรากฏการณ์ถึง 2 รูปแบบให้ติดตามได้ คือปรากฏการณ์ดวงจันทร์ผ่านหน้าดาวอังคารในวันที่ 10 ของเดือนและปรากฏการณ์ฝนดาวตกที่จะมีเป็นประจำทุกๆ เดือน จึงเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้สนใจสามารถถ่ายรูปปรากฏการณ์ล่าสุดมาร่วมประกวดได้" ผอ.สดร.กล่าว

ผู้สนใจสามารถส่งภาพถ่ายทางดาราศาสตร์เข้าร่วมประกวดได้ตั้งแต่วันนี้-30 มิ.ย.51 โดยเดินทางมาส่งด้วยตัวเองหรือส่งทางไปรษณีย์วงเล็บมุมซองว่า โครงการประกวดภาพถ่ายทางดาราศาสตร์ ประจำปี 2551 “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดารา ศาสตร์ในเมืองไทย” มาที่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานชั่วคราว (จังหวัดเชียงใหม่) อาคารฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ 50200 หรือเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.narit.or.th หรือ โทร.053 -225 569

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9510000047600

Tuesday, April 22, 2008

"มอเตอร์นาโน" ชิ้นแรกจากสเปนขับเคลื่อนด้วยอุณหภูมิที่แตกต่าง


ไซน์เดลี/มหาวิทยาลัยบาเซโลนา - ทีมนักวิจัยสเปนระบุเป็นเจ้าแรกที่ผลิตมอเตอร์นาโนได้โดยใช้ความแตกต่างของอุณหภูมิขับเคลื่อน สามารถลำเลียงสัมภาระและหมุนได้เหมือนมอเตอร์แบบดั้งเดิมแต่มีขนาดเล็กจิ๋วกว่าหัวเข็มหมุดเป็นล้านเท่า งานวิจัยนี้จะเปิดประตูไปสู่การพัฒนาอุปกรณ์ระดับนาโนที่ใช้งานเชิงกลได้และอนาคตอาจนำไปประยุกต์ในศาสตร์ทางด้านชีวการแพทย์หรือประดิษฐ์วัสดุใหม่ๆ ได้

ทั้งนี้ทีมนักวิจัยจากอุทยานวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยบาเซโลนา (Universitat Autonoma de Barcelona) สเปน ได้พัฒนา "อุปกรณ์ขนส่งนาโน" (nanotransporter) ที่ผลิตจากท่อนาโนคาร์บอน โดยออกแบบเป็นท่อทรงกระบอกเส้นยาวที่หุ้มด้วยท่อทรงกระบอกที่สั้นกว่า ซึ่งท่อนาโนที่สั้นกว่านั้นสามารถหมุนรอบท่อนาโนที่ยาวกว่าและเคลื่อนที่ไปข้างหน้าหรือถอยหลังได้

เมื่อให้อุณหภูมิที่แตกต่างกันตรงปลายท่อนาโนเส้นยาวทั้ง 2 ข้าง ท่อนาโนที่สั้นกว่าจะเคลื่อนจากปลายท่อที่ร้อนกว่าไปยังปลายท่อที่เย็นกว่า นอกจากนี้ยังให้ท่อที่สั้นกว่านั้นลำเลียงวัสดุโลหะไปด้วยได้ นับเป็นครั้งแรกที่สามารถสร้างและควบคุมมอเตอร์ในระดับนาโนเมตรจากการให้ความแตกต่างของอุณหภูมิแก่มอเตอร์

ความแม่นยำในการเคลื่อนที่ของท่อนาโนสั้นไปตามท่อนาโนที่ยาวกว่านั้นควบคุมได้ถึงในระดับที่เล็กกว่าเส้นผ่านศูนย์กลางอะตอม ซึ่งความสามารถในการควบคุมวัตถุเคลื่อนที่ในระดับนาโนเมตรนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับการประยุกต์ใช้กับนาโนเทคโนโลยีในอนาคต เช่น การออกแบบระบบกลไกอิเล็กทรอนิกส์ระดับนาโนด้วยศักยภาพทางเทคโนโลยีอันยอดเยี่ยมนี้สำหรับศาสตร์ทางด้านชีวการแพทย์และออกแบบวัสดุใหม่ๆ

งานวิจัยชิ้นนี้ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ผ่านวารสาร "ไซน์เอ็กเพรส" (Science Express) ซึ่งทีมวิจัยจากอุทยานวิจัยมหาวิทยาลัยบาเซโลนานำโดย อาเดรียน บ๊าคโทล์ด (Adrian Bachtold) และผู้ร่วมวิจัยคือ เอ็ดดูอาร์โด เฮอร์นันเดซ (Eduardo Hernández) ริคคาร์โด รูราลี (Riccardo Rurali) เอมีเลีย บาร์ไรโร (Amelia Barreiro) และโจเอล โมเซอร์ (Joel Moser) นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือกับนักวิจัยจากสถาบันในออสเตรียและสวิตเซอร์แลนด์

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9510000045443

Monday, April 21, 2008

วิทยุการบินพัฒนาซอฟต์แวร์คุมจราจรอากาศ


องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ยกนิ้วให้ซอฟต์แวร์จัดสภาพคล่องจราจรทางอากาศ ผลงานวิศวกรวิทยุการบินไทย จัดคิวเครื่องบินที่ผ่านน่านฟ้าอัฟกานิสถานเหนืออ่าวเบงกอล ช่วยลดน้ำมันและระยะทางการบินได้จริง

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : ระบบบริหารสภาพคล่องจราจรทางอากาศผ่านอ่าวเบงกอล หรือซอฟต์แวร์บ็อบแคต (BOBCAT) เป็นระบบที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศหรือไอเคโอ (ICAO) อนุญาตให้นำไปใช้จัดคิวสายการบินที่ทำการบินระหว่างทวีปเอเชียและยุโรป โดยผ่านเขตข่าวสารการบินของประเทศอัฟกานิสถานให้เป็นระบบ

ซอฟต์แวร์บ็อบแคต ผลงานการค้นคว้าและพัฒนาของทีมวิศวกรของศูนย์บริหารการจราจรทางอากาศ บริษัท วิทยุการบิน แห่งประเทศไทย จำกัด

นายทินกร ชูวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารการจราจรทางอากาศ บริษัทวิทยุการบินฯ กล่าวว่า ซอฟต์แวร์บ็อบแคต หลังนำไปทดลองใช้เป็นเวลา 1 ปีบริเวณเหนือน่านฟ้าประเทศอัฟกานิสถาน

พบว่าสามารถประหยัดน้ำมันได้ 11,000 บาทต่อเที่ยวบิน หรือ 16.5 ล้านบาทต่อเดือน โดยจัดช่วงเวลา ความสูง และเส้นทางบินที่เหมาะสมให้แต่ละเที่ยวบินได้อย่างปลอดภัยและคล่องตัว ไม่ต้องบินวนรอคิวให้เปลืองน้ำมัน

สายการบินที่จะใช้บริการจัดคิวบินด้วยซอฟต์แวร์บ็อบแคต เพียงส่งแผนการบินแจ้งจุดหมายและปลายทางให้เจ้าหน้าที่วิทยุการบินก่อนทำการบินอย่างน้อย 2 ชั่วโมงผ่านระบบอินเทอร์เน็ต

จากนั้นระบบจะคำนวณเวลาขึ้นของเครื่องบินจากจุดเริ่มต้น เวลาผ่านอ่าวเบงกอล ระดับเพดานบินที่เหมาะสม พร้อมเส้นทางบินที่ปลอดภัยและคุ้มค่าทั้งเวลาและน้ำมันไปให้

บ็อบแคตสามารถจัดคิวให้สายการบินได้สูงสุดถึง 150 เที่ยวบินภายในเวลาเพียง 4 ชั่วโมง โดยขณะนี้มีสายการบินที่ใช้บริการแล้วกว่า 60 เที่ยวต่อวัน ผ่านสำนักงานใหญ่ที่สำนักงานวิทยุการบิน ทุ่งมหาเมฆ กรุงเทพ แต่ข้อมูลสามารถส่งไปยังสายการบินที่ขอใช้บริการ หน่วยควบคุมการบินประเทศปากีสถาน และสนามบินที่สายการบินนั้นจะบินผ่านได้ทั่วโลก

“วิทยุการบินไม่เก็บค่าใช้บริการจากสายการบินแต่อย่างใด ถือเป็นสาธารณประโยชน์ที่ใช้ร่วมกันภายใต้ข้อตกลงของไอเคโอ โดยไทยมองว่าหากเส้นทางขนส่งระหว่างยุโรปและเอเชียเชื่อมโยงมากขึ้นในอนาคต ไทยจะได้รับเลือกให้เป็นศูนย์กลางในการเชื่อมต่อระหว่างทวีป” นักวิจัย ตั้งความหวัง

อนาคตบ็อบแคตยังสามารถจัดคิวได้ด้วยตัวมันเอง กรณีสายการบินยกเลิกเที่ยวบินกะทันหัน ระบบจะจัดคิวให้สายการบินอื่นมาใช้ประโยชน์จากช่วงคิวที่เว้นว่างได้ทันที ขณะนี้แผนการพัฒนาดังกล่าวอยู่ในระหว่างการรอนำเสนอความคิดต่อที่ประชุมไอเคโอ

ขณะเดียวกัน วิทยุการบินได้ลงนามความร่วมมือทางวิชาการกับศูนย์อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เป็นเวลา 3 ปี ดำเนินการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับการควบคุมจราจรทางอากาศ เทคโนโลยีด้านระบบสื่อสาร ระบบนำร่องการบิน และระบบติดตามอากาศยาน

เพื่อผลักดันให้ไทยการเป็นศูนย์กลางการควบคุมจราจรทางอากาศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

กานต์ดา บุญเถื่อน

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com/
Link: http://www.bangkokbiznews.com/2008/04/21/WW54_5401_news.php?newsid=249494

Wednesday, April 16, 2008

เวทีประชันไอเดียหุ่นยนต์ลดโลกร้อน

"หุ่นยนต์ลดโลกร้อน" จำนวน 10 ตัวจากฝีมือการออกแบบและพัฒนาของเยาวชนไทย จะปรากฏโฉมให้คนไทยชื่นชมความสามารถ ที่ศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์พลาซ่า ในวันที่ 13 พ.ค.ที่จะถึงนี้

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : เวทีประชันความสามารถของหุ่นยนต์ลดโลกร้อน มีศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นเจ้าภาพ เพื่อเฟ้นหาเยาวชนนักพัฒนาหุ่นยนต์ ที่จะเป็นตัวแทนไปแข่งขันหุ่นยนต์นานาชาติที่ประเทศบราซิล และถือเป็นครั้งแรกที่มีการแข่งขันลักษณะนี้ในไทย

รศ.ดร.วีรศักดิ์ อุดมกิจเดชา ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) กล่าวว่า ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพแข่งขันออกแบบหุ่นยนต์นานาชาติ (IDC RoBoCon 2007) มีสมาชิกเข้าร่วม 7 ประเทศคือ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เยอรมนี อังกฤษ ฝรั่งเศส บราซิล และเกาหลีใต้ จากประสบการณ์ดังกล่าว ทำให้มีโอกาสเรียนรู้วิธีการแข่งขันที่เป็นสากล และนำมาสู่การแข่งขันระดับประเทศภายใต้กติกาเดียวกัน

เยาวชนที่ผ่านเข้ารอบคัดเลือกแล้ว มีทั้งหมด 44 คนจาก 10 สถาบัน จะถูกจัดแบ่งเป็นทีม ทีมละ 4 คนแบบคละมหาวิทยาลัย เพื่อฝึกการทำงานเป็นทีม ตามกติกาการแข่งขันสากล

ผู้เข้าแข่งขันทั้งหมดจะได้รับการอบรมวิธีการออกแบบและเทคนิคพัฒนาหุ่นยนต์ ระบบกลไกเมคคานิกส์ จากนั้นจะให้เวลา 2 สัปดาห์สุดท้าย เพื่อสร้างหุ่นยนต์ช่วยลดโลกร้อน ทั้งนี้ จากการแข่งขันในรอบคัดเลือกที่ผ่านมา พบจุดอ่อนของเยาวชนไทยอยู่ที่การทำงานร่วมกับผู้อื่น

“ผู้เข้าแข่งขันจะเรียนรู้วิธีจัดการหรือแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การใช้อุปกรณ์ที่มีอยู่จำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด การสร้างหุ่นยนต์ไม่จำเป็นต้องใช้เงินทุนสูง เพียงแต่ต้องรู้จักการออกแบบและประยุกต์ให้สามารถแก้โจทย์ได้ตามกติกากำหนด” ผศ.ดร.วิทยา วัณณสุโภประสิทธิ์ รองประธานจัดการแข่งขัน จากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว

ทั้งนี้ กลไกการพัฒนาหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในประเทศไทย ต้องอาศัยนักสร้างหุ่นยนต์ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องการออกแบบ กลไกการควบคุม ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีบุคลากรเฉพาะทางอยู่จำกัด ทำให้ไม่สามารถผลิตหุ่นยนต์รองรับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมได้เพียงพอ ตามนโยบายยุทธศาสตร์หุ่นยนต์ ที่ผลักดันโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)

"การสร้างหุ่นยนต์โดยใช้อุปกรณ์ที่จำกัด เป็นความท้าทายที่ทุกทีมต้องเผชิญ แต่ไม่ยากเกินไปสำหรับผม เพราะมีความสนใจเกี่ยวกับระบบกลไกหุ่นยนต์อยู่แล้ว ก็นำความรู้มาประยุกต์ใช้ในการแข่งขัน โดยจะพัฒนาหุ่นยนต์ให้ตรงตามโจทย์ที่กรรมการกำหนดเป็นหลัก" พิชัย ใจจิต นักศึกษาชั้นปีที่ 4 จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ผู้ร่วมการแข่งขัน กล่าว

จุฑารัตน์ ทิพย์นำภา

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com/
Link: http://www.bangkokbiznews.com/2008/04/16/WW54_5405_news.php?newsid=245203

Tuesday, April 8, 2008

"หลุมดำ" เล็กสุดที่เคยพบอยู่ในกาแลกซีของเราเอง


เนชันแนลจีโอกราฟิก/เอเอฟพี/เดลีเทเลกราฟ - พบหลุมดำเล็กสุดในเอกภพ เท่าที่ตรวจจับได้ อยู่ในกาแลกซีทางช้างเผือกของเราเอง โดยเป็นหลุมดำมวล 3.8 เท่าของดวงอาทิตย์ แต่ก่อนหน้านี้พบหลุมดำเล็กที่สุดหนักกว่าดวงอาทิตย์ 6.3 เท่า การค้นพบครั้งนี้เข้าใกล้ความเข้าใจว่ามวลต่ำสุดที่ทำให้ดาวตายแล้วกลายเป็นหลุมดำคือเท่าใด

แม้ว่าจะเล็กแต่ก็มีความหนาแน่นอย่างมากสำหรับ "หลุมดำ" ที่เพิ่งพบใหม่ภายในกาแลกซีทางช้างเผือก โดยมีมวลมากถึง 3.8 เท่าของดวงอาทิตย์แต่มีเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 24 กิโลเมตรเท่านั้น ซึ่งนักวิทยาศาสตร์จากศูนย์การบินอวกาศกอดดาร์ด (Goddard Space Flight Center) ในมลรัฐแมรีแลนด์ ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐอเมริกา (นาซา) ให้ความเห็นว่าสิ่งที่พบนี้ได้ผลักขีดจำกัดความเข้าใจในปรากฏการณ์ธรรมชาติออกไป

"เป็นเวลาหลายปีที่นักดาราศาสตร์ต้องการรู้ว่า ขนาดหลุมดำที่เล็กที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้คือเท่าไหร่ และหลุมดำขนาดเล็กที่พบนี้ก็เป็นก้าวใหญ่ๆ ที่จะมุ่งหน้าไปสู่คำตอบของคำถามดังกล่าว" นิโคไล ชาโปชนิโกฟ (Nikolai Shaposhnikov) จากนาซากล่าว

ชาโปชนิโกฟและเลฟ ทิทาร์ชัค (Lev Titarchuk) ผู้ร่วมศึกษาอีกคนค้นพบหลุมดำขนาดเล็กนี้โดยใช้ดาวเทียมสำรวจย่านรังสีเอกซ์รอสซี (Rossi X-ray Timing Explorer satellite) ของนาซา โดยตำแหน่งของหลุมดำในระบบดาวคู่ที่ชื่อ XTE J1650-500 นี้ที่อยู่ห่างจากโลก 10,000 ปีแสง หากมองจากท้องฟ้าจะอยู่ในกลุ่มดาวแท่นบูชา (Ara)

หลุมดำซึ่งเกิดได้จากการยุบตัวของดวงดาว กลายเป็นดาวที่มีความหนาแน่นไม่จำกัดนั้นจะดูดกลืนทุกสิ่งที่เฉียดใกล้แรงโน้มถ่วงของหลุมดำ และรวมถึงแสงด้วย หลุมดำมวลยักษ์หรือหลุมดำขนาดใหญ่สามารถมีมวลได้มากกว่าดวงอาทิตย์ของเราถึงหลายพันล้านเท่า สำหรับมวลขนาดหลุมดำเล็กที่พบนี้เกือบต่ำกว่าขีดจำกัดที่ดาวดวงหนึ่งจะยุบตัวเป็นหลุมดำได้ และหากดาวมีมวลต่ำกว่านี้จะก่อตัวเป็นดาวแคระขาวหรือดาวนิวตรอนแทน

นอกจากนี้หลุมดำยังปลดปล่อยรังสีเอกซ์ที่มีความเข้มสูงในปริมาณมหาศาลและมีการเปลี่ยนแปลงเป็นช่วงๆ ที่เรียกว่าการแกว่งกวัดคาบไม่คงที่หรือคิวพีโอ (quasi-periodic oscillation: QPO)

นักวิทยาศาสตร์ประเมินขนาดของหลุมดำได้จากการพิจารณาการปลดปล่อยรังสีเอกซ์ที่อยู่รอบๆ เนื่องจากไม่สามารถสังเกตหลุมดำได้โดยตรงเพราะแสงไม่สามารถหลุดออกมาได้ ดังนั้นทางเดียวที่จะตรวจหาได้ก็เมื่อมีหลุมดำอยู่ในระบบดาวคู่เนื่องจากก๊าซจากดาวคู่จะถูกดึงออกมาโดยหลุมดำ ก๊าซจะหมุนวนเป็นก้นหอยเข้าสู่ภายใน มีรูปร่างคล้ายจานที่มีความหนาแน่นตรงศูนย์กลาง สสารที่ตกสู่ใจกลางหลุมดำจะได้รับความร้อนสูงมากจนปล่อยลำแสงในย่านรังสีเอกซ์ออกมาซึ่งตรวจวัดได้จากดาวเทียมที่โคจรรอบโลก

ชาโปชนิโกฟและทิทาร์ชัคได้คำนวณค่าผกผันของการปลดปล่อยรังสีเอกซ์ซึ่งน่าจะเชื่อมโยงกับขนาดของหลุมดำ เขาทั้งสองได้ทดสอบทฤษฎีดังกล่าวจากการเทียบค่าประมาณมวลหลุมดำด้วยวิธีอื่น เช่น วัดการโคลงเคลงวงโคจรของดาวที่อยู่ใกล้เคียงอันเนื่องจากผลของแรงโน้มถ่วง แล้วพบว่าวิธีใหม่ก็ให้ผลที่มีค่อนข้างแม่นยำ

ทั้งนี้หลุมดำหลายๆ แห่งที่คล้ายกับในระบบ XTE J1650-500 นี้ก่อตัวจากดาวที่ตายแล้วหลายดวง ซึ่งทีมวิจัยกล่าวว่าการค้นพบครั้งนี้ยังช่วยให้เกิดความเข้าใจฟิสิกส์และวิวัฒนาการของดวงดาวได้มากขึ้น ทั้งนี้นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบแน่ชัดว่ามวลต่ำสุดที่ดาวตายแล้วจะเปลี่ยนเป็นหลุมดำคือเท่าไหร่ ซึ่งดาวที่มีมวลภายใต้ค่าที่ยังไม่ทราบนี้จะเปลี่ยนไปเป็นดาวนิวตรอนเมื่อตายแล้วแทนที่จะเป็นหลุมดำ นักดาราศาสตร์คาดว่าเส้นแบ่งระหว่างหลุมดำกับดาวนิวตรอนอยู่ที่มวล 1.7-2.7 เท่าของดวงอาทิตย์ (ประมาณ 333,000 เท่าของมวลโลก)

"ค่าดังกล่าวอยู่ระหว่าง 2-3 เท่าของมวลดวงอาทิตย์ ดังนั้นการพบหลุมดำที่มีมวล 3.8 เท่าของดวงอาทิตย์ทำให้เราค่อนข้างจะเข้าใกล้ขอบเขตดังกล่าว" ชาโปชนิโกฟกล่าว ทั้งนี้การทราบเส้นแบ่งของมวลที่ทำให้ดาวฤกษ์ตายแล้วกลายเป็นดาวนิวตรอนหรือหลุมดำนั้นยังมีความสำคัญต่อความเข้าใจถึงพฤติกรรมสสารภายใต้ความหนาแน่นสูงอย่างไม่ธรรมดาด้วย

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9510000041276

Wednesday, April 2, 2008

มข.สร้างหุ่นยนต์ลูกมือหมอหนุนส่องกล้องผ่าตัดมดลูกแม่นยำสูง

เทคโนโลยีผ่าตัดส่องกล้องทางนรีเวชกำลังเป็นที่นิยมเพราะให้ความสะดวกทั้งแพทย์และคนไข้ โดยแผลผ่าตัดเป็นรอยเล็กๆ พักฟื้น 1-2 วันก็กลับบ้านได้ การผ่าตัดดังกล่าว

นอกจากจะใช้แพทย์ที่เชี่ยวชาญแล้ว ผู้ช่วยก็มีบทบาทสำคัญในการถือและสอดกล้องจิ๋วไปยังจุดเป้าหมาย เมื่อถือเป็นเวลานานก็เกิดอาการเมื่อยล้า ทำให้กล้องผ่าตัดคลาดเคลื่อนไปจากจุดผ่าตัด

"หุ่นยนต์ผู้ช่วย" สิ่งประดิษฐ์จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ออกแบบให้ทำงานแทนคนในการถือและขยับกล้องผ่าตัด ไร้ปัญหาเมื่อยล้า แถมยังสามารถกำหนดพิกัดการถือที่แน่นอน รับรางวัลเหรียญทองจากสมาพันธ์นักประดิษฐ์นานาชาติ หรือไอเอฟไอเอ ในงานวันนักประดิษฐ์นานาชาติเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

นพ.โกวิทคำพิทักษ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า หุ่นยนต์ช่วยถือกล้องผ่าตัด ประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อการผ่าตัดทางสูตินรีเวชโดยเฉพาะ เนื่องจากเป็นการผ่าตัดที่มีความจำเพาะในการเคลื่อนไหว ซึ่งแตกต่างจากการผ่าตัดทั่วไป จึงจำเป็นต้องมีอุปกรณ์การถือกล้องที่เหมาะสำหรับการผ่าตัดด้านนรีเวชโดยเฉพาะ

ในการผ่าตัดส่องกล้องคนไข้จะถูกเจาะท้องเป็นรูเล็ก 3-4 รู เพื่อสอดกล้องเข้าไปยังตำแหน่งเป้าหมาย แพทย์ก็จะมองเห็นภาพที่กล้องบันทึกได้ผ่านจอมอนิเตอร์ แต่กระบวนการดังกล่าวแพทย์ผู้ช่วยต้องเคลื่อนกล้องด้วยมือ ซึ่งอาจจะไม่แม่นยำและกระทบกระเทือนพื้นผิวบริเวณใกล้เคียงที่ต้องการผ่าตัด โดยเฉพาะกรณีที่ผู้ช่วยไม่ชำนาญหรือเมื่อยล้า จะทำให้การผ่าตัดยุ่งยากและล่าช้า

ขณะที่อุปกรณ์ช่วยถือกล้องจากต่างประเทศมีราคาสูงถึง5-10 ล้านบาท ทีมงานจึงพัฒนาหุ่นยนต์ดังกล่าวขึ้น มีลักษณะเป็นแขนกลที่จะช่วยขยับกล้องผ่าตัดไปในมุมต่างๆ อย่างแม่นยำ ทำให้การผ่าตัดทางนรีเวชสะดวก ปลอดภัย ถูกต้อง แม่นยำและรวดเร็ว โดยต้นทุนไม่ถึง 1 แสนบาท

ผศ.ดร.สิริวิชญ์เตชะเจษฎารังษี คณะวิศวกรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในการออกแบบหุ่นยนต์นี้ ทีมงานวิเคราะห์ข้อมูลด้านการแพทย์ ถึงการเคลื่อนกล้องไปยังตำแหน่งต่างๆ ควรจะมีขีดจำกัดอยู่ที่ใดเพื่อไม่ให้กระทบผู้ป่วย และขั้นตอนสุดท้ายจะออกแบบให้ควบคุมได้ด้วยเท้า เพราะมือทั้งสองข้างของแพทย์ต้องใช้ในการหยิบจับอุปกรณ์อื่น

ขณะนี้การออกแบบหุ่นยนต์ผู้ช่วยสำเร็จแล้วและอยู่ระหว่างการทำแผนวิจัยด้านจริยธรรมเพื่อใช้กับสัตว์ทดลอง คาดว่าจะทดลองในหมูได้ในช่วงกลางปีนี้ เพื่อพัฒนาให้มีความเสถียรสูงสุด ก่อนที่จะทดลองในมนุษย์ในราวปลายปีนี้

ที่มา: http://www.komchadluek.net/
Link: http://www.komchadluek.net/2008/04/02/x_it_h001_196573.php?news_id=196573

มข.สร้างหุ่นยนต์ลูกมือหมอหนุนส่องกล้องผ่าตัดมดลูกแม่นยำสูง

เทคโนโลยีผ่าตัดส่องกล้องทางนรีเวชกำลังเป็นที่นิยมเพราะให้ความสะดวกทั้งแพทย์และคนไข้ โดยแผลผ่าตัดเป็นรอยเล็กๆ พักฟื้น 1-2 วันก็กลับบ้านได้ การผ่าตัดดังกล่าว

นอกจากจะใช้แพทย์ที่เชี่ยวชาญแล้ว ผู้ช่วยก็มีบทบาทสำคัญในการถือและสอดกล้องจิ๋วไปยังจุดเป้าหมาย เมื่อถือเป็นเวลานานก็เกิดอาการเมื่อยล้า ทำให้กล้องผ่าตัดคลาดเคลื่อนไปจากจุดผ่าตัด

"หุ่นยนต์ผู้ช่วย" สิ่งประดิษฐ์จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ออกแบบให้ทำงานแทนคนในการถือและขยับกล้องผ่าตัด ไร้ปัญหาเมื่อยล้า แถมยังสามารถกำหนดพิกัดการถือที่แน่นอน รับรางวัลเหรียญทองจากสมาพันธ์นักประดิษฐ์นานาชาติ หรือไอเอฟไอเอ ในงานวันนักประดิษฐ์นานาชาติเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

นพ.โกวิทคำพิทักษ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า หุ่นยนต์ช่วยถือกล้องผ่าตัด ประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อการผ่าตัดทางสูตินรีเวชโดยเฉพาะ เนื่องจากเป็นการผ่าตัดที่มีความจำเพาะในการเคลื่อนไหว ซึ่งแตกต่างจากการผ่าตัดทั่วไป จึงจำเป็นต้องมีอุปกรณ์การถือกล้องที่เหมาะสำหรับการผ่าตัดด้านนรีเวชโดยเฉพาะ

ในการผ่าตัดส่องกล้องคนไข้จะถูกเจาะท้องเป็นรูเล็ก 3-4 รู เพื่อสอดกล้องเข้าไปยังตำแหน่งเป้าหมาย แพทย์ก็จะมองเห็นภาพที่กล้องบันทึกได้ผ่านจอมอนิเตอร์ แต่กระบวนการดังกล่าวแพทย์ผู้ช่วยต้องเคลื่อนกล้องด้วยมือ ซึ่งอาจจะไม่แม่นยำและกระทบกระเทือนพื้นผิวบริเวณใกล้เคียงที่ต้องการผ่าตัด โดยเฉพาะกรณีที่ผู้ช่วยไม่ชำนาญหรือเมื่อยล้า จะทำให้การผ่าตัดยุ่งยากและล่าช้า
ขณะที่อุปกรณ์ช่วยถือกล้องจากต่างประเทศมีราคาสูงถึง5-10 ล้านบาท ทีมงานจึงพัฒนาหุ่นยนต์ดังกล่าวขึ้น มีลักษณะเป็นแขนกลที่จะช่วยขยับกล้องผ่าตัดไปในมุมต่างๆ อย่างแม่นยำ ทำให้การผ่าตัดทางนรีเวชสะดวก ปลอดภัย ถูกต้อง แม่นยำและรวดเร็ว โดยต้นทุนไม่ถึง 1 แสนบาท

ผศ.ดร.สิริวิชญ์เตชะเจษฎารังษี คณะวิศวกรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในการออกแบบหุ่นยนต์นี้ ทีมงานวิเคราะห์ข้อมูลด้านการแพทย์ ถึงการเคลื่อนกล้องไปยังตำแหน่งต่างๆ ควรจะมีขีดจำกัดอยู่ที่ใดเพื่อไม่ให้กระทบผู้ป่วย และขั้นตอนสุดท้ายจะออกแบบให้ควบคุมได้ด้วยเท้า เพราะมือทั้งสองข้างของแพทย์ต้องใช้ในการหยิบจับอุปกรณ์อื่น

ขณะนี้การออกแบบหุ่นยนต์ผู้ช่วยสำเร็จแล้วและอยู่ระหว่างการทำแผนวิจัยด้านจริยธรรมเพื่อใช้กับสัตว์ทดลอง คาดว่าจะทดลองในหมูได้ในช่วงกลางปีนี้ เพื่อพัฒนาให้มีความเสถียรสูงสุด ก่อนที่จะทดลองในมนุษย์ในราวปลายปีนี้

ที่มา: http://www.komchadluek.net/
Link: http://www.komchadluek.net/2008/04/02/x_it_h001_196573.php?news_id=196573