Sunday, April 27, 2008

จับภาพหลักฐานแรก "หลุมดำ" เร่งอนุภาคเร็วใกล้แสงได้ไง


บีบีซีนิวส์/เอเยนซี - นักดาราศาสตร์สหรัฐฯ เผยใช้กล้องโทรทรรศน์วิทยุจับภาพ "หลุมดำ" ขณะปล่อยลำอนุภาคที่มีประจุสูงได้ ชี้เป็นหลักฐานสู่การไขปริศนาหลุมดำเร่งอนุภาคให้มีความเร็วเข้าใกล้แสงได้อย่างไร

นักดาราศาสตร์เชื่อมานานแล้วว่าหลุมดำยักษ์ที่เกิดจากใจกลางของกาแลกซีหรือดาราจักรหลายๆ แห่งยุบตัวนั้น เป็นต้นเหตุของการปลดปล่อยลำอนุภาคที่มีความเร็วเข้าใกล้ความเร็วแสง แต่ว่าหลุมดำทำให้เกิดลำอนุภาคดังกล่าวขึ้นได้อย่างไรนั้นยังคงเป็นปริศนา

ล่าสุดทีมนักวิจัยที่นำโดย ศ.อลัน มาร์สเชอร์ (Prof.Alan Marscher) จากมหาวิทยาลัยบอสตัน (Boston University) สหรัฐอเมริกา ก็จับสัญญาณแรกจากกราฟที่จะไขปริศนาข้างต้นได้ โดยอาศัยความพร้อมของระบบกล้องโทรทรรศน์วิทยุ 10 ตัว จากหอดูดาววิทยุดาราศาสตร์แห่งสหรัฐฯ (National Radio Astronomy Observatory)

ทั้งนี้เป็นการสำรวจไปยังกาแลกซีบีแอล แลเซอร์ตา (BL Lacertae) ซึ่งเป็นหลุมดำยักษ์ชนิดที่เรียกว่า "บลาซาร์" (Blazar) และได้รับการตั้งข้อสงสัยว่าบลาซาร์ดังกล่าวนั้นได้พ่นลำของพลาสมาที่ทรงพลังออกมาเป็นคู่ โดยอยู่ห่างจากโลกไป 950 ปีแสง

ทีมวิจัยเผยว่าลำอนุภาคที่มีพลังงานสูงนั้นมีต้นกำเนิดจากสนามแม่เหล็กที่อยู่ใกล้กับขอบของหลุมดำ ซึ่งภายในบริเวณดังกล่าวนั่นเองที่อนุภาคถูกเร่งและรวมเป็นลำอนุภาคเดียวกัน

"เราได้เข้าใจรูปร่างอันชัดเจนที่สุดซึ่งอยู่ในสุดของลำอนุภาค และเป็นที่ซึ่งอนุภาคทั้งหลายถูกเร่งจริงๆ" มาร์สเชอร์กล่าว

ทางด้าน ศ.ฮิวจ์ อัลเลอร์ (Hugh Aller) จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (University of Michigan) ซึ่งร่วมในการศึกษาครั้งนี้กล่าวว่า กระบวนการเร่งวัตถุให้มีความเร็วเข้าใกล้ความเร็วแสงนั้นมีความคล้ายคลึงกับสิ่งที่เครื่องเกิดขึ้นในเครื่องยนต์ของเครื่องบินเจ็ท

"มันช่วยให้เราเข้าใจว่าวัตถุบนท้องฟ้านี้เร่งอนุภาคให้มีความเร็วเข้าใกล้แสงได้อย่างไร เมื่อวัตถุตกลงไปในหลุมดำก็มีบางสิ่งที่ถูกพ่นออกมาด้วยความเร็วที่สูงมาก" ศ.อัลเลอร์กล่าว

อย่างไรก็ดี เนล โบลด์เลอร์ (Neil Bowdler) ผู้สื่อข่าววิทยาศาสตร์ของสำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า นักวิทยาศาสตร์ยังไม่เข้าใกล้การค้นพบว่ามีอะไรที่อยู่ในหลุมดำในบริเวณที่เรียกว่า "ขอบฟ้าเหตุการณ์" (event horizon) และในความเป็นจริงเราก็ยังไม่สามารถมองเข้าไปยังภายในของธรรมชาติอันแปลกประหลาดนี้ได้.

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9510000048757

No comments: