Monday, April 21, 2008

วิทยุการบินพัฒนาซอฟต์แวร์คุมจราจรอากาศ


องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ยกนิ้วให้ซอฟต์แวร์จัดสภาพคล่องจราจรทางอากาศ ผลงานวิศวกรวิทยุการบินไทย จัดคิวเครื่องบินที่ผ่านน่านฟ้าอัฟกานิสถานเหนืออ่าวเบงกอล ช่วยลดน้ำมันและระยะทางการบินได้จริง

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : ระบบบริหารสภาพคล่องจราจรทางอากาศผ่านอ่าวเบงกอล หรือซอฟต์แวร์บ็อบแคต (BOBCAT) เป็นระบบที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศหรือไอเคโอ (ICAO) อนุญาตให้นำไปใช้จัดคิวสายการบินที่ทำการบินระหว่างทวีปเอเชียและยุโรป โดยผ่านเขตข่าวสารการบินของประเทศอัฟกานิสถานให้เป็นระบบ

ซอฟต์แวร์บ็อบแคต ผลงานการค้นคว้าและพัฒนาของทีมวิศวกรของศูนย์บริหารการจราจรทางอากาศ บริษัท วิทยุการบิน แห่งประเทศไทย จำกัด

นายทินกร ชูวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารการจราจรทางอากาศ บริษัทวิทยุการบินฯ กล่าวว่า ซอฟต์แวร์บ็อบแคต หลังนำไปทดลองใช้เป็นเวลา 1 ปีบริเวณเหนือน่านฟ้าประเทศอัฟกานิสถาน

พบว่าสามารถประหยัดน้ำมันได้ 11,000 บาทต่อเที่ยวบิน หรือ 16.5 ล้านบาทต่อเดือน โดยจัดช่วงเวลา ความสูง และเส้นทางบินที่เหมาะสมให้แต่ละเที่ยวบินได้อย่างปลอดภัยและคล่องตัว ไม่ต้องบินวนรอคิวให้เปลืองน้ำมัน

สายการบินที่จะใช้บริการจัดคิวบินด้วยซอฟต์แวร์บ็อบแคต เพียงส่งแผนการบินแจ้งจุดหมายและปลายทางให้เจ้าหน้าที่วิทยุการบินก่อนทำการบินอย่างน้อย 2 ชั่วโมงผ่านระบบอินเทอร์เน็ต

จากนั้นระบบจะคำนวณเวลาขึ้นของเครื่องบินจากจุดเริ่มต้น เวลาผ่านอ่าวเบงกอล ระดับเพดานบินที่เหมาะสม พร้อมเส้นทางบินที่ปลอดภัยและคุ้มค่าทั้งเวลาและน้ำมันไปให้

บ็อบแคตสามารถจัดคิวให้สายการบินได้สูงสุดถึง 150 เที่ยวบินภายในเวลาเพียง 4 ชั่วโมง โดยขณะนี้มีสายการบินที่ใช้บริการแล้วกว่า 60 เที่ยวต่อวัน ผ่านสำนักงานใหญ่ที่สำนักงานวิทยุการบิน ทุ่งมหาเมฆ กรุงเทพ แต่ข้อมูลสามารถส่งไปยังสายการบินที่ขอใช้บริการ หน่วยควบคุมการบินประเทศปากีสถาน และสนามบินที่สายการบินนั้นจะบินผ่านได้ทั่วโลก

“วิทยุการบินไม่เก็บค่าใช้บริการจากสายการบินแต่อย่างใด ถือเป็นสาธารณประโยชน์ที่ใช้ร่วมกันภายใต้ข้อตกลงของไอเคโอ โดยไทยมองว่าหากเส้นทางขนส่งระหว่างยุโรปและเอเชียเชื่อมโยงมากขึ้นในอนาคต ไทยจะได้รับเลือกให้เป็นศูนย์กลางในการเชื่อมต่อระหว่างทวีป” นักวิจัย ตั้งความหวัง

อนาคตบ็อบแคตยังสามารถจัดคิวได้ด้วยตัวมันเอง กรณีสายการบินยกเลิกเที่ยวบินกะทันหัน ระบบจะจัดคิวให้สายการบินอื่นมาใช้ประโยชน์จากช่วงคิวที่เว้นว่างได้ทันที ขณะนี้แผนการพัฒนาดังกล่าวอยู่ในระหว่างการรอนำเสนอความคิดต่อที่ประชุมไอเคโอ

ขณะเดียวกัน วิทยุการบินได้ลงนามความร่วมมือทางวิชาการกับศูนย์อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เป็นเวลา 3 ปี ดำเนินการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับการควบคุมจราจรทางอากาศ เทคโนโลยีด้านระบบสื่อสาร ระบบนำร่องการบิน และระบบติดตามอากาศยาน

เพื่อผลักดันให้ไทยการเป็นศูนย์กลางการควบคุมจราจรทางอากาศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

กานต์ดา บุญเถื่อน

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com/
Link: http://www.bangkokbiznews.com/2008/04/21/WW54_5401_news.php?newsid=249494

No comments: