"หุ่นยนต์ลดโลกร้อน" จำนวน 10 ตัวจากฝีมือการออกแบบและพัฒนาของเยาวชนไทย จะปรากฏโฉมให้คนไทยชื่นชมความสามารถ ที่ศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์พลาซ่า ในวันที่ 13 พ.ค.ที่จะถึงนี้
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : เวทีประชันความสามารถของหุ่นยนต์ลดโลกร้อน มีศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นเจ้าภาพ เพื่อเฟ้นหาเยาวชนนักพัฒนาหุ่นยนต์ ที่จะเป็นตัวแทนไปแข่งขันหุ่นยนต์นานาชาติที่ประเทศบราซิล และถือเป็นครั้งแรกที่มีการแข่งขันลักษณะนี้ในไทย
รศ.ดร.วีรศักดิ์ อุดมกิจเดชา ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) กล่าวว่า ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพแข่งขันออกแบบหุ่นยนต์นานาชาติ (IDC RoBoCon 2007) มีสมาชิกเข้าร่วม 7 ประเทศคือ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เยอรมนี อังกฤษ ฝรั่งเศส บราซิล และเกาหลีใต้ จากประสบการณ์ดังกล่าว ทำให้มีโอกาสเรียนรู้วิธีการแข่งขันที่เป็นสากล และนำมาสู่การแข่งขันระดับประเทศภายใต้กติกาเดียวกัน
เยาวชนที่ผ่านเข้ารอบคัดเลือกแล้ว มีทั้งหมด 44 คนจาก 10 สถาบัน จะถูกจัดแบ่งเป็นทีม ทีมละ 4 คนแบบคละมหาวิทยาลัย เพื่อฝึกการทำงานเป็นทีม ตามกติกาการแข่งขันสากล
ผู้เข้าแข่งขันทั้งหมดจะได้รับการอบรมวิธีการออกแบบและเทคนิคพัฒนาหุ่นยนต์ ระบบกลไกเมคคานิกส์ จากนั้นจะให้เวลา 2 สัปดาห์สุดท้าย เพื่อสร้างหุ่นยนต์ช่วยลดโลกร้อน ทั้งนี้ จากการแข่งขันในรอบคัดเลือกที่ผ่านมา พบจุดอ่อนของเยาวชนไทยอยู่ที่การทำงานร่วมกับผู้อื่น
“ผู้เข้าแข่งขันจะเรียนรู้วิธีจัดการหรือแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การใช้อุปกรณ์ที่มีอยู่จำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด การสร้างหุ่นยนต์ไม่จำเป็นต้องใช้เงินทุนสูง เพียงแต่ต้องรู้จักการออกแบบและประยุกต์ให้สามารถแก้โจทย์ได้ตามกติกากำหนด” ผศ.ดร.วิทยา วัณณสุโภประสิทธิ์ รองประธานจัดการแข่งขัน จากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว
ทั้งนี้ กลไกการพัฒนาหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในประเทศไทย ต้องอาศัยนักสร้างหุ่นยนต์ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องการออกแบบ กลไกการควบคุม ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีบุคลากรเฉพาะทางอยู่จำกัด ทำให้ไม่สามารถผลิตหุ่นยนต์รองรับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมได้เพียงพอ ตามนโยบายยุทธศาสตร์หุ่นยนต์ ที่ผลักดันโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
"การสร้างหุ่นยนต์โดยใช้อุปกรณ์ที่จำกัด เป็นความท้าทายที่ทุกทีมต้องเผชิญ แต่ไม่ยากเกินไปสำหรับผม เพราะมีความสนใจเกี่ยวกับระบบกลไกหุ่นยนต์อยู่แล้ว ก็นำความรู้มาประยุกต์ใช้ในการแข่งขัน โดยจะพัฒนาหุ่นยนต์ให้ตรงตามโจทย์ที่กรรมการกำหนดเป็นหลัก" พิชัย ใจจิต นักศึกษาชั้นปีที่ 4 จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ผู้ร่วมการแข่งขัน กล่าว
จุฑารัตน์ ทิพย์นำภา
ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com/
Link: http://www.bangkokbiznews.com/2008/04/16/WW54_5405_news.php?newsid=245203
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment