Wednesday, April 2, 2008

มข.สร้างหุ่นยนต์ลูกมือหมอหนุนส่องกล้องผ่าตัดมดลูกแม่นยำสูง

เทคโนโลยีผ่าตัดส่องกล้องทางนรีเวชกำลังเป็นที่นิยมเพราะให้ความสะดวกทั้งแพทย์และคนไข้ โดยแผลผ่าตัดเป็นรอยเล็กๆ พักฟื้น 1-2 วันก็กลับบ้านได้ การผ่าตัดดังกล่าว

นอกจากจะใช้แพทย์ที่เชี่ยวชาญแล้ว ผู้ช่วยก็มีบทบาทสำคัญในการถือและสอดกล้องจิ๋วไปยังจุดเป้าหมาย เมื่อถือเป็นเวลานานก็เกิดอาการเมื่อยล้า ทำให้กล้องผ่าตัดคลาดเคลื่อนไปจากจุดผ่าตัด

"หุ่นยนต์ผู้ช่วย" สิ่งประดิษฐ์จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ออกแบบให้ทำงานแทนคนในการถือและขยับกล้องผ่าตัด ไร้ปัญหาเมื่อยล้า แถมยังสามารถกำหนดพิกัดการถือที่แน่นอน รับรางวัลเหรียญทองจากสมาพันธ์นักประดิษฐ์นานาชาติ หรือไอเอฟไอเอ ในงานวันนักประดิษฐ์นานาชาติเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

นพ.โกวิทคำพิทักษ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า หุ่นยนต์ช่วยถือกล้องผ่าตัด ประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อการผ่าตัดทางสูตินรีเวชโดยเฉพาะ เนื่องจากเป็นการผ่าตัดที่มีความจำเพาะในการเคลื่อนไหว ซึ่งแตกต่างจากการผ่าตัดทั่วไป จึงจำเป็นต้องมีอุปกรณ์การถือกล้องที่เหมาะสำหรับการผ่าตัดด้านนรีเวชโดยเฉพาะ

ในการผ่าตัดส่องกล้องคนไข้จะถูกเจาะท้องเป็นรูเล็ก 3-4 รู เพื่อสอดกล้องเข้าไปยังตำแหน่งเป้าหมาย แพทย์ก็จะมองเห็นภาพที่กล้องบันทึกได้ผ่านจอมอนิเตอร์ แต่กระบวนการดังกล่าวแพทย์ผู้ช่วยต้องเคลื่อนกล้องด้วยมือ ซึ่งอาจจะไม่แม่นยำและกระทบกระเทือนพื้นผิวบริเวณใกล้เคียงที่ต้องการผ่าตัด โดยเฉพาะกรณีที่ผู้ช่วยไม่ชำนาญหรือเมื่อยล้า จะทำให้การผ่าตัดยุ่งยากและล่าช้า

ขณะที่อุปกรณ์ช่วยถือกล้องจากต่างประเทศมีราคาสูงถึง5-10 ล้านบาท ทีมงานจึงพัฒนาหุ่นยนต์ดังกล่าวขึ้น มีลักษณะเป็นแขนกลที่จะช่วยขยับกล้องผ่าตัดไปในมุมต่างๆ อย่างแม่นยำ ทำให้การผ่าตัดทางนรีเวชสะดวก ปลอดภัย ถูกต้อง แม่นยำและรวดเร็ว โดยต้นทุนไม่ถึง 1 แสนบาท

ผศ.ดร.สิริวิชญ์เตชะเจษฎารังษี คณะวิศวกรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในการออกแบบหุ่นยนต์นี้ ทีมงานวิเคราะห์ข้อมูลด้านการแพทย์ ถึงการเคลื่อนกล้องไปยังตำแหน่งต่างๆ ควรจะมีขีดจำกัดอยู่ที่ใดเพื่อไม่ให้กระทบผู้ป่วย และขั้นตอนสุดท้ายจะออกแบบให้ควบคุมได้ด้วยเท้า เพราะมือทั้งสองข้างของแพทย์ต้องใช้ในการหยิบจับอุปกรณ์อื่น

ขณะนี้การออกแบบหุ่นยนต์ผู้ช่วยสำเร็จแล้วและอยู่ระหว่างการทำแผนวิจัยด้านจริยธรรมเพื่อใช้กับสัตว์ทดลอง คาดว่าจะทดลองในหมูได้ในช่วงกลางปีนี้ เพื่อพัฒนาให้มีความเสถียรสูงสุด ก่อนที่จะทดลองในมนุษย์ในราวปลายปีนี้

ที่มา: http://www.komchadluek.net/
Link: http://www.komchadluek.net/2008/04/02/x_it_h001_196573.php?news_id=196573

No comments: