Saturday, November 8, 2008
เก็บตก "สิ่งทอนาโน" ในงาน "นาโนไทยแลนด์"
จัดงานครบ 3 วันเต็ม สำหรับ "นาโนไทยแลนด์" แม้ภาพรวมของงานจะโดน "สารอาหารบำรุงรากผม" ที่ได้พรีเซนเตอร์ระดับ "รัฐมนตรี" ออกมา "การันตี" คุณภาพ แต่ภายในงานก็ยังมีงานวิจัยทางด้านนาโนเทคโนโลยีอื่นๆ ที่น่าสนใจให้ได้ชม หลังจากเดินวนชมนิทรรศการอยู่หลายรอบ "ผู้จัดการวิทยาศาสตร์" ก็เห็นว่ามี "สิ่งทอนาโน" หลากหลายรูปแบบมาจัดแสดงในงานนี้
เริ่มตัวอย่างของ "สิ่งทอนาโน" ภายในงานการประชุมและนิทรรศการ "นาโนไทยแลนด์" (NanoThailand Symposium 2008) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-8 พ.ย.51 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ที่บูธของบริษัท ครีเอทีฟ เทคโนโลยี โซลูชัน จำกัด ที่ขนสารพัดผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับนาโนมาจัดแสดง อาทิ สบู่ เซรัมบำรุงผิว เจลอาบน้ำ แต่ที่สะดุดตาเราก็คือ "ถุงมือนาโน" ที่สวมใสโดย "พริตตี้" สาวสวยประจำบูธ
นายสุรพงษ์ ฉินทองประเสริฐ กล่าวกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า ถุงมือดังกล่าวเป็นผลิตภัณฑ์ทีได้จากสิ่งทอซึ่งเคลือบ "นาโนซิลเวอร์" (nanosilver) ระหว่างกระบวนการทอก่อนตัดเย็บ ซึ่งทำให้ได้สิ่งทอที่มีคุณสมบัติต้านเชื้อแบคทีเรีย และนำไปประยุกต์ใช้ได้ในอุตสาหกรรมอาหารที่ต้องการความสะอาดและปลอดเชื้อ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโรคในกระบวนการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมรถยนต์ ทั้งนี้บริษัทเป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากเกาหลีทั้งหมด
มาถึงบูธที่เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มีตัวอย่างของสิ่งทอที่อยู่ในขั้นตอนของงานวิจัย แต่ดูเป็นความหวังสำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอได้ในอนาคต เริ่มจากเส้นใยผสมผงถ่านกะลามะพร้าวซึ่งเป็นผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ทำให้ได้เส้นใยสีเทาๆ ที่มีคุณสมบัติดูดกลิ่น ดูดซับความชื้นและต้านแบคทีเรีย ซึ่งนำไปทอเป็นถุงเท้าได้
สำหรับสิ่งทอของสถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ จุฬาฯ มีด้วยกันถึง 3 ผลงาน ซึ่งยังคงเป็นสิ่งทอในระดับงานวิจัยเช่นกัน นั่นคือ "เสื้อกันยุง" ที่ใช้เทคโนโลยีนาโนแคปซูลผสมเข้ากับเส้นใยของสิ่งทอ เพิ่มคุณสมบัติในการดักเก็บกลิ่น ทำให้ฉีดกลิ่นตะไคร้ที่ยุงเกลียดและรักษากลิ่นได้นานขึ้น โดยกลิ่นที่ฉีดให้สิ่งทอที่ผสมนาโนแคปซูลนี้จะเลือนหายไปตามการซักครั้งละ 25% และเมื่อหมดกลิ่นก็ฉีดเพิ่มได้อีก ทั้งนี้นาโนแคปซูลจะคงอยู่ตามอายุใช้งานของเสื้อผ้า
ปกติเส้นใยโพลีโพรพีลีน (Polypropylene) จะย้อมสีดิสเพอร์ส (Disperse dye) ได้ยาก แต่ทางสถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ ได้พัฒนาเส้นใยโพลีโพรพีลีนที่ผสมแร่ดินเหนียวนาโนหรือนาโนเคลย์ (nanoclay) ทำให้การย้อมสีติดได้ดีขึ้น และสุดท้ายคือสิ่งทอที่ผสมนาโนซิลเวอร์ในเส้นใยสังเคราะห์ ซึ่งช่วยต้านเชื้อแบคทีเรียได้ แต่เจ้าหน้าที่ไม่ได้นำผลงานมาจัดแสดงด้วย เนื่องจากจัดแสดงได้ลำบาก
ปิดท้ายด้วยตัวอย่างสิ่งทอนาโนจากไต้หวันของสถาบันวิจัยสิ่งทอไต้หวัน (Taiwan Textile Research Institute) ซึ่งนำสิ่งทอหลายชนิดมาจัดแสดง อาทิ สิ่งทอที่ผสมสารหน่วงไฟซึ่งประยุกต์เป็นสิ่งทอสำหรับเฟอร์นิเจอร์ได้ สิ่งทอผสมสารป้องกันไฟฟ้าสถิต และสิ่งทอที่ป้องกันเชื้อแบคทีเรียและกลิ่นไปพร้อมๆ กัน เหมาะสำหรับประยุกต์ใช้กับสิ่งทอที่ใกล้ชิดกับสัตว์เลี้ยง
ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9510000132535
Friday, November 7, 2008
เปิดตัว "ไอ-โม" ยานยนต์สองล้ออัตโนมัติฝีมือคนไทย
สนช. เปิดตัวพาหนะ 2 ล้อทรงตัวอัตโนมัติ พัฒนาขึ้นโดยฝีมือคนไทย ขนาดเล็กกระทัดรัด น้ำหนักเบา ขับขี่ง่าย ด้วยระบบควบคุมโดยสมองกลฝังตัวอัจฉริยะ คล่องตัวแม้ในสถานที่คับแคบ ใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี ไม่ก่อมลภาวะกับสิ่งแวดล้อม และราคาถูกกว่านำเข้าหลายเท่าตัว
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และบริษัท ไอ-โมบิลิตี้ จำกัด จัดงานเปิดตัว "ไอ-โม" (I-MO) พาหนะสองล้อทรงตัวอัตโนมัติ ซึ่งเป็นผลงานต่อยอดโดยฝีมือคนไทย ในระหว่างการจัดงานแนะนำ 10 นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ธรรมชาติของไทย เมื่อวันที่ 6 พ.ย.51 ณ สยามพารากอน ซึ่งมีสื่อมวลชนมากมายให้ความสนใจ รวมทั้งผู้จัดการวิทยาศาสตร์ด้วย
นายสุพร จิรัญญกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอ-โมบิลิตี้ จำกัด เปิดเผยว่า ไอ-โม หรือรถสองล้อทรงตัวอัตโนมัติ เป็นผลงานที่พัฒนาต่อยอดจากแนวคิดของสิ่งประดิษฐ์ที่มีอยู่แล้ว ซึ่งขณะนี้มีเพียงบริษัทเสกเวย์ (Segway) ของสหรัฐอเมริกาเท่านั้นที่ผลิตยานพาหนะในลักษณะนี้จำหน่ายกว้างขวางมาหลายปีแล้ว รวมทั้งในประเทศไทยด้วย ซึ่งนำเข้ามาในราคา 3-4 แสนบาท โดยช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามียอดขายไปแล้วหลายร้อยคัน
"รถยนตร์สองล้อทรงตัวอัตโนมัติที่เราพัฒนาขึ้นใช้หลักการเดียวกับของเสกเวย์ ซึ่งเป็นหลักการที่มีสอนอยู่แล้วในมหาวิทยาลัย แต่สิ่งที่ต่างไปจากเสกเวย์ก็คือการออกแบบรูปทรงที่มีขนาดเล็กกว่า น้ำหนักเบา ใช้งานง่าย โดยเราประกอบขึ้นเองจากภายในประเทศ ทำให้มีราคาถูกลง ประมาณคันละ 80,000 บาท ซึ่งชิ้นส่วนที่นำมาใช้ก็มีทั้งที่ผลิตขึ้นเองในประเทศ และบางอย่างก็ยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศ" นายสุพร กล่าว
ด้านนายพชรพล จิรัญญกุล วิศวกร อธิบายเพิ่มเติมว่า ได้นำหลักการการควบคุมการทรงตัวแบบลูกตุ้มนาฬิกาหัวกลับ (inverted pendulum) มาใช้ เพื่อรักษาสมดุลของผู้ขับขี่ให้อยู่นิ่ง และเคลื่อนที่ไปข้างหน้าหรือข้างหลังได้โดยไม่ล้ม โดยอาศัยการโน้มตัวของผู้ขับขี่ เป็นการเลียนแบบการเดินของคนเรา เวลาที่เราจะเคลื่อนที่ไปข้างหน้า เราก็โน้มตัวไปข้างหน้าก่อน จากนั้นก็ก้าวเท้าข้างใดข้างหนึ่งตามไป เพื่อยันตัวไว้ไม่ให้ล้ม
นายพชรพล กล่าวต่อว่า พาหนะบุคคลลักษณะนี้คิดค้นและพัฒนาขึ้นครั้งแรกในสหรัฐฯ เมื่อราว 8 ปีก่อน และมีการผลิตจำหน่ายอย่างกว้างขวาง และเมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา บริษัทแห่งหนึ่งในญี่ปุ่นก็ผลิตพาหนะบุคคลที่ใช้หลักการเดียวกันแต่มีรูปทรงแตกต่างออกไป ซึ่งไอ-โม ก็เช่นเดียวกัน โดยที่เราได้ออกแบบเองทั้งหมด ทั้งส่วนที่เป็นฮาร์ดแวร์ กลไกการควบคุมต่างๆ รวมทั้งระบบสมองกลฝังตัวอัจฉริยะ ซึ่งเราได้ร่วมกันกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังในการพัฒนาไอ-โม ด้วยระยะเวลาเกือบ 2 ปี โดยได้รับการสนับสนุนจาก สนช.
ไอ-โม ใช้ระบบขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งติดตั้งอยู่บริเวณล้อทั้ง 2 ข้าง กำลังขับเคลื่อนข้างละ 500 วัตต์ สามารถเร่งความเร็วสูงสุดได้ถึง 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้พลังงานจากแบตเตอรีลิเธียมไอออน ชนิดเดียวกับที่ใช้ในคอมพิวเตอร์โน้ตบุค แต่ขนาดใหญ่กว่า และกำลังไฟมากกว่า 4 เท่า เมื่อชาร์จไฟครั้งหนึ่ง สามารถใช้งานต่อเนื่องได้ประมาณ 4 ชั่วโมง
ใช้ไมโครคอนโทรลเลอร์ที่มีระบบสมองกลฝังตัวอัจฉริยะในการควบคุมการทำงานของระบบขับเคลื่อน ซึ่งจะมีเซ็นเซอร์ตรวจจับตำแหน่งของผู้ขับขี่และความเร็วในการเคลื่อนที่ เพื่อทำการประมวลผล แล้วจึงส่งสัญญาสำหรับควบคุมความเร็วของมอเตอร์ เพื่อรักษาสมดุลของผู้ขับขี่ ซึ่งความเร็วในการประมวลผลราว 50 ครั้งต่อวินาที เพื่อให้แน่ใจได้ว่าผู้ขับขี่สามารถรักษาการทรงตัวอยู่ได้ตลอดเวลา
"การควบคุมการเคลื่อนที่และความเร็ว ทำได้โดยการโน้มตัว โดยโน้มตัวไปข้างหน้าเพื่อเดินหน้า หรือโน้มตัวไปด้านหลังเมื่อต้องการถอยหลัง หากต้องการให้เคลื่อนที่เร็วขึ้นก็โน้มตัวให้มากขึ้น เมื่อต้องการบังคับให้หยุด ก็โน้มตัวกลับมาที่ตำแหน่งตั้งตัวตรง และเราสามารถยืนตัวตรงเพื่อหยุดอยู่กับที่ได้โดยไม่ต้องก้าวลงจากแท่นยืน เพราะไมโครคอนโทรลเลอร์จะคอยรักษาสมดุลของผู้ขับขี่อยู่ตลอดเวลา" นายพชรพลอธิบายวิธีการขับขี่ไอ-โมเบื้องต้น
นอกจากนี้ ไอ-โมยังสามารถใช้งานในสถานที่แคบๆ ได้คล่องตัว เนื่องจากสามารถหมุนรอบตัวเองได้โดยไม่ต้องเคลื่อนที่ ซึ่งการบังคับทิศทางและการเลี้ยวทำได้โดยการโยกจอยสติ๊ค (Joystick) ด้วยปลายนิ้วเท่านั้น
นายสุพร กล่าวตอนท้ายว่า เพิ่งเปิดตัวครั้งแรกในงานนี้ โดยในปีแรกตั้งเป้าผลิตจำนวน 200 คัน โดยเน้นจำหน่ายภายในประเทศเป็นหลักเพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น การใช้งานในโรงงาน โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย ภายในหมู่บ้าน สถานที่ท่องเที่ยว ศูนย์แสดงสินค้า สนามบิน และหน่วยงานต่างๆ ซึ่งในอนาคตก็จะพัฒนาต่อยอดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย.
ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9510000131915
Wednesday, November 5, 2008
รถไม้ไผ่
รถยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้าแบบที่นั่งเดียว หรือ แบมบู คาร์ ออกแบบและพัฒนาโดยเมืองเกียวโตและมหาวิทยาลัยเกียวโต เป็นรถยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม น้ำหนักประมาณ 60 กิโลกรัม ตัวถังทำจากไม่ไผ่ซึ่งเป็นวัสดุในท้องถิ่น วิ่งได้ไกล 50 กิโลเมตรต่อการชาร์จไฟหนึ่งครั้ง
ที่มา: http://www.dailynews.co.th/
Link: http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=181605&NewsType=1&Template=1
มจธ.อวดซอฟต์แวร์ประหยัดไฟพีซี
ทีมนักศึกษาภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี อวดซอฟต์แวร์ประหยัดพลังงานเครื่องคอมพิวเตอร์ หวังบันดาลให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศทั่วโลกช่วยกันประหยัดพลังงานอย่างจริงจัง
รชต สุรัตตกุล นักศึกษาชั้นปี 4 จากภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า ซอฟต์แวร์ที่พัฒนาขึ้นเป็นผลงานที่เข้าแข่งขันในโครงการอิมเมจิน คัพ 2008 ที่จัดโดยบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด และได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 3
“ขณะนี้ซอฟต์แวร์ดังกล่าวอยู่ระหว่างการปรับปรุงให้สามารถทำงานสอดรับกับระบบคอมพิวเตอร์ได้ครอบคลุมทุกระบบ ทั้งเก่าอย่างวินโดว์ เอ็มอี หรือระบบใหม่อย่างซิลเวอร์ไลท์ อาร์ซี 1 จากเดิมที่รองรับเฉพาะวินโดว์เอ็กซ์พีเท่านั้น” รชตกล่าว
ซอฟต์แวร์ประหยัดพลังงานติดตั้งลงบนคอมพิวเตอร์เหมือนโปรแกรมทั่วไป ระบบจะจัดการควบคุมการทำงานเปิดปิดหน้าจอเมื่อไม่ใช้ภายใน 5 นาที รักษาสมดุลการทำงานของซีพียูอย่างเหมาะสมโดยที่ไม่เกิดผลข้างเคียงต่อระบบการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์แต่อย่างใด
ชินพงศ์ อังสุโชติเมธี เพื่อนร่วมทีม กล่าวว่า เครื่องคอมพ์ที่ลงซอฟต์แวร์ประหยัดพลังงานไปแล้วสามารถตรวจสอบได้ว่าได้ใช้กระแสไฟฟ้าไปแล้วกี่บาท และยังดูเปรียบเทียบกันระหว่างค่าไฟก่อนติดตั้งและหลังติดตั้งได้ด้วย
ระบบเปรียบเทียบค่าไฟที่ทีมวิจัยนำมาใช้กับซอฟต์แวร์ เป็นการคำนวณโดยอ้างอิงจากผลงานวิจัยขององค์การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกาที่พัฒนาขึ้น และเริ่มนำมาใช้งานจริงเมื่อ 3 ปีก่อนจนทั่วโลกยอมรับในมาตรฐานการคำนวณค่าไฟ
“ประโยชน์ที่เกิดจากการนำซอฟต์แวร์ประหยัดพลังงานไปติดตั้งคือ อนาคตไทยจะมีความร่วมมือกับต่างประเทศทั่วโลกในด้านการช่วยลดการใช้พลังงาน เพราะสามารถนำผลคำนวณการใช้พลังงานไฟฟ้าไปเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ เก็บข้อมูลการใช้พลังงานจากเครื่องคอมพิวเตอร์ระดับชาติได้” ชินพงศ์กล่าว
ถึงเป้าหมายหลักคือสำนักงาน บริษัท และองค์กร แต่สามารถใช้กับคอมพิวเตอร์พีซีตามบ้านได้เช่นกัน เพื่อจัดทำเป็นฐานข้อมูลการใช้พลังงานไฟฟ้าด้วยคอมพิวเตอร์ระดับชาติขึ้น
ซอฟต์แวร์ประหยัดพลังงานคอมพิวเตอร์จะมาโชว์ความสามารถในงานเปิดบ้าน มจธ. ระหว่างวันที่ 7-11 พฤศจิกายนนี้ พร้อมกับผลงานวิจัยทั้งของอาจารย์ นักศึกษา มาร่วมแสดงอีกมากมาย ทั้งการแข่งขันหุ่นยนต์ การแนะแนวศึกษาต่อ การโชว์แบบจำลองทางคณิตศาสตร์เพื่อช่วยในการตัดสินใจ การสาธิตการทดลองทางวิทยาศาสตร์ นาโนเทคโนโลยี วัสดุนาโน เป็นต้น
กานต์ดา บุญเถื่อน
ที่มา: http://www.komchadluek.net/
Link: http://www.komchadluek.net/2008/11/05/x_it_h001_228868.php?news_id=228868
รชต สุรัตตกุล นักศึกษาชั้นปี 4 จากภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า ซอฟต์แวร์ที่พัฒนาขึ้นเป็นผลงานที่เข้าแข่งขันในโครงการอิมเมจิน คัพ 2008 ที่จัดโดยบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด และได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 3
“ขณะนี้ซอฟต์แวร์ดังกล่าวอยู่ระหว่างการปรับปรุงให้สามารถทำงานสอดรับกับระบบคอมพิวเตอร์ได้ครอบคลุมทุกระบบ ทั้งเก่าอย่างวินโดว์ เอ็มอี หรือระบบใหม่อย่างซิลเวอร์ไลท์ อาร์ซี 1 จากเดิมที่รองรับเฉพาะวินโดว์เอ็กซ์พีเท่านั้น” รชตกล่าว
ซอฟต์แวร์ประหยัดพลังงานติดตั้งลงบนคอมพิวเตอร์เหมือนโปรแกรมทั่วไป ระบบจะจัดการควบคุมการทำงานเปิดปิดหน้าจอเมื่อไม่ใช้ภายใน 5 นาที รักษาสมดุลการทำงานของซีพียูอย่างเหมาะสมโดยที่ไม่เกิดผลข้างเคียงต่อระบบการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์แต่อย่างใด
ชินพงศ์ อังสุโชติเมธี เพื่อนร่วมทีม กล่าวว่า เครื่องคอมพ์ที่ลงซอฟต์แวร์ประหยัดพลังงานไปแล้วสามารถตรวจสอบได้ว่าได้ใช้กระแสไฟฟ้าไปแล้วกี่บาท และยังดูเปรียบเทียบกันระหว่างค่าไฟก่อนติดตั้งและหลังติดตั้งได้ด้วย
ระบบเปรียบเทียบค่าไฟที่ทีมวิจัยนำมาใช้กับซอฟต์แวร์ เป็นการคำนวณโดยอ้างอิงจากผลงานวิจัยขององค์การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกาที่พัฒนาขึ้น และเริ่มนำมาใช้งานจริงเมื่อ 3 ปีก่อนจนทั่วโลกยอมรับในมาตรฐานการคำนวณค่าไฟ
“ประโยชน์ที่เกิดจากการนำซอฟต์แวร์ประหยัดพลังงานไปติดตั้งคือ อนาคตไทยจะมีความร่วมมือกับต่างประเทศทั่วโลกในด้านการช่วยลดการใช้พลังงาน เพราะสามารถนำผลคำนวณการใช้พลังงานไฟฟ้าไปเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ เก็บข้อมูลการใช้พลังงานจากเครื่องคอมพิวเตอร์ระดับชาติได้” ชินพงศ์กล่าว
ถึงเป้าหมายหลักคือสำนักงาน บริษัท และองค์กร แต่สามารถใช้กับคอมพิวเตอร์พีซีตามบ้านได้เช่นกัน เพื่อจัดทำเป็นฐานข้อมูลการใช้พลังงานไฟฟ้าด้วยคอมพิวเตอร์ระดับชาติขึ้น
ซอฟต์แวร์ประหยัดพลังงานคอมพิวเตอร์จะมาโชว์ความสามารถในงานเปิดบ้าน มจธ. ระหว่างวันที่ 7-11 พฤศจิกายนนี้ พร้อมกับผลงานวิจัยทั้งของอาจารย์ นักศึกษา มาร่วมแสดงอีกมากมาย ทั้งการแข่งขันหุ่นยนต์ การแนะแนวศึกษาต่อ การโชว์แบบจำลองทางคณิตศาสตร์เพื่อช่วยในการตัดสินใจ การสาธิตการทดลองทางวิทยาศาสตร์ นาโนเทคโนโลยี วัสดุนาโน เป็นต้น
กานต์ดา บุญเถื่อน
ที่มา: http://www.komchadluek.net/
Link: http://www.komchadluek.net/2008/11/05/x_it_h001_228868.php?news_id=228868
Tuesday, November 4, 2008
"จันทรายาน" ส่งภาพ "โลก" ชิมลางก่อนทำแผนที่ดวงจันทร์
จันทรายานใกล้ถึงดวงจันทร์แล้ว พร้อมบันทึกภาพ "โลก" เป็นภาพแรก กลับมาให้ชื่นชม เป็นการชิมลางก่อนเดินหน้าสำรวจดาวบริวารของโลก โดยเตรียมเข้าสู่วงโคจรรอบดวงจันทร์วันที่ 8 พ.ย.นี้
เอเอฟพีและบีบีซีนิวส์รายงานว่าจันทรายาน 1 (Chandrayaan-1) ยานสำรวจดวงจันทร์ลำแรกของประเทศอินเดีย เดินทางเข้าใกล้ดวงจันทร์แล้วเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 4 พ.ย.51 พร้อมกับส่งภาพถ่ายแรกของจันทรายาน 1 กลับมายังโลก หลังจากออกเดินทางจากแดนภารตะ มุ่งหน้าสู่ด้วงจันทร์ไปเมื่อวันที่ 22 ต.ค. ที่ผ่านมา
"การปฏิบัติการส่งจันทรายาน 1 ไปยังดวงจันทร์ผ่านไปได้ด้วยดี" เอส. สาทิส (S. Satish) ผู้อำนวยการองค์การวิจัยอวกาศอินเดีย หรือ ไอเอสอาร์โอ (Indian Space Research Organisation : ISRO) กล่าวกับเอเอฟพี โดยขณะนี้จันทรายาน 1 อยู่ห่างจากพื้นผิวดวงจันทร์ประมาณ 1,000 กิโลเมตร
อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 29 ต.ค. ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินของไอเอสอาร์โอที่ศูนย์ควบคุมในเมืองบังกะลอร์ อินเดีย ได้ทำการทดสอบการทำงานของกล้องบันทึกภาพภูมิประเทศของจันทรายาน 1 หรือทีเอ็มซี (Terrain Mapping camera: TMC) โดยการบันทึกภาพพื้นผิวโลกที่ระดับความสูงต่างๆ
ภาพแรกเป็นภาพบริเวณชายฝั่งทะเลทางตอนเหนือของออสเตรเลีย บันทึกไว้ขณะอยู่ที่ระดับความสูง 9,000 กิโลเมตร เหนือพื้นโลก ภาพที่ 2 เป็นบริเวณชายฝั่งทะเลทางตอนใต้ของออสเตรเลีย บันทึกเมื่อจันทรายานอยู่ที่ระดับความสูง 70,000 กิโลเมตร
ทั้งนี้ กล้องทีเอ็มซีเป็นหนึ่งในอุปกรณ์สำคัญ 11 ชิ้น ของจันทรายาน 1 สำหรับการสำรวจดาวบริวารของโลกในครั้งนี้ โดย 5 ชิ้น เป็นของที่อินเดียผลิตขึ้นเอง ส่วนที่เหลือเป็นอุปกรณ์นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งไอเอสอาร์โอตั้งใจส่งจันทรายาน 1 ขึ้นไปสำรวจพื้นผิวของดวงจันทร์ พร้อมกับบันทึกภาพเพื่อทำแผนที่ 3 มิติของดวงจันทร์เป็นครั้งแรกด้วย โดยในวันที่ 8 พ.ย. นี้ ไอเอสอาร์โอจะนำจันทรายาน 1 เข้าสู่วงโคจรรอบดวงจันทร์ที่ระดับความสูงจากพื้นผิวของดวงจันทร์ประมาณ 100 กิโลเมตร
ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9510000130741
Subscribe to:
Posts (Atom)