Wednesday, October 29, 2008
“รถพยาบาลนาโน" คันไม่เล็กแต่ปลอดเชื้อด้วย "สีนาโน”
ไม่ใช่แค่เสื้อนาโน แต่ "ซิลเวอร์นาโน" ยังนำไปผสมสีใช้ทา "รถพยาบาล" ได้รถปลอดเชื้อโรค ไฮไลท์งานประชุม "นาโนไทยแลนด์” ผอ.นาโนเทคระบุ ยังไม่มีรายงานอันตรายของอนุภาคนาโน ด้านนักวิจัยจุฬาผลิตอนุภาคนาโนไซส์เหมาะผสม ทารถได้ "สีขาว” ตามต้องการ
ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) เปิดเผยกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ ระหว่างแถลงข่าวจัดงานประชุมวิชาการและนิทรรศการ "นาโนไทยแลนด์ ซิมโพเซียม 2008” (NanoThailand Symposium: NST2008) ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมื่อวันที่ 29 ต.ค.51 นี้ว่า นาโนเทคได้ร่วมกับนักวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและบริษัท สุพรีม โปรดักส์ จำกัด พัฒนา "รถพยาบาลนาโน” ซึ่งจะจัดแสดงเป็นไฮไลท์ของงานประชุมนาโนไทยแลนด์ด้วย
ทั้งนี้ ศ.นพ.สิริฤกษ์อธิบายว่า รถพยาบาลนาโนมีคุณสมบัติเป็นนาโนเทคโนโลยีตรงที่ใช้ "สีนาโน” ซึ่งมีส่วนผสมของซิลเวอร์นาโน ทาภายในตัวรถ ทำให้มีคุณสมบัติฆ่าเชื้อโรคได้ เนื่องจากรถพยาบาลมีการสัมผัสเชื้อและคนป่วยอยู่ตลอดเวลา ซึ่งทำความสะอาดยาก จึงนำซิลเวอร์นาโนที่มีคุณสมบัติฆ่าเชื้อมาใช้ประโยชน์ โดยฆ่าเชื้อได้ถึง 99.99% และยังนำซิลเวอร์นาโนไปประยุกต์ใช้อย่างอื่นได้อีก
ส่วนอนุภาคนาโนจะเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยหรือไม่ ศ.นพ.สิริฤกษ์ตอบผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า นาโนเทคโนโลยีเป็นของใหม่ ซึ่งมีทั้งที่ทราบฤทธิ์และยังไม่ทราบฤทธิ์ จึงต้องมีการประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัย และจากที่ประเมินมาพบว่าปลอดภัย แต่ก็ต้องมีการศึกษาอย่างต่อเนื่อง และในศูนย์นาโนเทคก็มีศูนย์วิจัยเรื่องความปลอดภัยด้านนาโนเทคโนโลยีโดยเฉพาะ
ด้าน นายพรชัย สุชาติวัฒนชัย ผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์ บริษัท สุพรีม โพรดักส์ จำกัด ซึ่งร่วมพัฒนารถพยาบาลนาโน ระบุว่า ทางบริษัทซึ่งปกติขายอุปกรณ์การแพทย์อยู่แล้ว ได้พัฒนาในส่วนโครงสร้างรถพยาบาล และใช้อนุภาคนาโนที่นักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยผสมสีทาภายในตัวรถ โดยพัฒนาเป็นรถต้นแบบ และจะผลิตเพื่อจำหน่ายให้กับโรงพยาบาลต่างๆ ที่ต้องการได้ราวต้นปีหน้า
รศ.ดร.สนอง เอกสิทธิ์นักวิจัยหน่วยปฏิบัติการวิจัย โครงการศูนย์นวัตกรรมนาโนเทคโนโลยี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งร่วมพัฒนารถพยาบาลนาโน กล่าวกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า ได้พัฒนาอนุภาคซิลเวอร์นาโนที่มีขนาดอนุภาค 70-100 นาโนเมตร ซึ่งมีสีเหลืองๆ เทาๆ และเมื่อผสมกับ "เจลโค้ท” หรือสีทารถพยาบาลของบริษัท สุพรีม จะได้ "สีขาว” ตามความต้องการ ทั้งนี้อนุภาคซิลเวอร์นาโนมีหลายสี ตามขนาดของอนุภาค แต่รถพยาบาลต้องใช้สีขาวเท่านั้น ซึ่งทางศูนย์ผลิตอนุภาคนาโนได้วันละ 100 ลิตร โดยรถ 1 คันใช้สีทาประมาณ 2 ลิตร
นอกจากรถพยาบาลที่นับเป็นไฮไลท์ของงานประชุมนาโนไทยแลนด์แล้ว ศ.นพ.สิริฤกษ์ ระบุว่า การประชุมจัดเป็นหัวข้อเกี่ยวกับนาโนเทคโนโลยี 6 ด้าน ได้แก่ พลังงาน สิ่งทอ ระบบนำส่งยา อุปกรณ์นาโน ความปลอดภัย และการจำลองระดับนาโนเมตรเพื่อประยุกต์ใช้เชิงอุตสาหกรรม และแบ่งการประชุมเป็น 3 ส่วนหลักๆ คือ การประชุมวิชาการ การแสดงนิทรรศการด้านนาโนเทคโนโลยี และการเจรจาเพื่อสร้างความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมและภาคเอกชน
ภายในการประชุมยังได้เชิญนักวิชาการด้านนาโนเทคโนโลยีจากทั่วโลกเข้าร่วมประมาณ 300-400 คน โดยมีวิทยากรมาร่วมบรรยาย อาทิ ศ.ไมเคิล เกรทเซล (Prof.Michael Gratezel) จาก สถาบันอีโคลโพลีเทคนิคแห่งโลซานน์ (Ecole Polytechnique de Losanne) สวิตเซอร์แลนด์ ผู้บุกเบิกด้านพลังงานและค้นพบโซลาร์เซลล์แบบใหม่, ดร.ฮิเดกิ คัมบารา (Dr.Hideki Kambara) จากบริษัท ฮาตาชิ ประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น
พร้อมกันนี้ นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งร่วมแถลงข่าวการจัดงานนาโนไทยแลนด์ ว่าเขาได้ร่วมกับบริษัทเอกชนพัฒนา "อาหารบำรุงรากผมและหนังศรีษะ” ซึ่งใช้รักษาอาการศรีษะล้าน โดยภายในงานจะขออาสาสมัคร 1,000 คนมารับแจกสารอาหารบำรุงรากผมนี้ ซึ่งที่ปรึกษารัฐมนตรีของเขาที่มีอาการศรีษะล้านได้ทดลองใช้มา 3 เดือน ปรากฏว่ามีผมงอกขึ้น
สำหรับงานประชุมนาโนไทยแลนด์นี้จะจัดขึ้นระหว่าง 6-8 พ.ย.51 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยเปิดให้ประชาชนและเอกชนทั่วไปได้เข้าร่วมงานด้วย
ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9510000128559
Friday, October 24, 2008
แอนิเมชั่นผลิตไม่ยากผ่านซอฟต์แวร์ของนักคิดไทย
จากการประกาศผลรางวัลผู้ชนะการประกวด"ไทยแลนด์ไอซีที อวอร์ด 2008" โดยสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือซิป้า ที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีนักคิดที่เป็นเยาวชนไทยสองคน คว้ารางวัลด้านซอฟต์แวร์มาครองสำเร็จกับผลงานที่มีชื่อว่า "โอเพ่นตูน" (OpenToon)
โอเพ่นตูนเป็นโปรแกรมที่ดัดแปลงจากภาพจริงภาพวิดีโอ ภาพถ่าย หรือภาพที่ถ่ายจากเว็บแคม ให้เป็นภาพการ์ตูนได้แบบเรียลไทม์ โดยใช้เทคนิควิธีการทำเส้นขอบและการใช้โทนสีที่น้อยลง กับแนวคิดดีๆ ที่เป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ ค้นคว้า และต้องการเติมเต็มความรู้สู่สมอง เพื่อพัฒนาแนวคิดอยู่เสมอ
ณัฐพลทองอู๋ และสุพรรณ ฟ้ายง ผู้ร่วมคิดค้นซอฟต์แวร์โอเพ่นตูน อธิบายว่า ซอฟต์แวร์นี้ออกแบบมาเพื่อการพัฒนาการ์ตูนแอนิเมชั่น และช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมในปัจจุบัน กับการ์ตูนแอนิเมชั่น 2 มิติ ที่สร้างจากการถ่ายทำภาพยนตร์จริง เช่น สแกนเนอร์ ดาร์คลี่ (Scanner Darkly) โดยใช้โปรแกรมที่ชื่อว่า โรโทสโคพ (Rotoscope) ในการแปลงภาพยนตร์จริงเป็นการ์ตูนแอนิเมชั่น
โปรแกรมดังกล่าวทำให้ภาพที่ออกมาดูเหมือนภาพการ์ตูนที่ใช้คนวาดมากและมีความสวยงาม แต่โปรแกรมนี้มีข้อจำกัดคือ การแปลงภาพยนตร์จริงเป็นการ์ตูนแอนิเมชั่นนั้น ต้องใช้คนวาดภาพการ์ตูนจากภาพยนตร์ประกอบด้วย โดยให้ผู้ใช้กำหนดเส้นขอบในบางส่วนของภาพ แล้วโปรแกรมจะวาดส่วนที่เหลือของภาพอย่างอัตโนมัติจากข้อมูลส่วนที่ใช้คนวาด การที่ต้องใช้คนวาดบางส่วนนั้น เป็นเพราะโรโทสโคพต้องใช้ข้อมูลภาพบางส่วน เพื่อสร้างการ์ตูนแอนิเมชั่นที่มีลายเส้น และรูปแบบที่ผู้สร้างการ์ตูนต้องการ
ดังนั้นโปรแกรมซอฟต์แวร์โอเพ่นตูนจะช่วยให้สามารถสร้างการ์ตูนแอนิเมชั่น ที่เหมือนกับการ์ตูนที่ใช้คนวาดจากภาพยนตร์จริง และได้แบบที่ใช้โปรแกรมทำงานให้ทั้งหมด โดยไม่ต้องมีคนวาดภาพการ์ตูน หรือใช้คนวาดน้อยที่สุด ซึ่งจะทำให้การสร้างการ์ตูนแอนิเมชั่น 2 มิติ สามารถทำได้ง่ายขึ้นมาก และประหยัดต้นทุนในการผลิตอีกด้วย ไม่เพียงเท่านั้น โปรแกรมดังกล่าวยังสามารถพัฒนาต่อยอดให้เกิดศักยภาพในการทำงานด้านซอฟต์แวร์เพื่อการออกแบบการ์ตูนในอนาคตได้ด้วย
ปัจจุบันสองเยาวชนนักคิดศึกษาอยู่ที่ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้นปีที่ 3 และเตรียมตัวนำผลงานดังกล่าวส่งเข้าประกวดในเวทีใหญ่อีกครั้ง กับเอเชีย แปซิฟิก ไอซีที อัลลิแอนซ์ อวอร์ด 2008 (เอพีไอซีทีเอ) ที่จะจัดขึ้นวันที่ 12-16 พฤศจิกายนนี้ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย
ผลงานของสองเยาวชนไทยจะเข้าถึงเส้นชัยในเวทีต่างประเทศหรือไม่นั้นคนไทยคงต้องเอาใจช่วย เพื่อผลงานดีๆ และผลักดันบุคลากรที่จะเป็นอนาคตของชาติด้วย
ที่มา: http://www.komchadluek.net/
Link: http://www.komchadluek.net/2008/10/24/x_it_h001_226538.php?news_id=226538
ซอฟแวร์ฟรีหนีวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์
ภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ ขืนควักเงินก้อนใหญ่ซื้อซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ชุดละเป็นหมื่น โดยไม่รู้ว่าจะเหมาะสมกับองค์กรตัวเองหรือเปล่า คงมีแต่เจ๊ง ไม่มีเจ๊า ทางที่ดีลองหาพวกซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส หรือที่เรียกย่อๆ ว่า โอเอสเอส มาลองใช้ก่อนจะดีกว่า ถ้าถูกใจก็ใช้ไปเลย ไม่ต้องรีรอ
ดร.วิรัช ศรเลิศล้ำวาณิช ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) มองว่า เจ้าซอฟต์แวร์คุณภาพแต่ไม่ต้องควักกระเป๋าจ่ายที่เรียกว่า "ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส" พวกนี้ เป็นตัวช่วยในยุควิกฤติเศรษฐกิจ หรือจะพ้นวิกฤติไปแล้วก็ใช้ได้ตลอด ไม่มีใครหวง
หลายคนมองว่า ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส เหมาะกับธุรกิจขนาดเล็ก องค์กรขนาดย่อม แต่ ดร.วิรัชมีข้อมูลเด็ดมาบอกว่า องค์กรขนาดใหญ่เขาก็ใช้กัน เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปห่วงว่าโปรแกรมจะใช้กับชาวบ้านชาวช่องไม่ได้
“การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ก็เลือกใช้ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส และสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายไปกว่า 300 ล้านบาท และปัจจุบัน การไฟฟ้าฝ่ายภูมิภาค (กฟภ.) ก็เข้ามาปรึกษากับเนคเทคอยากใช้ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สบ้างเหมือนกัน” ดร.วิรัชเผย
เช่นเดียวกับ องค์กรขนาดใหญ่ด้านการสื่อสารอย่าง กสท โทรคมนาคม (แคท เทเลคอม) ทีทีแอนด์ที และศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ได้นำซอฟต์แวร์ เลิร์น สแควร์ ซึ่งเป็นโอเพ่นซอร์สด้านการเรียนผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่เนคเทคพัฒนาขึ้นมาใช้งาน
เหตุที่ทำให้องค์กรทั้งใหญ่น้อย หันมาสนใจซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส นอกจากความประหยัดแล้ว โอเพ่นซอร์สยังเป็นซอฟต์แวร์ที่สามารถดูแลได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องจ้างบริษัทมาดูแลระบบ ทั้งยังสามารถปรับปรุง พัฒนาซอฟต์แวร์ได้ตลอดเวลา
ส่วนเทรนด์โอเพ่นซอร์สปี 2552 ดร.วิรัช ซึ่งสวมหมวกนายกสมาคมโอเพ่นซอร์สแห่งประเทศไทยอีกใบบอกว่า แนวโน้มที่จะเห็นได้ชัดคือ การนำโอเพ่นซอร์สไปใช้ในภาคการศึกษา ที่จะมีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับการเรียนการสอนในปัจจุบัน ขณะที่การใช้งานในภาคธุรกิจนั้น ยังเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป
สิ่งที่น่าจะเห็นในปี 2552 อีกอย่างคือ การรวมกลุ่มของผู้ใช้โอเพ่นซอร์ส ซึ่งจะเป็นการจัดตั้งชุมชนหรือคลับสำหรับโอเพ่นซอร์สตัวใดตัวหนึ่งโดยเฉพาะ ดร.วิรัชมองว่า กลุ่มดังกล่าวนี้จะเกิดจากการใช้งาน เช่น อาจจะเป็นผู้ดูแลระบบของบริษัทที่ทดลองใช้แล้วชอบ เกิดการชักชวนผู้ดูแลระบบของบริษัทอื่น หรือเพื่อนที่ใช้โอเพ่นซอร์สตัวนี้ มารวมตัวกัน และอาจจะทำให้เกิดการพัฒนาต่อยอดโอเพ่นซอร์สนั้นๆ ออกไปได้อีก จนเกิดเป็นโอเพ่นซอร์สของตนขึ้น
แม้ปัจจุบันโอเพ่นซอร์สถูกพัฒนาและเผยแพร่อย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็น Fedora, Ubuntunclub, OpenSUSE, CentOS รวมถึงที่มักพบในไทยคือ จูมล่า (Joomla) และแมมโบ้ลายไทย (Mambo เวอร์ชั่นไทย) แต่กลับมีโอเพ่นซอร์สที่เป็นของไทยน้อยมาก
“คนไทยยังไม่คุ้นกับการพัฒนาโอเพ่นซอร์ส ที่ต้องอาศัยการทำงานเป็นทีม ทำให้ทางเนคเทคพยายามที่จะปรับพฤติกรรมของนักพัฒนาโอเพ่นซอร์สไทย ด้วยการจัดแคมป์โค้ดเฟส” ดร.วิรัชอธิบาย
โค้ดเฟส เป็นกิจกรรมการเขียนโปรแกรมมาราธอนที่เนคเทคและสมาคมโอเพ่นซอร์สแห่งประเทศไทยจัดขึ้นเพื่อเป็นการกระตุ้นให้นักพัฒนาโปรแกรมทั่วไปมีความสนใจการพัฒนาโปรแกรมโอเพ่นซอร์สมากขึ้น และทำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เรียนรู้ประสบการณ์การพัฒนาโปรแกรมที่ดี และสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อกัน จนทำให้กลุ่มนักพัฒนาโปรแกรมโอเพ่นซอร์สของประเทศไทยมีจำนวนมากขึ้น เริ่มมีครั้งแรกในปี 2549 และจัดอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันกว่า 6 ครั้งแล้ว
ดร.วิรัชกล่าวว่า กิจกรรมดังกล่าว เป็นการส่งเสริมศักยภาพของนักพัฒนาโอเพ่นซอร์สไทย สร้างประสบการณ์การทำงานเป็นทีม แล้วยังได้เห็นของใหม่ ที่ไม่ใช่แค่โอเพ่นซอร์ส แต่มีการนำโอเพ่นซอร์สที่มีไปปรับใช้กับผลิตภัณฑ์ต่างๆ กลายเป็นนวัตกรรม เช่นที่ทำกันในการประกวดโครงการลีนุกซ์ฝังตัว (Embeded Linux Project Contest 2008)
“นอกเหนือจากส่งเสริมการพัฒนาโอเพ่นซอร์สสัญชาติไทย การสร้างนวัตกรรมจากโอเพ่นซอร์สก็เป็นการเพิ่มมูลค่าได้ และเชื่อว่าในอนาคตจะมีผลิตภัณฑ์ที่ผสานกับซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สออกมาวางขายในตลาดแน่นอน” ดร.วิรัชให้มุมมอง
สาลินีย์ ทับพิลา
ที่มา: http://www.komchadluek.net/
Link: http://www.komchadluek.net/2008/10/24/x_it_h001_226608.php?news_id=226608
Wednesday, October 15, 2008
โหด มัน ฮา ประสาสมองกล
ไม่รู้มันขำอะไรกันนักหนา เจ้าหุ่นยนต์ไอเชียร์ถึงระเบิดเสียงหัวเราะร่า แค่นั้นไม่พอประเคนมือทุบพื้นดัง "ปั๊กๆ" เล่นเอาคนยืนดูพลอยขำไปด้วย
หุ่นยนต์ไอเชียร์ (iCHEER ย่อมาจาก intelligent Companion Humanoid Entertainment and Education Robot) เป็นหุ่นตัวที่ 2 ที่สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต พัฒนาขึ้นตามหลังไอไทยสตาร์ (iThai Star) บนเรือนร่างหุ่นยนต์นำเข้าราคากว่าแสนบาทจากญี่ปุ่นมาพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ พูดง่ายๆ ทำให้มันมีสมองรู้จักคิดนั่นแหละ
นายฐิติพงศ์ นันทาภิวัฒน์ หัวหน้าสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต บอกว่า การพัฒนาหุ่นยนต์ของมหาวิทยาลัยรังสิตแตกต่างจากสถาบันอุดมศึกษาอื่น คือแทนที่จะเริ่มพัฒนากันตั้งแต่ระบบหุ่นยนต์ หลักสูตรไอซีทีของมหาวิทยาลัยรังสิตให้เน้นพัฒนาสมองกล และโปรแกรมการควบคุมหุ่นยนต์มากกว่า
“นักศึกษาในหลักสูตรไอซีทีต้องทำโครงงานจบการศึกษาที่แตกต่างจากที่อื่น ไม่ใช่แค่การทำระบบ ออกแบบเว็บไซต์ หรือสร้างการ์ตูนแอนิเมชั่น แต่ต้องพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ซับซ้อนจากวิชาพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ครอบคลุมด้านพัฒนาหุ่นยนต์ โทรศัพท์อัจฉริยะ หรืออุปกรณ์เครือข่ายไร้สายต่างๆ รองรับการขยายตัวของตลาดเกม ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ เทคโนโลยีมือถือ ตลอดจนเครือข่ายไร้สายและเทคโนโลยีหุ่นยนต์“ อาจารย์หนุ่มม.รังสิต กล่าว
ไอเชียร์ เป็นตัวอย่างหุ่นยนต์สมองกลที่นักศึกษาปี 4 หลักสูตรไอซีทีของม.รังสิตออกแบบคำสั่งให้เต้นเคลื่อนไหวร่างกายให้เข้าจังหวะเหมือนเชียร์ลีดเดอร์
“อีกไม่กี่เดือน ทีมเชียร์ลีดเดอร์ของมหาวิทยาลัยรังสิตจะมีสมาชิกใหม่คือ หุ่นยนต์ไอเชียร์สามารถเคลื่อนไหวร่างกายในท่าเชียร์ลีดเดอร์ต่างๆ ได้” อาจารย์นักพัฒนาหุ่นยนต์ของม.รังสิต ภูมิใจเสนอ
ฐิติพงศ์บอกว่า นักพัฒนาหุ่นยนต์ของม.รังสิตกำลังวิจัยความต้องการนำหุ่นยนต์ไปใช้งานในด้านต่างๆ เช่น เฝ้าบ้าน เนื่องจากหุ่นหลายชนิดติดตั้งกล้องที่สามารถดัดแปลงใช้สอดส่องดูหรือสามารถพัฒนาโปรแกรมให้หุ่นสามารถต่อเชื่อมสัญญาณโทรศัพท์มายังโทรศัพท์มือถือของเจ้าของบ้านเมื่อพบผู้บุกรุก
คอยจับตาดูผลงานของนักศึกษาปริญญาตรี ม.รังสิตเอาแล้วกัน
สาลินีย์ ทับพิลา
ที่มา: http://www.komchadluek.net/
Link: http://www.komchadluek.net/2008/10/15/x_it_h001_222034.php?news_id=222034
Subscribe to:
Posts (Atom)