Tuesday, September 30, 2008

"ไซเคิลซอล"คอนเซ็ปต์จักรยานแสงอาทิตย์



"ไซเคิล ซอล" เป็นจักรยานที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ทั้งยังมีหลังคาคลุม เพื่อกันแดดกันฝนให้กับผู้ขับขี่ ผู้ออกแบบคือ นายมิโรสลาฟ มิลเยวิก ชาวอังกฤษ

มิลเยวิก กล่าวว่า "หลังคาจักรยานติดแผงโซลาร์เซลล์ ส่วนที่ล้อหลังติดมอเตอร์ไฟฟ้าไว้ ขับขี่ได้ด้วยความเร็วไม่เกิน 15 ไมล์ต่อชั่วโมง ล้อมีแรงต้านน้อย เพื่อที่เวลาถีบขึ้นไปยังที่ชันจะได้ถีบขึ้นไปได้ง่าย ถ้าวันไหนอากาศดี เพียงแค่ตั้งจักรยานทิ้งไว้ข้างนอก พลังงานก็จะชาร์จเข้ามาที่มอเตอร์ไฟฟ้า ถ้าวันไหนมีเมฆครึ้ม ก็เสียบปลักแทนได้ ใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมง"

"ไซเคิล ซอล" ยังเป็นเพียงคอนเซ็ปต์จักรยาน ไม่ได้ผลิตขึ้นมาจริง มิลเยวิกหวังว่า จะมีนายทุนสนใจเข้ามาร่วมผลิต "ไซเคิล ซอลก็คล้ายกับจักรยานไฟฟ้า เพียงแต่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ปัจจุบันเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ยังมีคุณภาพดีมาก แม้ท้องฟ้าจะมีเมฆมาก มีแสงเพียงนิดเดียว แต่ก็สามารถเก็บแสงไว้ได้ แฮนด์จักรยานยังอยู่ทางด้านข้าง เพื่อที่เวลานั่งพิงไปข้างหลังจะได้บังคับสะดวกๆ ทั้งยังทรงตัวง่าย บังคับทิศทางเลี้ยวซ้ายขวาได้ตามความพอใจ" – เดลี่เมล์

ที่มา: http://www.matichon.co.th/khaosod/
Link: http://www.matichon.co.th/khaosod/view_news.php?newsid=TUROMFpXTXdNak13TURrMU1RPT0=§ionid=TURNeU5nPT0=&day=TWpBd09DMHdPUzB6TUE9PQ==

โปรแกรมฝึกอ่านอังกฤษออนไลน์ใครก็เรียนได้ไม่เสียสตางค์กวดวิชา


ใครก็อยากเก่งภาษาอังกฤษกันทั้งนั้นระยะหลังผู้ปกครองที่มีฐานะเลยส่งลูกหลานเรียนโรงเรียนสองภาษา และโรงเรียนอินเตอร์เนชั่นแนลกันตั้งแต่อนุบาล

ถ้าไม่มีเงินเรียนโรงเรียนอินเตอร์หรือกวดวิชาภาษาอังกฤษกับครูฝรั่ง ยังมีของฟรีให้เลือก อดใจรออีกนิด นักวิจัยจากจากศูนย์วิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กำลังพัฒนาซอฟต์แวร์ฝึกทักษะการอ่านภาษาอังกฤษให้ฝึกฝนกัน ไม่เฉพาะแต่นักเรียน ผู้ใหญ่ก็เรียนได้ผ่านเว็บไซต์โครงการมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย ของสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา

นายภาสพันธ์จิโนทา นักพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ศูนย์วิจัยและบริการวิชาการ คณะศิลปศาสตร์ มจธ. เปิดเผยว่า ซอฟต์แวร์ฝึกทักษะการอ่านนำทีมพัฒนาโดย ดร.พรนภิส ดาราสว่าง อาจารย์จากศูนย์วิจัยและบริการวิชาการ เป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ที่รู้คำศัพท์ภาษาอังกฤษน้อย สามารถเข้าใจเนื้อหาหรือความหมายของประโยคได้ง่ายขึ้น

ทีมวิจัยตั้งใจพัฒนาซอฟต์แวร์ให้กลุ่มนักเรียนมัธยมขึ้นไปเข้ามาใช้ฝึกทักษะด้านการอ่านและการทำความเข้าใจเนื้อหาภาษาอังกฤษได้อย่างถูกต้อง โดยที่ผู้เรียนสามารถใช้บริการผ่านเว็บออนไลน์ที่ไหนก็ได้ โดยไม่เสียเงินหรือเวลาไปนั่งเรียนตามโรงเรียนกวดวิชาให้สิ้นเปลืองอีกต่อไป ผู้ช่วยนักวิจัยกล่าว

บทเรียนฝึกทักษะการอ่านมีบทเรียนทั้งหมด6 บท ได้แก่ การฝึกอ่านจับใจความสำคัญของเรื่อง การอ่านอย่างรวดเร็วเพื่อหาข้อมูลเฉพาะ การเดาเนื้อหาก่อนอ่านเรื่อง การเดาความหมายคำศัพท์จากเนื้อหารอบข้าง การเข้าใจเนื้อหาจากสื่อรูปภาพ และการตีความเนื้อหา

เนื้อหาในแต่ละบทจะมีแบบทดสอบก่อนเริ่มเรียนทั้งรูปแบบตัวเลือกตอบ และการตอบคำถามด้วยตัวเอง แบบทดสอบแต่ละบทจะมีจำนวนข้อทดสอบต่างกันตามความยากง่ายของเนื้อหาในบทเรียน เมื่อทดสอบเสร็จแล้วยังมีเกมมาให้ผู้เรียนเล่นเพื่อฝึกฝนทักษะพื้นฐานก่อนที่จะเริ่มสู่บทเรียนของจริง

ยกตัวอย่างบทที่สอง ซึ่งเป็นการอ่านอย่างรวดเร็วเพื่อหาข้อมูลเฉพาะ ระบบมีเกมจับผิดภาพ เพื่อทดสอบสายตาของผู้เรียน ในการมองรายละเอียดภาพที่ปรากฏบนหน้าจอ ภายใต้เวลาที่กำหนด แบบทดสอบแต่ละข้อก็จะมีเวลากำหนดเช่นกัน เพื่อให้ผู้เรียนสามารถฝึกทักษะการตัดสินใจที่ว่องไว โดยคำตอบนั้นถูกต้องด้วย

ผู้ช่วยนักวิจัยกล่าวอีกว่าซอฟต์แวร์ฝึกทักษะการอ่านภาษาอังกฤษที่พัฒนาขึ้น แม้รูปแบบเมนูคำสั่งจะเป็นภาษาอังกฤษ แต่ทีมวิจัยพัฒนาให้คำสั่งหรือคำอธิบายเหล่านั้นสามารถพากย์เป็นภาษาไทยได้ เมื่อนำเม้าส์ไปคลิกเพื่อให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงตัวเนื้อหาแต่ละบทได้มากที่สุด

เสียงพากย์ภาษาไทยจะช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจในเนื้อหาได้ว่าบทเรียนนี้มีเนื้อหาที่ต้องเรียนอย่างไรบ้างและผู้ที่เรียนจะได้รับประโยชน์อะไรบ้าง เมื่อผู้เรียนเกิดความเข้าใจในเนื้อหาที่กำลังจะเรียน ก็จะช่วยให้ทำแบบทดสอบได้ดีขึ้นด้วย นักพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์กล่าว

โครงการวิจัยดังกล่าวได้รับทุนสนับสนุนวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยระหว่าง เดือนตุลาคม 2550-ตุลาคม 2551 หลังจากทีมวิจัยพัฒนาระบบแล้วเสร็จ จะนำบทเรียนนี้ไปเผยแพร่ที่ www.thaicyberu.go.th เพื่อให้ผู้สนใจสามารถเรียนรู้ภาษาอังกฤษผ่านโลกออนไลน์ได้ด้วยตนเอง

ที่มา: http://www.komchadluek.net/
Link: http://www.komchadluek.net/2008/09/30/x_it_h001_223118.php?news_id=223118

Sunday, September 21, 2008

ฮีเลียมรั่ว "เซิร์น" ต้องปิดเครื่องเร่งอนุภาคซ่อม 2 เดือน


หลังทำให้ทั่วโลกตื่นเต้น กับการทดสอบปล่อยลำอนุภาค เข้าเครื่องเร่งขนาดใหญ่ที่สุดในโลกไปเมื่อสัปดาห์ก่อน ล่าสุด "เซิร์น" ได้ออกมาเปิดเผยความเสียหาย ที่เกิดขึ้นกับเครื่องทดลองอันทรงพลัง และอาจต้องหยุดดำเนินงานอย่างน้อย 2 เดือน

ทั้งนี้เซิร์น (CERN) หรือองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศในทวีปยุโรปเพื่อวิจัยและพัฒนาทางด้านนิวเคลียร์ (European Center for Nuclear Research) ได้เปิดเผยผ่านเว็บไซต์ขององค์กรว่า ระหว่างการเดินเครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซี (Large Hadron Collider: LHC) ในส่วนสุดท้าย หรือบริเวณเซคเตอร์ที่ 34 (sector 34) ด้วยกระแสไฟฟ้าที่สูงถึง 5 เทราอิเล็กตรอนโวลต์ โดยไม่ได้ปล่อยอนุภาคเข้าไปนั้น ได้เกิดเหตุขึ้น ที่ส่งผลให้ฮีเลียมปริมาณมากรั่วเข้าสู่อุโมงค์

เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ประเมินว่า อุบัติเหตุดังกล่าว น่าจะเกิดจากปัญหาในการเชื่อมต่อทางไฟฟ้าระหว่างแม่เหล็ก 2 ตัว ซึ่งอาจละลายเมื่อกระแสสูง นำไปสู่ความผิดพลาดทางด้านกลไก แต่เซิร์นก็ย้ำว่า ได้ดำเนินการตามหลักความปลอดภัยอย่างเข้มงวด เพื่อความมั่นใจว่า จะไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงใดๆ ต่อประชาชน

แต่จากการประเมินในเชิงลึก พบว่าจำเป็นต้องเพิ่มอุณหภูมิให้กับส่วนที่เสียหายเพื่อทำการเปลี่ยน และคาดว่าจะใช้เวลาอย่างน้อย 2 เดือนหยุดการดำเนินงานของเครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซีไว้ก่อน

ด้านสำนักข่าวเอพีรายงานคำแถลงของเจมส์ กิลลีส์ (James Gillies) โฆษกของเซิร์น ว่าผู้เชี่ยวชาญได้เข้าไปในอุโมงค์ที่ขดเป็นวงกลมยาว 27 กิโลเมตร อยู่ภายใต้พรมแดนระหว่างสวิตเซอร์แลนด์และฝรั่งเศส ซึ่งติดตั้งเครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซีไว้ เป็นเวลาราว 36 ชั่วโมง เพื่อประเมินความเสียหาย หลังการดำเนินงานปล่อยอนุภาคครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 ก.ย.ที่ผ่านมา

"มันเร็วเกินไปที่จะกล่าวเจาะจงลงไปว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ดูคล้ายว่ามีความผิดพลาด ในการเชื่อมต่อทางไฟฟ้าระหว่างแม่เหล็ก 2 ตัว ซึ่งหยุดสภาวะการเป็นตัวนำยวดยิ่งและเกิดละลาย ซึ่งนำไปสู่ความผิดพลาดของกลไก และทำให้ฮีเลียมรั่วออกมา" เอพีรายงานคำแถลงของกิลลีส์ โดยเขาระบุว่าส่วนที่เสียหายนั้นต้องได้การเพิ่มอุณหภูมิให้สูงกว่าศูนย์องศาสัมบูรณ์ จึงจะซ่อมแซมได้

กิลลีส์กล่าวว่า ความผิดภพลาดเช่นนี้เกิดขึ้นได้บ่อย กับเครื่องเร่งอนุภาคทั่วไป แต่สำหรับกรณีนี้มีความซับซ้อนกว่ามาก เนื่องจากเครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซีดำเนินการที่ระดับอุณหภูมิเข้าใกล้ศูนย์องศาสัมบูรณ์ ซึ่งเย็นยะเยือกยิ่งกว่าอวกาศห้วงลึก ทั้งนี้เพื่อให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพสูงสุด

"เมื่อเกิดเหตุลักษณะนี้กับเครื่องเร่งอนุภาคอื่นๆ ก็ใช้เวลาเพียง 2-3 วันในการซ่อมแซม แต่เพราะนี่คือเครื่องจักรตัวนำยวดยิ่ง คุณจึงต้องใช้เวลานานที่จะทำให้ลดและเพิ่มอุณหภูมิเครื่อง ซึ่งหมายความว่าเรากำลังจะหยุดการดำเนินงานเป็นเวลา 2 เดือน โดยต้องใช้เวลา 2-3 อาทิตย์เพื่อเพิ่มอุณหภูมิ จากนั้นก็ซ่อม และลดอุณหภูมิอีกครั้ง" กิลลีส์แจง

ทั้งนี้เครื่องเร่งอนุภาคมูลค่านับล้านล้านบาท ซึ่งได้รับการออกแบบและก่อสร้างเป็นเวลามากกว่า 2 ทศวรรษนั้น คือเครื่องเร่งอนุภาคให้ชนกันที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยเครื่องเร่งอนุภาคนี้จะปล่อยลำอนุภาคโปรตอนจากนิวเคลียสของโปรตอนให้วิ่งวนรอบอุโมงค์ด้วยความเร็วเข้าใกล้ความเร็วแสง จากนั้นให้ลำอนุภาคโปรตอน 2 ลำที่วิ่งสวนทางกันชนกัน แล้วเผยอนุภาคเล็กที่สุดซึ่งก่อตัวขึ้นครั้งแรกหลังเกิด "บิกแบง" (big bang) ซึ่งตามทฤษฎีระบุว่าเป็นการระเบิดครั้งใหญ่ที่ก่อให้เกิดดาวฤกษ์ ดาวเคราะห์และทุกสิ่ง

การทดลองของเซิร์นด้วยการจับอนุภาคชนกันนั้น ยังหวังที่จะได้เผยข้อมูลเกี่ยวกับสสารมืด ปฏิสสารและอาจจะรวมถึงมิติพิเศษซึ่งซ่อนอยู่ในกาลอวกาศ และยังอาจได้พบอนุภาคในทางทฤษฎีที่เรียกว่า "ฮิกก์ส" (Higgs boson) หรือบางครั้งเรียกว่า "อนุภาคพระเจ้า" เพราะเชื่อว่าเป็นอนุภาคที่ทำให้เกิดมวลแก่อนุภาคอื่นๆ แล้วกลายเป็นสสารที่สร้างเอกภพขึ้นมา

นอกจากเครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซีแล้ว ยังมีเครื่องเร่งอนุภาคขนาดเล็กซึ่งใช้งานกันมาหลายทศวรรษ เพื่อศึกษาการสร้างอะตอม ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าโปรตอนและนิวตรอนเป็นองค์ประกอบที่เล็กสุดของนิวเคลียสอะตอม แต่การทดลองได้แสดงให้เห็นว่า โปรตอนและนิวตรอนนั้นประกอบขึ้นจากควาร์กและกลูออน และยังมีแรงกับอนุภาคอื่นๆ อยู่อีก

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9510000111863

Monday, September 15, 2008

ยกมาโชว์ "รถยนต์ไฮโดรเจน" ฝีมือไทย เตรียมต่อยอดใช้จริง


ยลโฉมรถยนต์พลังงานไฮโดรเจนคันแรกของไทย ในงาน Thailand Research Expo 2008 นักวิจัยเผยเตรียมต่อยอดผลิตใช้จริงเชิงพาณิชย์ให้ทัน ก่อนต่างชาติส่งเข้ามาขายในไทยในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า แถมราคาถูกกว่าหลายเท่าตัว พร้อมเดินหน้าวิจัยปั๊มไฮโดรเจนต้นแบบ ไว้รองรับ ใช้แสงอาทิตย์แยกน้ำให้ได้ไฮโดรเจน พลังงานที่ใช้สะอาด ไม่ก่อมลภาวะ

รถยนต์พลังงานไฮโดรเจนคันแรกของประเทศไทยที่จัดแสดงอยู่ในงานการนำเสนอผลงานวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2551 (Thailand Research Expo 2008) ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานเป็นอย่างมาก ด้วยเทคโนโลยีใหม่ที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษในภาวะวิกฤติด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบัน

นาวาอากาศเอกเจษฎา คีรีรัฐนิคม หนึ่งในทีมงานผู้วิจัยและพัฒนารถยนต์พลังงานไฮโดรเจน ภายใต้บริษัท คลีนฟูเอล เอนเนอร์ยี เอ็นเตอร์ไพร้ส์ จำกัด อธิบายกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า รถยนต์ไฮโดรเจนคันดังกล่าวขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าที่ได้จากเซลล์เชื้อเพลิงชนิดเมมเบรนแลกเปลี่ยนโปรตอน (PEMFC) โดยอาศัยไฮโดรเจนเป็นแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้า

"เมื่อก๊าซไฮโดรเจนและอากาศ ผ่านเข้าไปในเซลล์เชื้อเพลิงที่ทำด้วยแกรไฟต์และมีทองคำขาวเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา ไฮโดรเจนจะแตกตัวให้อิเล็กตรอนและทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าส่งไปยังมอเตอร์เพื่อขับเคลื่อนรถยนต์ เมื่ออิเล็กตรอนไหลวนครบวงจรจะกลับมารวมกลับไฮโดรเจนประจุบวกและออกซิเจนที่อยู่ในอากาศ ก็จะกลายเป็นไอน้ำกลับคืนสู่บรรยากาศ จึงไม่ก่อให้เกิดมลพิษ อีกทั้งยังไม่มีเสียงที่ดังของเครื่องยนต์เหมือนรถยนต์ทั่วไปด้วย" นาวาอากาศเอกเจษฎา อธิบายหลักการ

เซลล์เชื้อเพลิงที่ติดตั้งในรถยนต์ต้นแบบนี้สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 8-10 กิโลวัตต์ ซึ่งจะถูกนำไปใช้กับมอเตอร์รถยนต์ราว 5 กิโลวัตต์ ส่วนที่เหลือสามารถนำมาใช้กับเครื่องเสียงหรือเครื่องปรับอากาศภายในรถได้ และรถสามารถแล่นได้ด้วยความเร็วสูงสุดประมาณ 90-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

สำหรับถังบรรจุก๊าซไฮโดรเจนสำหรับป้อนเข้าสู่เซลล์เชื้อเพลิง สามารถใช้ถังไฮโดรเจนได้ 2 รูปแบบ คือ แบบอัดความดันขนาด 3,000 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว ซึ่งจะมีขนาดถังใกล้เคียงกับถังก๊าซแอลพีจีหรือเอ็นจีวีที่ใช้ในรถยนต์ทั่วไป ส่วนถังไฮโดรเจนอีกรูปแบบหนึ่งมีขนาดเล็กกว่า ภายในมีผงโลหะเมทัลไฮไดรด์บรรจุอยู่ และกักเก็บไฮโดรเจนโดยให้เข้าไปแทรกอยู่ในโลหะ จึงไม่ต้องใช้ความดันสูงมาก และใช้พื้นที่น้อยกว่าถังแบบแรกในการเก็บไฮโดรเจนที่มีปริมาณเท่ากัน

ถังไฮโดรเจนที่ใช้กับรถต้นแบบเป็นอย่างหลัง บรรจุไฮโดรเจนได้ประมาณ 900 ลิตร วิ่งได้ระยะทาง 30-40 กิโลเมตร กินเวลาประมาณ 20 นาที ถ้าจะให้แล่นได้ไกลและนานกว่านั้นก็สามารถติดตั้งถังไฮโดรเจนเพิ่มได้อีก แต่เนื่องจากว่ารถต้นแบบมีน้ำหนักประมาณ 400 กิโลกรัม แต่หากเป็นรถยนต์นั่งทั่วไปจะมีน้ำหนักราว 800 กิโลกกรัม ดังนั้นจึงสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงมากกว่า โดยหากจะแล่นให้ได้สัก 100 กิโลเมตร อาจต้องติดตั้งถังไฮโดรเจนขนาดเดียวกันประมาณ 10 ถัง

ส่วนในเรื่องความปลอดภัยนั้นนาวาอากาศเอกเจษฎาบอกว่า ก๊าซไฮโดรเจนติดไฟได้เหมือนเชื้อเพลิงทั่วไป แต่โมเลกุลของไฮโดรเจนมีขนาดเล็กและเบากว่าก๊าซแอลพีจีและเอ็นจีวี ดังนั้นหากเกิดการรั่วซึม ก๊าซไฮโดรเจนก็จะลอยสู่อากาศได้รวดเร็วกว่า โอกาสที่จะเกิดอันตรายหรือเกิดระเบิดก็น้อยลง และหากเป็นถังไฮโดรเจนที่เก็บไฮโดรเจนโดยแทรกอยู่ในผงโลหะ ซึ่งใช้ความดันต่ำ โอกาสระเบิดจึงน้อยกว่าด้วย

นาวาอากาศเอกเจษฎา บอกว่า จุดเด่นของรถยนต์พลังงานไฮโดรเจนนี้คือขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาด ไม่เพิ่มมลพิษให้สิ่งแวดล้อม และที่สำคัญชิ้นส่วนอุปกรณ์ทุกอย่างก็สามารถผลิตได้ในประเทศไทย ขณะนี้ทางสภาวิจัยแห่งชาติจึงเร่งผลักดันรถยนต์ไฮโดรเจนให้สามารถผลิตใช้จริงเชิงพาณิชย์ได้ คาดว่าอีกประมาณ 5-10 ปี ก็จะเริ่มมีรถยนต์ไฮโดรเจนจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยแล้ว

"ดังนั้นเราจึงต้องเร่งพัฒนาของเราให้ทันต่างชาติ โดยอาจจะร่วมมือกับเอกชนรายอื่นให้รับหน้าที่ผลิตตัวถังรถ ส่วนเราก็จะผลิตและติดตั้งชุดอุปกรณ์เซลล์เชื้อเพลิง และหากมีรถยนต์ไฮโดรเจนเข้ามาจำหน่ายในไทยจริง ก็จะต้องมีปั๊มไฮโดรเจนเกิดขึ้นด้วย ซึ่งในปี 2552 ทางเราก็จะเริ่มศึกษาวิจัยปั๊มไฮโดรเจนต้นแบบด้วย โดยการแยกไฮโดรเจนออกจากน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ จึงจะเรียกว่าเป็นพลังงานสะอาดและยั่งยืนอย่างแท้จริง" นาวาอากาศเอกเจษฎา แจงรายละเอียด

สำหรับโครงการวิจัยต่อยอดนี้ก็ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เหมือนเช่นที่ผ่านมา โดยสิ่งสำคัญที่ต้องพัฒนาในโครงการนี้หลักๆ คือ พัฒนาประสิทธิภาพของเครื่องแยกไฮโดรเจนออกจากน้ำ และคอมเพรสเซอร์สำหรับเพิ่มความดันให้ก๊าซไฮโดรเจนเพื่อการกักเก็บไว้ด้วยความดันสูง และหากประเทศไทยสามารถผลิตรถยนต์ไฮโดรเจนออกมาขายให้คนไทยได้ใช้จริงก็น่าจะสนนราคาคันละประมาณ 10 ล้าน หรือถูกลงมากว่านั้นราวครึ่งหนึ่ง ขณะที่รถยนต์ไฮโดรเจนของต่างชาติตกราคาคันละไม่ต่ำกว่า 30 ล้าน.

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9510000108734

Thursday, September 4, 2008

นักบินอวกาศนาซ่าลองเดินในพื้นที่คล้ายดวงจันทร์


นักบินอวกาศขององค์การนาซ่า พร้อมเจ้าหน้าที่เทคนิค เข้าไปฝึกการขับยานสำรวจ "ลูนาร์ทรัก" ที่บริเวณทะเลสาบโมเสส รัฐวอชิงตัน โดยยานนี้จะใช้เมื่อนาซ่าส่งนักบินอวกาศเดินทางไปยังดวงจันทร์อีกครั้งภายในศตวรรษนี้

ทะเลสาบโมเสสมีลอนทรายหรือแซน ดูนที่มีแปลกออกไปจากที่อื่น โดยทรายมีความนุ่มละเอียดเพราะผสมกับขี้เถ้าภูเขาไฟ และคล้ายคลึงกับดินบนดวงจันทร์มาก

นายโรเบิร์ต แอมบรอส เจ้าหน้าที่ระ ดับสูงของนาซ่า กล่าวว่า "เชื่อไหมคุณ ทรายที่นี่คล้ายกับดินดวงจันทร์มาก ต่างกันแค่ที่นี่มีแรงโน้มถ่วง ขณะบนดวงจันทร์มีแรงโน้มถ่วงเพียง 1 ใน 6 ของพื้นโลก"

สำหรับรถสำรวจ "ลูนาร์ทรัก" ที่นักบินอวกาศกำลังหัดลองขับกันอยู่มี 12 ล้อ หนัก 4,500 ปอนด์ บรรทุกนักบินอวกาศพร้อมชุดนักบินที่แต่ละชุดหนักร้อยกว่ากิโลกรัมได้ 4 คน ความเร็วสูงสุดคือ 10 ไมล์ต่อชั่วโมง สามารถเคลื่อนที่ได้ในทุกทิศทาง นักบินอวกาศจะขับยานเอง หรือสำนักงานนาซ่าบนโลกจะควบคุมการเคลื่อนที่จากระยะไกลก็ได้

ที่มา: http://www.matichon.co.th/khaosod/
Link: http://www.matichon.co.th/khaosod/view_news.php?newsid=TUROMFpXTXdOREEwTURrMU1RPT0=§ionid=TURNeU5nPT0=&day=TWpBd09DMHdPUzB3TkE9PQ==

Wednesday, September 3, 2008

กระจุกกาแลกซีชนกัน เผยให้เห็น "สสารมืด" กลางอวกาศ


การชนกันของกระจุกกาแลกซี ที่อยู่ไกลออกไป 5.7 พันล้านปีแสง เผยให้เห็น "สสารมืด" สสารที่เป็นองค์ประกอบเอกภพ 23% โดยกล้องฮับเบิล บันทึกหลักฐาน ไว้ได้ด้วยเทคนิค "เลนส์โน้มถ่วง"

นักดาราศาสตร์ได้ตรวจพบสสารมืด ซึ่งแยกตัวจากสสารปกติ ระหว่างการชนกันขนาดใหญ่ ของกระจุกกาแลกซี (Galaxy Cluster) 2 กลุ่มที่อยู่ไกลออกไป 5.7 พันล้านปีแสง ซึ่งบีบีนิวส์ระบุว่า ทีมวิจัยได้รายงานเรื่องดังกล่าว ลงวารสารแอสโทรฟิสิคัล (Astrophysical)

ทีมวิจัย อาศัยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble) และกล้องโทรทรรศน์อวกาศรังสีเอ็กซ์จันทรา (Chandra X-ray telescope) ศึกษาวัตถุในอวกาศ ที่ชื่อ เอ็มเอซีเอสเจ 0025.4-1222 (MACSJ0025.4-1222) ซึ่งก่อตัวขึ้น หลังจากการชน ที่ให้พลังงานมหาศาล ของกาแลกซีคลัสเตอร์ขนากใหญ่ 2 กลุ่ม โดยกระจุกกาแลกซีแต่ละกลุ่มนั้น มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์นับพันล้านล้านเท่า

บีบีซีนิวส์ระบุด้วยว่า ทีมวิจัยเลือกใช้เทคนิค "เลนส์ความโน้มถ่วง" (gravitational lensing) เพื่อร่างแผนที่ของสสารมืด ด้วยกล้องฮับเบิล ซึ่งหากผู้สังเกตการณ์ มองไปที่กาแลกซี ซึ่งอยู่ไกลออกไป และมีสสารมืดอยู่ขั้นกลาง แสงที่ออกมาจากกาแลกซีนั้น จะบิดเบี้ยวไป ดูคล้ายเรากำลังมองผ่านเลนส์ขนาดเล็กๆ จำนวนมาก และเลนส์เหล่านั้น ก็คือชิ้นส่วนของสสารมืด และนักดาราศาสตร์ก็ใช้กล้องจันทรา เพื่อร่างแผนที่สสารทั่วไป ในกระจุกกาแลกซีที่รวมกัน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปของก๊าซร้อน และส่องสว่างในย่านรังสีเอ็กซ์

ขณะที่กระจุกกาแลกซี ก่อให้เกิดวัตถุอวกาศ เอ็มเอซีเอสเจ0025 ด้วยการชนที่ความเร็วหลายล้านกิโลเมตรต่อชั่วโมง ก๊าซร้อนของกลุ่มกาแลกซีทั้งสอง ก็ชนกันและลดความเร็วลง

อย่างไรก็ดี สสารมืดยังคงเคลื่อนที่ผ่านกันไป ในการชนดังกล่าว ซึ่งความจริงที่ว่าสสารมืดจะไม่ช้าลงเมื่อชนกันนี้ สนับสนุนแนวคิดที่ว่า อนุภาคของสสารมืดจะทำอันตรกริยาต่อกันด้วยแรงที่น้อยมากหรือไม่กระทำต่อกันเลย ทั้งนี้เมื่อตัดอันตรกริยาอันเนื่องจากแรงโน้มถ่วงออกไปแล้ว

อย่างไรก็ดี เคยพบปรากฏารณ์ลักษณะนี้มาก่อนแล้ว ในโครงสร้างอวกาศที่เรียกว่า "กระจุกกระสุนปืน" หรือ "บุลเลตคลัสเตอร์" (Bullet Cluster) ซึ่งก่อตัว หลังจากการชนกันของกระจุกกาแลกซีขนาดใหญ่ 2 กลุ่ม โดยบุลเลตคลัสเตอร์ดังกล่าว อยู่ห่างจากโลก 3.4 พันล้านปีแสง

การค้นพบสสารมืดล่าสุด ริชาร์ด แมสซีย์ (Richard Massey) จากหอดูดาวเอดินบะระ (Royal Observatory Edinburgh) สก็อตแลนด์ ผู้ร่วมศึกษาสสารมืดนี้ด้วย ให้ความเห็นกับบีบีซีนิวส์ว่า ช่วยคลายความกังวลเรื่องบุลเลตคลัสเตอร์ คือกรณีที่แปลกประหลาดลงไปได้ และการศึกษาครั้งนี้ยังเผยให้เห็นคุณสมบัติของสสารมืดด้วย

"สสารมืดประกอบขึ้นเป็นเอกภพ มากกว่าสสารทั่วไปถึง 5 เท่า การศึกษาครั้งนี้ยืนยันว่า เรากำลังเข้าไปข้องเกี่ยวกับสสาร ที่มีความแตกต่างอย่างมาก ต่างไปจากสสารที่ประกอบเป็นเราขึ้นมา และเราก็ยังศึกษาการชนอันทรงพลังของกระจุกกาแลกซี 2 กลุ่มได้" มารุซา บราดาค (Marusa Bradac) จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียในซานตาบาร์บารา (University of California at Santa Barbara: UCSB) ให้ข้อมูล

จากการสังเกตทางดาราศาสตร์ชี้ว่า สสารมืดประกอบขึ้นเป็นเอกภพ 23% ส่วนสสารทั่วไป อาทิ กาแลกซี ก๊าซ ดวงดาว และดาเคราะห์นั้นประกอบขึ้นในเอกภพเพียง 4% ส่วนที่เหลืออีก 73% ของเอกภพสร้างขึ้นจากปริมาณลึกลับ "พลังงานมืด" (dark energy) ซึ่งส่งผลให้เอกภพขยายตัวด้วยอัตราเร่ง

ตามแบบจำลองทางทฤษฎีหนึ่งนั้น สสารมืดอาจประกอบขึ้นจากอนุภาคที่แปลกประหลาด "วิมป์ส" (WIMPS) หรืออนุภาคมีมวลที่ทำอันตรกริยาอย่างอ่อน (Weakly Interacting Massive Particles) ขณะที่ทฤษฎีอื่นเชื่อว่า สสารมืดประกอบด้วยสสารที่เห็นอยู่ในชีวิตประจำวัน มากกว่าที่จะเป็นสสารอื่นซึ่งยากจะเข้าใจ

สำหรับการทดลองทางฟิสิกส์อันทรงพลังของเครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซี (Large Hadron Collider: LHC) ซึ่งตั้งอยู่บริเวณชายแดนฝรั่งเศส-สวิตเซอร์แลนด์ อาจช่วยตอบคำถามนี้ได้ หลังการเดินเครื่องในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้

ด้าน แมสซีย์กล่าวว่า ทีมวิจัยของเขา ได้พบสิ่งที่อาจเป็นคำตอบว่า สสารมืดประกอบขึ้นจากอะไร จากการชนกันของกระจุกกาแลกซีนี้ โดยในทางอุดมคติแล้ว เขาต้องการหลักฐานมากกว่านี้ เพื่อศึกษาได้ในเชิงสถิติ แต่กล้องฮับเบิลก็ไม่สามารถทำงานได้เพียงไม่นานหลังจากที่ทีมวิจัยบันทึกภาพ เอ็มเอซีเอสเจ0025 ดังนั้น ทีมทีมวิจัยจึงยังไม่สามารถศึกษาภาพอื่นอีกได้ ซึ่งพวกเขาหวังว่าจะศึกษาต่อหลังภารกิจซ่อมแซมกล้องฮับเบิลในเดือน ต.ค.นี้

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9510000104027

Monday, September 1, 2008

สวทช.เปิดเวทีประกวดทำสื่อวิทย์ "วัสดุรักษ์โลก"


สวทช. เปิดเวทีประกวดทำสื่อวิทยาศาสตร์ "วัสดุรักษ์โลก" มอบทุนผลิตแก่ทีมนักศึกษาที่ผ่านการคัดเลือก 20 โครงการ ฝ่ายจัดงานระบุ วัสดุแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ทั้งหมด หากผู้ผลิตรู้จักสร้างสรรค์วัสดุและผู้ใช้รู้จักเลือก ด้านตัวแทนเยาวชนระบุเลือกทำสื่อเกี่ยวกับ "ไคติน-ไคโตซาน" เพราะเชื่อว่า วัสดุที่ได้จากธรรมชาติจะไม่ทำร้ายธรรมชาติ

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดตัวโครงการ Science Communication Award ปีที่ 3 กรอบสาระการสื่อสารวิทยาศาสตร์ "วัสดุรักษ์โลก" (Material for a Better World) เมื่อค่ำวันที่ 28 ส.ค.51 ณ ห้องสมุดวัสดุเพื่อการออกแบบ ศูนย์สร้างสรรงานออกแบบ (TCDC) และมอบทุนงวดที่ 1 แก่นักศึกษาที่ส่งผลงานเข้าร่วมและผ่านการคัดเลือก เพื่ออุดหนุนการพัฒนาและผลิตชิ้นงานสื่อเพื่อการสื่อสารวิทยาศาสตร์ในรูปแบบของมัลติมีเดีย อะนิเมชันและภาพยนตร์สั้น โดยผลงานนักศึกษาที่ผ่านการคัดเลือก 20 โครงการ และแต่ละโครงการได้ทุนอุดหนุน 10,000 บาท

ทั้งนี้ ทางโครงการได้เปิดรับข้อเสนอโครงการของนักศึกษาตั้งแต่เดือน ก.ค.51 และประกาศผู้ผ่านการคัดเลือกเมื่อวันที่ 11 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งนักศึกษาที่าผนการคัดเลือกได้ส่งเค้าโครงสาระทางวิทยาศาสตร์ที่จะนำเสนอในชิ้นงานไปเมื่อวันที่ 25 ส.ค.

จากนั้นจะมีการมอบทุนสนับสนุนงวดที่ 2 อีก 10,000 บาท หลังนักศึกษาส่งตัวอย่างชิ้นงานที่พัฒนา (Demo) พร้อมรายงานผลการดำเนินงานในวันที่ 26 ก.ย. และจะตัดสินการประกวดในวันที่ 25 พ.ย. ผู้ชนะเลิศในแต่ละประเภทจะได้รับรางวัล 30,000 บาท และคณะกรรมการจะคัดเลือกผลงานดีเด่นสูงสุด 1 รางวัลจากผู้ชนะเลิศทุกประเภท เพื่อไปดูงานที่สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

นางมนธิดา สีตะธนี หัวหน้าโครงการ Science Communication Award สวทช. กล่าวกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ ภายในงานเปิดตัวโครงการถึงเหตุผลในการเลือกหัวข้อ "วัสดุรักษ์โลก" เป็นกรอบสาระการประกวดครั้งนี้ว่า ช่วงนี้มีกระแสในเรื่องการช่วยโลกและคนพูดถึงกันมาก แต่ก็พูดถึงแค่ถุงพลาสติกและการปิดไฟ จริงๆ แล้วผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้เยอะ หากรู้จักเลือกใช้วัสดุ

"วัสดุอยู่ในทุกอย่าง ถ้ารู้จักเลือกใช้วัสดุ จะช่วยสิ่งแวดล้อมได้เร็วมาก มากกว่าแค่ถุงพลาสติก โดยคำนึงถึงตั้งแต่กระบวนการผลิต วัตถุดิบ ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคคำนึงถึงวัสดุตั้งแต่ก่อนใช้ หลังใช้ วัสดุจะเป็นตัวช่วยได้เยอะมาก เพราะมีอยู่รอบตัวเรา" นางมนธิดากล่าว

และคิดว่าสื่อจะมีอิทธิพลหากมีเยอะๆ และอย่างน้อยภายในโครงการนี้ นักศึกษาต้องพูดคุยกับเพื่อหรืออาจารย์ นักศึกษาทั้ง 20 กลุ่มได้เริ่มตระหนัก และกลุ่มเหล่านี้ก็จะสื่อในกลุ่มเยาวชนตั้งแต่ระดับมหาวิทยาลัยลงไประดับมัธยมได้ตรงประเด็น" นางมนธิดากล่าว

หัวหน้าโครงการประกวดสื่อวิทยาศาสตร์ยังกล่าวอีกว่า หากผลงานในจำนวน 20 โครงการนี้สามารถสื่อถึงการใช้วัสดุเพื่อสิ่งแวดล้อมได้ดี ทาง สวทช.ก็จะนำไปเผยแพร่ต่อ พร้อมให้เหตุผลที่ไม่มีการประกวดสื่อประเภทสิ่งพิมพ์ เนื่องจากยากต่อการนำไปเผยแพร่ต่อ ในขณะที่สื่ออะนิเมชัน มัลติมีเดีย และภาพยนตรสั้นนั้นสามารถเผยแพร่ได้ง่ายกว่า

ด้าน นายณัฐพล แป้งนุช นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะนิเทศน์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ซึ่งเป็นหนึ่งในหัวหน้ากลุ่มนักศึกษาของทั้ง 20 โครงการที่เข้าร่วมการประกวด เผยกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า กลุ่มของเขาซึ่งมีสมาชิกประมาณ 8-10 คนนั้น มีแนวคิดที่จะนำเสนอเรื่อง "ไคติน-ไคโตซาน" โดยเขามองว่าวัสดุที่มาจากธรรมชาติย่อมไม่ทำร้ายธรรมชาติ และก็มีใช้กับผลิตภัณฑ์ประจำวันทั่วๆ ไป อาทิ เครื่องสำอาง ยาสระผม เป็นต้น ทั้งนี้คาดหวังว่าอย่างน้อยๆ การทำสื่อของเขาจะทำให้คนดูได้รู้จักไคติน-ไคโตซาน มากขึ้น แล้วหันมาใช้กันมากขึ้น

สำหรับโครงการประกวดสื่อวิทยาศาสตร์ศาสตร์ "วัสดุรักษ์โลก" นี้ ได้รับความร่วมมือจากสถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย ซึ่งให้การสนับสนุนนำนักศึกษาไปศึกษาดูงานที่เยอรมนี และได้รับการสนับสนุนทางวิชาการจาก ห้องสมุดเพื่อการออกแบบ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด และเนชั่น กรุ๊ป โดยนักศึกษาที่ผ่านการคัดเลือกโครงการได้เข้าไปศึกษาดูงานในหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนทางวิชาการเหล่านี้

การประกวดสื่อวิทยาศาสตร์ระดับนักศึกษานี้จึดขึ้นเป็นปีที่ 3 แล้ว โดยปี 2549 ซึ่งจัดประกวดขึ้นเป็นครั้งแรกนั้นมีกรอบสาระวิทยาศาสตร์คือ "บัคกี้บอล" (Bucky Ball) โดยเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม "เทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์" (Science Film Festival) และมีการจัดโครงการต่อเนื่อง โดยปีถัดมามีกรอบสาระวิทยาศาสตร์คือ "ไบโอนิค" (Bionik) ทั้งนี้ผลงานในโครงการจะได้รับการเผยแพร่ผ่านเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ด้วย โดยปีนี้จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-28 พ.ย.51.

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9510000102257