Thursday, November 8, 2007

ดาวเคราะห์ใหม่ที่กลุ่มดาวปู เพิ่มขนาดให้อีกระบบสุริยะมีบริวาร 5 ดวง


เอเยนซี/เอพี/บีบีซีนิวส์ – เราอาจไม่ได้อยู่เดียวดายในจักรวาล? ความคิดนี้กำลังก่อตัวขึ้นช้าๆ ทั่วโลก หลังนักดาราศาสตร์เริ่มค้นพบ "ระบบสุริยะ" อื่นๆ แต่ล่าสุด "ระบบสุริยะ" ที่มีความใกล้เคียงกับที่โลกของเราสถิตย์อยู่ ก็ได้เผยโฉมขึ้น ทำให้มั่นใจได้ว่า "ระบบสุริยะ" ที่มีดาวเคราห์ทั้ง 8 นี้หาใช้ระบบหนึ่งเดียวแห่งเอกภาพ และอาจจะไม่ได้มีเพียง "เรา" หนึ่งเดียวในจักรวาลอีกต่อไป

ทีมนักดาราศาสตร์สหรัฐฯ เผยว่า พวกเขาได้ค้นพบดาวเคราะห์ดวงใหม่ ในกลุ่มดาวปู (Cancer) ที่โคจรอยู่รอบดาวฤกษ์ “55 ปู” (55 Cancri) ที่ห่างจากโลกออกไป 41 ปีแสง อบอุ่นกว่าโลกและมีมวลมากกว่า 45 เท่า ซึ่งอาจเปรียบได้ว่าคล้ายกับ "ดาวเสาร์" ของเรา

การค้นพบดังกล่าวนำไปสู่ นับเป็นการค้นพบ "ดาวเคราะห์ดวงที่ 5" ของอีก "ระบบสุริยะ" ซึ่งมีดาว 55 ปูเปรียบเสมือนดวงอาทิตย์

ดาวเคราะห์ใหม่ที่ค้นพบนี้ มีขนาดใหญ่กว่าโลกของเราเพียงเล็กน้อย แต่มีระยะห่างกับดวงอาทิตย์ของมันพอๆ กับระยะห่างของโลกเรากับดวงอาทิตย์ ขณะที่ดาวเคราะห์อีก 4 ดวงที่เหลือนั้นมีการค้นพบไปก่อนหน้าแล้ว

อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันนักดาราศาสตร์ค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะแล้วมากกว่า 250 ดวง และรวมถึงระบบดาวเคราะห์ที่โคจรรอบดาวฤกษ์ด้วย

ทว่า เดบรา ฟิชเชอร์ (Debra Fischer) นักดาราศาสตร์จากซานฟรานซิสโก สเตท ยูนิเวอร์ซิตี (San Francisco State University) เผยว่า นับเป็นครั้งแรกทีเดียว ที่มีการค้นพบระบบสุริยะที่มีดาวเคราะห์มากที่สุดถึง 5 ดวง (หากไม่นับระบบสุริยะของเราที่มีดาวบริวาร 8 ดวงแล้ว)

"ทำให้คิดไปได้ว่าน่าจะมีสิ่งมีชีวิต และอาศัยอยู่บนจันทร์บริวารสักดวงของดาวเคราะห์แห่งนี้ด้วย แต่น่าเสียดายที่เครื่องไม้เครื่องมือสำรวจในปัจจุบันยังไม่ทันสมัยพอที่จะนำไปใช้สำรวจวัตถุขนาดเล็กและไกลโพ้น อย่างจันทร์ของดาวเคราะห์ดวงนั้นได้" ฟิชเชอร์เผย

“ดาวฤกษ์ของดาวเคราะห์นี้ คล้ายกับดวงอาทิตย์ของเรามาก อีกทั้งน่าจะมีมวลและอายุใกล้เคียงกัน เป็นระบบสุริยะที่ประกอบไปด้วยดาวเคราะห์มากมาย” ฟิชเชอร์กล่าว

งานศึกษาชิ้นนี้ใช้เวลาถึง 18 ปี ซึ่งผ่านพ้นไปด้วยความระมัดระวังและความพากเพียรอุตสาหะจนกว่าจะค้นพบดาวเคราะห์ทั้ง 5 โดยการสังเกตปรากฎการณ์ดอปเพลอร์ (doppler effect) ซึ่งวัดค่าการส่ายเพียงเล็กน้อยของดาวฤกษ์ โดยดูความถี่ของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และกว่าจะพบดาวเคราะห์ดวงแรกของระบบดังกล่าว ก็ใช้เวลาไปถึง 14 ปีแล้ว

อย่างไรก็ดี ดาวเคราะห์ในระบบอีก 4 ดวงค้นพบระหว่างปี 2539-2547 โดยทั้งหมดอยู่ห่างจากดาว 55 ปูน้อยกว่าระยะทางที่โลกอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ ดาวดวงที่อยู่ใกล้ที่สุดมีมวลเท่าดาวยูเรนัส โคจรรอบดาวฤกษ์ในเวลาน้อยกว่า 3 วันด้วยระยะห่าง 3.5 ล้านไมล์

ส่วน ดาวเคราะห์ที่เพิ่งพบนี้ อยู่ห่างจากดาวฤกษ์ในระบบเป็นอันดับ 4 หรือประมาณ 72 ล้านไมล์ ซึ่งใกล้กว่าโลกกับดวงอาทิตย์ที่ห่างประมาณ 93 ล้านไมล์ แต่ดาวฤกษ์ดังกล่าวเย็นกว่าดวงอาทิตย์ของเราเพียงเล็กน้อย

ดาวเคราะห์ดวงนี้โคจรรอบดวงอาทิตย์ของตัวเองคาบละ 260 วันด้วยวงโคจรคล้ายๆ ดาวศุกร์

“ถ้ามีจันทร์บริวารโคจรรอบดาวดวงนี้ น่าจะมีลักษณะพื้นผิวที่เป็นหิน แหล่งน้ำหลักๆ ก็น่าจะอยู่ในรูปของทะเลสาบหรือมหาสมุทร ซึ่งน้ำจะทำให้ดวงจันทร์มีมวลมากตามไปด้วย ทว่านั่นคือกุญแจสำคัญไปสู่ชีวิต” คำอธิบายของเจฟฟ์ มาร์ซีย์ (Geoff Marcy) นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียในเบิร์กเลย์ (University of California, Berkeley)

ทั้งนี้ มาร์ซีย์ซึ่งร่วมทีมค้นพบ ต้องประหลาดใจอย่างยิ่งและเปลี่ยนความคิดใหม่ เมื่อมีอีกระบบสุริยะที่มีดาวเคราะห์ถึง 5 ดวง เพราะขณะนี้พวกเราเชื่อกันว่า ดวงอาทิตย์และหมู่ดาวเคราะห์ที่เราสถิตย์อยู่นั้น เป็นระบบที่ไม่ปกติ แต่การค้นพบดังกล่าวทำให้เห็นว่า "ระบบสุริยะ" ที่โอบล้อมเราอยู่นี้ ไม่ใช่ระบบหนึ่งเดียวในจักรวาล

อย่างไรก็ดี มาร์ซีย์พร้อมด้วยเพื่อนนักดาราศาสตร์อีกจำนวนมากยังเชื่อด้วยว่า น่าจะมีดาวฤกษ์อีกจำนวนมาก ที่เป็นเสมือน "ดวงอาทิตย์" ให้แก่ระบบสุริยะอื่นๆ ในลักษณะนี้ แต่ดาวเคราะห์บริวารที่มีขนาดเล็กทำให้ยากที่จะตรวจพบระบบอื่นๆ เพิ่มเติมได้ ซึ่งเทคโนโลยีที่จะตวรจพบนั้น ยังต้องใช้เวลาพัฒนาอีกหลายทศวรรษทีเดียว

ขณะเดียวกัน นักดาราศาสตร์ยังค้นหาดาวเคราะห์ที่โคจรรอบๆ ดาวฤกษ์อีก 2,000 ดวง เพื่อให้พบระบบสุริยะอื่นๆ อีก ผ่านหอดูดาวลิค (Lick Observatory) ในซานโฮเซ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย รวมถึงหอดูดาวดับเบิลยู เอ็ม เคกค์ (W.M.Keck Observatory) ในมัวนาเคีย (Mauna Kea) มลรัฐฮาวายด้วย

ทั้งนี้ ดาว 55 ปู หรือ 55 Cancri อันเป็นดวงอาทิตย์ของดาวเคราะห์ดวงที่ 5 ในอีกระบบสุริยะนี้ เราสามารถสังเกตได้จากพื้นโลกด้วยกล้องสองตา ยามที่ท้องฟ้าแจ่มใส ในช่วงเวลาปลายปี เช่นนี้

การวิจัยและค้นหาดวงดาวครั้งนี้ได้รับทุนสนับสนุนจาก องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา), มูลนิธิวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ และมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย โดยจะตีพิมพ์ผลการค้นพบลงในวารสารแอสโตรฟิสิกส์ฉบับต่อไป

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000132328

No comments: